xs
xsm
sm
md
lg

พุทธศิลป์งามวิจิตร “วัดในวัง” ทั้ง 4 แผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อีกมุมหนึ่งของวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย
นับแต่อดีต “วัด” ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยผู้นับถือพุทธศาสนา คนกับวัดมีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนธรรมดาหรือพระมหากษัตริย์ก็ตาม ดังจะเห็นได้จากการสร้างวัดขึ้นในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพระราชกุศลสำหรับพระมหากษัตริย์

โดยอาณาจักรสำคัญและราชธานีของไทยในอดีต ล้วนแล้วแต่มีวัดสำคัญสร้างขึ้นอยู่ภายในพระราชวัง ทั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี รวมถึงกรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกัน
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ของวัดมหาธาตุ สุโขทัย
วัดมหาธาตุ วัดสำคัญกลางเมืองสุโขทัย

วัดในวังสมัยกรุงสุโขทัย นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าคือ “วัดมหาธาตุ” ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งและตั้งอยู่ใจกลางเมืองสุโขทัย ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์รายจำนวนมากถึง 200 องค์ โดยเจดีย์ประธานนั้นมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้ และโดยรอบเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทิศจำนวน 8 องค์ องค์ที่อยู่ตรงมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ที่มีอิทธิพลของศิลปะหริภุญไชย ล้านนา ส่วนเจดีย์ที่อยู่กึ่งกลางของด้านทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา รอบ ๆ เจดีย์ประธานมีปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลี เดินประทักษิณโดยรอบพระมหาธาตุ

นอกจากนี้วิหารหลวงของวัดมหาธาตุยังเคยเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต พระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือพระศรีศากยมุนี ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ โดยเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้โดยล่องแพลงไปยังพระนคร โดยในวิหารหลวงของวัดมหาธาตุสุโขทัยยังปรากฏแท่นฐานขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปเหลือให้เห็น
วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดในวังสมัยกรุงศรีอยุธยา
ต้นแบบวัดในวัง แห่งกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดในพระบรมมหาราชวังคือ “วัดพระศรีสรรเพชญ์” ซึ่งแต่เดิมเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมบรมกษัตริย์ผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังซึ่งมีพระที่นั่งหลายองค์ขึ้นเป็นที่ประทับ และพระมหากษัตริย์องค์ต่อมาอีก 7พระองค์ก็ได้ใช้เป็นที่ประทับด้วยเช่นกัน

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ทรงยกบริเวณพระราชดังกล่าว ได้แก่ พระที่นั่ง 3 องค์ให้เป็นเขตพุทธาวาส หรือก็คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง โดยเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แล้วจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังมาสร้างใหม่ทางด้านเหนือของพระราชวังเก่า ใกล้แม่น้ำลพบุรี

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดให้สร้างพระเจดีย์ 2 องค์พร้อมกัน คือ องค์ทางด้านทิศตะวันออก และองค์กลาง เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดา และบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเชษฐา) ตามลำดับ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สวรรคต สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) พระราชโอรส จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์ที่ 3 ทางด้านตะวันตกขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของพระราชบิดา โดยเจดีย์ทั้งสามองค์นี้ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่จนปัจจุบันท่ามกลางโบราณสถานและซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างที่ยังเหลืออยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
วัดอรุณราชวราราม เคยเป็นวัดในวังเมื่อสมัยกรุงธนบุรี
2 วัดในวัง กรุงธนบุรี

มาถึงสมัยกรุงธนบุรี ในแผ่นดินนี้มีวัดในวัง 2 วัดด้วยกัน คือ “วัดอรุณราชวราราม” และ “วัดโมลีโลกยาราม” ซึ่งทั้งสองวัดเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ วัดทั้งสองซึ่งมีพื้นที่รวมอยู่ในเขตพระราชฐานจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นเขตพุทธาวาสแบบเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในกรุงศรีอยุธยา มิให้มีพระสงฆ์จำพรรษา

วัดอรุณราชวรารามมีฐานะเป็นพระอารามหลวงสำคัญของแผ่นดินมาตลอดสมัยธนบุรี โดยในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น วัดอรุณฯ เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตและพระบางซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ใน พ.ศ.2322 ในครั้งนั้นได้มีการจัดงานสมโภชพระแก้วและพระบางถึง 3 วัน 3 คืนด้วยกัน
วัดโมลีโลกยาราม อีกหนึ่งวัดในวังแห่งกรุงธนบุรี
ส่วนวัดโมลีโลกยารามนั้นนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดท้ายตลาด เนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่ ความสำคัญของวัดโมลีฯ อยู่ตรงที่พระวิหารซึ่งสันนิษฐานว่าใช้เป็นฉางเกลือในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน โดยในสมัยก่อนเกลือถือเป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมือง เพราะสามารถนำไปใช้ถนอมอาหารเพื่อเป็นเสบียงได้ จนมีคำกล่าวว่า “หากจะโจมตีบ้านเมือง ต้องทำลายฉางเกลือ คลังเสบียงและคลังแสงให้ได้”

ปัจจุบันภายในพระวิหารวัดโมลีฯ กั้นเป็น 2 ตอน ตอนหนึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์เป็นหมู่บนฐานชุกชี ส่วนตอนหลังเป็นพื้นที่ค่อนข้างแคบ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่นามว่าพระปรเมศ
วัดพระแก้ว วัดในพระบรมมหาราชวังที่ชาวไทยรู้จักกันดี
วัดพระแก้ว ศูนย์รวมใจคนไทยทั้งชาติ

และในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ วัดในพระบรมมหาราชวังถือเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นคือ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือ “วัดพระแก้ว” อันมีพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถและเป็นดังพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย

วัดพระแก้วสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาฝั่งพระนคร พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น รวมทั้งยังโปรดให้สร้างวัดภายในวังขึ้นเพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพระราชกุศล รวมทั้งเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ทรงอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันทน์ด้วย และเนื่องจากวัดพระแก้วเป็นวัดที่อยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนการสร้างพระบรมมหาราชวังมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา
พระอุโบสถของวัดพระแก้ว
ภายในวัดพระแก้วมีสิ่งก่อสร้างสำคัญหลายอย่างด้วยกัน อาทิ ปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ของกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 8 พระองค์ เจดีย์ทองย่อมุมไม้สิบสองซึ่งมียักษ์และลิงกำลังแบกฐานองค์เจดีย์ รวมไปถึงพระอุโบสถซึ่งเป็นอาคารทรงไทยชั้นเดียว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระพุทธรูปสำคัญ เช่น พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 และพระชัยหลังช้าง เป็นต้น อีกทั้งพระระเบียงรอบพระอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งนับเป็นงานจิตรกรรมชิ้นเอกของไทย เรียกได้ว่าวัดพระแก้วนอกจากจะเป็นวัดในวังที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งชาติแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมสุดยอดงานศิลปกรรมอันประณีตของไทยอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น