xs
xsm
sm
md
lg

“นวพล” กางข้อมูลโต้ “อุทิศ” สร้างกระเช้าสงขลาลัดขั้นตอนกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“นวพล บุญญามณี” อดีตนายก อบจ.สงขลา กางข้อมูลกระเช้าลอยฟ้าสงขลาโต้ “อุทิศ ชูช่วย” ชี้เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ไม่ใช่ประชาพิจารณ์ ระบุ อบจ.สงขลาดำเนินการลัดขั้นตอนกฎหมายหลายฉบับ ซ้ำกั๊กข้อมูล และเป็นการนำเงินภาษีของประชาชน 459 ล้านบาทมาเสี่ยง

หลังจากนายอุทิศ ชูช่วย หรือ “นายกต้อย” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เดินหน้าจัดสร้างโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลา โดยเริ่มเข้าปรับปรุงพื้นที่แหลมสนอ่อน อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เป็นการดำเนินการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าตามแนวทางการศึกษาที่นายนวพล บุญญามณี อดีตนายก อบจ.สงขลา ทำไว้เรียบร้อยแล้วนั้น ทีมข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้” จึงติดต่อสัมภาษณ์นายนวพล บุญญามณี เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว
นายนวพล บุญญามณี อดีตนายก อบจ.สงขลา
 
โครงการ “กระเช้าลอยฟ้า จังหวัดสงขลา” มีความเป็นมาอย่างไร
“ตามที่นายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า โครงการกระเช้าลอยฟ้าซึ่งจะสร้างขึ้นที่แหลมสนอ่อน อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อข้ามไปยังหัวเขาแดง อ.สิงหานคร จ.สงขลา เป็นโครงการที่สานต่อมาสมัยที่ผมเป็นนายก อบจ.สงขลา โดยหยิบข้อมูลเอกสาร “ศึกษาความเป็นไปได้โครงการกระเช้าลอยฟ้า จังหวัดสงขลา” (เล่มสีขาว) มาอ้างนั้น ผมขอชี้แจงว่า นี่เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ ไม่ใช่การทำประชาพิจารณ์

การศึกษาความเป็นไปได้มันเป็นเรื่องของการเสาะหาข้อมูลให้แก่ผู้ริหาร โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ เราไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบกับอะไรบ้าง จึงว่าจ้างบริษัทเอกชนมาศึกษาความเป็นไปได้ โดยศึกษาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 7-8 เรื่อง คือ การลงทุน จุดคุ้มทุน สิ่งแวดล้อม ระบบความปลอดภัยทางด้านกายภาพ ทางด้านเทคโนโลยี สภาพภูมิศาสตร์ ผลกระทบต่อชุมชน เป็นต้น เจตนารมณ์ผมที่ต้องการให้ศึกษา คือ เพื่อเป็นเครื่องมือ ข้อมูลใช้สำหรับผู้บริหารจะตัดสินใจว่าทำหรือไม่ทำ เพราะฉะนั้น กระบวนการนี้จะตีความว่าเป็นประชาพิจารณ์ และการศึกษาสิ่งแวดล้อมแล้วไม่ได้

ในกระบวนของการศึกษาความเป็นไปได้ เขาก็ไปสอบถามชาวบ้านเป็นเรื่องปกติ แต่กระบวนการที่ “นายกอุทิศ” จะมาบอกว่าเป็นเรื่องของการทำประชาพิจารณ์นั้นไม่ได้ มันคนละขั้นตอนกัน ถ้าผลการศึกษาความเป็นไปได้ออกมาแบบนี้ แล้วท่านตัดสินใจเอาไปปฏิบัติ ท่านก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยการตั้งคณะกรรมการแล้วมาพิจารณาว่าโครงการนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับใดบ้าง ท่านต้องมาเริ่มต้นใหม่ทำตามกฎหมายทุกฉบับ

กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชาพิจารณ์ กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนดให้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วทำไมท่านไม่ทำ วันนี้ท่านเข้าใจว่าเอกสาร “ศึกษาความเป็นไปได้โครงการกระเช้าลอยฟ้า จังหวัดสงขลา” (เล่มสีขาว) เป็นใบเบิกทางเบ็ดเสร็จ โครงการศึกษาความเป็นไปได้กระเช้าลอยฟ้าเกิดขึ้นในสมัยผม ถ้าผมเห็นว่ามันเกิดประโยชน์จริงทำไมผมจะไม่ทำต่อ”

 
แล้วทำไมในสมัยนั้นจึงไม่ทำต่อ?
“ถ้าท่านอ่านข้อมูลในเอกสารศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการกระเช้าลอยฟ้า (เล่มสีขาว) จะพบว่า เขามีข้อเสนอแนะต่างๆ ฉะนั้น ผู้บริหารต้องเอาข้อมูลตัวนี้มาตัดสินใจ ถ้าทำก็ต้องมีเหตุผล ถ้าไม่ทำก็ต้องมีเหตุผล ผมจะสรุปคร่าวๆ ให้ฟังเรื่องของงบประมาณการลงทุนด้านเดียวก่อน เกี่ยวกับแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการจากผลการศึกษาความเป็นไปได้มีข้อเสนอแนะ 3 แนวทาง คือ

1.อบจ.สงขลา ลงทุนเองทั้งหมด แล้วจ้างเอกชนบริหาร คือ อบจ.ลงทุน 100%
2.ร่วมทุนกับเอกชน แล้วจ้างเอกชนบริหาร
3.ให้เอกชนหาเงินมาลงทุน แล้วจ้างคนบริหารจัดการ ภายใต้สัมปทาน 20-30 ปี

จาก 3 แนวทางนี้ ในสมัยผมเป็นนายก อบจ.สงขลา ผมเลือกแนวทางที่ 3 คือ ให้เอกชนหาเงินมาลงทุน แต่วันนี้ “นายกต้อย” เลือกแนวทางที่ 1 คือ ใช้เงินภาษีของชาวบ้านไปลงทุนทั้งสิ้น 459 ล้านบาท แล้ว “นายกต้อย” ออกนโยบายตอนหาเสียงเลือกตั้ง ส.จ. ว่า ให้คนสงขลาขึ้นกระเช้าลอยฟ้าฟรี จุดคุ้มทุนจะคุ้มยังไง

นอกจากนี้ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้ในโครงการนี้ประมาณ 100 กว่าคน อบจ.สงขลา ก็ต้องเป็นคนจ้าง ก็ใช้เงินภาษีของประชาชนอีก บริษัทที่จะต้องมาบำรุงรักษาโครงการขนาดนี้ต้องเป็นบริษัทไหน เมืองไทยมีมั้ย ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ปีละเท่าไหร่ “นายกอุทิศ” ไม่บอกประชาชนเลย เฉพาะการก่อสร้าง 459 ล้านบาท แล้วค่าบำรุงรักษาเทคโนโลยี โครงการขนาดนี้อะไหล่ต้องจ้างจากเมืองนอกมาใช่มั้ย ปีละเท่าไหร่ ทำไม “นายกอุทิศ” ไม่บอกประชาชนว่าโครงการนี้จะจบที่เท่าไหร่ 459 ล้านบาทจริงหรือเปล่า เพราะ อบจ. ต้องจ่ายเงินบำรุงทุกปี เป็นภาระทางการเงินการคลังของ อบจ. มั้ย เป็นภาระของชาวบ้านมั้ย เรื่องการพัฒนาด้านอื่นๆ ไม่ต้องทำเหรอ ทำไม “อุทิศ” กับ “นวพล” ตัดสินใจต่างกันภายใต้การศึกษาข้อมูลจากเล่มเดียวกัน

 
โครงการนี้ผมก็ไม่เคยเห็น มันเป็นโครงการใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก เราจะตัดสินใจแบบไม่มีข้อมูลเลยไม่ได้ ผมไม่ทำ ผมถึงต้องจ้างเขามาศึกษาความเป็นไปได้ ว่าบ้านเมืองเราอากาศร้อน บ้านเมืองอื่นที่มีกระเช้าลอยฟ้าเขาเป็นอากาศหนาว ถ้าจะเอาโครงการเมืองหนาวมาทำจะมีผลด้านเทคโนโลยีมั้ย กำลังดึงกระเช้าจะหย่อนยานมั้ย จะเสื่อมสภาพเร็วกว่าเมืองหนาวมั้ย เราต้องมั่นใจ โครงการเหล่านี้ถ้ามีความเสี่ยงแค่ 0.01 จะต้องเลิก ไม่สร้าง

เพราะสายเคเบิลที่ดึงกระเช้าข้ามทะเลสาบสงขลา เสา TOWER สูง 80 เมตร แล้วกระแสลมเหนือทะเลสาบสวนทางกันอยู่ มันมีผลต่อการแกว่งตัวของกระเช้าลอยฟ้า ถ้าคุณไปขึ้นกระเช้าลอยฟ้าแล้วเกิดพายุคุณจะลงทันมั้ย การแกว่งตัวจากแรงลม ทำให้ตัวล็อกกระเช้าลอยฟ้าหลุดได้ง่าย ถ้ามีความเสี่ยงก็ต้องจ้างศึกษาแนวลมมรสุมมันว่าจะมีความแรงเฉลี่ยปีละเท่าไหร่ ความแรงของมันกระทบกระเช้าลอยฟ้าปีละเท่าไหร่

ผมเลือกข้อ 3 โครงการนี้ก็เกิด วันนี้ “นายกอุทิศ” มาบอกว่าสานต่อจากผม แต่พูดไม่จบ ถ้าสานต่อจากผมจริง เขาต้องเลือกวิธีการที่ 3 ไม่ใช่วิธีที่ 1 และผมยืนยันว่า เอกสารศึกษาความเป็นไปได้ (เล่มสีขาว) ไม่ถือเป็นการทำประชาพิจารณ์ ในเล่มนี้มีแค่ไปสอบถามชาวบ้านหัวเขา 2 หมู่บ้าน และมาแจ้งเขาว่าถ้าโครงการนี้เกิดกระทบกับเขามั้ย ชีวิตการเป็นอยู่เขาเปลี่ยนมั้ย เป็นกระบวนการหนึ่งในการศึกษาความเป็นไปได้ ไม่ถือว่าเป็นการทำประชาพิจารณ์

การศึกษาความเป็นไปได้คือ ขั้นตอนที่ 1 ส่วนการทำประชาพิจารณ์เป็นขั้นตอนที่ 3 ส่วนขั้นตอนที่ 2 คือ การที่ผู้บริหารตัดสินใจว่าจะทำต่อหรือไม่ ในสมัยที่ผมเป็นนายก อบจ.สงขลา ผมตัดสินว่าพับโครงการนี้ก่อน จึงไม่ได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์”

 
แล้วโครงการกระเช้าลอยฟ้าเกี่ยวข้องกับแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์เมืองเก่าหัวเขาแดง อ.สิงหนคร อย่างไร?
“ตรงหัวเขาแดงเขามีอุทยานประวัติศาสตร์อยู่ เป็นโบราณสถาน แผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์หัวเขาแดงไม่ได้เกี่ยวกับกระเช้าลอยฟ้าเลย แต่แผนแม่บทนี้ผมทำขึ้นเผื่อโครงการกระเช้าลอยฟ้าเกิด คุณจะไปพัฒนาตรงหัวเขาแดงคุณก็ต้องมีแผนแม่บทในการพัฒนา เจดีย์องค์ขาวองค์ดำพัฒนาอย่างไร เมืองเก่าพัฒนาอย่างไร ถ้าศึกษาความเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่างแล้วพบว่า อุทยานประวัติศาสตร์หัวเขาแดงทำไม่ได้ โครงการกระเช้าลอยฟ้าก็หมดสิทธิ

หรือถ้าโครงการกระเช้าลอยฟ้าไม่ผ่าน เลือกทำเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์ก็ได้ เพราะฉะนั้น มันไม่ได้เกี่ยวกันเลย

ในเอกสารแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์หัวเขาแดงไม่ได้ระบุว่าเกี่ยวโยงกับอะไรเลย มันจะเกี่ยวโยงกันต่อเมื่อเราสร้างกระเช้าลอยฟ้าไปลงหัวเขาแดง แล้วจะพานักท่องเที่ยวไปดูอะไร มันต้องทำแผ่นแม่บทในการพัฒนา แล้วแผ่นแม่บทนี้ใช้ตั้งแต่ปี 2551-2572 นี่คือ การขึ้นไปพัฒนาโบราณสถานบนหัวเขาแดง พัฒนาอะไรบ้าง กระทบอะไรบ้าง พัฒนาต่อเนื่องอย่างไรในอนาคต ทำแผนแม่บทขึ้นเพื่อให้ อบจ.ใช้งบประมาณในการพัฒนาได้สะดวก ผู้บริหารจะทำอะไรโดยไม่มีหลักการ ไม่มีแนวทางในการปฏิบัติไม่ได้ จู่ๆ ก็จะทำเลยเหรอ จะใช้งบประมาณก็ใช้เลยเหรอ”

ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับการใช้พื้นที่แหลมสนอ่อนเพื่อก่อสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้า นายนวพล บุญญามณี ชี้แจงดังนี้
“ในสมัยที่ผมเป็นนายก อบจ.สงขลา ผลการศึกษาความเป็นไปโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า ขอใช้พื้นที่แค่ 5 ไร่ 51 ตารางวาเท่านั้น เป็นที่คนละแปลงกับที่มูลนิธิ Miracle of life ขอใช้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าแต่อย่างใด ส่วนที่มูลนิธิ Miracle of life ขอใช้พื้นที่ป่าสนอีก 176 ไร่ ที่ “นายกอุทิศ” อ้างถึงนั้น จึงไม่อาจทราบเจตนาที่แท้จริงได้ ท่านต้องชี้แจงให้ชาวบ้านทราบด้วยว่ามูลนิธิมีความจำเป็นอะไรต้องมาใช้พื้นที่ตรงนี้ มีกิจกรรมหลักอะไร มีหน้าที่หลักอะไร”

พื้นที่แหลมสนอ่อนตรงนั้นมี่ความสำคัญอย่างไร?
“ชายทะเลสงขลาไม่มีอนุญาตให้ใครสร้างอะไรเลยเห็นไหม ไม่เหมือนภูเก็ต ไม่เหมือนที่อื่นที่มีชายทะเล สงขลาเป็นเมืองอนุรักษ์ เพราะฉะนั้น ชายหาดก็ไม่มีสิ่งก่อสร้าง แหลมสนอ่อนเป็นป่าสนเดียวที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลสาบ เวลามีพายุ ถ้าคุณไม่มีป่าสนคุณจะเอาอะไรกำบัง ป่าสนจึงมีผลกระทบต่อนิเวศวิทยาทั้งระบบ ถ้าพัฒนาไปเป็นอสังหาริมทรัพย์แล้วเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม มันคุ้มที่จะเอาเงินภาษีของประชาชนมาเสี่ยงมั้ย ประชาชนยอมได้มั้ย

วันนี้ อบจ.สงขลา เอาภาษีของประชาชนมาสร้าง บริษัทที่จ้างมาก่อสร้างในอนาคตคงไม่พ้นคนในเครือข่าย คิดค่าบริการจากใคร ก็จาก อบจ.สงขลา เพราะฉะนั้น ภาระทั้งหมด นอกจากค่าก่อสร้าง 459 ล้านบาท ค่าจ้าง ค่าบริการ ค่าพนักงาน ค่าบำรุง ต้องเลี้ยงดูทั้งระบบใช่มั้ย เงินภาษีใคร แล้วจะทั้งระบบต้องใช้เงินเท่าไหร่ ทำไมไม่บอกประชาชนให้หมด”

ในฐานะที่เอกสารเรื่องกระเช้าลอยฟ้า และแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์หัวเขาแดงเกี่ยวเนื่องกัน 2 เล่ม เกี่ยวเนื่องกัน ท่านมองอุทยานประวัติศาสตร์สามารถเดินหน้าได้สะดวกกว่า?
“ไม่มีกระเช้าลอยฟ้า อุทยานประวัติศาสตร์ก็ทำได้ ถ้าคุณจะพัฒนาบนหัวเขาแดงคุณทำได้เลย ผมจัดทำแผนแม่บทไว้เรียบร้อยแล้ว”

 
มิติทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
“ถ้าคุณขัดแย้งทางความคิดคุณต้องมานั่งเจรจากัน นั่งคุยกัน เพื่อหาข้อสรุปที่ถูกต้อง เมื่อ 2 หน่วยงานขัดแย้งกันก็ต้องพึ่งศาล ถ้าคุณจะสร้างอะไรในเขตเทศบาลเขาก็มีสิทธิขอดูแบบ แต่คุณจะสร้างโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ไม่คำนึงถึงหน่วยงานอื่นไม่ได้

“นายกต้อย” บอกว่า พวกผมเป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม มาคัดค้านเพราะอิจฉาผลงานเขา มันไม่ใช่ ท่านมาเอาผลงานผม แล้วยังตัดสินใจผิดๆ อีก คนเป็นนายก อบจ. ต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบมากกว่านี้ คุณต้องอธิบายชาวบ้านว่าวันหนึ่งๆ มีคนขึ้นกระเช้ากี่คน ในผลการสำรวจระบุไว้ว่าต้อง 700,000 คนต่อปี เดือนละกี่คน วันละกี่คนถึงจะคุ้ม คุณไม่เอารายละเอียดมาพูด ไม่อธิบายว่ามันจะผูกพันงบการเงินของ อบจ. ต่อไปอย่างไร

ผมไปฟ้องศาลปกครองเพื่อให้สั่งระงับโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าไว้ก่อน และชี้ให้เห็นว่า ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้กับการทำประชาพิจารณ์มันคนละส่วนกัน เพื่อให้ อบจ.สงขลาดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ ทางกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วนทุกกระบวนการ”

นอกจากนี้ นายนวพล บุญญามณี ยังกล่าวอีกว่า การที่นายกอุทิศ ชูช่วย ให้ข่าวว่าเป็นเรื่องการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่อิจฉา เพราะไม่อยากเห็นว่าตนจะมีผลงานนั้น ขอเรียนว่าไม่จริงครับ และไม่เคยมีความคิดแบบนี้เลย จากการที่นายกอุทิศ ชูช่วย เป็นนายก อบจ.สงขลา มา 3 ปีแล้ว ประชาชนชาวสงขลารู้ดีว่ามีผลงานหรือไม่ หรือทำงาน กิจกรรมต่างๆ เพื่อประชาชน หรือทำเพื่อประโยชน์ของคนในครอบครัวตนเอง เรื่องนี้ผมว่าพี่น้องประชาชนที่เลือกคุณอุทิศ ชูช่วย มาเป็นนายก อบจ.สงขลา นั้นเขารู้ดีครับ ผมไม่ต้องบรรยายซ้ำให้เสียเวลา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น