xs
xsm
sm
md
lg

ตราตรึงทะเลหมอก“ภูชี้ฟ้า”-ตะวันลาที่“ผาตั้ง”- “หลงถัง”แดนประวัติศาสตร์/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
ทะเลหมอกภูชี้ฟ้าที่ขึ้นชื่อลือชา
เที่ยวทะเลกับหน้าร้อนเป็นของต้องโฉลกกัน ฉันใดก็ฉันเพล ที่การเที่ยวชมทะเลหมอกยามหน้าหนาวก็ถือเป็นสิ่งควรคู่กัน

สำหรับจุดชมทะเลหมอกที่ได้ชื่อว่าสวยงามติดอันดับต้นๆของเมืองไทย หนึ่งในนั้นก็คือ “ภูชี้ฟ้า” จ.เชียงราย ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงราย ได้จัดเส้นทางท่องเที่ยว 3 ภู เชื่อมโยงกับภู 3 แห่ง พาไปสัมผัสกับความงามของธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวช่วงหน้าหนาวที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
ทิวทัศน์สปป.ลาว บนจุดชมวิวผาตั้ง
ตะวันลาที่“ผาตั้ง

เป้าหมายแรกของเส้นทาง 3 ภู จากตัวเมืองเชียงราย ผมมาเปิดประเดิมทริปกันที่ “ภูผาตั้ง” ซึ่งอันที่จริงมันก็คือ “ดอยผาตั้ง” ที่บรรดาขาเที่ยวรู้จักกันดี แต่เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์เที่ยว 3 ภู ดอยผาตั้งจึงถูกททท.เรียกขานเสียใหม่ว่า“ภูผาตั้ง”

(ภู)ผาตั้ง ตั้งอยู่ที่บ้านผาตั้ง ต.ปอ อ.เวียงแก่น เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่น จากระดับน้ำทะเล 1,635 เมตร อยู่ห่างจากภูชี้ฟ้าประมาณ 25 กม.

ผาตั้งเป็นภูเขากั้นเขตแดนไทย-ลาว ถือเป็นจุดชมวิวชั้นดีทั้งในยามเช้าและเย็น โดยในยามเช้านั้นจะมีทะเลหมอกสวยงามให้ชม ส่วนยามเย็นถือเป็นจุดชมทิวทัศน์และจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดี
ผาบ่อง ประตูสยามที่ผาตั้ง
วันนั้นผมมาถึงผาตั้งในช่วงเย็น เพราะมีโปรแกรมนอนค้างแถวภูชี้ฟ้า ก่อนตื่นแต่เช้ามืดขึ้นไปชมทะเลหมอก ดังนั้นจึงเลือกที่จะมาเที่ยวภูผาตั้งในยามเย็นแทน

ผาตั้งในวันนั้นฟ้าเปิด ใส อากาศดี แถมลมแรง พัดกระโชกจนหนาวระยับ สำหรับการเที่ยวที่ผาตั้ง ต้องออกแรงเดินขึ้นไปบนสันเขาแนวตะเข็บชายแดนกันหน่อย ซึ่งใครที่เดินไม่ไหวหรืออยากเปลี่ยนบรรยากาศ(เพราะอยู่เมืองกรุงนั่งแต่รถยนต์จนเมื่อยก้น) ก็ลองเลือกใช้บริการขี่(นั่ง)ม้าชมวิวที่ชาวบ้านแถบนั้นเขาจัดม้าไว้บริการได้

เมื่อมาถึงผาตั้งผมเดินขึ้นไปตามทางบนซุ้มประตูที่ อบจ.จัดสร้างไว้ เพื่อขึ้นไปชมวิวบริเวณ “ผาบ่อง” ที่เป็นดังประตูสยามสู่ประเทศลาว มีลักษณะเป็นช่องหินขนาดใหญ่ มองไปเห็นวิวประเทศลาวได้อย่างชัดเจน และถ้าใครใจกล้าก็สามารถเดินเลียบผาเข้าไปเที่ยวชายขอบของประเทศเพื่อนบ้านได้
ช่องเขาขาด
ที่ภูผาตั้งยังมี“ช่องเขาขาด” เป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวสำคัญ มีลักษณะเป็นช่องเขาแคบๆที่ขาดแยกออกจากกัน สามารถไปยืนรับลมชมวิวของประเทศลาวได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้บนแนวเทือกเขาภูผาตั้ง ยังมี “ศาลาอนุสรณ์นายพลหลี่”ให้เที่ยวชมรำลึกในวีรกรรม มี “พระพุทธมังคลานุภาพลาภสุขสันติ” ให้ผู้ที่ขึ้นไปได้กราบไหว้สักการะบูชา มี “ป่าหินยูนนาน” เป็นกลุ่มหินธรรมชาติรูปร่างประหลาดขึ้นเรียงรายมีขนาดพื้นที่พอประมาณ
ทิวทัศน์ฝั่งไทย
ขณะที่เนิน 102 และ เนิน 103 ที่อยู่ไม่ไกลกันนั้นถือเป็นจุดชมวิวและชมพระอาทิตย์ลับฟ้าชั้นดี ซึ่งหลังดวงตะวันลาลับ ผมเดินลงจากผาตั้งมาจิบชา กาแฟ ของชาวบ้านที่เปิดร้านขายอยู่ริมทาง พร้อมกับหม่ำขนม-โรตี ก่อนอำลาผาตั้งเดินทางสู่ที่พัก ทิ้งผาตั้งให้ตั้งตระหง่านรอคอยผู้คนมาเยือนในวันถัดไป เดือนถัดไป

...และปีถัดไป
ภูชี้ฟ้ากับรูปพรรณสัณฐานอันเป็นเอกลักษณ์
ทะเลหมอกชวนฝันที่ “ภูชี้ฟ้า”

เช้าวันใหม่ ผมตื่นแต่เช้ามืด มุ่งหน้าสู่ภูชี้ฟ้า ที่ถือเป็นไฮไลท์ของการเที่ยวในทริปนี้

ภูชี้ฟ้า ตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานภูชี้ฟ้า บ้านร่มฟ้าไทย อ.เทิง บนรอยต่อของเส้นแบ่งพรมแดนไทย-ลาว เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่นที่เป็นดังหลังคาเชียงราย

ภูชี้ฟ้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,628 เมตร มีรูปพรรณสัณฐานอันโดดเด่นด้วยลักษณะเป็นหน้าผาตัด ยอดภูเป็นเหลี่ยมแหลมทิ่มแทงฟ้า
นักร้อง น้องๆผู้น่ารักระหว่างทางขึ้น-ลงภู
การจะขึ้นชมทะเลหมอกบนยอดภูจากจุดจอดรถต้องเดินฝ่าลมหนาวขึ้นทางชันไปประมาณ 700 เมตร ระหว่างทางประมาณ 500 เมตร มีจุดชมวิวมุมยอดนิยมที่ปรากฏเป็นภาพสัญลักษณ์ของภูชี้ฟ้าไปทั่ว ซึ่ง ณ จุดนี้สามารถมองเห็นแนวยอดภู ทะเลหมอก และพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าได้อย่างลงตัวสวยงาม

นอกจากนี้ในระหว่างทางอีกเช่นกันก็ยังมีเด็กๆชาวเขาเผ่าม้ง มานั่งยืนโต้ลมหนาวร้องเพลงแลกเงิน นักท่องเที่ยวหลายๆคนเมื่อเห็นความน่ารัก น่าเอ็นดูของเด็กพวกนี้ บวกกับแรงสงสารก็จะให้เงินไป ขณะที่บางคนเห็นต่าง เพราะมองว่านี่จะเป็นการสร้างลักษณะนิสัยไม่ดีทางการท่องเที่ยว ส่วนบางคนมองว่านี่เป็นการ(ผู้ใหญ่)ใช้แรงงานเด็กก็จะไม่ให้ เรื่องนี้เป็นเรื่องนานาจิตตัง อีกอย่างกระเป๋าเงินก็กระเป๋าใคร กระเป๋ามัน ใครใคร่ให้ก็ให้ ใครไม่อยากให้ก็ไม่ต้องให้ อย่าไปคิดมากให้ฉี่เหลือง
หญ้าไหว หมอกพลิ้ว
สำหรับผู้ขึ้นมาเที่ยวภูชี้ฟ้าเมื่อเดินขึ้นยอดภูแล้ว ควรขึ้นไปให้ถึงจุดสูงสุด เพราะบนนั้น ทีมีลักษณะเป็นยอดหน้าผาตัด สามารถมองลงไปเห็นทิวทัศน์ได้หลายมุม โดยเฉพาะภาพทะเลหมอกยามเช้าของที่นี่ ในยามฟ้าเปิดเป็นใจถือว่ามีความสวยงามในอันดับต้นๆของประเทศเลยทีเดียว

หลังจากดวงตะวันค่อยๆโผล่พ้นขอบฟ้า แสงแดดอ่อนๆเรื่อเรืองจะสาดส่องโลมไล้ไปตามมวลหมู่ทะเลหมอกขานโพลนที่ลอยไหลดูรื่นรมย์ท่ามกลางขุนเขาน้อยใหญ่ ดูอบอุ่นนุ่มนวลดุจดังทะเลปุยนุ่นหรือขนมปุยฝ้ายแผ่นยักษ์อันยั่วยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่กลุ่มทะเลหมอกเหล่านี้ค่อยลอยไหลอ้อยอิ่งไปตามสายลม หยอกล้อกับแสงตะวันที่สาดส่อง นับเป็นภาพงามชวนฝันให้ผู้พบเห็นตราตรึงติดใจไปหลายเพลา สมศักดิ์ศรีตำแหน่งจุดชมทะเลหมอกแสนงามในอันดับต้นๆของเมืองไทย
ทะเลหมอกลอยอ้อยอิ่ง
แต่ทว่า!!! ถ้าวันไหนดวงดับหมอกไม่มีหรือหมอกเยอะเกินไปจนปกคลุมพื้นที่ขาวโพลน มองไม่เห็นอะไร แถมเวลาเดินยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะขืนเดินทะเร่อทะร่าอาจตกภูได้ไปดูทะเลน้ำร้อนในกระทะทองแดงแทน

สำหรับสภาพการณ์เมฆหมอกท้องฟ้าไม่เป็นแบบนี้ เวลาผมเจอ ขากลับลงมามักจะไปหาซื้อแห้วกินย้อมใจแทน
ศาลาประทับรอยพระบาท ภูหลงถัง
“หลงถัง”แดนตำนาน

หลังเพลิดเพลินตราตรึงกับทะเลหมอกชวนฝันบนภูชี้ฟ้า ผมไปปิดท้ายภูที่สามกันที่ “ภูหลงถัง”ที่ตั้งอยู่ ณ ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล(อดีตอยู่ใน อ.เทิง)

ภูหลงถังเป็นชื่อเก่าดั้งเดิมของ“ดอยพญาพิภักดิ์” ที่ถูกนำมาเรียกขานใหม่ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์เที่ยว 3 ภู

ภูหลงถังในอดีตเป็นเขตพื้นที่สีแดงซึ่งมีการสู้รบกันของฝ่ายรัฐกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) และที่นี่ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เมื่อพันโทวิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 473 สามารถนำกำลังพลเข้าปฏิบัติการในยุทธการยึดเนิน 1188 บนดอยพญาพิภักดิ์ จนสามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นั้นลงได้ในปี พ.ศ. 2524
ภาพรอยพระบาท
ในการสู้รบครั้งนั้น เหล่าทหารหาญก็ได้พลีชีพเพื่อชาติไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้เสด็จฯไปเยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญและพสกนิกรแล้ว ณ ฐานปฏิบัติการพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว ท่ามกลางหมู่ชาวบ้านที่เดินทางมาเฝ้ารอรับเสด็จฯเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525

ในการเสด็จฯครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ทางทหารได้จัดเตรียมไว้ ตามคำกราบบังคมทูลของพันโทวิโรจน์ ที่ศาลาบนดอยพญาพิภักดิ์ ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในวนอุทยานพญาพิภักดิ์

รอยพระบาทของในหลวงนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “รอยพระบาทแห่งสันติสุข” ถือว่ามีหนึ่งเดียวในเมืองไทย มีต้นกำเนิดภูหลงถัง ซึ่งปัจจุบันรอยพระบาทจริงประดิษฐานอยู่ที่ “ศาลารอยพระบาท รัชกาลที่ 9” บนดอยโหยด ในค่ายเม็งรายมหาราช

ส่วนที่ภูหลงถังนั้นมีจุดแสดงตำแหน่งที่ในหลวงมาประทับรอยพระบาท และ“อาคารศาลาประทับรอยพระบาท”กับภาพถ่ายเป็นอนุสรณ์ พร้อมด้วยเรื่องราวจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายๆคน นับเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจให้ผู้สนใจได้สอบถามข้อมูลกัน
สระมังกร
นอกจากรอยพระบาทแห่งสันติสุขแล้ว ภูหลงถังที่ตั้งอยู่บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,200 เมตร ยังเป็นจุดชมวิวชั้นดี สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ถึง 4 อำเภอ คือ อ.พญาเม็งราย องขุนตาล อ.เวียงแก่น และอ.เทิง ที่ในวันฟ้าเปิดสามารถมองเห็นภูชี้ฟ้าได้อย่างชัดเจน

ในพื้นที่ภูหลงถังยังมีจุดสำคัญทางการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งนั่นก็คือ “สระมังกร” ที่เป็นตาน้ำผุดตามธรรมชาติบนยอดเขาจนเกิดเป็นสระน้ำขนาดย่อมขึ้นมา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหลงถังนั่นเอง

.............

และนั่นก็เป็นเส้นทางเที่ยว 3 ภูในจังหวัดเชียงราย ซึ่งทางททท.เขาชูทริปเที่ยว 3 ภูภายใน 1 วันเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเที่ยว 3 ภูภายใน 1 วัน ผมเห็นว่าโปรแกรมมันแน่นไป จึงจัดเที่ยว 3 ภูในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา

คือเที่ยว 3 ภูไปตามอำเภอใจ

กำลังโหลดความคิดเห็น