xs
xsm
sm
md
lg

งานแสดง “มหัศจรรย์ช้างสุรินทร์” สุดอลังการ-นักท่องเที่ยวไทยเทศแห่ชมแน่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแสดงของช้างในงาน  มหัศจรรย์ช้างสุรินทร์  ครั้งที่ 52 ประจำปี 2555 ยิ่งใหญ่อลังการ  ประชาชนนักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศและชาวไทยแห่ชมเนืองแน่น วันนี้ ( 18 พ.ย.)
สุรินทร์ - การแสดงของช้างในงาน “มหัศจรรย์ช้างสุรินทร์” ครั้งที่ 52 ยิ่งใหญ่ ด้วยฉากแสดงสุดอลังการทั้งหมด 7 องก์ ประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศแห่ชมเนืองแน่น ท่ามกลางสายฝนชุ่มฉ่ำกันทั่วหน้า

วันนี้ (18 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานแสดงของช้าง ครั้งที่ 52 ประจำปี 2555 ภายใต้ชื่องาน “มหัศจรรย์ช้างสุรินทร์” ของ จ.สุรินทร์ ปีนี้ ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย.ที่สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ค่อนข้างทุลักทุเล เนื่องจากท้องฟ้ามืดครึ้มมีฝนตกโปรยปรายลงมาเป็นระยะๆ ท่ามกลางประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศเดินทางมาร่วมชมการแสดงจำนวนมากจนแน่นอัฒจันทร์ทั้งสนาม ด้วยบรรยากาศอันเย็นฉ่ำจากสายฝน

สำหรับงานแสดงของช้างครั้งที่ 52 ปีนี้ มีช้างเข้าร่วมแสดงมากกว่า 300 เชือก โดยทีมงานผู้ดำเนินการจัดแสดงต้องจัดตั้งฉากบางส่วนไว้ด้านนอกสนาม เพราะสภาพพื้นดินเละเป็นโคน แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงก็ดำเนินไปอย่างยิ่งใหญ่อลังการ นักแสดงแต่งกายสวมชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับอย่างวิจิตรสวยงาม การแสดงของช้างเป็นไปอย่างตื่นตาตื่นใจ สนุกสนาน น่ารัก สร้างสีสัน และความประทับใจด้วยกลิ่นอายแบบอารยธรรมอีสาน

ทั้งนี้ ฉากการแสดงทั้งหมดมีจำนวน 7 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 ชื่อ “คชสารรวมใจ ถวายชัยองค์ราชันย์” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอลังการของช้างสุรินทร์โดยให้ช้างเดินวนอยู่ในสนามทั้ง 200 เชือก และแสดงให้เห็นถึงการเทิดทูน และเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพรรษา 60 พรรษา

องก์ที่ 2 “อัมรินทร์ปิ่นสวรรค์ ทรงเอราวัณผ่านฟ้า” เป็นฉากที่แสดงถึงคติความเชื่อการก่อกำเนิดช้างไทย โดยมีช้างเข้าร่วมในการแสดง จำนวน 18 เชือก เริ่มการแสดงด้วยเสียงที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังของความศักดิ์สิทธิ์ และศรัทธาต่อสิ่งอันเป็นที่เคารพยิ่ง ทั้งเสียงลม เสียงกังสดาล พร้อมทั้งกลุ่มควันลอยจากฝั่งประตูเมือง ดุจดั่งสรวงสวรรค์

องก์ที่ 3 “ชาวกูย ตำนานโพนช้างป่าจากพงพี” แสดงถึงวิถีชีวิตชาวกูยที่มีความผูกพันกับช้าง โดยใช้ช้างร่วมแสดง จำนวน 39 เชือก มีภาพของงานประเพณีบวชนาคในรูปของขบวนแห่อย่างสนุกสนาน และพิธีเซ่นศาลประกำก่อนออกจากคล้องช้างป่า ซึ่งเป็นพระเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนับหลายร้อยปี

องก์ที่ 4 “วีรชนคู่ธานี สุรินทรภักดียิ่งใหญ่” กล่าวถึงวีรกรรมของผู้นำชาวกูย นามว่า เชียงปุม ที่จับช้างเผือก ช้างคู่บ้านคู่บารมีของแผ่นดินกลับสู่วังหลวงได้สำเร็จ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสุรินทรภักดี และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ผู้ครองเมืองสุรินทร์สืบมา และแสดงถึงประเพณีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 3 ชาติพันธุ์ของจังหวัดสุรินทร์ คือ ชาวเขมร ชาวลาว และชาวกูย หรือกวย

องก์ที่ 5 “มหัศจรรย์ช้างไทย เกรียงไกรก้องโลกา” แสดงถึงความสามารถความน่ารักของช้างเลี้ยงสุรินทร์ มีช้างร่วมแสดงไม่น้อยกว่า 30 เชือก เป็นการแสดงความสามารถของช้างเลี้ยงสุรินทร์ เช่น ช้างเล่นฮูลาฮูป ช้างวาดรูป ช้างปาลูกดอก เป็นต้น

องก์ที่ 6 “โหมระทึกช้างศึกไทย” ขบวนตีกลองศึกปลุกใจ ก่อนจะออกไปรบ

และองก์ที่ 7 “คเชนทร์ชัยป้องนครา พยุทโยธาอลังการ” การแสดงแสนยานุภาพของช้างไทยในอดีต ขบวนทัพไทยในเครื่องแต่งกายอย่างนักรบโบราณ และชมการรบที่ยิ่งใหญ่สมจริง กองทหารทั้งสองฝั่งเข้ารบประจัญบาน และการสัประยุทธ์ ที่เป็นสุดยอดของการรบบนหลังข้างที่เรียกว่า ยุทธหัตถี













กำลังโหลดความคิดเห็น