xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “ตันติเศรณี” เปิดศึกสายเลือดชิงนายกฯ นครสงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจรัญ บิลพัฒน์ ทีมพลังสังคม เบอร์ 1
 
โดย...ไม้  เมืองขม
 
หลังการเสียชีวิตจากการถูกสังหารโหดของ “พีระ ตันติเศรณี” นายกเทศบาลนครสงขลา เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2555 ที่ผ่านมา ตำแหน่ง “นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา” จึงว่างลง คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสงขลา (กกต.สงขลา) จึงได้กำหนดให้วันที่ 6 ม.ค.2556 เป็นวันเลือกตั้งเพื่อทดแทน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจสมัครลงเพื่อรับการเลือกตั้งจำนวน 4 รายด้วยกัน
 
หมายเลข 1 ทีมพลังสังคม มี “จรัญ บิลพัฒน์” หรือ “รองหมู” เป็นหัวหน้าทีม สำหรับรองหมู หรือนายจรัญเป็นอดีตรองนายกฯ ของทีมนายพีระ ซึ่งมีการประกาศตัวล่วงหน้าก่อนที่เขาจะเสียชีวิตอย่างกะทันหันว่า ในการเลือกตั้งสมัยหน้าถ้านายพีระอยู่ครบวาระ ตนจะสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งอยู่แล้ว ดังนั้น การลงสมัครของนายจรัลจึงไม่เป็นเรื่องแปลกใหม่แต่ประการใด
 
ผู้สมัครหมายเลข 2 ทีมสงขลาใหม่ มี “สมศักดิ์ ตันติเศรณี” หรือ “รองบ่าว” เขาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เป็นลูกพี่ลูกน้องของนายพีระ และทีมสงขลาใหม่ก็เป็นทีมของนายพีระนั่นเอง ซึ่งในการประกาศรายชื่อทีมผู้บริหารหลังการสมัครเลือกตั้งช่วงแรกๆ มีชื่อของ “จารึก ตันติเศรณี” น้องชายของนายพีระรั้งตำแหน่งรองนายกฯ และมีอดีตผู้ร่วมทีมของนายพีระร่วมอยู่ในทีมบริหารด้วย
 
รวมทั้งเห็นเงาของ “นิพนธ์ บุญญามณี” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฉาบฉายอยู่ในเบื้องหลัง จากการส่ง “อนันต์ ทองแก้ว” อดีตนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปอยู่ในทีมสงขลาใหม่ด้วย
 
ส่วนหมายเลข 3 ซึ่งประกาศลงสมัครเป็นทางเลือกใหม่ของชาวเทศบาลนครสงขลาคือ “ว่าที่ ร.ต.ประสิทธิ์ บัวงาม” อดีตข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในฐานะ “แกนนำคนเสื้อแดง” ใน จ.สงขลา ซึ่งในการสมัครครั้งนี้ เจ้าตัวต้องการที่จะให้ตนเอง และทีมงานเป็นทางเลือกอีกทางของคนในพื้นที่
 
ส่วนหมายเลข 4 คือ ทีมรักษ์นครสงขลา มี “จารึก ตันติเศรณี” น้องชายร่วมสายโลหิตกับนายพีระเป็นหัวหน้าทีม ได้สร้างความเซอร์ไพรส์แก่ชาวสงขลาเป็นอย่างยิ่ง โดยการออกจากทีมสงขลาใหม่ที่มีนายสมศักดิ์ ตันติเศรณี เป็นหัวหน้าทีม และเดินทางมายื่นใบสมัครในวันสุดท้าย และเป็นคนสุดท้าย
 
การแยกตัวออกจากทีมสงขลาใหม่ของนายพีระ มาเป็นหัวหน้าทีมรักษ์นครสงขลาของนายจารึก จึงเป็นการสร้างสีสันในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด เพราะทุกคนต่างเห็นชัดเจนว่า การเลือกตั้งนายกเทศบาลนครสงขลาครั้งนี้เป็น “ศึกสายเลือด เพราะมีคนในตระกูล “ตันติเศรณี ขึ้นเวทีการต่อสู้เพื่อประดาบกันเอง
 
ดังนั้น จึงเชื่อว่าการต่อสู้ครั้งนี้เลือดที่จะโชกบนเวทีคือเลือด “ตันติเศรณี” ที่เป็นสีเดียวกัน
 
โดยข้อเท็จจริง ถ้านายจารึกไม่ตั้งทีมใหม่ และลงสมัครชิงตำแหน่งนายกฯ ในครั้งนี้ เกจิทางการเมืองต่างเชื่อกันว่า การเลือกตั้งในวันที่ 6 ม.ค.2556 ทีมสงขลาใหม่ที่มีนายสมศักดิ์เป็นหัวหน้าทีมจะเป็นต่อผู้สมัครจากทีมอื่นๆ เนื่องจากได้กระแสของนายพีระที่ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามส่งทีมมือปืนมาสังหารโหดมาช่วย
 
เนื่องเพราะนายพีระแม้จะเสียชีวิตแล้ว แต่ยังมีต้นทุนทางสังคมที่สะสมเอาไว้ โดยโครงการต่างๆ หลายโครงการของเขาได้รับการสนองตอบจากประชาชนเป็นอย่างมาก เช่น โครงการสงขลาแต่แรก รวมถึงการต่อต้านโครงการกระเช้าลอยฟ้าของ อบจ.สงขลา และอีกหลายๆ โครงการที่เป็นความต้องการของประชาชน เมื่อทีมสงขลาใหม่ที่มีนายสมศักดิ์ และนายจารึกอยู่ในทีม และประกาศพร้อมผลักดันโครงการทุกโครงการที่นายพีระประกาศเอาไว้ จึงน่าจะได้รับคะแนนจากคนส่วนหนึ่งในเขตเทศบาลนครสงขลา
 
แต่เมื่อนายจารึกกระโดดลงมาเป็นหัวหน้าทีมเพื่อขอเป็นนายกฯ เสียเอง จึงทำให้ทุกทีมโดยเฉพาะทีมพลังสังคม ที่มีนายจรัญเป็นหัวหน้าทีมเหนื่อยน้อยลง และมีภาษีมากขึ้น ในขณะที่ทีมสงขลาใหม่ที่มีนายสมศักดิ์เป็นหัวหน้าทีม แม้จะแก้เกมโดดเดี่ยวนายจารึกโดยดึงเอา “มารดาของนายพีระ” มาเป็นกองหนุน และนำ “น้องสาวของนายพีระ มาเสียบแทนนายจารึกในตำแหน่งรองนายกฯ แต่วินาทีนี้ ก็ต้องออกแรงมากขึ้น และต้องเสียเวลากับการตอบคำถามของประชาชนในเรื่องของศึกสายเลือดที่มีสายเลือดตันติเศรณี 2 คนลงฟาดฟันกันเอง
 
ในขณะที่นายจารึกก็พยายามตอบคำถามสังคมถึงการแยกตัวจากทีมสงขลาใหม่ แล้วมาตั้งทีมรักษ์นครสงขลาว่า มาจากการที่ต้องการสืบทอดเจตนารมณ์ทางการเมืองของนายพีระผู้เป็นพี่ชาย รวมทั้งมีปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถทำงานการเมืองกับบางคนในทีมสงขลาใหม่ จึงแยกตัวมาลงสมัครชิงตำแหน่งนายกฯ โดยที่ไม่เห็นว่าการที่สายเลือดตันติเศรณี  2 คนแข่งขันกันเองจะเป็นความเสียหาย แต่ทุกอย่างตันสินด้วยความเห็นของประชาชน
 
แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ของเทศบาลนครสงขลา เป็นการแข่งขันที่ “ดุเดือด” อีกสนามหนึ่งของการเมืองท้องถิ่นระดับเทศบาลนคร เนื่องจากผู้สมัครหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่ชกคู่ชิงที่สูสี ต่างมี “พี่เลี้ยง มีค่ายการเมืองใหญ่โอบอุ้ม และมี “คลังมหาสมบัติ อยู่ในมือเพียงพอในการเลี้ยงดูไพร่ราบพลรบอย่างเต็มที่
 
มีกลยุทธ์หนึ่งที่มากับการเลือกตั้งครั้งนี้คือ “ข่าวลือ เช่น มีการปล่อยข่าวว่า ฝ่ายตรงข้ามที่บงการให้นายพีระเสียชีวิตทุ่มเงินหนุนทีมคู่แข่งของนายพีระหลายสิบล้านบาท เพื่อล้มทีมสงขลาใหม่ หรือการปล่อยข่าวว่า นายจารึกถูกจ้างให้ลงสมัคร เพื่อให้ทีมสงขลาใหม่ปั่นป่วน อีกทั้งมีตัวเลขจำนวนเม็ดเงินที่ถูกระบุในการใช้หาเสียก็ดี จ้างวานก็ดี ล้วนเป็นหลัก 30 ล้านทั้งสิ้น
 
วันนี้ ผู้ที่บงการเด็ดชีพนายพีระ ตันติเศรณี “นักการเมืองน้ำดี” ในไม่กี่คนของผืนแผ่นดิน “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ยังคงลอยนวลอยู่เหนือกฎหมาย มีเพียงผู้ต้องสงสัยว่าเป็นมือปืนเพียง 3 คนที่เข้ามอบตัวเพื่อต่อสู้คดี
 
ดังนั้น วันที่ 6 ม.ค.2556 จึงเป็นอีกวันสำคัญวันหนึ่งของประชาชนชาวเทศบาลนครสงขลา ที่จะต้องออกไปใช้สิทธิในการเลือกนักการเมืองน้ำดีเข้ามาบริหารท้องถิ่น ทดแทนคนดีอย่างนายพีระ ตันติเศรณี ที่จากไป ซึ่งผู้สมัครเพื่อให้ประชาชนเลือกเป็นนายกเทศบาลนครสงขลาทั้ง 4 รายนั้น คนในท้องถิ่นต้องทราบดีว่า ใครมีความรู้แค่ไหน ใครมีอาชีพอะไร ใครเป็นนายบ่อน ใครเป็นเจ้ามือหวยเถื่อน ใครเป็นนักการพนัน ใครเป็นนักธุรกิจที่โกงชาติโกงแผ่นดิน ใครที่จะเหมาะสมกับการเข้ามาบริหารท้องถิ่น
 
ดังนี้แล้ว ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ชาวเทศบาลนครสงขลาต้องตั้งหลักให้มั่น ไม่ “ขายเสียง” ไม่ว่าจะเสียงละกี่พันบาท เพื่อเลือกคนดีหรือคนที่เลวน้อยที่สุดมาเป็นนายกเทศบาลนครสงขลา เพื่อความก้าวหน้าของท้องถิ่นของท่านเอง
 
นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี ทีมสงขลาใหม่ เบอร์ 2
ว่าที่ ร.ต.ประสิทธิ์ บัวงาม เบอร์ 3
นายจารึก ตันติเศรณี ทีมรักษ์นครสงขลา เบอร์ 4
 

กำลังโหลดความคิดเห็น