โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
รู้หรือไม่ว่า การทำ “เหมืองแร่” สามารถเปลี่ยนสภาพจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ให้กลายเป็นทะเลทรายได้ สำหรับคนที่เคยอยู่ในวงการขุดแร่อย่าง “สุรพงษ์ สุมาลี” ที่ปัจจุบันยึดอาชีพทำสวนปาล์มน้ำมันและประมง ขอโบกมือลาผืนดินที่แห้งแล้ง และเดินหน้าปลูกป่าชุมชนบ้านกลาง จ.พังงา ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของคนในชุมชน แต่ในที่สุดก็สามารถฝ่าฟันจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วแล้วว่า พื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นป่าที่อุดสมบูรณ์ได้ ขอเพียงคนในพื้นที่ช่วยกัน
โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ป่าชุมชนบ้านกลาง ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา ได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ซึ่งได้รับการคัดเลือกแล้วว่า มีการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างเข้มแข็งและพอเพียง โดยใช้หลักคำสอนทางศาสนาและกฎกติกาป่าชุมชนในการบริหารจัดการป่าชุมชนควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากป่าในลักษณะการพึ่งพากันและกัน
ลุงสุรพงษ์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2523 พื้นที่ป่าบ้านกลาง จ.พังงา ได้รับสัมปทานให้ทำเหมืองแร่ โดยระยะเวลา 10 ปีที่ตนได้เข้าไปทำงานขุดแร่ ทำให้เห็นว่า ป่าถูกทำลายไปมากขนาดไหน และมันส่งผลกระทบถึงการดำรงชีวิตของคนในชุมชนอย่างไร
“พื้นที่ป่าหลายหมื่นไร่ถูกทำลายจากการขุดแร่ เพราะการขุดแร่ต้องเหลือแต่หน้าดินเปล่าๆ จากนั้นต้องขุดหน้าดินที่เป็นขี้เลนชั้นบนลงไปประมาณ 3 เมตร เพื่อหาสายแร่ที่อยู่ลึกลงไป พอป่าถูกทำลาย ระบบนิเวศชายฝั่งก็เสียหาย พวกสัตว์ทะเลก็ไม่เข้ามาวางไข่ การขยายพันธุ์ในพื้นที่ก็น้อยลง ชาวบ้านที่ทำประมงก็ลำบาก”
โชคดีที่ในปี 2533 หมดสัมปทานเหมืองแร่พอดี ลุงสุรพงษ์ จึงได้รวบรวมชาวบ้านประมาณ 10 กว่าคน ที่มีใจรักและต้องการเห็นป่าชุมชนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จึงเดินหน้าทำการปลูกป่า โดยการสนับสนุนจากเอ็นจีโอ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมของคุณหญิง อัมพร มีสุข แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเลย เพราะเขาไม่เห็นด้วย เขาคิดกันว่า เดี๋ยวรัฐบาลก็ให้สัมปทานกลับมาทำเหมืองแร่อีก ปลูกป่าไปก็ไม่มีประโยชน์
“เราก็ไม่ท้อ เดินหน้าปลูกป่าทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะเราเห็นความสำคัญของป่า ป่าเปรียบเป็นห้างใหญ่ของหมู่บ้าน แม้คนในชุมชนจะประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่ผลผลิตทุกอย่างมันเริ่มจากป่าแล้วออกไปสู่อ่าว อย่างพวกปลาทู กุ้ง หอย ปู ปลา ก็ต้องมาวางไข่ในป่าจากนั้นจึงเติบโตออกไปสู่ทะเล”
สุดท้ายคนในชุมชนก็เห็นถึงผลในความพยายาม และความไม่ท้อของลุงสุรพงษ์ ต่างพากันหันหน้ามาสนับสนุนกันมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีให้หลัง เพราะเขาเริ่มได้ประโยชน์จากการที่ระบบนิเวศชายฝั่งฟื้นตัว สามารถจับกุ้ง หอย ปู ปลา ได้มากขึ้น แต่กว่าป่าจะฟื้นตัวอย่างจริงจังนั้น ต้องใช้ระยะเวลากว่า 10 ปี จากที่เราเริ่มปลูกป่าในปี 2535 เพิ่งจะมาเห็นผลในปี 2547 จากนั้นหน่วยงานราชการจึงเริ่มเข้ามาช่วยเหลือ จนปัจจุบันชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านต่างเข้ามาร่วมปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าชุมชนแล้ว
พอคนมาเข้าร่วมมากขึ้น ก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการกันในชุมชน ลุงสุรพงษ์ บอกว่า ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ สมัยแรกๆ ยังไม่ค่อยรู้เรื่องว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ตามประสาคนไกลปืนเที่ยง แต่ตอนหลังกระแสเริ่มเข้ามามากขึ้น เริ่มเข้าใจที่ในหลวงบอกว่า พอเพียง คือ ไม่ถึงกับต้องให้ร่ำรวย ให้มีพอกินพอใช้ ไม่ต้องทะเยอทะยานอะไร เราก็พยายามทำให้ชุมชนเราเป็นไปในลักษณะนั้น ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าเท่าที่จำเป็น
ส่วนคนนอกหมู่บ้านที่ลักลอบเข้ามาตัดไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ ลุงสุรพงษ์ เผยว่า ยังมีบ้างและรู้สึกโกรธมากกับคนเหล่านั้น เพราะเขาเป็นคนนอกที่ไม่รู้เลยว่าบ้านเราทำยังไง ทำมากี่ปีแล้ว กว่าป่าจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ แต่คนนอกพอเข้ามาถึงก็มาโค่นล้มอย่างเดียว ต่อไปถ้าทำอีกเราจะเอาจริง เพราะป่าชุมชนเรามีกฎระเบียบ มีกติกา ถ้าจะตัดไปใช้ประโยชน์บ้างเราก็จะมีโซนสำหรับพื้นที่ใช้สอยโดยเฉพาะหลายหมื่นไร่ อย่างชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะเข้าไปตัดมาทำเครื่องเรือนบ้าง แต่ปัจจุบันน้อยลงแล้ว แต่ป่าที่เราอนุรักษ์ดูแลจะขอร้องชาวบ้านและคนนอกเลยว่าอย่า
“การเข้ามาตัดไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหม้อข้าว เหมือนครัวของเรา หากเราเข้าไปตัดไปใช้ก็เหมือนตีหม้อข้าวตัวเอง”
ลุงสุรพงษ์ บอกว่า ระยะเวลาที่ทำการปลูกป่ามา 18 ปี ที่สุดแล้วก็สามารถจับต้องให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ เมื่อปีที่แล้วก็ได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มันเป็นความรู้สึกภูมิใจ เพราะสิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เราทำเพื่อรักษาป่า เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้
“สิ่งที่ทำเราไม่ได้คิดถึงผลตอบแทนที่จะเกิดกับตัวเองเลย เพราะส่วนตัวคิดว่าชีวิตนี้พระเจ้าประทานมาให้พออยู่พอกินแล้ว ไม่ถึงกับลำบาก ในหมู่บ้านถือเป็นแกนนำของหมู่บ้านในด้านฐานะ เรามีทุกอย่าง มีรถ มีสวน มีไร่นา มีสมบัติ มีพอแล้ว แต่ที่มาเป็นแกนนำในการปลูกป่าก็เพื่อให้คนอื่นได้มีอย่างเรา เราคิดถึงคนรุ่นหลังตลอด เพราะหากไม่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น ไม่อนุรักษ์ป่าชุมชนเอาไว้ คนรุ่นหลังเราจะลำบากกว่ามาก ทำแล้วมีความสุข ปลื้มใจ” ลุงสุรพงษ์ ทิ้งท้าย