xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ เพชรปล่อยชุด รปภ.ช้างป่า ควาญช้างระบุช้างเผือกแก่งกระจานจัดอยู่ตระกูล “อัคนีพงศ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - ผู้ว่าฯ เพชรบุรี เปิด สนง.ชุดประสานงานอนุรักษ์ช้างป่าบ้านป่าเด็ง พร้อมปล่อยชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยช้างป่าเข้ม หลังช้างป่าถูกฆ่าตายต่อเนื่อง ด้านควาญช้างระบุช้างเผือกแก่งกระจานจัดอยู่ตระกูล “อัคนีพงศ์” ย้ำหากเป็นช้างในตำราคชลักษณ์ ถือเป็นเรื่องมงคลของบ้านเมือง

เมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ (24 เม.ย.) ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นายมณเฑียร ทองนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้เป็นประธานเปิดสำนักงานชุดประสานงานอนุรักษ์ช้างป่าบ้านป่าเด็ง หลังจากนั้น ได้เดินทางไปทำพิธีเปิด และปล่อยแถวชุดลาดตระเวนแบบบูรณาการเยี่ยมชมฐานปฏิบัติการชุดรักษาความปลอดภัยชุดรักษาความปลอดภัยช้างป่าบ้านป่าเด็ง ซึ่งห่างจาก อบต.ป่าเด็ง 2 กิโลเมตร และนำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปเยี่ยมชมวิถีการดำรงชีวิตของช้างป่า และรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ตำบลป่าเด็ง เพื่อการท่องเที่ยวแบบซาฟารี ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำกระหร่างสาม ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

นายมณเฑียร ทองนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ตามที่เกิดปัญหาช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีถูกฆ่าและพบซากเมื่อเร็วๆ นี้จำนวน 2 ตัว โดยล่าสุดเป็นช้างตัวเมียมีลูกช้างที่สมบูรณ์อยู่ในท้อง ซึ่งทางจังหวัดได้ตั้งรางวัลให้ผู้ชี้เบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมผู้ที่ฆ่าช้างในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทั้งคดีแรกที่สันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าแม่เพื่อเอาลูกช้าง และล่าสุดที่มีการฆ่าช้างท้องแก่ตัวละ 100,000 บาท และกำชับให้ทุกฝ่ายประสานการปฏิบัติในการป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ป่า

โดยจังหวัดเพชรบุรีได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการอนุรักษ์ช้างป่า อำเภอแก่งกระจาน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้ช้างป่าในเขตอำเภอแก่งกระจาน สามารถดำรงชีวิตตามวิถีธรรมชาติร่วมกับราษฎรในพื้นที่ได้อย่างปกติสุข ควบคู่กับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับช้างป่า สภาพพื้นที่ กลุ่มขวนการล่าสัตว์ในพื้นที่ เป็นต้น

ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีได้จัดสรรงบประมาณโครงการอนุรักษ์และดูแลช้างป่า อำเภอแก่งกระจาน 365,700 บาท เพื่อจัดตั้งชุดประสานงานอนุรักษ์ช้างป่าบ้านป่าเด็ง ตั้งอยู่ ณ ที่ทำการ อบต.ป่าเด็ง และฝึกอบรมชุดรักษาความปลอดภัยช้าง (ช.ร.ช.) ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2556 เป้าหมายคือราษฎรในพื้นที่ อดีตพรานป่า บุคคลผู้มีจิตอาสา จำนวน 50 คน เพื่อให้ ช.ร.ช.ร่วมลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่รวมทั้งเป็นเครือข่ายด้านการข่าว สนับสนุนภารกิจทางการข่าวของชุดประสานงานอนุรักษ์ช้างป่าบ้านป่าเด็ง โดยมีหน่วยงานสนับสนุนคือ ชมรมคนรักษ์ช้างบ้านป่าเด็ง และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (wcs)ประเทศไทย อบต.ป่าเด็ง

ในเบื้องต้นกำหนดการลาดตระเวนร่วมกันกับ ฉก.ทัพพระยาเสือ ร้อย ตชด.144 และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2556 เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่รองรับการกำหนดเส้นทางลาดตระเวนในระยะต่อไป และเพื่อป้องปรามขบวนการล่าสัตว์ป่าและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในระยะต่อไป ช.ร.ช.และเจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(wcs)ประเทศไทย เข้าร่วมลาดตระเวนในบางพื้นที่

ด้านนายแก้ว บุตรชาติ ควาญช้างผู้ดูแลช้างสำคัญ “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ” เปิดเผยจากกรณีที่มีผู้เผยแพร่ภาพช้างป่าในพื้นที่แก่งกระจาน ขณะที่โขลงช้างลงไปเล่นน้ำที่ในอ่างเก็บน้ำกะหร่างสาม หมู่ 3 บ้านป่าแดง ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยหนึ่งในโขลงช้างนั้นมีลักษณะพิเศษตรงตามคุณลักษณะช้างคชลักษณ์ หรือ “ช้างเผือก” จนสร้างความฮือฮาให้แก่ผู้ที่พบเห็นว่า ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ โดยเฉพาะช้างเผือกที่ถือเป็นสัตว์หายากมีลักษณะต่างจากช้างธรรมดาทั่วไป และถือว่าช้างเผือกเป็นสัตว์คู่บุญของพระราชา ถือเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์ หากใครพบเจอช้างเผือก หรือช้างที่มีลักษณะดีที่ใดจะต้องแจ้งแก่ทางการ เพื่อตรวจสอบว่าตรงตามตำราคชลักษณ์หรือไม่ หากเป็นช้างเผือก หรือช้างสำคัญก็ต้องมอบให้แก่ทางการเพื่อถวายแด่พระมหากษัตริย์ และประกอบพระราชพิธีรับสมโภชเป็น “ช้างต้น” ซึ่งช้างต้นที่ได้รับการสมโภชขึ้นระวางแล้วจะมียศเทียบชั้นเจ้าฟ้าเลยทีเดียว

ควาญช้างผู้ดูแลช้างสำคัญ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ช้างป่าที่คาดว่าจะเป็นช้างเผือกที่พบในป่าแก่งกระจานนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นในอินเทอร์เน็ตสันนิษฐานว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าลักษณะช้างสำคัญ หรือช้างเผือก จัดอยู่ในตระกูลอัคนีพงศ์ ซึ่งตามตำราระบุว่า ช้างในตระกูลอัคนีพงศ์ มีลักษณะผิวเนื้อแข็งกระด้าง ขนหยาบ หน้าเป็นกระแดงดั่งแววมยุรา งาแดง หลังแดง หน้างวงแดง ผิวเนื้อหม่นไม่ดำสนิท ตะเกียบหูห่าง หางเขิน ตาสีน้ำผึ้ง

ทั้งนี้ เป็นเพียงแค่การสันนิษฐานจากการเห็นในภาพเท่านั้น เพราะถ้าหากจะให้ระบุชัดเจนต้องได้รับการตรวจพิสูจน์อย่างชัดเจนว่ามีลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ 7 ประการหรือไม่ และหากมีลักษณะถูกต้องตรงตามตำราคชลักษณ์จริงก็จะถือเป็นเรื่องมงคลของบ้านเมือง และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และภูมิใจของชาวเพชรบุรีอีกครั้ง หลังจากที่เมืองเพชรบุรีได้เคยถวายช้างเผือก 3 ช้าง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเมื่อปี 2521

สำหรับช้างสำคัญ หรือช้างเผือกนั้น ตามตำราคชศาสตร์ ระบุว่าต้องมีลักษณะ 7 ประการ ประกอบไปด้วย 1.ตาขาว 2.เพดานขาว 3.เล็บขาว 4.ขนขาว 5.พื้นหนังขาว 6.ขนหางขาว 7.อันฑโกศขาว นอกจากนี้ ยังระบุถึงตระกูลแตกสาขาตามคชศาสตร์ได้ 4 ตระกูล ตระกูลอิศวรพงศ์ ตระกูลพรหมพงศ์ ตระกูลวิษณุพงศ์ และตระกูลอัคนีพงศ์




กำลังโหลดความคิดเห็น