ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิชาการร่วมถกในเวทีเสวนา “ป่าสนผืนสุดท้ายภายใต้นโยบายการพัฒนา” ระบุ การก่อสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้าจะต้องคำนึกถึงมูลค่าทางความรู้สึกของประชาชน และพัฒนาเมืองควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม แนะเปิดเวทีสาธารณะชี้แจงผลดีผลเสียเพื่อความโปร่งใสของโครงการ
เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ตึกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ศูนย์ศึกษาบูรณาการทางสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และเครือข่ายพลเมืองสงขลาป้องกันแหลมสนอ่อน วิทยาลัยวันศุกร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ป่าสนผืนสุดท้ายภายใต้นโยบายการพัฒนา” โดยนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไท ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ดร.จเร สุวรรณชาต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และ ผศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเสวนาให้ความรู้ หลังจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา นำเครื่องจักรกลหนักเข้าเคลียร์พื้นที่แหลมสนอ่อน อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเป็นป่าสนผืนสุดท้ายของ จ.สงขลา เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า โดยที่ยังไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จนนำมาสู่กระแสต่อต้านโครงการดังกล่าวจากภาคประชาชน
ผศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้ความเห็นว่า ในทางเศรษฐศาสตร์การก่อสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้านี้จะต้องคำนึกถึงมูลค่าทางความรู้สึกของประชาชน รวมทั้งความคุ้มค่าของการรักษาทรัพยากรด้วย สำหรับป่าสนอ่อน ในเบื้องต้นมูลค่าทางความรู้สึกสะท้อนได้จากการแสดงออกของภาคพลเมืองที่แสดงท่าทีปกป้อง และอยากให้ป่าตรงนี้คงสภาพเดิม ไม่เปลี่ยนไปเป็นสถานีกระเช้าลอยฟ้า
และในแง่ความคุ้มทุน ทรัพยากรมีน้อยเท่าไหร่มูลค่าทางความรู้สึกยิ่งสูง แต่การจัดทำโครงการกระเช้าลอยฟ้าที่ อบจ.สงขลา เดินหน้าก่อสร้างนี้ไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าทางความรู้สึก ในมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์จะต้องประเมินว่าคุ้มค่าแค่ไหนเมื่อเทียบกับการรักษาทรัพยากร ตอนนี้สงขลามีป่าสนธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก มี 2 ทางเลือกคือ รักษาไว้ หรือสร้างเป็นสถานีกระเช้าลอยฟ้า
ด้าน ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า การละเลยต่อกฎระเบียบ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมนิเวศ ซึ่งเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสังคม นี่เป็นการชอบธรรมที่สังคมต้องหามาตรการโต้ตอบ หรือลงโทษ ทั้งในแง่กฎหมาย หรือมาตรการทางสังคม เนื่องจากโครงการกระเช้าลอยฟ้านี้ อบจ.สงขลา ได้ละเลยขั้นตอนกฎหมายหลายฉบับ
ขณะเดียวกัน ดร.จเร สุวรรณชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ให้ความเห็นว่า ป่าสนที่ทอดตัวยาวริมทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่สีเขียวของเมือง ซึ่งสงขลา และมะละกา ประเทศมาเลเซีย เตรียมจะทำ MOU เป็นบ้านพี่เมืองน้อง Low carbon city ร่วมกัน หากนายพีระ ตันติเศรณี ไม่เสียชีวิตไปก่อน โดยเตรียมผลักดันสงขลาเป็น “นิเวศนาคร” รักษาพื้นที่สีเขียวของเมืองไว้ให้คงอยู่ควบคู่กับการพัฒนา
นอกจากนี้ ดร.จเร ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เจดีย์ที่อยู่บนหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นสถานีปลายทางของกระเช้าลอยฟ้า ทั้งเจดีย์องค์ขาว เจดีย์องค์ดำ สร้างขึ้นเพราะว่าข้าศึกมาตีเมืองสงขลาแตก มีการสู้รบจนชาวสงขลาล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นการไถ่โทษ เป็นสัญลักษณ์ของการพลีเมือง ในแง่ของการท่องเที่ยวเยี่ยมชมเพื่อสักการะนั้นควรขึ้นไปเยี่ยมชมเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของพระพุทธเจ้าจะเป็นการเหมาะสมกว่า
ด้านนายบรรจง นะแส กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ จ.สงขลา มีชายฝั่งทอดตัวยาวตั้งแต่ อ.เทพา จนถึง อ.ระโนด และเป็นระบบนิเวศที่เชื่องโยงกันทั้งหมด บางส่วนเกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง และบางส่วนมีพื้นที่ชายหาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสร้างสิ่งแปลกปลอมยื่นลงไปในทะเล และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดจากการขัดแย้งในเชิงวิธีคิด ที่นักการเมืองไม่ยอมศึกษาข้อมูลทางวิชาการ การตายของนายกฯ พีระที่ถูกลอบยิงด้วยอาวุธสงครามกลางเมืองสงขลา จึงทำให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงสิ่งที่นายกฯ พีระพยายามทำคือ การรักษาแหลมสนอ่อนป่าสนผืนสุดท้ายของเมืองไม่ให้กลายเป็นสถานีกระเช้าลอยฟ้า และลุกขึ้นมาสืบสานเจตนารมณ์
จากนั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จำนวน 55 คน จาก 6 สถาบันการศึกษาอุดมศึกษาในภาคใต้ ซึ่งได้ติดตามและศึกษาโครงการมาอย่างต่อเนื่องได้ร่วมกันออกแถลงการณ์กรณีการดำเนินการก่อสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ว่า ขอให้หยุดดำเนินการโครงการกระเช้าลอยฟ้า และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และให้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเพื่อขจัดความคลุมเครือจึงเสนอให้จัดเวทีสาธารณะโดยองค์กรกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาชี้แจงอย่างอิสระ อันจะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการดำเนินงาน ทั้งนี้ จะยกระดับการเรียกร้องหากได้รับการเพิกเฉย