xs
xsm
sm
md
lg

จับ “นายกฯ” ปิดคดีฆ่า “นายกฯ” ที่สงขลา / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนกับการคลี่คลายคดีฆ่าโหด นายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ซึ่งถูกกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 7 พ.ย.2555 หน้าสำนักงานสงขลาฟอรั่ม ถ.นครใน เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ในที่สุด ตำรวจก็สามารถปิดคดีนี้ด้วยการออกหมายจับและจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้จ้างวาน และทีมมือปืนได้ทั้งหมด 10 คน
 
เริ่มจากการออกหมายจับผู้ต้องหาชุดแรก 3 คนคือ นายไพศาล หนูพันธุ์ นายนิวัฒน์ รัตน์แก้ว และ นายฉ้วน หมวดมี ซึ่งเป็นทีมฆ่า ตามด้วยการออกหมายจับ นายกิตติ ชูช่วย น้องชายของ นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ผู้บงการ ซึ่งทั้ง 4 คนได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ แต่มีเพียงนายกิตติที่ได้รับการประกันตัว
 
สุดท้าย มีการออกหมายจับนายอุทิศ และเข้าจับกุมได้ที่บ้านพักเลขที่ 55/1 ถ.นาสาร เขตเทศบาลนครสงขลา ในฐานะผู้จ้างวาน พร้อมกับการออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 5 คนในคราวเดียวกัน ประกอบด้วย นายปราโมทย์ แสงอรุณ นายก อบต.ท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา นายชยันต์ หนูพันธุ์ นายอธิป ด้วงมาก นายณัฐพล นัคเล และ นายสุดขีด จันทร์เขียว ซึ่งผู้ต้องหาในคดีนี้ล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดกับนายอุทิศทั้งสิ้น
 
นับจากวินาทีที่กระสุนปืนออกจากปากกระบอกปืนเอ็ม 16 และอาก้ากว่า 30 นัด ที่ปลิดชีพนายพีระ นักการเมืองแนวอนุรักษ์ที่ครองตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสงขลามา 3 ปี ได้มีกระแสของพลังมวลชนชาวนครสงขลา กลุ่มเอ็นจีโอ ครอบครัว และญาติพี่น้องของนายพีระออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการติดตามจับกุมมือปืน และผู้บงการไปทั่วทั้งเมือง เพราะเชื่อว่าการตายของนายพีระไม่ได้มาจากการขัดผลประโยชน์ธุรกิจการเมือง เหมือนกับนักการเมืองคนอื่นๆ แต่มาจากการทำงานที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความคู่ไปกับการพัฒนาเมือง
 
โดยเฉพาะการคัดค้าน “โครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้า” ข้ามทะเลสาบสงขลาจากฝั่ง อ.เมือง ไปยังฝั่ง อ.สิงหนคร ของ อบจ.สงขลา ถึงกับมีการประกาศว่า หากจะสร้างกระเช้าลอยฟ้าต้องข้ามศพเขาไปก่อน
 
การสอบสวนคดีฆ่านายพีระจึงเริ่มต้นจากประเด็นนี้ พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา สบ 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.พิสิฎฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ ผบช.ภาค 9 พล.ต.ต.สุวิทย์ เชิญศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา จึงตั้งทีมสืบสวนทั้งตำรวจภูธรภาค 9 ตำรวจภูธร จ.สงขลา และทีมสอบสวนที่มีการระดมพนักงานสอบสวนจากสถานีตำรวจภูธร จ.สงขลา 17 นายมาทำคดีนี้ ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดคดีใน จ.สงขลา
 
จุดเริ่มต้นของคดีนี้ดูเหมือนว่าจะมาจากความผิดพลาด และชะล่าใจของทีมฆ่า เพราะหลังก่อเหตุได้นำรถกระบะขับไปจอดไว้ที่สถานีวิทยุสมิหลาเรดิโอ ย่านสถานีขนส่งสงขลา ซึ่งเป็นของนายกิตติ และเป็นที่สำหรับจอดรถเฉพาะของคนในตระกูลชูช่วย มีรั้วรอบขอบชิด ยากที่คนภายนอกที่ไม่สนิทชิดเชื้อจะเข้าไปได้
 
การเริ่มต้น และปิดคดีจึงเกิดขึ้นที่นี่ เริ่มจากการหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ภายในกระบะของทีมมือปืน ต่อด้วยเข้าค้นแมนชัน และบ้านของนายกิตติ ที่ทำงานของนายอุทิศ จากนั้นขยายผลเชื่อมโยงออกหมายจับ และจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วมาจบที่ตัวนายอุทิศเป็นคนสุดท้าย ซึ่งเก็บตัวเงียบมาโดยตลอด
 
เพื่อย้ำให้เห็นว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้เป็นตัวจริงหรือไม่ พล.ต.อ.พิสิฎฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร จ.สงขลา ได้ให้ข้อมูลว่า แนวทางการสอบสวนคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตามแกะรอยจากประเด็นความขัดแย้งของนายพีระ กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่ามาจากการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้า ไม่มีประเด็นส่วนตัว หรือผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
 
ประกอบกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิด ทั้งกับนายกิตติ และนายอุทิศ เจ้าหน้าที่จึงเร่งสอบสวนพยาน และรวบรวมหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งยืนยันว่า การออกหมายจับ และจับกุมผู้ต้องหา เป็นไปตามพยานหลักฐาน ที่ล้วนเชื่อมโยงไปถึง ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง หรือทำไปตามกระแสกดดันของสังคม
 
ด้าน พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา สบ 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ลงมากำกับดูแลคดีนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ระบุว่า แม้กระบวนการทางกฎหมายยังไม่สิ้นสุด แต่การจับกุมนายอุทิศถือเป็นการปิดฉากของคดีนี้ โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 10 คน ซึ่งหลังจากนี้ การสู้คดีเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมในชั้นศาล
 
แยกเป็นข้อหาร่วมกันโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยการใช้จ้างวาน 3 คนคือ นายอุทิศ นายกิตติ และนายปราโมท
 
และข้อร่วมร่วมกันฆ่าอีก 7 คนคือ นายไพศาล นายนิวัฒน์ นายฉ้วน นายชยันต์ นายอธิป นายณัฐพล และนายสุดขีด
 
โดยในจำนวนนี้ มีผู้ต้องหาที่ยังคงหลบหนีอีก 5 คน คือ นายปราโมท นายชยันต์ นายอธิป นายณัฐพล และนายสุดขีด
 
สำหรับคดีฆ่าอดีตนายกนครสงขลานั้น แม้ในทางกระบวนการยุติธรรมจะยังไม่ถึงที่สุด เพราะยังคงต่อสู้กันในชั้นศาลอีกหลายปี สำหรับชีวิตของนายพีระแม้จะจบไปแล้ว แต่เขายังคงอยู่ในความทรงจำของชาวนครสงขลาตลอดไป
 
โดยมีรูปปั้นครึ่งตัวที่จะมีการสร้างขึ้น และนำไปตั้งไว้ที่บริเวณแหลมสนอ่อน ชายหาดสมิหลา พื้นที่ที่นายพีระพยายามอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ควบคู่กับเมืองสงขลาจนต้องเอาชีวิตเข้าแลก และจะมีการตั้งชื่อชายหาดแห่งนี้ว่า “หาดพีระ ตันติเศรณี” เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนายพีระ
 
กลอนบทนี้เขียนโดยนายพีระ หลังวันเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครสงขลาสมัยก่อน หรือเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2552 ระหว่างรอการรับรองผลการเลือกตั้ง กกต.ที่มีการรับรองในวันที่ 26 พ.ย.2552 ซึ่งสามารถสะท้อนถึงแนวคิด และความเป็นตัวตนของเขาได้อย่างชัดเจน…
 
นครสงขลา เป็นของ คนสงขลา
บรรพบุรุษ พลิกป่า แลสิงขร
ร่วมสร้างบ้าน สร้างเมือง เรื่องนาคร
เป็นบทตอน ประวัติศาสตร์ ชาติ-เมือง-คน
อันใดเล่า จำล้ำค่า กว่ามนุษย์
บรรพบุรุษ สร้างบ้าน แล้วผ่านพ้น
เกิดลูกหลาน คือสงขลา ประชาชน
คือตัวตน คนสืบสาน ตำนานเมือง
เจดีย์วัด มัสยิด โบสถ์คริสเตียน
โรงเรียน ร้านค้า จะฟูเฟื่อง
เศรษฐกิจ ศิลปะ จะรุ่งเรือง
ก็ด้วยคน ทั้งเมือง ร่วมมือกัน
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น