เพชรบุรี - หัวหน้าโรงช้างต้น สำนักพระราชวังระบุไม่สามารถตรวจพิสูจน์คชลักษณ์ได้ หากยังจับช้างลักษณะพิเศษที่ป่าเด็งไม่ได้ ยันเพิ่งเคยเห็นครั้งแรกที่ช้างสีขาวลงน้ำแล้วเปลี่ยนสี ชี้หากเป็นช้างสีขาวจริงลงน้ำจะไม่เปลี่ยนสีตามภาพที่ปรากฏ ด้านผู้ว่าฯเพชรบุรี ยันช้างป่าที่พบในแก่งกระจานขณะนี้ยังไม่ใช่ช้างสำคัญและยังไม่เป็นช้างสีปราช จนกว่าจะมีการตรวจสอบอย่างถูกต้อง วอนสื่อขอให้ใช้คำว่าช้างมีลักษณะพิเศษเท่านั้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ
เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (3 พ.ค.) ที่ห้องพริบพรี ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี นายมณเฑียร ทองนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานบูรณาการอนุรักษ์ช้างป่า อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้านอำนวยการ โดยมีหม่อมหลวงพิพัฒนฉัตร ดิศกุล หัวหน้าโรงช้างต้น สำนักพระราชวัง ในฐานะนายสัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวัง นายสัตวแพทย์ประจำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมคณะทำงานในการรักษาความปลอดภัยช้างป่าแก่งกระจาน การติดตามพฤติกรรมและตรวจสอบคชลักษณ์ลูกช้างป่าที่มีลักษณะสำคัญเข้าร่วมประชุม
โดยมีระเบียบวาระการประชุมเป็น 4 วาระด้วยกัน โดยเรื่องที่ 1 เป็นเรื่องที่ประธานแจ้งเพื่อทราบ เกี่ยวกับสถานการณ์ช้างป่าในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ใน 2 ลักษณะ คือ ช้างป่าตาย และช้างสำคัญ วาระที่ 2 เป็นการสรุปผลการลาดตระเวนแบบบูรณาการ (หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ) กองร้อยตระเวนชายแดนที่ 144 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน) เพื่อดูแลช้างบ้านป่าเด็งระหว่างวันที่ 24-27 เม.ย.56 และมีการสรุปผลการฝึกอบรมชุดรักษาความปลอดภัยช้าง (ช.ร.บ.) ตำบลป่าเด็ง เมื่อวันที่ 28-30 เม.ย.56
วาระที่ 3 เป็นเรื่องเพื่อพิจารณาเรื่องการตรวจสอบช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ปรากฏทางสื่อว่าเป็นช้างสำคัญหรือไม่ อาทิ ขั้นตอนการดำเนินงาน หน่วยงานที่รับผิดชอบ และระเบียบข้อบังคับ รวมไปถึงแนวทางแก้ไขกรณีช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรในตำบลป่าเด็งด้วย
ทั้งนี้ ในที่ประชุม หม่อมหลวงพิพัฒนฉัตร ดิศกุล หัวหน้าโรงช้างต้น สำนักพระราชวัง ในฐานะนายสัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวัง ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ตามปกติช้างที่เขาดูลักษณะพิเศษจะต้องมีนิสัย สี และลักษณะต่างๆ โดยจะต้องแจ้งทางผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะแจ้งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทยจะแจ้งไปยังสำนักพระราชวัง ซึ่งทางสำนักพระราชวัง จะต้องดูว่าเข้าข่ายใน พ.ร.บ.2464 หรือไม่ 7 ประการ ถ้าใช่ก็จะกลับไปเรียนทางผู้ใหญ่ทางสำนักพระราชวังก็จะส่งผู้ชำนาญทางคชลักษณ์มาตรวจ นั่นคือข้อที่เกี่ยวข้องกับทางสำนักพระราชวัง
หลังจากผู้ตรวจคชลักษณ์ตรวจแล้ว ถ้าพบว่า ใช่ จะแจ้งกลับทางสำนักพระราชวัง สำนักพระราชวังก็จะแจ้งกลับไปยังกระทรวงมหาดไทย ทางสำนักพระราชวังจะทำการพิสูจน์ทราบ ขั้นตอนนี้แหละถึงจะทำการพิสูจน์ทราบ เมื่อตรวจเบื้องต้นโดยละเอียดแล้วโดยใช้เวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือถึง 2 ปีก็มี เมื่อใช่แล้ว ต้องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปจะเสนอนายกรัฐมนตรีว่าจะทูลเกล้าถวายช้างเชือกนี้และจะจัดพระราชพิธีสมโภชน์หรือช้างเผือกให้
โดยช้างเผือกมีได้ถึง 7 สี ประกอบด้วยสีเขียว เหลือง แดง ม่วง เมฆ ขาว และ ดำ การดูสีแต่ละครั้งจะต้องทำการพอกสีพอกตัวช้างก่อน เพราะฉะนั้น ช้างที่สำนักพระราชวังจะตรวจได้จะต้องเป็นช้างที่มีเจ้าของแล้ว จับได้ ควบคุมได้ นั่นคือผู้ชำนาญจะสามารถตรวจคชลักษณ์ได้
ตรวจสิ่งแรก คือ ตรวจสี เพราะฉะนั้นถ้าเป็นช้างป่าแบบนี้จะตรวจคชลักษณ์ไม่ได้ เพราะไม่สามารถเข้าไปจับช้างได้ ไม่สามารถเข้าไปตรวจผิวหนัง หรือตรวจสิ่งอื่นได้ การพอกพอกด้วยมะขามเปียกทิ้งไว้หนึ่งคืน การล้างน้ำล้างด้วยสบู่ธรรมดาก็ไม่ได้ ต้องใช้สบู่เด็กมีด่างอ่อนสุด แปรงก็ควรจะใช้แปรงมะพร้าวห้ามใช้แปรงพลาสติก การขัดเล็บต้องใช้มะนาว ซึ่งจริง ๆ แล้ว การตรวจคชลักษณ์ค่อนข้างละเอียด ทั้งลักษณะผิว หรือลักษณะทั่ว ๆ ไปของช้างจะต้องตรวจแม้กระทั่งกากมูลที่ออกมา การกิน การนอน การกรน
ซึ่งส่วนใหญ่ของช้างสำคัญจะไม่ค่อยรวมกลุ่ม การกินน้ำจะกินน้ำจากต้นน้ำ ไม่กินน้ำปลาย จะไม่ลงเล่นน้ำกับกลุ่มช้างทั่วๆ ไป นั่นเป็นลักษณะสำคัญ และสิ่งสำคัญที่สุดที่เราเคยประสบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ที่เคยศึกษาเรื่องลักษณะสำคัญของช้างพิเศษ ถ้าเป็นช้างสำคัญจริงๆ จะมีสัตว์ 2 ชนิดที่อยู่คู่กันจะมีกาเผือกกับลิงเผือกปรากฏอยู่ คือ ถ้าเห็นลิงเผือกและกาเผือกอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ จะเห็นช้างสำคัญตามมา โดยต้องขอชี้แจงต่อสื่อมวลชนและทุกท่านได้ทราบว่าขั้นตอนของสำนักพระราชวัง มีแค่นั้นจริง ๆ และไม่ได้เกี่ยวข้องเลยจนกว่าจะจับตัวช้างนั้นได้
"ทั้งนี้ จากการดูภาพที่ได้นำมาฉายให้ดูเพิ่งจะเห็นเป็นครั้งแรก โดยสิ่งที่เห็นนั้นอาจจะบอกว่าช้างอาจจะเล่นฝุ่นก็ได้ เพราะเมื่อช้างขึ้นจากน้ำมาแล้วสีหายไปเลย ถ้ามีโอกาสได้ดูช้างสีขาวจริง ๆ เวลาอาบน้ำขึ้นมาสีก็ยังอยู่เหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบนี้ เพราะฉะนั้นต้องมีการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะตราบใดที่ยังเป็นช้างป่าอยู่ก็คงพิสูจน์ไม่ได้"
คลิกเพื่อชมคลิป:
ด้านนายมณเฑียร ทองนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ต่อไปประเด็นด้านการให้ข่าวให้หัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการ หรือเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ให้มีการประสานงานล่วงหน้าเพื่อคัดกรองข่าว ไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน เช่น คำว่าช้าง บางคนเรียกช้างสำคัญ บ้าง ช้างคุณลักษณะพิเศษบ้าง ซึ่งคำต่างๆ ในการเรียกมีกฎหมายกำหนดชัดเจน การจะเป็นช้างสำคัญได้ต้องมีคชลักษณ์ 7 ประการ หรือหากมีคชลักษณ์ประการใดประการหนึ่ง ก็เรียกช้างศรีปราชญ์ หรือช้างเนียมคือมีกายเป็นสีดำ งาเป็นปลีกล้วย เป็นต้น ต่อไปนี้เราจะเรียกช้างที่พบที่อ่างเก็บน้ำกะหร่างสามที่แก่งกระจานว่าช้างที่มีลักษณะพิเศษ ยังไม่ทราบว่าจะเป็นช้างสำคัญหรือไม่จนกว่าจะมีการพิสูจน์คชลักษณ์ครบถ้วน
ประเด็นต่อมาคือการอนุรักษ์ช้างป่าที่แก่งกระจาน ให้มีการอนุรักษ์แหล่งน้ำแหล่งอาหาร ที่อยู่ให้ช้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ในระยะสั้นต้องมีการสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหารลึกเข้าไปในเขตอุทยาน เพื่อที่ช้างไม่ต้องมาใช้อ่างเก็บน้ำกะหร่างสาม ซึ่งทางชลประทานสร้างไว้ให้อุปโภคบริโภค ประชาชนที่อยู่รอบๆ เข้าไปใช้ได้ ประชาชนอาจต้อนฝูงวัวไปใช้อ่างเก็บน้ำอาจเกิดโรคระบาดติดต่อได้ ซึ่งได้ขอร้องให้ประชาชนงดนำฝูงวัวไปใช้อ่างเก็บน้ำที่ช้างใช้
ในระยะปานกลางจะมีการหาทุนมาสร้างแนวรั้ว ทำคูป้องกันไม่ให้ประชาชนกับช้างเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น
ส่วนระยะยาว จะสร้างสะพานเชื่อมให้ช้างเดินไปมาระหว่างป่าสองป่า คือ เขตของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับป่าของแก่งกระจาน ประชาชนที่อยู่รอบป่าและเจ้าหน้าที่ต้องมีการพูดคุยกันมากขึ้น ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทัพพระยาเสือต้องมีการพูดคุยระหว่างหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการมากขึ้น ไม่ว่าใครจะมาทำงานในพื้นที่ บูรณาการทำงานร่วมกัน รักษาช้างป่าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ
"ในส่วนของสำนักพระราชวัง ซึ่งในวันนี้ได้มีผู้แทนมาชี้แจงในที่ประชุมด้วยนั้น ว่าหน้าที่ของสำนักพระราชวังนั้นต้องมีการจับช้างได้แล้วและอยู่ในความครอบครองเท่านั้น จึงจะออกมาดูรายละเอียดได้ เรื่องคชลักษณ์ต้องใช้เวลาในการดูอย่างละเอียด อาจใช้เวลาเป็นเดือน ดูการกิน การนอน การเล่นน้ำ การกรน ในช่วงนี้ยังเป็นช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ ต้องถ่ายภาพและพิสูจน์ให้มีความชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การให้ข่าวว่าจะทำพิธีคล้องช้างนั้นเป็นเรื่องที่ไกลจนเกินไป"