xs
xsm
sm
md
lg

เข้าวังสระปทุม ยลมรดกประวัติศาสตร์ที่ “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
พระตำหนักใหญ่ทาสีเหลืองทั้งองค์
ท่ามกลางย่านเศรษฐกิจที่คึกคัก มากด้วยศูนย์การค้าและโรงแรมในเขตปทุมวัน มีสถานที่แห่งหนึ่งที่สงบเงียบ ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่นานาชนิด สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “วังสระปทุม” วังในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์

โดยวังสระปทุมนั้น เริ่มมาจากที่ ร.5 มีพระราชดำริจะพระราชทานที่ดินบริเวณถนนปทุมวันหรือถนนพระรามที่ 1 ให้เป็นสถานที่สร้างวังของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์) พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จึงยังไม่มีการสร้างพระตำหนักขึ้นตราบกระทั่งร.5เสด็จสวรรคต ร.6จึงได้พระราชทานสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นของพระบรมราชชนกในเวลาต่อมา
อ่างสรงของในหลวง เมื่อทรงพระเยาว์จัดแสดงที่ห้องยุววัฒน์รัชกรณีย์
หลังจากการเสด็จสวรรคตของร.5 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับภายนอกพระบรมมหาราชวัง พระองค์โปรดฯ ที่ดินบริเวณนี้มาก ถึงแม้ว่าในขณะนั้นบริเวณปทุมวันถือว่าเป็นที่ดินที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ รวมทั้งการคมนาคมก็ลำบากมาก พระองค์ทรงเตรียมการปลูกพระตำหนักที่เรียกว่า “พระตำหนักใหญ่”เพื่อจะเสด็จมาประทับอยู่เป็นการถาวร โดยพระองค์ทรงคิดผังพระตำหนักเอง เนื่องจากทรงมีความรู้เรื่องทิศทางลมและฤดูกาลเป็นอย่างดี

ในระหว่างการก่อสร้างพระตำหนักใหญ่นั้น พระองค์ได้เสด็จมาประทับ ณ พลับพลาไม้ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่ประทับชั่วคราวบ่อย ๆ เมื่อพระตำหนักใหญ่สร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จเข้าประทับ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เป็นการถาวรตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2498
สมเด็จพระพันวัสสาฯโปรดให้เจ๊กตู้เข้าไปขายในวังสระปทุม
สำหรับ “พระตำหนักใหญ่” ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น เป็นตำหนัก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน มีห้องใต้ดินอีก 1 ชั้น รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีระเบียงพื้นคอนกรีตยื่นออกมาโดยรอบพระตำหนัก มีขนาดกว้างประมาณ 22 ม. ยาว 40 ม. มีความสูงจากพื้นระเบียงรอบพระตำหนักถึงยอดหลังคาประมาณ 13.50 ม. องค์พระตำหนักยกพื้นสูงกว่าระเบียงโดยรอบ หันหน้าออกไปทางทิศเหนือ (คลองแสนแสบ) มีมุขเฉลียงยื่นออกนอกองค์พระตำหนัก 4 ทิศ โดยมีบันไดหลักขึ้นสู่ตัวอาคารขึ้นจากทางทิศเหนือและมีบันไดขึ้นได้อีก 2 ทิศ บริเวณมุขด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ทาสีเหลืองทั้งองค์พระตำหนัก

ต่อมา หลังจากที่พระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษากลับมายังประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลังเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยพระบรมราชชนกได้ประทับอยู่พระตำหนักนี้จนสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2472
โต๊ะเสวยในห้องพิธีสามารถขยายและย่อพื้นที่ได้
อย่างไรก็ตาม วังสระปทุมยังคงใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเรื่อยมาจนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจนถึงปัจจุบัน

และเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า วังสระปทุมเป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์และแห่งชาติ ด้วยเป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และได้เป็นที่ประทับของสมเด็จย่าในเวลาต่อมา สมควรที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจอันเป็นแบบอย่างอันดีงามแห่งการดำรงชีวิตที่อำนวยประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก สมเด็จพระเทพฯ จึงทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นสนองพระราชดำริ
ห้องรับแขก สั่งทำเฟอร์นิเจอร์จากประเทศฝรั่งเศส
โดยสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปในการเปิด “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551

ภายใน “พระตำหนักใหญ่” หรือ “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ได้จัดแสดงเป็นห้องต่างๆ ไว้เป็น 3 ช่วงเวลา แต่ก่อนจะเข้าสู่ช่วงแรก เราเข้าสู่ห้อง “ยุววัฒน์รัชกรณีย์” ภายในจัดแสดงอ่างสรงของในหลวง ที่ใช้สรงเมื่อทรงพระเยาว์ จม.ลายพระหัตถ์ของพระบรมราชชนก จม.ของสมเด็จย่า โทรเลขของสมเด็จพระพันวัสสา เป็นต้น
ห้องพระบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาฯ
ต่อมาเป็นห้องที่จัดแสดงถึงช่วงแรก ซึ่งเป็นช่วงของการสร้างพระตำหนักแล้วเสร็จ และสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จฯ กลับจากต่างประเทศมาประทับอยู่ ซึ่งจัดแสดงใน “ห้องพิธี” และ “ห้องรับแขก” โดยในช่วงนี้ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นมงคลยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย กล่าวคือ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระบรมราชชนกกับสมเด็จย่า ครั้งยังทรงเป็น นางสาวสังวาล ตะละภัฏ รัชกาลที่6 เสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสังข์ ณ พระตำหนักใหญ่ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2463
โต๊ะทรงงานในห้องทรงพระอักษร
สำหรับการจัดแสดงในช่วงที่สอง เป็นช่วงที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเสกสมรสและมีพระราชธิดาแล้วหนึ่งพระองค์ ทรงพาครอบครัวเสด็จฯ กลับจากประเทศอังกฤษและมาประทับอยู่ที่วังสระปทุมอีกวาระหนึ่ง การจัดสิ่งของเครื่องใช้ในห้องแสดงของพิพิธภัณฑ์ในช่วงนี้ ได้แก่ “ห้องเทา” และ “ห้องทรงพระอักษร” ในบริเวณชั้นที่ 2
ห้องสรงอ่างจากุซซี่
ส่วนในช่วงสุดท้าย จัดแสดงใน “ห้องทรงพระสำราญ” “ห้องทรงนมัสการ” และ “ห้องพระบรรทม” เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกมีพระราชโอรสเพิ่มขึ้นอีก 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์ เสด็จกลับจากสหรัฐอเมริกาพร้อมครอบครัว

นอกจากนี้บริเวณ “เฉลียงพระตำหนักใหญ่ชั้นบน” ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดที่จะประทับตรงเฉลียงบนหน้าห้องพระบรรทม ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นห้องทรงนมัสการ เมื่อทรงตื่นบรรทมแล้วจะเสด็จออกมาประทับที่เฉลียงตลอดทั้งวัน และเสวยพระกระยาหาร ณ ที่นี่ด้วย
รถเข็นเด็กที่ในหลวงและสมเด็จพระที่นางทรงใช้เมื่อทรงพระเยาว์
ซึ่งบริเวณนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอันเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ ทรงเป็นประธานในพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนแพ และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ และเจิมพระนลาฏแก่ทั้งสองพระองค์
พระตำหนักใหญ่พระตำหนักประทับของสมเด็จพระพันวัสสาฯ
นอกจากการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ พระตำหนักใหญ่ แล้ว เพื่อเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนม์ 7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้ดำริจัดนิทรรศการ “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน” ณ หอนิทรรศการ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชจริยาวัตรอันเกี่ยวเนื่องด้วยวังสระปทุม
บรรยากาศนิทรรศการบรมกษัตริย์วัฒนสถาน ณ หอนิทรรศการ
นิทรรศการนี้ได้แบ่งเป็น 3 ภาคด้วยกัน ได้แก่ ภาคแรก “ยุววารราชปวัตติ์” เป็นพระราชประวัติในส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเยาว์ เสด็จประทับอยู่ ณ วังสระปทุม โดยมีการจัดแสดงรถเข็นเด็ก 2 องค์ ทรงใช้เมื่อทรงพระเยาว์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระพี่นาง

ภาคที่สอง “ราชประดิพัทธภิษิต” แสดงเรื่องการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ณ วังสระปทุม และภาคที่สาม “ราชกฤตย์กตัญญุตา” แสดงเรื่องพระมหากษัตริย์ผู้ทรงกตัญญู นอกจากนี้ยังแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมา และการบูรณะซ่อมแซมพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม และยังฉายภาพยนตร์สารคดีสั้นให้ได้ชมกันอีกด้วย
พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ ณ หอนิทรรศการ
ฉันขอแนะนำเลยว่า ไม่ควรพลาด เพราะในปีหนึ่งจะเปิดให้ประชาชนอย่างเราเข้าชม “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ณ วังสระปทุม ได้เพียงช่วงเวลาเดียวที่กำหนดเท่านั้น โอกาสแบบนี้ไม่คว้าไว้จะเสียดายไปตลอดปี
นิทรรศการจัดแสดงเฉลิมพระเกียรติพระราชจริยาวัตรอันเกี่ยวเนื่องด้วยวังสระปทุม
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ณ วังสระปทุม นี้ เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 21 มีนาคม 2555 ทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10.00 - 16.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 150 บ. นักเรียน/นักศักษา 50 บ. โดยการเข้าชมต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า และจะจัดเป็นรอบในการเข้าชมรอบละประมาณ 15 คน โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2252-1965 - 67
กำลังโหลดความคิดเห็น