xs
xsm
sm
md
lg

“เปลี่ยนปลอด” ควรทำกว่า “เปลี่ยนป่า”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

ป่าผลัดใบ
ไม่รู้ว่าอะไรเข้าฝัน เมื่อจู่ๆนายปลอดประสบการณ์ก็เกิดไอเดียกระฉูด เสนอความคิดที่จะฟื้นฟูป่าไม้เมืองไทยด้วยการเปลี่ยนสภาพป่าจากป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ให้กลายเป็นป่าดิบ โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในระยะยาว

แต่ในภาคปฏิบัติ ปัญหามันยิ่งใหญ่เกินกว่าการฟุ้งไอเดียไปวันๆ อีกทั้งหากมองในเชิงวิชาการและมองง่ายๆด้วยสามัญสำนึก งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ตั้งมาควรนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นเพื่อแก้ปัญหาจะตรงเป้ากว่า เพราะป่าทั้งสองประเภทมีระบบนิเวศของป่าที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยจากข้อมูลเรื่องป่าไม้พื้นฐาน ได้แบ่งประเภทของป่าไม้ในเมืองไทยไว้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ “ป่าดงดิบหรือป่าไม่ผลัดใบ” กับ “ป่าผลัดใบ”

ป่าไม่ผลัดใบจะมีความรกทึบหนาแน่นของต้นไม้มากกว่า มีความชุ่มชื้นมาก พันธุ์ไม้เกือบทั้งหมดเป็นไม้ไม่ผลัดใบมีใบเขียวอยู่ตลอดเวลา ในเมืองไทยมีป่าไม่ผลัดใบเหลืออยู่ประมาณ 30 %

ส่วนป่าผลัดใบ เป็นป่าที่มีความแห้งแล้งเป็นคุณลักษณะเฉพาะตัว ต้นไม้เกือบทั้งหมดที่ขึ้นในป่านี้ล้วนเป็นจำพวกผลัดใบ ในฤดูฝนต้นไม้ในป่าผลัดใบจะออกใบเขียวครึ้ม แต่พอถึงหน้าแล้งจะผลัดใบทำให้ป่าดูโปร่งโล่ง

สำหรับป่าดิบอันประกอบด้วยป่าดิบชื้น ดิบเขา และดิบแล้ง จัดอยู่ในประเภทป่าดงดิบหรือป่าไม่ผลัดใบในหมวดป่าดิบเมืองร้อน

ส่วนป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณจัดอยู่ในประเภทป่าผลัดใบ ป่าประเภทนี้มักจะมีปัญหาเรื่องไฟป่าในหน้าแล้งอยู่บ่อยๆ เพราะเมื่อถึงหน้าแล้ง ป่าผลัดใบ ทำให้ใบแห่งทิ้งใบลงมาสะสม เกิดเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

การจะทำป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณให้เป็นป่าดิบนั้นในทางแนวคิดอาจคิดได้ แต่ในทางปฏิบัติหากจะให้มนุษย์เป็นคนทำนี่เป็นเรื่องที่ยากมากต้องใช้เวลานับร้อยๆปี หรืออาจทำได้แค่เพียงความพยายามเปลี่ยนป่าด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่ม แต่ไม่สามารถเปลี่ยนป่าได้จริง เพราะระบบนิเวศของป่าผลัดใบกับป่าไม่ผลัดใบนั้น มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่เฉพาะแค่พืชพันธุ์ต้นไม้เท่านั้น หากแต่รวมไปถึง สภาพอากาศ ความชื้น ภูมิประเทศ ลักษณะทางธรณีวิทยา สัตว์ป่า เป็นต้น

มนุษย์เราจึงไม่ควรอุตริไปคิดเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของป่า เพราะการเปลี่ยนป่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และองค์ประกอบอื่นๆอีกหลากหลาย
ป่าไม่ผลัดใบ
นอกจากนี้ภาครัฐต้องจริงจังกับการปกป้องดูแลรักษาป่าไม้ของเมืองไทย แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าภาครัฐโดยเฉพาะนักการเมือง นายทุน นี่นักทำลายป่าตัวดีเลย(อันที่จริงเป็นตัวเลว) ยิ่งตอนนี้ทางรัฐบาลกระเหี้ยนกระหือรือจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นการทำลายผืนป่าครั้งมโหฬารอีกครั้งหนึ่งของเมืองไทย ทำไมนายปลอดประสบการณ์ที่อ้างโครงการเพิ่มสภาพพื้นที่ป่าดิบ ถึงเงียบเป็นเป่าสาก ไม่ออกมาคัดค้านแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ทำให้เหล่านักวิชาการ ผู้รู้ ที่อดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาโต้แย้งแนวคิดนโยบายเปลี่ยนป่าของนายปลอดประสบการณ์ พร้อมทั้งให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมถึงเสนอแนะวิธีในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ตรงเป้า ทำได้ และไม่ผลาญงบประมาณชาติ

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เปิดเผยว่า แนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นป่าดิบ โดยการใช้พันธุ์ไม้เพียงอย่างเดียวไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะสภาพพื้นที่ป่าแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าต้องการฝืนปรับสภาพป่าก็สามารถทำได้ แต่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ เขาจึงเสนอว่าควรใช้วิธีปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตร ให้มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำให้มากขึ้นจะดีกว่า เพราะว่านอกจากประหยัดงบประมาณแล้ว ประชาชนยังได้ประโยชน์อีกด้วย

ด้านนายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ ออกมาให้ข้อมูลว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่มนุษย์จะมาเปลี่ยนป่าที่แห้งแล้งอย่างป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ให้เป็นป่าดิบ มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนอะไรในธรรมชาติ แค่ไม่ทำลายป่า ป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า ป่าก็จะฟื้นสภาพขึ้นมาเอง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องเคร่งครัดกับการดูแลป่า โดยเฉพาะป่าโซนเอ ไม่ควรให้ใครเข้าไป แต่ทุกวันนี้ใครขอเข้าไปก็ให้เข้าไปกันง่ายๆ แล้วป่าจะเหลืออะไร
ธรรมชาติจะจัดการระบบของผืนป่าด้วยตัวของมันเองตามความเหมาะสม มนุษย์ไม่ควรที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพมัน
นายนริศ ภูมิภาคพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยาป่าไม้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า หากมีการเปลี่ยนธรรมชาติก็จะกระทบกับวิ่งแสดล้อมในพื้นที่นั้นๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน อีกทั้งป่าเต็งรังยังมีความหลากหลายของสัตว์ป่าบนผิวดิน ไม่ว่าจะเป็น ช้าง กระทิง วัวแดง ละมั่ง หมาจิ้งจอก เป็นต้น ซึ่งหากทำการเปลี่ยนสภาพป่าให้เป็นป่าดิบ สัตว์เหล่านี้จะอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีแหล่งอาหาร ขณะที่พืชอีกหลากลหายพันธุ์จำนวนมากก็จะต้องสูญหายไปจากการเปลี่ยนป่า ดังนั้นการเปลี่ยนป่าจึงไม่ควรมองมิติเรื่องน้ำอย่างเดียว แต่ต้องมองผลกระทบในหลากหลายมิติด้วย

รศ.ดร. อุทิศ กุฏอินทร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงประโยชน์ของป่าเต็งรังในเรื่องของน้ำ(ที่นายปลอดประสบการณ์อาจไม่รู้หรือแกล้งมองไม่เห็น) ว่า ป่าเต็งรังสามารถกักเก็บน้ำได้ดี ดังเช่นที่ อุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง มีป่าเต็งรัง แต่ลำห้วยต่างๆก็สามารถมีน้ำจากธรรมชาติไหลอยู่ตลอดเวลา แม้หน้าร้อน น้ำก็ไม่เคยหยุดไหล ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่า ป่าเต็งรัง มีประโยชน์เพราะสามารถกักเก็บน้ำได้ หากมีการเปลี่ยนป่าไม้จริง ก็จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ

ส่วน ศ.ดร.นิพนธ์ ตั้งธรรม ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ป่าเต็งรังส่วนใหญ่ มีเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากป่าเต็งรังในเมืองไทยหายไปหมด(ถ้าถูกเปลี่ยนเป็นป่าดิบไปหมดจริง) โอกาสที่น้ำจะท่วมก็ยิ่งจะมีมากขึ้น และแหล่งกักเก็บน้ำก็จะลดน้อยลง อีกทั้งถ้าอยากเห็นป่าเต็งรังเราคงต้องไปดูที่ประเทศเพื่อนบ้านแทน

ขณะที่ส่วนของภาครัฐผู้ปฏิบัติการด้วยกันการอย่าง นายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ทางกระทรวงจะไม่ทำตามแนวคิดของนายปลอดเด็ดขาด พร้อมทั้งยังโต้แบบแสบๆกลับมาว่า ในวิถีแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าในประเทศนี้หรือในโลกนี้มีหลายรูปแบบ ป่าแต่ละประเภทต่างต่างก็อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมของตัวเอง แต่ถ้าเข้าของแนวคิดเปลี่ยนป่าต้องการที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม มันมีวิธีอื่นๆอีกหลายวิธี เรื่องของป่าไม้เป็นเพียงหนึ่งในหลายวิธีเท่านั้น ไม่ใช่เปลี่ยนป่าแล้วแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

นอกจากนี้นายศักดายังโต้แสบกลับมาว่า เขาอยากให้นายปลอดประสบการณ์ไปพิจารณาแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ซึ่งหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการทำกินของราษฎรคือ การปลูกไม้ 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่พระองค์ทรงชี้ให้เห็นชัดว่า ป่าแต่ละป่าต่างก็มีประโยชน์อยู่ในตัวเอง

ครับและนี่ก็คืออีกหนึ่งโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของนักการเมืองบ้านเรา ซึ่งหลายต่อหลายคนนอกจากจะเป็นโรคมือ-เท้า-ปากแล้ว ยังเป็นโรคสมองอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ไม่ควรมองแบบเผินๆ เพราะถ้าเราดูจากงบประมาณจำนวนมหาศาลมากถึง 10,000 ล้านบาท มันก็ทำให้คิดได้ไม่ยากว่าน่าจะมีอะไรแฝงเร้นอยู่ เพราะหากหักค่าคอมมิชชั่นตามราคามาตรฐาน 30-35 % งานนี้คงมีหลายคนรวยกันพุงปลิ้นเลย

ดังนั้นสิ่งที่ควรทำในเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนป่า แต่ควรจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนคนที่ปลอดประสบการณ์ออกไป ไม่ควรให้มาทำงานสำคัญระดับชาติที่ใช้งบประมาณในจำนวนมากมายมหาศาลอย่างนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น