“มาสุรินทร์ต้องกินสุรา ใครไม่กินสุรา เป็นหมาสุรินทร์”
นี่เป็นประโยคที่คนพูดถึงจังหวัดสุรินทร์กันติดปาก หาใช่คำขวัญของจังหวัดสุรินทร์ไม่ เพราะคำขวัญของสุรินทร์นั้นมีว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”
สุรินทร์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองช้าง ที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวของช้างมาอย่างยาวนาน มีการจัดงานช้างอันยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งหากอยากทำความรู้จักกับช้างของเมืองสุรินทร์ ก็ต้องไปที่ “ศูนย์คชศึกษาสุรินทร์” ตั้งอยู่ที่บ้านตากลาง อ.ท่าตูม ชาวบ้านที่บ้านตากลางเกือบทั้งหมดเป็นชาวกวย หรือกูย เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองสุรินทร์ที่มีความเชี่ยวชาญในการจับช้างป่าเพื่อนำมาฝึกหัดให้เป็นช้างบ้าน และจะปฏิบัติต่อช้างเสมือนหนึ่งว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว และกลายเป็นวิถีความผูกพันระหว่างช้างและคนที่สืบสานมาจนปัจจุบัน
นอกจากจะมาชมช้างไทยที่ศูนย์คชศึกษาแห่งนี้แล้ว ก็ยังได้เห็นความสามารถต่างๆ ของช้างไทย ความน่ารัก ขี้เล่น และยังมีพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับช้างให้ได้เรียนรู้อีกด้วย อาทิ ประเพณีบวชนาคช้าง หรือตามพิธีกรรมและความเชื่อของชาวกูยในเรื่อง “ศาลปะกำ” ที่เปรียบเสมือนเทวาลัย เป็นที่สิงสถิตย์ของวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำ ซึ่งต้องทำพิธีเซ่นไหว้ขอพรให้เป็นสิริมงคลทุกครั้งเมื่อจะเริ่มทำกิจการอันใด
สิ่งที่ยกให้เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของสุรินทร์ก็คือ “ผ้าไหม” ที่มีลวดลายงดงาม คนสุรินทร์ได้รับการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมาอย่างช้านาน อีกทั้งยังมีลวดลายผ้า และกรรมวิธีการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ลวดลายส่วนใหญ่ของผ้าไหมสุรินทร์จะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากกัมพูชา ลาดลายที่สร้างขึ้นมาล้วนแต่มีความหมายมงคล สีสันก็จะไม่ฉูดฉาดเพราะใช้สีธรรมชาติในการทอ และปัจจุบันผ้าไหมสุรินทร์ก็ได้กลายเป็นสินค้าโอทอปติดอันดับของจังหวัดไปแล้ว
ถ้าได้ใช้ผ้าไหมสุรินทร์ ก็น่าจะสวมใส่ “ประคำ” เป็นเครื่องประดับคู่กันไป ประคำนั้นเป็นเม็ดเงินหรือเม็ดทองชนิดกลมที่นำมาร้อยเป็นเครื่องประดับ จะเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ เข็มขัด กำไล ต่างงหู หรืออื่นๆ ก็ได้ อย่างเช่นประคำเงิน ก็จะมีความแตกต่างจากที่อื่นคือ มีการอัดครั่งอยู่ด้านใน ด้านนอกใช้โลหะเงินหุ้มเป็นเปลือกนอก ซึ่งจะสามารถแกะลวดลายต่างๆ ได้สะดวก
แต่ถ้าได้ผ้าไหมและประคำไปเป็นของฝากแล้ว ของกินที่ขึ้นชื่ออีกสองอย่างก็คือ “ผักกาดหวาน” และ “ข้าวหอมมะลิสุรินทร์” เริ่มจากผักกาดหวาน หรือ “หัวไชโป๊ว” ที่เดิมนั้นเริ่มมาจากเทคนิคการถนอมอาหาร แต่รสชาติความอร่อยนั้นเป็นที่ถูกใจจนกลายเป็นของฝากยอดฮิต ส่วนข้าวหอมมะลิสุรินทร์นั้นมีลักษณะเด่นคือ หอม ยาว ขาว นุ่ม จนทำให้มีชื่อเสียงในระดับสากล อีกทั้งข้าวหอมมะลิยังเป็นพืชหลักที่สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดสุรินทร์ ที่มีการผลิตข้าวหอมมะลิมากที่สุดในประเทศไทย และได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง
เนื่องจากสุรินทร์มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา จึงได้รับการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมมาด้วยส่วนหนึ่ง นอกจากนี้วัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ก็ยังหลอมรวมทั้งวัฒนธรรมลาว วัฒนธรรมชาวกูย และวัฒนธรรมเขมร ผสมผสานกันกลายมาเป็นสุรินทร์ในทุกวันนี้ ซึ่งวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ของชาวสุรินทร์ และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป อย่างเช่น ประเพณีการบวชนาคแห่ช้าง ประเพณีบุญวันสารท (แซนโดนตา) ประเพณีเซ่นผีปะกำ เป็นต้น
นอกจากวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ แล้ว สิ่งที่ยังหลงเหลือร่องรอยให้เห็นถึงการเข้ามามีอิทธิพลของวัฒนธรรมอื่นๆ ก็คือ ปราสาทขอมที่มีอยู่มากมายหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอันที่จริงแล้ว นักโบราณคดีก็มีข้อสันนิษฐานว่า เมืองสุรินทร์สร้างขึ้นมากว่า 2,000 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ จึงไม่แปลกที่จะมีปราสาทขอมให้เห็นในถิ่นนี้
ความเจริญรุ่งเรืองในลัทธิเทวราชา ทำให้ในสมัยนั้นนิยมสร้างปราสาทไว้ตามเมืองต่างๆ อย่างเช่นที่ “ปราสาทศรีขรภูมิ” หรือจะเรียกว่า ปราสาทระแงง ที่ถือว่าเป็นปราสาทที่งดงามที่สุดในสุรินทร์ มีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ที่น่าสนใจก็คือ ภาพสลักนางอัปสราถือดอกบัว ที่บริเวณเสากรอบประตู มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่นครวัด และเป็นเพียงแห่งเดียวที่พบศิลปะแบบขอมโบราณในประเทศไทย
อีกหนึ่งปราสาทที่ได้ยินชื่อเสียงกันอยู่บ้างก็คือ “กลุ่มปราสาทตาเมือน” เป็นปราสาทหินสามหลังรวมกันเป็นกลุ่ม เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปหาเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน โดยปราสาทแต่ละหลังนั้นมีประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกันไป ส่วนการเยี่ยมชมกลุ่มปราสาทตาเมือนนั้น เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ติดกับเขตชายแดน เพื่อความปลอดภัยจึงควรเที่ยวชมเฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
นอกจากทั้งสองปราสาทนี้แล้ว ที่สุรินทร์ก็ยังมีปราสาทของที่สวยงามอีกหลายหลัง อาทิ ปราสาทบ้านไพร ปราสาทตะเปียงเตีย ปราสาทภูมิโปน ซึ่งจะกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของจังหวัด
ส่วนสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือสงบจิตสงบใจ ที่สุรินทร์ก็มีไม่น้อยหน้าที่อื่นเช่นกัน อย่างที่ “วนอุทยานพนมสวาย” เป็นแหล่งรวบรวมกล้วยไม้ป่าจำนวนมาก และเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกแห่ง ซึ่งในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี จะมีงานบุญประเพณีขึ้นเขาสวาย ที่ชาวสุรินทร์สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
ที่ “วัดบูรพาราม” วัดเก่าแก่และสำคัญของจังหวัดสุรินทร์ เป็นสถานที่ประดิษฐานของหลวงพ่อพระชีว์ ปูชนียวัตถุที่ชาวสุริทร์เคารพบูชาเป็นอย่างมาก และยังเป็นสถานที่จำวัดของพระราชวุฒาจารย์ หรือ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล พระภิกษุสายพระกัมมัฏฐาน ที่ได้รับสมญานามว่า เป็นบิดาแห่งภาวนาจิต
และแม้ว่าสุรินทร์จะอยู่ในภาคอีสาน แต่ก็ยังมีทะเลด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ “ห้วยเสนง” ซึ่งเป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อบรรเท่าอุทกภัย และเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนของชาวสุรินทร์ที่เปรียบเสมือนทะเลเมืองสุรินทร์ ให้มาพักผ่อนและลงเล่นน้ำได้
ของดีของจังหวัดสุรินทร์ยังมีอีกมากมาย ใครหลายๆ คนที่เคยไปมาแล้วก็จะรู้ดี แต่คนที่ยังไม่เคยไป ก็ควรต้องไปลองดูสักครั้งว่าของดีนั้นคืออะไร
***************************************************************************
หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.สุรินทร์ สามารถติดต่อได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0-4451-8530