xs
xsm
sm
md
lg

จากท้องทุ่งสู่ย่านธุรกิจ ย้อนอดีตวังเก่าย่านปทุมวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชิ้นส่วนของเสาหินอ่อน สันนิษฐานว่าเป็นของวังกลางทุ่ง
ถ้าบอกว่า เมื่อก่อนนี้ บรรดาห้างร้าน ทั้งสยามพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ เซ็นทรัลเวิลด์ และแหล่งชอปปิ้งหรูในย่านปทุมวัน เคยเป็นท้องทุ่งนากว้างใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของทุ่งพญาไทซึ่งเป็นที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปี หลายคนคงจะนึกภาพไม่ออก เพราะภาพปัจจุบันอันแสนทันสมัยได้กลบภาพอดีตไปเสียเกือบหมด

วันนี้ฉันเลยจะมาลองย้อนภาพอดีตของย่านปทุมวันดูด้วยการมาเดินเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรมในย่านนี้ในหัวข้อ “คลายปมไหม ไขอดีตวังเก่า เข้าอารามงามศิลป์ ถิ่นปทุมวัน” กับพี่นัท จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์เจ้าเดิมที่เคยพาฉันเดินเที่ยวทั่วกรุงมาหลายครั้งแล้ว
สนามกีฬาแห่งชาติ เคยเป็นที่ตั้งของวังกลางทุ่ง
ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งทริปที่น่าสนใจ มีอะไรที่ฉันยังไม่รู้อีกมากมายในย่านนี้ อย่างเช่น ที่สถานที่แรกที่ได้มาเยือน ก็คือ “วังวินเซอร์” หรือ “วังกลางทุ่ง” ชื่อวังไม่คุ้นหู แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เกี่ยวโยงกับสนามกีฬาแห่งชาติของเราในปัจจุบันด้วย

สำหรับวังแห่งนี้ เป็นวังที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นสถานที่ประทับของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมารองค์แรกของสยาม เหตุที่ได้ชื่อว่า วังวินเซอร์ ก็เพราะได้นำเอาแบบของพระราชวังวินเซอร์แห่งประเทศอังกฤษมาย่อส่วน การก่อสร้างวังได้เริ่มขึ้นในปี 2424 แต่น่าเสียดายยิ่งนักที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ กลับไม่ได้เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ เพราะพระองค์เสด็จทิวงคตเสียก่อนในปี 2437
แท่นประทับที่ในหลวงเคยประทับเพื่อรับเหรียญรางวัล จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์
เมื่อไม่มีเจ้าของวัง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานวังนี้รวมทั้งพื้นที่โดยรอบให้เป็นสมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในช่วงปี 2478 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาในขณะนั้น มีความคิดที่จะจัดสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น จึงได้ขอพิจารณาเช่าที่ดินบริเวณพระตำหนักหอวัง และรื้อถอนพระตำหนักออก สร้างเป็นสนามกรีฑาแห่งชาติขึ้น

มาในวันนี้ร่องรอยของวังวินเซอร์ หรือ วังกลางทุ่ง แทบไม่หลงเหลืออยู่แล้ว แต่จากการปรับปรุงสถานที่บริเวณอาคารพลบดี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ทำให้ได้พบชิ้นส่วนของหินอ่อนเป็นจำนวนมากที่มีลักษณะของโครงสร้างอาคาร เช่น เสา หัวเสา และรูปปั้น ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของวังกลางทุ่ง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้นำชิ้นส่วนหินอ่อนเหล่านั้นมาจัดแสดงไว้เพื่อเป็นที่ระลึกของ “วังกลางทุ่ง” ในอดีต ใครที่สนใจก็สามารถเดินเข้าไปชมกันได้ที่บริเวณอาคารจุฬาพัฒน์ 8
ชมของเก่าภายในบ้านเรือนไทย จิม ทอมป์สัน
ไหนๆ มาถึงเขตสนามกีฬาแห่งชาติแล้ว ก็เข้ามาดู “พิพิธภัณฑ์การพลศึกษาและกีฬา” ที่จัดแสดงของที่ระลึกด้านการพลศึกษามากมาย มาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้วทำให้ฉันได้รู้ว่า สนามกีฬาแห่งชาติ หรือที่เดิมเรียกว่า กรีฑาสถานแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการแข่งขันกรีฑานักเรียน ซึ่งปกติจะจัดขึ้นที่สนามกีฬาของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมานาวาโทหลวงศุภชลาศัยจึงมาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น

ส่วนข้าวของต่างๆ ที่น่าสนใจที่ฉันได้ชมในพิพิธภัณฑ์ก็เช่น แท่นประทับยืนที่ในหลวงของเราเคยประทับเพื่อรับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ในปี 2510 ในครั้งนั้น พระองค์ทรงรับเหรียญรางวัลคู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนฯ ที่ทรงมีคะแนนรวมเท่ากัน โดยทั้งสองพระองค์ทรงรับเหรียญรางวัลจากสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถฯ นับเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นสิ่งของชิ้นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ภายในบ้านจิม ทอมป์สัน มีโบราณวัตถุซึ่งเป็นของสะสมมีค่าหลายชิ้น
นอกจากนั้น ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีโต๊ะทำงานของนาวาโท หลวงศุภชลาศัย ซึ่งเป็นอธิบดีกรมพลศึกษาคนแรกจัดแสดงไว้ มีของที่ระลึกในงานกีฬานานาชาติ ทั้งกีฬาเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ฯลฯ เหรียญที่ระลึก โล่รางวัล ถ้วยรางวัล เหรียญรางวัล และของที่น่าสนใจอย่าง นวมที่เขาทรายใส่ชกป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 16 นวมที่แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ใส่ขึ้นชกจนชนะน็อคคู่แข่ง เสื้อพร้อมลายเซ็นของไก่ ปวีณา ทองสุก นักกีฬายกน้ำหนักเหรียญทองโอลิมปิกคนเก่งของเรา เป็นต้น

ไหนๆ ก็แวะเข้ามาที่สนามกีฬาแห่งชาติแล้ว ใครที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายก็น่าจะใช้เวลาที่นี่กันซักเล็กน้อย เพราะเขามีทั้งเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง ลู่วิ่ง ลานอเนกประสงค์ให้ทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ได้ออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าใครอยากเดินเที่ยวกันต่อ ก็มาต่อกันที่ “พิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สัน” บ้านเรือนไทยของฝรั่งหัวใจไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาไหมไทย” จากการสร้างชื่อเสียงให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
บริเวณห้องนั่งเล่นในบ้านจิม ทอมป์สัน
ด้วยความที่ จิม ทอมป์สัน เป็นฝรั่งนักสะสมของเก่าที่ชื่นชอบศิลปะแบบไทยๆ รวมถึงงานศิลปะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เขาเลือกสร้างบ้านเรือนไทยขึ้นเป็นที่พักอาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบ ตรงข้ามกับหมู่บ้านช่างทอผ้าไหมบ้านครัว ซึ่งเป็นชุมชนที่เขามักจะแวะเวียนเข้าไปดูเรื่องการผลิตผ้าไหมอยู่เป็นประจำ สำหรับบ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สันหลังนี้ สร้างขึ้นจากบ้านเรือนไทยเก่า 6 หลังมาประกอบกัน ปลูกสร้างอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมพิธีการทางศาสนา

แม้เจ้าของบ้านจะหายสาบสูญไปในป่าที่คาเมรอน ไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2510 แต่ห้องหับส่วนใหญ่ในบ้านยังจัดตกแต่งเหมือนเมื่อสมัยที่เจ้าของบ้านยังมีชีวิตอยู่ จัดแบ่งเป็นห้องนอน ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น โดยทุกมุมภายในบ้านตกแต่งด้วยศิลปวัตถุและโบราณวัตถุของไทยและประเทศใกล้เคียงหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นผ้าพระบฏแสดงภาพพุทธประวัติ เครื่องเบญจรงค์ พระพุทธรูปเก่าแก่อายุนับร้อยปีหลายองค์ ตู้ลายรดน้ำ และเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าแก่อีกหลายชิ้น
วัดปทุมวนาราม วัดสงบงามท่ามกลางห้างสรรพสินค้า
นอกจากห้องต่างๆ ในชั้นบนแล้ว บริเวณใต้ถุนบ้านยังมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอย่างพระพุทธรูปสมัยทวารวดีสององค์ มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 และศตวรรษที่ 8 ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในบ้าน เรียกว่าเสียค่าตั๋ว 100 บาท ก็ได้ดูข้าวของโบราณล้ำค่าต่างๆ จุใจเลยทีเดียว

มาถึงจุดสุดท้ายในการเดินเที่ยวย่านปทุมวัน ที่ “วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร” ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางห้างสรรพสินค้า ไม่ว่ามองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ห้างสรรพสินค้ารายรอบวัดเต็มไปหมด แต่ถึงกระนั้นวัดปทุมฯ ก็ยังมีมุมสงบงามให้พุทธศาสนิกชนได้ไปทำบุญสงบจิตใจกัน
หลวงพ่อพระเสริม พระประธานในพระวิหารวัดปทุมวนาราม
เมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่พญาไทยังเป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระใหญ่ 2 สระติดกันเพื่อปลูกดอกบัวไว้เป็นสถานที่เสด็จประพาส รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังประทุมวันเพื่อเป็นที่ประทับ และได้สร้างพระอารามชื่อว่า “วัดปทุมวนาราม” ตามชื่อพระราชวังอีกด้วย

ปัจจุบัน แม้จะไม่มีทั้งพระราชวังสระปทุมวันและสระบัวให้เห็นอีกต่อไป แต่วัดปทุมวนารามก็ยังคงเป็นวัดสำคัญในย่านนี้อยู่เช่นเดิม แต่หากอยากเห็นสระบัวจริงๆ ก็ต้องเข้ามาในพระอุโบสถ เข้ามากราบ “หลวงพ่อพระสายน์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ และมาชมสระบัวสวยงามที่อยู่บนจิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสระบัวอันงดงามในอุทยานสวรรค์ของพระอินทร์
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีสระบัวเป็นองค์ประกอบ
ส่วนในพระวิหารนั้นก็มีของดีไม่แพ้กัน เพราะมี “หลวงพ่อพระเสริม” ประดิษฐานไว้ ซึ่งตามตำนานกล่าวว่าเป็นพระพี่น้องกับพระสุก และพระใส โดยพระราชธิดา 3 พระองค์แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้มีศรัทธาสร้างขึ้น ปัจจุบันพระใสประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย ส่วนพระสุกเชื่อว่าจมลงในแม่น้ำโขง ผู้คนจึงเรียกแม่น้ำโขงบริเวณนั้นว่า เวินพระสุก นอกจากนั้นก็ยังประดิษฐาน “หลวงพ่อพระแสน” พระพุทธรูปเก่าแก่ของล้านช้างประดิษฐานไว้ในพระวิหารด้วยเช่นกัน

เมื่อมาที่วัดปทุมฯ แล้ว ไม่ควรพลาดที่จะมากราบสถูปเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ พระบรมราชชนก พระทนต์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระตโจ (หนัง) ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระทนต์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อีกด้วย
เจดีย์ประดิษฐานพระสรีรางคารของผู้ที่สืบสายตรงของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
เรามาปิดท้ายการเดินชมย่านปทุมวันด้วยการเข้าไปหาความสงบที่ศาลาพระราชศรัทธา ศาลาปฏิบัติธรรมและสวนป่าในที่ดินของวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิและอบรมกรรมฐานภายในบรรยากาศอันร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ได้ทั้งการพักเหนื่อยจากการเดินมาทั้งวัน และยังได้พักใจให้นิ่งสงบจากความวุ่นวายรอบกายอีกด้วย

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

ติดต่อสอบถามกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมในครั้งต่อไปได้ที่ คุณจุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา โทร.08 1343 4261
กำลังโหลดความคิดเห็น