xs
xsm
sm
md
lg

กราบพระบรมธาตุเมืองนครฯ ไหว้ 5 เกจิดังเมืองใต้ อัศจรรย์ใจ!! สรีระไม่เน่าเปื่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศงานแห่ผ้าขึ้นธาตุเมืองนครฯ
การมาเยือนเมืองนครศรีธรรมราชของ “ตะลอนเที่ยว” ทุกครั้งล้วนเป็นความทรงจำที่น่าประทับใจ เพราะเมืองนครฯ นอกจากจะอุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอันสมบูรณ์ ก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัดวาอารามที่ล้วนแต่เก่าแก่งดงามและมีความเป็นมาที่น่าสนใจ นั่นเพราะเมืองนครศรีมีรากเหง้าของพุทธศาสนาที่หยั่งลึกมาเป็นเวลานาน และได้รับการทำนุบำรุงสืบทอดมาโดยตลอด

ในครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้เดินทางมา “เยือนเมืองนคร เสริมสิริมงคล ตามรอยธรรม น้อมนำพระธาตุสู่มรดกโลก” ที่ทางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดขึ้น ในครั้งนี้นอกจากจะได้มากราบพระมหาธาตุเมืองนคร ที่วัดพระมหาธาตุวรวิหารแล้ว ยังได้มากราบพระเกจิดังถึง 5 องค์แห่งเมืองนคร เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองอีกด้วย
พระมหาธาตุ ศูนย์รวมจิตใจคนนครฯ
โชคดีที่ในช่วงที่ “ตะลอนเที่ยว” ไปเยือนนครศรีธรรมราชนั้นตรงกับช่วงวันมาฆบูชาที่ผ่านมา ซึ่งทางวัดได้จัดงาน “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ นานาชาติที่เมืองนคร” ขึ้นพอดี ดังนั้นนอกจากจะได้สักการะองค์พระธาตุแล้วยังได้ร่วมแห่ผ้าเพื่อบูชาองค์พระมหาธาตุ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวนครกระทำสืบเนื่องกันมานับร้อยปีแล้ว

นอกจากนั้น เมืองนครฯ ยังมีพระเกจิอาจารย์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือศรัทธาของชาวเมืองหลายองค์ด้วยกัน โดยทางภาคใต้จะเรียกพระสงฆ์อันเป็นที่เคารพนับถือว่า “พ่อท่าน” ซึ่งก็คล้ายกับคำเรียก หลวงพ่อ หรือหลวงปู่ นั่นเอง โดยพระเกจิเหล่านั้นต่างกระจายกันอยู่ในอำเภอต่างๆ ของเมืองนครฯ โดยในครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” จะพาไปกราบพระเกจิชื่อดังเมืองนคร 5 องค์ ด้วยกัน
สรีระของพ่อท่านคล้ายที่ไม่เน่าเปื่อย
พระเกจิองค์แรกที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มากราบนมัสการก็คือ “พ่อท่านคล้าย”วัดพระธาตุน้อย อ.ช้างกลาง ที่หลายๆ คนมักจะคุ้นเคยกับนามของท่านที่มีสร้อยต่อท้ายว่า “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์”

พ่อท่านคล้ายมีฉายาว่า “พระครูพิศิษฐ์อรรถการ” เกิดเมื่อปี 2417 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชาวนครศรีธรรมราชแต่กำเนิด ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 16 ปี จากนั้นอุปสมบทเป็นพระเมื่ออายุ 20 ปี และไม่ได้สึกอีกเลยตราบจนมรณภาพในปี 2513 เมื่ออายุได้ 96 พรรษา
ประชาชนผู้ศรัทธากำลังปิดทองที่รูปถ่ายของหลวงพ่อคล้าย
วาจาสิทธิ์ของพ่อท่านคล้ายเป็นที่เลื่องลือในหมู่ศิษย์ยานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือ หากท่านพูดสิ่งใดก็จะเป็นไปตามนั้น มีเรื่องเล่าหลายต่อหลายเรื่องเกี่ยวกับวาจาสิทธิ์ของท่าน เช่นว่า พ่อท่านคล้ายพบพวกชาวบ้านที่จะนำเหล้าขาวเข้าไปดื่มในวัด เมื่อท่านถามว่า “นั่นถืออะไรกันมา” ชาวบ้านเกรงกลัวพ่อท่านจึงตอบว่า “น้ำครับพ่อท่าน” พ่อท่านคล้ายจึงเอ่ยว่า “เออ น้ำก็น้ำ” แล้วเดินจากไป พวกขี้เหล้าเมื่อลับสายตาพ่อท่านคล้ายจึงตั้งวงกินเหล้ากัน แต่เหล้าขาวก็กลับกลายเป็นน้ำเปล่าตามที่ท่านเอ่ย

ตามปกติแล้วพ่อท่านคล้ายจะพูดจากับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและแจ่มใส อารมณ์เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะให้พรกับทุกคนว่า “ขอให้เป็นสุข เป็นสุข” ผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกรายล้วนแต่พบความวิบัติ
เจดีย์และองค์พระนอนที่วัดพระธาตุน้อย
ส่วนที่วัดพระธาตุน้อยนี้เป็นวัดที่พ่อท่านคล้ายเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี 2500 พ่อท่านและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยองค์เจดีย์ยึดรูปแบบมาจากวัดพระมหาธาตุเมืองนครฯ ทั้งหมด เมื่อพ่อท่านคล้ายมรณภาพเมื่ออายุได้ 96 ปี เจดีย์องค์นี้ก็ใช้เป็นสถานที่บรรจุสรีระของพ่อท่านที่ไม่เน่าเปื่อยไว้ให้ประชาชนที่เคารพนับถือได้กราบไหว้ระลึกถึงท่านอยู่จนทุกวันนี้
สรีระที่ไม่เน่าเปื่อยของพ่อท่านคลิ้ง
ส่วนที่ วัดถลุงทอง อ.ร่อนพิบูลย์ มีพระเกจิดังอย่าง “พ่อท่านคลิ้ง” เป็นที่เคารพศรัทธาของคนในพื้นที่ พ่อท่านคลิ้งเดิมเป็นชาวอำเภอร่อนพิบูลย์ เกิดเมื่อปี 2429 เป็นเด็กเฉลียวฉลาด เรียนเขียนอ่านได้อย่างรวดเร็ว บิดาจึงให้บวชเรียนเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 17 ปี และอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อปี 2449

พ่อท่านคลิ้งต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสที่วัดถลุงทอง เป็นที่พึ่งพิงอาศัยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ขจัดทุกข์โศกและอบรมสั่งสอนลูกศิษย์และชาวบ้านให้ตั้งอยู่ในคุณความดี ท่านมักจะพูดน้อย และดำรงอยู่อย่างสมถะ ผู้คนที่มีโอกาสได้พบท่านมักกล่าวว่า ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสและมีเมตตาอยู่ในตนเองอย่างน่าประหลาด ท่านฉันอาหารเพียงวันละ 1 มื้อ แต่ก็หน้าตาผ่องใสมีราศี ว่ากันว่า พ่อท่านคล้ายแห่งวัดพระธาตุน้อยมักจะกล่าวยกย่องพ่อท่านคลิ้งอยู่เสมออีกด้วย
รูปหล่อพ่อท่านคลิ้ง
พ่อท่านคลิ้งมีอายุยืนถึง 104 ปี ทีเดียว ท่านมรณภาพเมื่อปี 2533 โดยสรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย ดังนั้นหากใครมาเยือนที่วัดถลุงทองแห่งนี้ก็สามารถขึ้นไปกราบสักการะสรีระของพ่อท่านที่บรรจุไว้ในโลงแก้วภายในเจดีย์ของวัดถลุงทอง และจะเช่าบูชาวัตถุมงคลของพ่อท่านคลิ้งซึ่งเป็นที่นิยมด้านเมตตามหานิยม โภคทรัพย์ แคล้วคลาดก็ได้เช่นกัน
รูปหล่อพ่อท่านซัง วัดวัวหลุง
ในอำเภอร่อนพิบูลย์ยังมีอีกหนึ่งวัดของเกจิดังคือ “พ่อท่านซัง” แห่งวัดเทพนิมิตร หรือที่รู้จักกันในชื่อวัดวัวหลุง หรือหมายถึง วัวหลง

พ่อท่านซังเกิดเมื่อปี 2394 บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 16 ปี ก่อนจะลาสิกขามารับราชการเป็นเสมียนใน จ.ตรัง และได้เข้าอุปสมบทอีกครั้งเมื่ออายุ 21 ปี พ่อท่านซังได้เล่าเรียนธรรมวินัย ศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์ รวมทั้งศึกษาด้วยตนเองจนเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดวัวหลุง พ่อท่านมีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ได้เอาใจใส่ในการทำนุบำรุงวัด และดูแลสั่งสอนศิษยานุศิษย์อย่างตั้งใจเสมอมา นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่ากันว่าท่านได้ปกป้องชาวบ้านจากภัยเสือสมิง ปราบช้างพลายที่ดุร้าย ทำให้ชาวบ้านต่างเคารพเลื่อมใสพ่อท่านมาก

แม้ท่านมรณภาพไปตั้งแต่ปี 2478 แต่ชื่อเสียงของพ่อท่านซังยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเหรียญของพ่อท่านซังถือว่าเป็นเหรียญที่มีราคาสูงที่สุดของเมืองนครฯ แม้เหรียญนั้นพ่อท่านซังจะไม่ได้ร่วมปลุกเสกเพราะสร้างภายหลังที่ท่านมรณภาพไปแล้ว หรือที่ในวงการพระเครื่องเรียกว่า “เหรียญตาย” แต่กลับมีราคาสูงถึงหลักแสน ว่ากันว่าพุทธคุณจากเหรียญพ่อท่านซังมีความโดดเด่นด้านมหาอุด ช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย คงกะพัน
สรีระของพ่อท่านสังข์
มาต่อกันที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่วัดดอนตรอ เป็นวัดโบราณเก่าแก่ของเมืองนครฯ วัดแห่งนี้มี “พ่อท่านสังข์” เป็นพระเกจิอันเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงมาเป็นเวลานาน พ่อท่านสังข์เกิดเมื่อปี 2449 เมื่อเป็นเด็กมีความเฉลียวฉลาด สนใจศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ต่างๆ ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 16 ปี และอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่ออายุ 20 ปีเต็ม

เล่ากันว่าพ่อท่านสังข์ค่อนข้างเคร่งขรึม แต่ผู้ที่ได้อยู่ใกล้ชิดท่านต่างกล่าวว่าท่านมีเมตตาจิตสูง พ่อท่านสังข์ได้ช่วยเหลือชาวบ้านทุกรูปแบบ ทั้งผู้เจ็บไข้ได้ป่วย โดนคุณไสยต่างๆ โดยเฉพาะการรักษาโรคและการต้มยากลางบ้านของท่านนั้นถือว่าโด่งดังมาก ไม่ว่าจะเป็นการต่อกระดูก การเสกกล้วยให้หญิงตั้งครรภ์กินเพื่อให้คลอดง่ายและปลอดภัย และท่านยังเห็นความสำคัญของการศึกษา เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดดอนตรอและเป็นพระอาจารย์สอนเด็กๆ ด้วยตนเอง ความเสียสละทุ่มเทนี้ทำให้ชาวบ้านต่างขนานนามท่านว่า “เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำปากพนัง”

พ่อท่านสังข์เพิ่งมรณภาพเมื่อปี 2547 รวมอายุ 98 ปี แต่สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย บรรจุไว้ในโลงแก้วให้ผู้ที่ศรัทธาได้มากราบไหว้เป็นสิริมงคล
สรีระของพ่อท่านเขียวที่ไม่เน่าเปื่อยและไม่ไหม้ไฟ
มาที่วัดสุดท้าย “วัดหรงบน” อ.ปากพนัง ที่นี่มี “พ่อท่านเขียว” เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกท่านหนึ่งของภาคใต้ พ่อท่านเขียวเกิดเมื่อปี 2424 อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่ออายุ 22 ปี ท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ต่างๆ อีกทั้งท่านยังเดินธุดงค์เป็นกิจวัตร ท่านได้ธุดงค์ติดต่อกันนานหลายปี ได้เดินทางไปยังกระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี ชุมพร สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ฯลฯ

มีเรื่องราวปาฏิหาริย์ของพ่อท่านเขียวอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาผู้ป่วยด้วยพุทธคุณ ของขลังของท่านที่ช่วยรักษาให้แคล้วคลาด ไม่ว่าจะเป็นผ้ายันต์รอยมือรอยเท้า ชานหมาก ลูกอมเทียน เหรียญและพระต่างๆ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความแคล้วคลาดปลอดภัย
ด้านหน้าองค์เจดีย์ของวัดหรงบน
และสุดท้ายเมื่อพ่อท่านเขียวมรณภาพลง ในวันประชุมเพลิง บรรดาลูกศิษย์ต่างก็ประจักษ์ในบารมีของพ่อท่านเขียว เมื่อไฟนั้นไม่สามารถไหม้ร่างกาย แม้กระทั่งเส้นผม รวมถึงจีวรบางส่วนของท่านได้ ทุกวันนี้สรีระของท่านบรรจุไว้ในโลงแก้วบนเจดีย์ในวัดหรงบน มีผู้ศรัทธามากราบไหว้ร่างของท่านอยู่เสมอ

และนี่ก็คือพระเกจิทั้ง 5 ของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ยังคงมีผู้คนให้ความเคารพศรัทธามาจนถึงปัจจุบัน หากใครได้มากราบพ่อท่านทั้ง 5 นี้แล้วเชื่อว่าจะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวผู้กราบไหว้ก็ต้องยึดความดีงามเป็นที่ตั้ง ไม่อย่างนั้นจะกี่สิบพ่อท่านก็คงไม่ช่วยคุ้มครองคนเลวอย่างแน่นอน


*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 


สนใจสอบถามรายละเอียดในเส้นทางท่องเที่ยวได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช โทร.0 7537 0846, 0 7534 2621

คลิกอ่านเรื่องอาหาร “มังคุดคัด” ของอร่อยเมืองคอน ได้ที่นี่

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น