xs
xsm
sm
md
lg

หยุด..กระเช้าลอยฟ้าเปื้อนเลือด (2)/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส

“คดีนี้ ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ผู้ฟ้องคดีที่ 3 และผู้ฟ้องคดีที่ 4 (ตัวแทนภาคประชาชน) โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (นายอุทิศ ชูช่วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา) ระงับการประมูลจ้างโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า จังหวัดสงขลา ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำสั่งที่ส่งมาพร้อมหนังสือนี้ ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้ถือว่าวันที่ส่งโทรสาร คือวันที่ 20 ธันวาคม 2555 เป็นวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งศาล”

นี่คือข้อความในหนังสือคำสั่งศาลปกครองสงขลา ที่ภาคประชาชนได้ยื่นให้ศาลปกครองให้ทาง อบจ.สงขลา ระงับการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลาไปยังฝั่งหัวเขาแดง ตามคดีหมายเลขดำ ที่ ส.1147/2555 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา

นับเป็นชัยชนะของภาคประชาชนส่วนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการนี้ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของท่านนายกฯ พีระ ตันติเศรณี ที่ได้ประกาศคัดค้านโครงการนี้ตลอดมา เพราะเขาอยากรักษาพื้นที่ป่าสนสันทรายชายหาดแหล่งนั้นไว้สำหรับกิจกรรมของสังคม ที่ไม่แปดเปื้อนกับสิ่งก่อสร้างใหญ่โต แต่จะต้องทำลายพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของพลเมืองในจังหวัดสงขลาจำนวนมาก การลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการดังกล่าวถึงวันนี้สรุปได้ว่า เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีการสั่งฆ่านายพีระ ตันติเศรณี เพราะเขาได้เข้าไปขัดขวางลาภก้อนโตของนักการเมือง ที่หวังจะเข้ามาทำมาหากินกับโครงการดังกล่าว และอีกหลายๆ โครงการที่จะตามมา และทุกโครงการที่จะเข้ามาล้วนมีส่วนทำลายป่าสนสันทรายชายหาดแปลงสุดท้ายใจกลางเมืองสงขลานั้น โครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าคนสงขลามีความเชื่อว่าเชื่อมโยง และเป็นสาเหตุการตายของท่านนายกฯ พีระ คนสงขลาจึงขนานนามให้แก่โครงการนี้ว่า “กระเช้าลอยฟ้าเปื้อนเลือด”

การต่อสู้กันในทางเทคนิคทางกฎหมายเพื่อยับยั้งโครงการดังกล่าวที่จะใช้งบประมาณขั้นต้น จำนวน 459 ล้านบาท มีคำถามว่า ภาคประชาชนใช้สิทธิอะไรที่จะไปฟ้องร้องต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งในที่นี้ก็คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา คำอธิบายต่อศาลถึงสิทธิในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนที่จะได้เรียนรู้ไว้

กล่าวคือ กลุ่มภาคประชาชนในจังหวัดสงขลาได้ใช้สิทธิในการฟ้องร้องในครั้งนี้โดยอ้างว่าแม้ตัวเองจะไม่ได้มีบ้านพักอาศัยอยู่ในบริเวณที่จะมีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าก็ตาม แต่อ้างเหตุผลที่ว่า เป็นผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งในพื้นที่เขตขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นผู้จ่ายภาษีให้เป็นงบประมาณในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ทั้งภาษีทางตรง และทางอ้อม ได้แก่ ภาษีล้อเลื่อนเพราะผู้ยื่นฟ้องระบุไปว่า ตัวเองใช้รถยนต์ ได้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค บางคนที่สูบบุหรี่ก็สามารถเบิกความต่อศาลว่า ภาษีบุหรี่ที่เขาสูบก็เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณ 459 ล้านที่จะถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ดังนั้น จึงมีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลในสิทธิดังกล่าว

นอกจากนั้น เหตุผลประกอบอื่นๆ อันเป็นการชี้ให้ศาลท่านได้พิจารณา ก็คือ การดำเนินโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ว่าการที่สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 15 มีหนังสือให้มีการชะลอการก่อสร้าง หรือคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นต้น แต่ในทางกฎหมายที่เป็นไม้ตาย และศาลได้หยิบยกขึ้นมาเป็นพิเศษก็ด้วยเหตุผลที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากกรมเจ้าท่า แต่กลับมาอ้างว่าหากไม่รีบดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหายทำให้การก่อสร้างเสร็จไม่ทันในปี 2555 หรืออาจจะถูกผู้ซื้อซองประกวดราคา (เสนอราคา) ฟ้องเรียกค่าเสียหาย และพยายามที่จะโยงไปว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อ “โครงการหนึ่งใจ...สืบสานวัฒนธรรมไทย” ซึ่งโครงการดังกล่าวก็ขอใช้พื้นที่ดังกล่าวอีกกว่า 30 ไร่เช่นกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวก็เป็นที่จับตามองของคนสงขลาว่า มีความเป็นมาอย่างไร และเหมาะสมแค่ไหนที่จะมาใช้บริเวณดังกล่าว เพราะจะเป็นการทำลายป่าสนสันทรายชายหาดผืนนั้นเป็นบริเวณกว้างเช่นเดียวกัน

ความขัดแย้งในเรื่องของเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่น จะไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขนาดต้องลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันของผู้คนในสังคม ยกเว้นว่ามันเป็นผลประโยชน์ในทางธุรกิจ และผลประโยชน์ของผู้ที่ต้องการหาผลประโยชน์จากการดำเนินงานในโครงการนั้นๆ เพราะจะทำให้ไม่รับฟังเหตุผลจากภาคส่วนอื่นๆ พยายามที่จะรวบรัดตัดตอนงุบงิบทำกันอย่างลับๆ ทำให้เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ลุกลามไปถึงการฆ่าแกงกัน การยังดันทุรังเดินหน้าสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาในครั้งนี้ จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า มันเป็นเรื่องของการขัดแย้งในผลประโยชน์ส่วนตัวของบุคคล ไม่ใช่ขัดแย้งในเรื่องของประโยชน์สาธารณะ เลิกเถิดครับโครงการนี้มันเปื้อนเลือดไปแล้ว แม้จะเป็นเลือดของคนคนเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้วมั้งครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น