ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “อุทิศ” ยังดิ้นไม่หยุด!! เผยให้ อบจ.สงขลาทำป้ายประกาศขนาดใหญ่ติดตั้งไปทุกพื้นที่ใน 16 อำเภอของ จ.สงขลา เน้นจุดที่ผู้คนจำนวนมากสัญจรไปมา หรือริมถนนสายหลัก เพื่อชี้แจง 8 ข้อดีโครงการกระเช้าลอยฟ้า ชี้เป็นการเปิดเกมรุกกลับหลังถูกต่อต้านหนัก และศาลปกครองเพิ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้หยุดก่อสร้างไม่ถึง 24 ชม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ที่มี นายอุทิศ ชูช่วย นั่งเป็นนายก อบจ.สงขลา ได้ทำป้ายขนาดใหญ่กระจายติดตั้งไปทั่วทั้ง 16 อำเภอของ จ.สงขลา ตั้งแต่วานนี้ (21 ธ.ค.) เพื่อต้องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า โครงการที่นายอุทิศต้องการเร่งเครื่องเดินหน้าผลักดันให้เกิดอยู่ในขณะนี้ อันเป็นโครงการข้ามผืนน้ำที่เป็นปากทางเชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลา กับทะเลอ่าวไทย หรือเชื่อมระหว่างพื้นที่แหลมสนอ่อน ในเขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขา กับหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา
เป็นที่น่าสังเกตว่า ป้ายประกาศขนาดใหญ่ของ อบจ.สงขลาดังกล่าว ถูกผลิตและนำไปติดตั้งอย่างเร่งด่วนเพียงวันเดียว หลังจากที่ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ อบจ.สงขลาเดินหน้าก่อสร้างใดๆ ต่อไปเมื่อค่ำวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากถูกนายนวพล บุญญามณี ร่วมกับพวกรวม 8 คน ได้ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา และมีกลุ่มภาคประชาชน ประชาสังคม และนักวิชาการในพื้นที่หลายเครือข่ายได้ออกมาต่อต้านโครงการนี้ โดยมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องมา และเข้มข้นหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ลอบสังหาร นายพีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลา ซึ่งคดีนี้พัวพันถึงนายอุทิศและนายกิตติ ชูช่วย ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งนายกิตติก็เพิ่งถูกออกหมายจับ และชิงเขามอบตัวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับการขึ้นป้ายเมื่อวานนี้
สำหรับป้ายประกาศของ อบจ.สงขลาที่ว่านี้ มีเพียงภาพตัวอย่างกระเช้าลอยฟ้าเป็นส่วนประกอบ ส่วนขอข้อมูลเนื้อหาที่ต้องการชี้แจงทำเป็นประกาศทั้งหมด 8 ข้อ อยู่ใต้โลโก้ อบจ.สงขลา โดยมีข้อความดังนี้
ประกาศโครงการกระเช้าลอยฟ้า ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (1) เหตุผลความจำเป็น ขนส่งคนจากแหลมสนอ่อนไปยังหัวเขาแดง ศึกษาประวัติเมืองสงขลาเก่าหัวเขาแดง เจดีย์องค์ดำ เจดีย์องค์ขาว ชมวิวทิวทัศน์เมืองสองทะเล สามน้ำ วัตถุประสงค์ของโครงการ 1.เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดสงขลา 2.เพิ่มแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแก่เยาวชน 3.เพิ่มรายได้ภาคประชาชน 4.สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน 5.เป็นสัญลักษณ์เมืองระดับประชาคมอาเซียน
(2) สาระสำคัญของโครงการประกอบด้วย 1.สถานี จำนวน 2 แห่ง 2.ระยะทางประมาณ 1.8 กิโลเมตร 3.กระเช้า จำนวน 17 กระเช้า (3) ผู้ดำเนินการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (4) สถานที่ที่จะดำเนินการ 1.ที่ดินราชพัสดุแปลงที่ สข.553 บริเวณแหลมสนอ่อน 2.บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 บนหัวเขาแดง (5) ขั้นตอน และระยะเวลาดำเนินการ ขออนุมัติโครงการ ขอความเห็นชอบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาดำเนินการจัดจ้าง ดำเนินการก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 700 วัน
(6) ผลผลิตของโครงการ จังหวัดสงขลามีกระเช้าลอยฟ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ผลลัพธ์ของโครงการ 1.ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2.เยาวชนคนทั่วไปเข้าถึงแหล่งวัฒนธรรมมากขึ้น 3.ประชาชนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.พัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 5.สงขลาเป็นตัวแบบ (Mode) การท่องเที่ยวระดับอาเซียน
(7) กระเช้าลอยฟ้าไม่มีกลิ่น ไม่มีเสียง ไม่มีควัน ไม่มีมลพิษใดๆ ไม่ต้องทำ EIA ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัย หรือประกอบอาชีพอยู่ในสถานที่ที่ก่อสร้าง และพื้นที่ใกล้เคียง (8) ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวนประมาณ 459 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณจากรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
อย่างไรก็ตาม การขึ้นป้ายครั้งนี้เป็นที่ฉงนสนเท่ห์ของชาวสงขลาจำนวนมาก ซึ่งอยู่ดีๆ ก็มีป้ายขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวอันเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมากไปผุดขึ้นในจุดสำคัญตามอำเภอต่างๆ โดยมีการตั้งคำถามกันด้วยว่า ป้ายเหล่านี้ใช้งบประมาณจากไหน