xs
xsm
sm
md
lg

“ภูกระดึง-กระเช้าลอยฟ้า” ใครจะอยู่ ใครจะไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายผู้พิชิตผู้กระดึง ความภาคภูมิใจของนักเดินทางที่เดินเท้าขึ้นภูกระดึง
ประเด็นการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นสู่ยอดภูกระดึงนั้น เป็นข้อถกเถียงกันในวงกว้างมาเนิ่นนานแล้ว ซึ่งอันที่จริง แนวคิดการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 หรือเมื่อกว่า 30 ปี มาแล้ว และได้มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ทำการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้และทางเลือกต่างๆ ในการสร้างกระลอยไฟฟ้า

จนกระทั่งล่าสุด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการอนุมัติงบประมาณในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สำหรับโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้า โดยมีองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า โครงการกระเช้าลอยฟ้านี้มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตข้างหน้า

ทั้งนี้จุดประสงค์หลักๆที่ทำให้เกิดแนวคิดการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงที่ผู้ต้องการสร้างกระเช้าหยิบยกขึ้นมาก็คือ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว ทำให้ทุกคนสามารถขึ้นไปพิชิตยอดภูกระดึงได้ โดยเน้นที่ คนชราและผู้พิการเป็นพิเศษ อีกทั้งยังเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการขึ้นไปท่องเที่ยวพิชิตยอดภูกระดึงได้ภายในวันเดียว รวมถึงนี่เป็นโครงการที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
การขึ้นภูกระดึงในวันนี้ ต้องเดินเท่านั้นจึงจะถึง
เรื่องนี้ แน่นอนว่ามีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง นั่นจึงทำให้ภาครัฐและนักการเมืองผู้ต้องการให้สร้างกระเช้าพยายามใช้คนของตัวเอง สื่อของรัฐ และสื่อที่ตัวเองซื้อ ให้ข้อมูลเฉพาะด้านบวกของการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ขณะที่เสียงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง หรือผู้ที่เห็นต่างกับการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง กลับไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี สำหรับเสียงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง นับจากอดีตจนถึงวันนี้ก็ยังคงเป็นเสียงที่เข้มแข็งและแพร่หลายเป็นวงกว้าง อย่างเช่นในทรรศนะของ “คมฉาน ตะวันฉาย” คอลัมนิสต์ นักเดินทาง และประธานชมรม OK Nature Club หนึ่งในผู้พิชิตยอดภูกระดึงมาอย่างโชกโชน มองว่า จุดประสงค์ที่จะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงนั้นยังดูไม่สมเหตุสมผล เริ่มจากข้อที่ว่า เพื่อให้ทุกคนสามารถขึ้นไปเที่ยวที่ภูกระดึงได้นั้นจำเป็นจริงหรือไม่?

“เวลาเราไปเที่ยวที่ไหน เราก็ต้องดูตามศักยภาพของร่างกายเรา คงไม่ใช่ว่าอยากจะดูโลกใต้ทะเล แต่เราดำน้ำไม่เป็น ก็จะให้กั้นเป็นคอกแล้วสูบน้ำทะเลออกให้น้ำตื้นๆ จะได้ชะโงกดูปะการังง่ายๆ เหมือนกับที่นักดำน้ำเขาดำลงไปใต้ทะเล อุปมาก็เหมือนกับว่า เวลาเราจะไปเที่ยวที่ไหนเราก็ต้องดูว่า เรามีความสามารถที่จะไปที่นั่นที่นี่ได้หรือเปล่า ภูกระดึงไม่ได้มีข้อจำกัดทางศาสนา ความเชื่อ หรืออะไรทั้งสิ้นเลยว่า ก่อนตายจะต้องไปให้ได้ ภูกระดึงเป็นแค่ที่เที่ยวที่หนึ่ง คือถ้าเราไปภูกระดึงไม่ได้ ก็ไปเที่ยวที่อื่นแทนเท่านั้นเอง”

คนฉาน กล่าวต่อว่า ภูกระดึงไม่ได้มีกฎห้ามคนแก่ขึ้นเลย อย่างล่าสุดผมไปภูกระดึงเมื่อต้นปีนี้เอง ยังเห็นยายวัย 82 ปี มาจากอัมพวา ท่านยังเดินขึ้นไปได้เลย ดังนั้น ถ้าเราไปเที่ยวเราต้องประเมินตนเอง หากขึ้นได้ก็ขึ้น ถ้าคนที่ไม่มีความสามารถในการขึ้นที่ชัน อย่าว่าแต่ภูกระดึงเลย แค่ภูเขาทองก็มีปัญหา เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว เราก็ไปเที่ยวที่อื่นแทนได้
ความงามยามอาทิตย์อัสดง ภาพสัญลักษณ์ของภูกระดึง
“แนวคิดที่จะสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เป็นการทำให้ธรรมชาติปรับตัวเข้ามาหาคน ซึ่งที่จริงแล้ว การจะอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล คนต้องเป็นฝ่ายปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดในปัจจุบันนี้ คือ เราไปปรับธรรมชาติให้เข้าหาคน”

ส่วนในเรื่องของการทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีการหมุนเวียน และประชาชนในพื้นที่มีรายได้ คมฉานให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันเศรษฐกิจในพื้นที่ก็มีการหมุนเวียนอยู่แล้ว เช่นในปัจจุบันที่ยังไม่มีกระเช้า เงินก็จะหมุนจากกระเป๋าของนักท่องเที่ยวไปสู่ชาวบ้านโดยตรง เพราะต้องจ่ายค่าลูกหาบที่เป็นชาวบ้านโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง คือคนไหนหาบก็จ่ายเองกับมือ ส่วนชาวบ้านในละแวกนั้นเมื่อมาขายของขายอาหารระหว่างทาง นักท่องเที่ยวที่เดินขึ้นภูกระดึงก็ซื้อ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้และมีอาชีพ

“ถามว่าถ้ามีกระเช้าขึ้นมา จะมาช่วยเรื่องเศรษฐกิจได้จริงหรือ ที่บอกว่าจะช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น และคนก็จะจับจ่ายมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า ถ้าซื้อตั๋วขึ้นกระเช้าจากข้างล่างสู่ยอดข้างบน มันจะข้ามระหว่างทางตรงกลางไปเลย ไม่ได้มีการจับจ่ายโดยตรง เพราะจะต้องผ่านคนกลางที่เป็นผู้ประกอบการกระเช้า เงินก็กลับไปหานายทุน แบบนี้ก็ไม่เห็นว่าชาวบ้านจะได้ประโยชน์ตรงไหน”

คมฉานให้ความเห็นอีกว่า ข้อสนับสนุนที่ว่าการสร้างกระเช้า เป็นการสร้างงานให้คนในพื้นที่ ต้องมองว่าชาวบ้านก็ไม่สามารถไปเป็นช่างควบคุมเครื่องจักรเครื่องยนต์ได้ ก็ต้องไปเอาคนเฉพาะด้านมาทำ หรือจะเป็นพนักงานต้อนรับ ตาสีตาสาที่ทำนาตลอดชีวิตก็ทำไม่ได้ ก็ต้องเอาคนที่จบด้านนี้มาทำ หรือขายตั๋ว เป็นพนักงานการเงินก็ไม่ใช่ แล้วนี่จะเรียกว่าสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านได้อย่างไร แต่ตอนไม่มีกระเช้าชาวบ้านยังมาเป็นลูกหาบ ขายของตามที่ต่างๆ นี่ต่างหากที่เป็นงานของเขา จากที่เห็นตัวอย่างหลายๆ ที่ที่มีกระเช้า ก็มองไม่เห็นว่าชาวบ้านจะมีส่วนร่วมแต่อย่างใด ทำได้ก็แค่ขายของตรงปลายทาง หรือแค่เป็นแม่บ้านเช็ดถูเท่านั้น
อาชีพของชาวบ้าน
“ส่วนความเห็นที่ว่าลูกหาบจะน้อยลงเพราะเป็นโรคหัวเข่า หรือปวดหลังจากการแบกของหนัก คนที่ให้ความเห็นแบบนี้ คงจะนั่งคิดแต่นโยบาย เขียนหลักการและเหตุผลเขียนอยู่ในห้อง ลองไปดูข้อเท็จจริง ไปถามชาวบ้านและลูกหาบว่าพอใจอาชีพและรายได้ไหม มันอาจจะเป็นงานลำบาก แต่มันเป็นงานในพื้นที่และสุจริต ทั้งได้ผลตอบแทนดี ค่าใช้จ่ายก็ไม่มี แบกของหนักก็เหมือนนักกีฬาที่กำลังกายวิ่งวันละ10-20 รอบ เขาก็ชิน เขาก็ไม่บ่น อีกอย่างชาวบ้านทำงานเป็นครอบครัว ช่วยๆ กัน อย่างเด็กระดับมัธยมไปช่วยแบกสัก 5 กิโล(กรัม) ก็ได้มาแล้ว 150 บาท(ปัจจุบันราคาค่าลูกหาบขนของขึ้งภูกระดึงอยู่ที่ 30 บาท/กก.) ใจคอคนทำกระเช้าจะแย่งรายได้ จะไม่ให้เงิน 150 บาทให้เด็กเอาไปโรงเรียนเลยหรือ เราต้องเปิดให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้มีที่ยืนบ้าง ไม่ใช่รวบทำทุกกิจการมาทำกำไรเข้าหาตัวเอง แล้วจะให้คนเหล่านี้เขาอยู่กันที่ไหน”

“ความยากลำบากของการขึ้นภูกระดึงมันกรองจำนวนคนให้พอเหมาะกับการจัดการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว ถ้ามีกระเช้า คนอาจจะขึ้นภูกระดึงได้ง่าย และมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ต้องนึกถึงว่าคนแก่หรือคนพิการที่เดินไม่ค่อยไหว พอขึ้นไปข้างบนแล้วก็จะไม่สามารถเดินไปชมที่ต่างๆ ได้เลย เพราะที่เที่ยวแต่ละจุดอยู่ห่างกันมาก การสร้างกระเช้าก็คือการเปิดประตูขึ้นมาสู่หลังแป แต่จากนั้นจะต้องสร้างกระเช้าเพิ่มขึ้นที่จุดอื่น หรืออาจจะต้องสร้างถนนรอบๆ เพื่อให้คนไปเที่ยวใช่ไหม นี่ก็เท่ากับการเข้าไปรังแกพื้นที่อยู่ของสัตว์ป่า เหมือนกรณีช้างป่าที่เขาชะเมาออกมาทำร้ายชาวบ้าน ทำลายข้าวของ ก็มาจากที่คนไปบุกรุกพื้นที่ของมัน แล้วเราจะสร้างปัญหาขึ้นที่นี่อีกหรือ”
ร้านค้าที่อาจหายไปหากมีกระเช้า
สุดท้าย คมฉาน ยังให้ความเห็นว่า หากว่าโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึงเกิดขึ้นจริง ก็คงไม่ได้มีการห้ามไม่ให้คนเดินขึ้นภูกระดึง แต่ก็เป็นทางเลือกที่สู้กันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะใครบ้างที่อยากให้ตัวเองลำบาก และหากมองไปในอนาคต อาจจะมีแพกเกจเที่ยวภูกระดึง ก็ไม่มีทางที่เงินจะไปสู่ร้านค้ารายเล็กรายน้อยได้เลย เงินทั้งหมดก็จะคืนกลับไปสู่นายทุนที่มาลงทุนไว้แน่นอน

“ถ้านายทุนหวังให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านจริงๆ น่าจะให้รัฐบาลเปิดขายหุ้นให้แก่ชาวบ้าน แล้วชาวบ้านผ่อนคืน โดยที่กำไรไม่ตกเข้านายทุนเลย แต่ในความเป็นจริงถ้านายทุนก็ไม่ได้อะไร เขาก็จะไม่ผลักดันโครงการนี้แน่นอน ผู้ประกอบการมองว่า ภูกระดึงเป็นแค่สินค้าตัวหนึ่ง โดยลงทุนแล้วหากินกับทรัพยากรส่วนรวมของคนทั้งประเทศเพื่อคนๆเดียว”

“เราควรจะทิ้งทรัพยากรต่างๆ ไว้ให้ลูกหลานบริหารจัดการบ้าง เราก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทุกสิ่งอย่าง เพราะถ้าเราตัดสินใจและผิดพลาดไป ผลกระทบจะตกไปสู่ลูกหลาน แต่ถ้าเราตัดสินใจถูก จริงอยู่มันอาจจะเป็นประโยชน์ แต่ว่าเขาก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะสังคมที่มีอยู่จะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีแต่ขาดไร้ซึ่งธรรมชาติ เสน่ห์ของการขึ้นภูกระดึง คือการเดิน ระหว่างทางเราได้พูดได้คุยกัน เกิดมิตรภาพ ช่วยให้เข้าอกเข้าใจกัน ได้ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน เมเปิ้ลเป็นไง น้ำตกสวยไหม เจอหมูป่ากินอาหารไหม มันเกิดไมตรีได้ตลอดเส้นทาง ได้เห็นคนที่ทุกข์ยากกว่าเรา แต่กระเช้าจะนำพาสิ่งเหล่านี้ไปหมดเลย”

และนั่นคือหนึ่งเสียงของคมฉาน ตะวันฉาย ที่เห็นต่างต่อการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ที่อาจจะไม่ดังไปถึงหูของภาครัฐ นักการเมือง นายทุนผู้ต้องการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง และไม่ดังไปถึงสื่อกระแสหลัก แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าบทสรุปของโครงการนี้จะออกมาอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรจะคำนึงไว้ให้มากที่สุดก็คือ การคงอยู่ของธรรมชาติ อย่าลืมว่าธรรมชาตินั้นจะอยู่ยืนนานกว่ามนุษย์เสมอ ถ้าหากว่าทำลายธรรมชาติลงไปแล้ว มนุษย์จะยังคงอยู่ได้อย่างไร

***********************************************************
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น