xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าขาน “มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์คชศึกษาหรือหมู่บ้านช้าง
จังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศในนาม “ สุรินทร์ เมืองช้าง “ สืบเนื่องมาจากสุรินทร์มีกลุ่มผู้เลี้ยงช้างที่เรียกตัวเองว่า “ กูย “หรือ “ กวย “ ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้ใช้ภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์จับช้างเผือกซึ่งแตกโรงจากกรุงศรีอยุธยา นำน้อมเกล้าฯถวายคืนสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 จนได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ปกครองเมืองสุรินทร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2302 เป็นต้นมา และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ใกล้ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะสลับป่าโปร่ง เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง โคและกระบือ เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพเลี้ยงช้างเสริมอาชีพหลักในการทำนา ทำไร่ และเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านซึ่งแต่เดิมแทบทุกหลังเรือน จะเลี้ยงช้างไว้อย่างน้อยครัวเรือนละ 1 เชือก จนเป็นที่รู้จักกันในนาม “ หมู่บ้านช้าง ”
ช้างที่อาศัยอยู่กับชาวกูยภายในหมู่บ้านช้าง
นับเป็นอีกจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์นั้นก็คือ วัฒนธรรมของการอยู่รวมกันของคนกับช้างซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแห่งเดียวในโลกของทางจังหวัดสุรินทร์ “ศูนย์คชศึกษา”หรือ ”หมู่บ้านช้าง “เป็นศูนย์รวมของสมาชิกชุมชนคนเลี้ยงโดยรอบและหมู่บ้านอื่นๆในจังหวัดสุรินทร์ ภายในบริเวณมีศูนย์คชศึกษามีอาคารพิพิธภัณฑ์ สถานที่แสดงเรื่องราวความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับช้าง จัดแสดงประเพณีและวัฒนธรรมรวมไปถึงเครื่องแต่งกายต่างๆของชาวกูย บรรพบุรุษของผู้คนจังหวัดสุรินทร์ที่มีวิถีชีวิตความผูกพันเคียงคู่ช้างตั้งแต่แสดงวิถีความผูกพันระหว่างคนกับช้างที่มีมาอย่างช้านาน ตั้งแต่เกิดจนตาย

และยังมีลานจัดแสดงช้างให้นักท่องเที่ยวได้ชม ความสารถที่ชาญฉลาดของสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีทั้งความน่ารักและแสนรู้ ทั้งยังได้เห็นถึงการร่วมมือของคนกับช้างในการแสดงด้วยสร้างความประทับใจของผู้ชมได้ทุกรอบการแสดง ในบริเวณใกล้เคียงมีหมู่บ้านชาวกูย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชิวิตการเลี้ยงช้าง และยังมีร้านขายของที่ระลึกวัตถุมงคลที่ได้จากส่วนประกอบของช้าง เช่นงาและกระดูกช้างอีกด้วย รวมถึงมีศาลประกำอันศักสิทสิทธิ์ เทวาลัยที่สิงสถิทของวิญญาณบรรพบุรุษและผีประกำ ตามความเชื่อของชาวกุย เป็นที่เก็บรักษาหนังประกำและอุปกรณ์ในการคล้องช้างเป็นสถานที่ขอพรและเสี่ยงทายของชาวกุยก่อนทำกิจกรรมนั้นๆ ศูนย์คชศึกษาตั้งอยู่ที่ ต.กระโพ-ตากลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
หนึ่งในฉากการเเสดงภายในงานเเสดงช้าง
การจัดงานช้างครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 เนื่องในโอกาสฉลองที่ว่าการอำเภอใหม่ และจัดเป็นงานประจำปีของอำเภอท่าตูม ณ บริเวณสนามบินเก่า( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ ) ซึ่งมี นายวินัย สุวรรณกาศ เป็นนายอำเภอในขณะนั้น ในงานมีการแสดงขบวนแห่ช้าง การแสดงการคล้องช้าง การแข่งขันช้างวิ่งเร็ว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก จากการจัดงานในครั้งนั้น และได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ทำให้เกิดความสนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทาง อสท. ( ในขณะนั้น ) จึงได้เข้ามาให้การสนับสนุน โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกช้าง กำหนดรูปแบบการแสดงให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติตามที่ อสท. เสนอให้การจัดงานช้างเป็น งานประจำปีของชาติ ซึ่งนายคำรณ สังขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ในขณะนั้น พิจารณาเห็นว่าการจัดงานที่อำเภอท่าตูม นักท่องเที่ยวไม่สะดวกในการเดินทางไปชม จึงได้ย้ายสถานที่จัดงานจากอำเภอท่าตูมมาจัดที่สนามกีฬาจังหวัดสุรินทร์ และจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ปี 2555 ถือเป็นการจัดงานเป็นปีที่ 52 ปี 2555
กิจกรรมการประกวดรถอาหารช้าง
จังหวัดสุรินทร์ ได้กำหนดจัดงานช้างและกาชาดสุรินทร์ในปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 14 -25 พฤศจิกายน 2555 ณ สนามศรีณรงค์ และการแสดงช้างในวันที่ 17 - 18 พฤศจิกายน 2555 ณ สนามแสดงช้างสุรินทร์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ ส่งเสริมสนับสนุนขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดสุรินทร์ และอนุรักษ์การแสดงช้างสุรินทร์ให้ยั่งยืนตลอดไป รวมทั้งให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีพิธีเปิดงานในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 เวลา 17.00 น. ที่บริเวณร้านธารากาชาด ณ สนามกีฬาศรีณรงค์ โดยในระหว่างในระหว่างวันที่ 14- 25 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นงานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ มีการจัดนิทรรศการ การออกร้านของส่วนราชการ การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP การแสดงดนตรีของศิลปินชื่อดัง และการออกร้านกาชาด

ส่วนการจัดงานแสดงของช้างถือเป็นไฮไลท์ของงาน ซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ และเป็นงานประจำปีของชาติ โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 52 ตรงกับวันเสาร์ที่ 17 และวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555 ณ สนามแสดงช้าง ระหว่างเวลา 08.30 น. -11.30 น. วันละรอบ ในปีนี้ได้ปรับปรุงรูปแบบทั้งอัฒจันทร์นั่งชมที่กลมกลืนกับธรรมชาติ และการแสดงให้มีความกระชับสมบูรณ์และต่อเนื่อง แต่ยังคงความยิ่งใหญ่ตระการตาของฉากการแสดงในแต่ละฉากเหมือนดั้งเดิม อาทิ ฉากที่ 1 หรือองก์ ที่ 1 “ คชสารรวมใจ ถวายชัยองค์ราชันย์ ”เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอลังการของช้างจังหวัดสุรินทร์ โดยจะให้ช้างเดินวนอยู่ในสนามเป็นทะเลช้างกว่า 200 เชือก และแสดงออกให้เห็นถึงการเทิดทูนและเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา โดยรวมทั้งสิ้น 7 ฉากการแสดง
กิจกรรมนั่งช้างชมเมือง
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมประกอบในช่วงการจัดงานที่หน้าเที่ยวชมและยิ่งใหญ่ พบกับกิจกรรมงานต้อนรับช้างและเลี้ยงอาหารช้างระหว่างวันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน 2555 และกิจกรรมการประกวดรถอาหารช้างจัดขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป จัดขบวนแห่รถอาหารช้างรอบเมืองสุรินทร์ ก่อนที่จะมารวมตัวกันที่ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางโดยจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดรถอาหารช้างอย่างสวยงามร่วมเข้าประกวดในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เพื่อชิงรางวัล

ปิดท้ายด้วยกิจกรรมการแสดงแสง สี เสียง “ ตำนานพันปีปราสาทศีขรภูมิ “ จัดขึ้น 2 วัน 2 รอบด้วยกันคือวันที่ 16 - 17 พ.ย. 2555 เริ่มเวลา 18.00 น. ณ บริเวณปราสาทศีขรภูมิ อ. ศีขรภูมิ จ. สุรินทร์ และกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวนั่งช้างชมเมือง หรือแท็กซี่ช้าง โดยจะมีจุดให้บริการอยู่หลายจุดเช่นสถานีรถไฟ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ตามถนนสายหลัก และตามจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งจะให้บริการทุกวันตลอดระยะเวลาการจัดงาน ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก

*********************************************************

สอบถามข้อมูลได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานสุรินทร์ โทร.0-2250-5500 ต่อ 2141-5
กำลังโหลดความคิดเห็น