xs
xsm
sm
md
lg

“เขาหลวง” สุโขทัย(จบ) : สัมผัสความงามเบื้องล่างประตูสวรรค์/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
สีสันยามเช้าบนยอดเขานารายณ์ 1 ใน 4 จุดไฮไลท์บนยอดเขาหลวง
“ใกล้ตา ไกลตีน”

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมมีความรู้สึกเช่นนี้ หลังจากพี่ “ทนงค์ อ้นทอง” นักวิชาการเกษตร หนึ่งในทีม สื่อความหมาย อุทยานแห่งชาติรามคำแหง ชี้ให้ดูยอดเขาหลวงที่ตั้งตระหง่านเงื้อมอยู่เบื้องบน

หลังจากนั้นการผจญภัยย่อยๆก็เกิดขึ้นบนเส้นทางพิชิตยอดเขาหลวง ในระยะทาง 3.7 กม. ที่ระดับความชันเฉลี่ยประมาณ 35-40 องศา บนเส้นทางที่สมบุกสมบันเอาเรื่อง

แม้ทางจะชัน โหด สมบุกสมบัน แต่เมื่อใจไม่ย่อท้อ เราก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่จุดหมายได้สมดังปรารถนา ซึ่งการเดินทาง(เดินเท้า)ขึ้นไปพิชิตยอดเขาหลวง สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผมไม่ใช่การเอาชนะอุปสรรคความยากลำบากที่เผชิญมา หากแต่เป็นการเอาชนะใจตนเองที่ไม่ย่นย่อท้อถอยต่ออุปสรรคที่ขวางหน้า
แคมป์พัก ลานกางเต็นท์บนยอดเขาหลวง
ไฮไลท์ 4 ยอด

ผมใช้เวลาเดินขึ้น 3 ชั่วโมงกว่าๆฟันฝ่าขึ้นมาถึงยอดเขาหลวงที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร โดยมีจุดกางเต็นท์ ค่ายพักแรม อยู่ห่างกับป้ายผู้พิชิตเพียงไม่กี่ก้าว ที่ลานกางเต็นท์แห่งนี้ มีต้นสารภีป่าที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปลูกไว้เมื่อครั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินพิชิตยอดเขาหลวง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2537 ซึ่งยังความปลาบปลื้มกับชาวเมืองสุโขทัยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับยอดเขาหลวงมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายสามเหลี่ยม มีระนาบสูงต่ำ สลับเนิน ไม่ใช่เป็นยอดตัดเรียบเหมือนภูกระดึง มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ มีทั้งที่เป็นผืนป่าและทุ่งหญ้า

บนยอดเขาหลวงมีไฮไลท์เป็นยอดเขาย่อย 4 ยอด ได้แก่ ยอดเขานารายณ์ ยอดเขาพระเจดีย์ ยอดเขาภูกา และยอดเขาแม่ย่า(ยอดเขาพระแม่ย่า)

ยอดเขาย่อยแต่ละยอดมีสภาพพื้นที่และจุดเด่นแตกต่างกันออกไป
ยอดเขาแม่ย่า(ยอดซ้าย) 1 ใน 4 ยอดเขาไฮไลท์
-ยอดเขาพระเจดีย์ สูง 1,185 เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ห่างจากแคมป์ประมาณ 320 เมตร ในอดีตเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทหารไทยเคยใช้เป็นที่สังเกตการณ์การเคลื่อนทัพของข้าศึก(พม่า) คนสมัยก่อนเชื่อว่าที่นี่เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์จึงนำหินมาก่อเป็น(รูปร่าง)เจดีย์ อันเป็นที่มาของชื่อยอดเขา ปัจจุบันเจดีย์หินเรียงแห่งนี้ยังคงอยู่

-ยอดเขานารายณ์ สูง 1,160 เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ใกล้จากแคมป์ประมาณ 200 เมตร ที่นี่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นชั้นดี แถมถ้าวันไหนอากาศเป็นใจจะมีทะเลหมอกลอยขาวโพลนที่เบื้องล่างให้ชวนตราตรึงใจ

-เขาภูกา สูง 1,250 เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ห่างจากแคมป์ 2,220 เมตร ที่นี่นอกจากจะเป็นจุดชมทิวทัศน์ชั้นดีแล้วยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งญี่ปุ่นเคยมาสลักหินบอกทิศทางไว้ที่นี่ เรียก “หินเข็มทิศ” เนื่องจากเชื่อว่าบริเวณนี้มีสนามแม่เหล็กอยู่

-ยอดเขาแม่ย่า สูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ห่างจากแคมป์ 980 เมตร เป็นจุดชมวิวและชมพระอาทิตย์ตกอันขึ้นชื่อของเขาหลวง นับเป็นอีกอีกหนึ่งยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ เพราะคนสุโขทัยนั้นนับถือแม่ย่า โดยชื่อแม่ย่ามาจากคำเรียกขานชื่อแม่ของพระร่วง ซึ่งในตำนานเล่าขานน่าบริเวณยอดเขาแห่งนี้เป็นจุดที่แม่ย่า มาบำเพ็ญศีลในช่วงสุดท้ายของชีวิต

และนั่นก็เป็นไฮไลท์สำคัญ 4 จุดบนยอดเขาหลวง ที่ใครหากอยากรู้ว่ายอดไหนสวยงาม น่าสนใจอย่างไร งานนี้มีแต่ต้องเดินกับเดินไปพิสูจน์ด้วยสัมผัสทั้ง 5 ของตัวเองเท่านั้น
ถ้ำมเห-รก
ตะวันลับฟ้าที่ยอดเขาแม่ย่า

หลังเดินเหนื่อยขึ้นมาถึงยอดเขาหลวงในเวลาประมาณบ่าย 3 โมง ผมกับคณะจัดการกางเต็นท์ จัดเก็บสัมภาระ แล้วพักผ่อน รอเวลาแดดร่มลมตกราวๆ 4 โมงครึ่ง จากนั้นพี่ทนงค์ได้เรียกรวมพล อีกครั้งเพื่อออกเดินทางไปชมตะวันลับฟ้าที่ยอดเขาแม่ย่า

ก่อนไปเขาแม่ย่าพี่ทนงค์พาไปแวะยัง “ถ้ำมเห-รก” ที่อยู่ห่างแคมป์เพียง 40 เมตรเลยห้องน้ำไปไม่ไกล

ถ้ำมเห-รก เป็นสถานที่ที่เชื่อว่าธิดาพญานาคได้มาคลอด “พระร่วง” ด้วยการสำรอกที่นี่ ทำให้สถานที่นี้กลายเป็นตำนาน(ผมได้เล่าเรื่องนี้ไปเมื่อตอนที่แล้ว)
ภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาบนยอดเขาหลวง
จากนั้นเราเดินย้อนกลับทางเดิมเพื่อมุ่งหน้าสู่ยอดเขาพระเจดีย์ที่เป็นดังจุดแวะพักชมไฮไลท์ระหว่างทาง

ยอดเขาพระเจดีย์มีลักษณะพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าสะวันนา กว้างโล่ง มีลมพัดแรงโชยปะทะร่าง ทุ่งหญ้าบริเวณนี้นับเป็นหนึ่งในภาพขายของเขาหลวง โดยเฉพาะยามต้องแสงแดดยามเช้า-เย็น แสงแดดจะฉาบทอทุ่งหญ้าเป็นสีเหลืองทองดูสวยงามอร่ามตา

บนยอดเขาเจดีย์เป็นจุดชมวิวชั้นดีมองลงไปเห็นวิวทิวทัศน์งดงามในเบื้องล่างได้กว้างไกล ซึ่งผมเห็นแล้วไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนโบราณถึงใช้ที่นี่เป็นจุดยุทธศาสตร์คอยสังเกตข้าศึกศัตรู เพราะว่าชัยภูมินี่ใช่เลย
ศรัทธาบนยอดเขาเจดีย์
นอกจากทิวทัศน์อันสวยงามแล้ว ยอดเขาเจดีย์ยังมี “เจดีย์หินเรียง” องค์ขนาดย่อมตั้งเด่นอยู่ ซึ่งเชื่อกันว่าใครสามารถนำหินมาเรียงต่อยอดซ้อนไปขึ้นไปบนกองหินที่เรียงอยู่ก่อนหน้านั้นโดยไม่ตกหล่น คำอธิษฐานจะสมหวัง

แน่นอนว่าใครและใครหลายๆคนในทริปเรา จากที่เห็นเดินมาเหนื่อยเมื่อมาเจอเจดีย์หินเรียงองค์หนี้ สภาพกายกลับพลิกเปลี่ยนกลายเป็นกระปรี้กระเปร่าคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น รีบเดินหาก้อนหินมาอธิฐานแล้วเรียงซ้อนลงไปบนยอดอย่างตั้งใจไม่ให้ก้อนหินที่วางเรียงตกหล่น เพื่อที่จะได้สมหวังดังคำอธิษฐาน

พวกเราใช้เวลาที่ยอดเขาเจดีย์กันสักพักให้แต่ละคนเรียงหิน วางหิน และทำหินตกกันพอเหม็นปากเหม็นคอ เมื่อเห็นว่าแสงแดดเริ่มโรยลงมากจึงออกเดินเท้าต่อผ่านทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งพี่ทะนงกำชับว่า “อย่าเข้าไปลุยในดงทุ่งหญ้า เพราะมันมี ‘เห็บไหม’ ที่หากกัดใครเข้าแล้วจะฝังตัว คันนานเป็นเดือน”

ผมเคยโดนแต่เห็บลมกัดในป่าหลายที่รู้ฤทธิ์ของเจ้าเห็บพวกนี้ดี จึงไม่ขอเอาตัวเข้าไปเสี่ยงด้วยประการทั้งปวง เพราะเห็บไหม เห็บลม กัดแล้วคันคะเยอนานไม่ต่างกัน
เฝ้ารอชมตะวันลับฟ้าบนยอดเขาแม่ย่า
ในเส้นทางไปจากยอดเขาเจดีย์ไปยอดเขาแม่ย่าจุดชมพระอาทิตย์ตกมีทางแยกไปยอดเขาภูกาผ่านผืนป่าดิบเขาที่อุดมไปด้วยพืชสมุนไพร ซึ่งที่นี่คือ “สวนขวัญ” แหล่งยาสมุนไพรของกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ และชนชั้นสูงเมื่อครั้งอดีต

เลยจากแยกไปยอดภูกา 240 เมตรก็ถึงยอดเขาแม่ย่า ที่แม้จะทั้งหนาวและลมแรงระยับ แต่ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อรอชมตะวันลับฟ้าที่นี่ทำให้ไม่มีใครย่อท้อถอยหนี เพระหากจะถอยต้องเดินกลับคนเดียว งานนี้ใครกล้าก็เชิญ
แนวเทือกเขาจากยอดเขาแม่ย่าทอดยาวสู่ยอดเขานารายณ์ มองเห็นผาหน้าคนชัดเจน
ที่ยอดเขาแม่ย่าแห่งนี้สามารถมองเห็นยอดเขานารายณ์ได้ดีทีเดียว แถมมุมมองจากที่นี่ยังทำให้เห็นหน้าผาด้านหนึ่งของยอดเขานารายณ์มีรูปลักษณะคล้ายหน้าคน มีหน้าผาก จมูก ปาก(อ้า) จึงเป็นที่มาของชื่อ “ผาหน้าคน” ที่หน้ายลไม่น้อยเลย

ครั้นเมื่อเวลามาถึง ดวงตะวันก็ค่อยๆลอยคล้อยต่ำเคลื่อนตัวหายไปในกลีบเมฆ จากนั้นอีกไม่นานม่านราตรีได้คลี่ห่มคลุม พร้อมกับการเปลี่ยนโหมดของบรรยากาศจากกลางวันสู่กลางคืน

ราตรีที่นี่แม้ไม่มีแสงสีเหมือนอย่างราตรีในเมืองกรุง แต่ราตรีบนยอดเขาหลวงมีดาว เดือน และเสียงหรีดเรไรช่วยขับกล่อมให้เราหลับใหล

นี่ไยมิใช่เสน่ห์ของธรรมชาติที่ใครไม่ไปสัมผัสย่อมไม่รู้
ตะวันเบิกฟ้าที่ยอดเขานารายณ์
ยอดเขานารายณ์

แม้ความเพลียจะทำให้ผมกับชาวคณะหลับเป็นตาย แต่เมื่อถึงเวลาตื่น ดูเหมือนทุกคนจะกระปรี้กระเปร่าต่างไปจากสภาพช่วงที่เดินขึ้นเขา ซึ่งการนอนหลับท่ามกลางสภาพธรรมชาติและอากาศดี มันช่วยลดทอนความเพลียได้มากโข

ครั้นเมื่อทุกคนสลัดความงัวเงียมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน พี่ทนงค์ก็พาเดินสู่ยอดเขานารายณ์ในเส้นทางคนละทางกลับเมื่อวานที่ไปยอดเขาแม่ย่า
มุมใครมุมมันที่ยอดเขานารายณ์ ยามตะวันเบิกฟ้า
จากที่พักพวกเราเดินตัวปลิวโต้ลมหนาวสู่ยอดเขานารายณ์ที่อยู่ห่างจากแคมป์แค่ราว 200 เมตร ก่อนที่พี่ทนงค์จะพามาหยุดยังริมผาที่มีผาหินเหลี่ยมประหลาดตั้งเด่น ที่นี่แหละคือ ยอดเขานารายณ์จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกอันขึ้นชื่อของเขาหลวง

งานนี้ระหว่างรอพระอาทิตย์ขึ้น แต่ละคนดูเหมือนจะมีมุมมองส่วนตัว เดินหามุมเหมาะถ่ายรูปกันตามใจปรารถนา จากท้องฟ้าที่มืดมิดก็ค่อยๆเรื่อเรือง ช่วงเวลานี้ท้องฟ้าได้ค่อยเปลี่ยนสี จากน้ำเงินเข้มเป็นน้ำเงินผสมแดง ชมพู และเปลี่ยนสีไปอีกตามความสว่างของแสงอาทิตย์ที่เริ่มสาดส่องแสงมา นับเป็นงานศิลปะจากธรรมชาติที่มนุษย์ผู้กระจ้อยร้อยมีอาจสร้างสรรค์ได้
รับอรุณวันใหม่กับพระอาทิตย์ดวงกลมแดงที่ยอดเขานารายณ์
จากนั้นดวงตะวันกลมโตได้ค่อยโผล่พ้นขอบฟ้า ณ เบื้องหน้าทางทิศตะวันออกที่มองลงไปเห็นแนวเทือกเขา อ่างเก็บน้ำ และชุมชนเบื้องล่าง
นักท่องเที่ยวบันทึกภาพยามเช้าที่ยอดเขานารายณ์
พวกเราเพลิดเพลินกับการถ่ายพระอาทิตย์ขึ้นอยู่พักใหญ่จนแสงแดดเริ่มแรง พี่ทนงค์จึงพาเราเดินต่อไปยัง “ผาชมปรง” ที่อยู่ใกล้ๆกัน(บริเวณสถานีโทรคมนาคมฯ) ผาชมปรงเป็นจุดชมวิวชั้นดีอีกจุดหนึ่ง มีก้อนหินขนาดย่อมตั้งอยู่แบได้เหลี่ยมให้ผู้หาญกล้าปีนขึ้นไปถ่ายรูป ชมวิว (แบบต้องระมัดระวังตัวให้ดี)
ต้นปรงขึ้นตามไหล่หน้าผาที่ผาชมปรง
บนหินก้อนนี้มองลงไปเห็นทิวทัศน์อันอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ขณะที่อีกด้านหนึ่งตามไหล่ผม มีต้นปรงโบราณอายุนับร้อยปีขึ้นอยู่มากมาย เป็นต้นปรงที่มาของชื่อผาชมปรง ซึ่งผมเห็นหน้าผาแห่งนี้แล้ว อยากให้นักการเมืองเลวๆหลายๆคนมายืนบนก้อนหินชมต้นปรงที่ผาชมปรงแห่งนี้

เปล่า ผมไม่ต้องการให้พวกเขาชมต้นปรงแล้วเกิด “ปลง”ต่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ อำนาจ เงินตรา ที่เป็นกิเลสให้พวกเขาทำชั่วแบบไม่กลัวฟ้าดิน หากแต่ผมอยากให้พวกเขามายืน ณ จุดนี้ แล้วให้ใครก็ได้ที่อยู่ใกล้ๆ(รวมทั้งตัวผมเอง) ถีบไอ้คนพวกนี้ตกเขาลงไป ซึ่งผมเชื่อว่าหากไร้ซึ่งคนพวกนี้เมืองไทยจะดีขึ้นอีกมากโข

เฮ้อ...งานนี้มาผาชมปรงแล้วตัวเองกลับปลงไม่ตกเสียนี่
ผาชมปรง
ลาก่อน เขาหลวง

ช่วงเช้าถึงสายของวันนั้น ผมกับคณะเวลาถ่ายรูปบนยอดเขาหลวงอยู่พอประมาณ ก่อนกลับมาหม่ำข้าวเช้า แล้วออกเดินทางกลับลงเขา ซึ่งขาขึ้นมาทางไหน ขาลงก็ไปทางนั้น เพียงแต่ว่าเวลาในช่วงขาลงนี้สั้นกว่ามาก เพราะมันเดินตลอดแบบเบรกไม่อยู่ ทำให้ผมเดินลงเขามายืนมองยอดเขาหลวงที่เห็นอยู่ลิบๆในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง

ยอดเขาหลวงที่ได้ขึ้นไปและเพิ่งเดินลงมา ตั้งตระหง่านเงื้อมอยู่เบื้องหน้า มองเห็นใกล้ตาแต่ไกลตีน

จากนั้นเมื่อถึงคนลงมาพร้อมพวกเราก็ขึ้นรถเดินทางกลับ ระหว่างนี้ผมกลับไปมองยอดเขาหลวงที่ค่อยถอยห่างออกไปเป็นไกลตา ไกลตีน

แม้ไกลตา ไกลตีน...แต่ทว่า ใกล้ใจ
*****************************************

เขาหลวง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ป่าเขาหลวงมีเนื้อที่ประมาณ 341 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอใน จ.สุโขทัย คือ อ.คีรีมาศ อ.เมือง และ อ.บ้านด่านลานหอย ตั้งอยู่จากตัวจังหวัดสุโขทัยประมาณ 30 กม.

การเดินทาง สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-พรานกระต่าย-คีรีมาศ เข้าถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 423 ก.ม. และเส้นทาง กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-สุโขทัย-คีรีมาศ ระยะทางประมาณ 457 ก.ม.

การเดินทางขึ้นเขาหลวง ควรฟิตเตรียมร่างกายให้พร้อม บนยอดเขาหลวงมีที่พักเป็นสถานที่กางเต็นท์ โดยทางอุทยานฯมีเต็นท์จำนวนหนึ่งไว้ให้เช่าบริการ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องนอนต่างๆ ขณะที่ผู้นำเต็นท์ไปเองเสียค่าใช้พื้นที่ 30 บาท/คน/คืน นอกจากนี้ยังมีร้านสวัสดิการอยู่ข้างบน มีสินค้าของกินบ้างอย่างขาย เช่น น้ำอัดลม ปลากระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป ในราคามากกว่าพื้นล่างประมาณ 2 เท่า เพราะต้องเสียค่าลูกหาบแบกขึ้นมา

บนเขาหลวงต้องนำอาหารขึ้นมาเอง ด้านบนไม่มีขาย โดยมีจุดก่อไฟและจุดทำอาหารที่ทางอุทยานฯจัดเตรียมไว้ให้ ส่วนน้ำดื่มมีน้ำดื่มสะอาดจากธรรมชาติไว้บริการ มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ แยกชายหญิง มีไฟปั่นเปิดให้บริการในช่วงค่ำถึงเวลา 4 ทุ่ม

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเขาหลวงเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาหลวง 0-5591-0000-1 นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงในสุโขทัยได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย 0-5561-6228-9
กำลังโหลดความคิดเห็น