xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการสวน“ปลอด”เปลี่ยนป่า ทำลายระบบนิเวศ-อาจทำน้ำท่วมมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป่าเต็งรัง (ภาพจาก www.tropicalforest.or.th)
นักวิชาการระบุโครงการเปลี่ยนป่าเต็งรังเป็นป่าดิบของปลอดประสบ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ห่วงถ้าทำจริงจะทำให้ป่าเต็งรังหายไปจากเมืองไทย ทำให้โอกาสเกิดน้ำท่วมมีมากขึ้น แนะให้หันมาฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมจะมีประโยชน์กว่า

สืบเนื่องจากการที่ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เคยออกมาเสนอแนวคิด เรื่องการทำป่าไม่ซับน้ำให้เป็นป่าไม้ซับน้ำ ด้วยการเปลี่ยนป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบ ให้เป็นป่าดิบ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยใช้งบประมาณมากถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดเริ่มโครงการ 8 ส.ค. นี้ นักวิชาการด้านป่าไม้ มีความคิดเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ดังนั้นทางคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาในหัวข้อ “คิดรอบด้านการเปลี่ยนแปลง” ขึ้น ในวันที่ 30 ก.ค. 55 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม FORTROP ตึกวนศาสตร์ 60 ปี ชั้น 3 คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ป่าดิบเขา หนึ่งในประเภทของป่าไม่ผลัดใบในเมืองไทย
สำหรับการเสวนาครั้งนี้ทางคณะวนศาสตร์ได้ระดมสมองจากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญป่าประเภทนี้โดยเฉพาะ มาร่วมเสวนาในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงความสำคัญของป่าประเภทนี้ทางด้านลุ่มน้ำ พันธุ์พืช สัตว์ป่า และต่อชุมชนว่าเป็นอย่างไร ถ้าหากไม่มีป่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือถ้าจะมีการเปลี่ยนป่าจริง จะสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร
รศ.ดร. อุทิศ กุฏอินทร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร. อุทิศ กุฏอินทร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ป่าเต็งรังสามารถกักเก็บน้ำได้ดี ยกตัวอย่างเช่น อุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง มีป่าเต็งรัง แต่ลำห้วยต่างๆก็สามารถมีน้ำจากธรรมชาติไหลอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะเป็นหน้าร้อน น้ำก็ไม่เคยหยุดไหล ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่า ป่าเต็งรัง มีประโยชน์เพราะสามารถกักเก็บน้ำได้ หากมีการเปลี่ยนป่าไม้จริง ก็จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นไม้เต็งรัง กล้วยไม้ต่างๆ หรือแม้กระทั่งสัตว์ป่า
ผศ.ดร.พสุธา สุนทรห้าว อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ด้าน ผศ.ดร.พสุธา สุนทรห้าว อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ป่าสามารถเปลี่ยนได้โดยธรรมชาติของมันเอง และด้วยฝีมือมนุษย์ เมื่อป่าเปลี่ยนธรรมชาติก็เปลี่ยนไปด้วย ป่ามีประโยชน์ทั้งทางตรง ทางอ้อม ยังส่งผลต่อความรู้สึก รวมถึงการท่องเที่ยวอีกด้วย หากมีการเปลี่ยนป่าจริง กว่าที่ป่าเต็งรังจะเป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์จริง ก็ต้องใช้ระยะเวลาหลายปี หรืออาจจะหลายสิบปี หากเปลี่ยนแนวคิดจากการเปลี่ยนป่า มาเป็นการฟื้นฟูป่าที่เสื่อมสภาพไป อาจเห็นผลได้เร็วกว่าและมีประโยชน์กว่าอีกด้วย
ศ.ดร.นิพนธ์ ตั้งธรรม ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร
ทางด้าน ศ.ดร.นิพนธ์ ตั้งธรรม ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร กล่าวทิ้งท้ายว่า รู้สึกห่วงหากเปลี่ยนป่าเต็งรัง ให้เป็นป่าดิบ เพราะป่าเต็งรังส่วนมาก จะมีเฉพาะในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากป่าเต็งรังในประเทศไทย หายไปหมด เหมือนอย่างประเทศฟิลิปปินส์ โอกาสที่น้ำจะท่วมก็จะมีมากขึ้น และแหล่งกักเก็บน้ำก็จะน้อยลง และเมื่ออยากเห็นป่าเต็งรัง เพื่อศึกษาหรือค้นคว้า ก็คงต้องไปดูที่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นแน่

สำหรับประเภทของป่าในเมืองไทย จากเว็บไซต์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช(http://www.dnp.go.th/research/Knowledge) ได้แบ่งป่าไม้ในเมืองไทยไว้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ “ป่าดงดิบหรือป่าไม่ผลัดใบ” กับ “ป่าผลัดใบ” โดยป่าดิบอันประกอบด้วยป่าดิบชื้น ดิบเขา และดิบแล้งจัดอยู่ในประเภทป่าดงดิบหรือป่าไม่ผลัดใบ(ในหมวดป่าดิบเมืองร้อน) ส่วนป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณจัดอยู่ในประเภทป่าผลัดใบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าป่าดิบ กับป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ มีความแตกต่างของระบบนิเวศในประเภทป่าอย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น