xs
xsm
sm
md
lg

ปั่นสองล้อ ตามรอยพระเจ้าตากฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินในกองทัพเรือ
ความคิดที่อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองจักรยาน ผู้คนหันมาใช้จักรยานไปทำงานหรือเดินทางไปไหนต่อไหนแทนรถยนต์ดูจะยังเป็นความฝันที่ห่างไกลความเป็นจริง แต่ฉันและหลายๆ คนก็ยังอยากให้ฝันนั้นเกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะนอกจากการปั่นจักรยานจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยลดมลพิษให้โลกได้มากโข

ดังนั้นเมื่อได้ทราบข่าวว่ากองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครและสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย เขาจัดกิจกรรม “ปั่นจักรยานชมกรุง ตามรอยประวัติศาสตร์ ตอน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ฉันจึงรีบสมัครไปขอร่วมขบวนปั่นกับเขาด้วย และเอามาบอกเล่ากันต่อเผื่อใครอยากจะไปปั่นในเส้นทางนี้บ้าง
หลวงพ่อโบสถ์น้อย แห่งวัดอมรินทราราม
สำหรับจุดแรกในเส้นทางตามรอยนี้ เริ่มที่ “วัดอัมรินทราราม” ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ แล้วสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ที่วัดแห่งนี้เราได้กราบสักการะ “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตรตกลงใกล้โบสถ์ และทำให้เศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยถึงกับหักพังลงมา สร้างความเศร้าเสียใจให้แก่ชาวบ้านที่เคารพนับถือองค์หลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสงครามยุติลงจึงได้มีการปั้นพระเศียรของหลวงพ่อขึ้นใหม่โดยให้คงเค้าเดิมไว้ และต่อมาวัดจึงกำหนดให้วันที่ 29 พ.ย. ของทุกปี เป็นวันนมัสการประจำปีของหลวงพ่อโบสถ์น้อย เพื่อระลึกว่าในวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่หลวงพ่อโบสถ์น้อยถูกภัยทางอากาศ
อุโบสถวัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย
ไหว้พระกันเสร็จแล้วขึ้นปั่นสองล้อเข้ามาในชุมชนบ้านบุ เพื่อลัดเลาะมายัง “วัดสุวรรณาราม” วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ประหารชีวิตเชลยศึกพม่าจากค่ายบางแก้วในสมัยกรุงธนบุรี ภายในวัดแห่งนี้มีของดีอยู่ภายในพระอุโบสถ คือภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของหลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) และหลวงเสนีย์บริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ) สองจิตรกรเลื่องชื่อแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งสองได้เขียนจิตรกรรมฝาผนังประชันกัน โดยครูทองอยู่เขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธเจ้าสิบชาติตอนเนมีราชชาดกกับ ส่วนครูคงแป๊ะเขียนตอนมโหสถชาดก

จากวัดสุวรรณาราม คราวนี้ปั่นกันยาวจากถนนจรัญสนิทวงศ์แล้วเลี้ยวซ้ายเลียบทางรถไฟผ่านตลาดศาลาน้ำร้อนเข้าสู่ถนนอิสรภาพแล้วเลี้ยวเข้าถนนพรานนกมายัง “ชุมชนบ้านช่างหล่อ” ชุมชนเก่าแก่ที่อพยพมาจากอยุธยาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 เป็นกลุ่มคนที่มีฝีมือในการหล่อพระพุทธรูปสืบทอดกันมาหลายรุ่น แต่ปัจจุบันโรงหล่อพระพุทธรูปในชุมชนบ้านช่างหล่อไม่หลงเหลืออยู่อีก เนื่องจากทางการกลัวอันตรายจากการหลอมทองเพื่อหล่อพระ จึงได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการประกอบกิจการในเขตชุมชนบ้านช่างหล่อ แต่ทางชุมชนยังตระหนักถึงประวัติศาสตร์อันสำคัญของบรรพบุรุษ จึงยังคงรวบรวมเอาเครื่องมือเก่าๆ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในการหล่อพระพุทธรูปไว้เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ที่สนใจได้ฟังกัน
เรียนรู้เรื่องราวของบ้านช่างหล่อกับคนในชุมชนโดยตรง
ต่อจากนั้นฉันและนักปั่นน่องเหล็กทั้งหลายต่างขี่จักรยานผ่านถนนอรุณอมรินทร์มุ่งหน้าไปยัง “กรมอู่ทหารเรือ” ซึ่งเป็นสถานที่สร้าง ซ่อมแซมและดำเนินการเกี่ยวกิจการต่างๆ ของกองทัพเรือ รวมไปถึงเรือหลวงและเรือพระที่นั่ง วันที่ฉันเข้าไปในกรมอู่ทหารเรือก็เห็นว่าเขากำลังซ่อมแซมและเตรียมความพร้อมแก่เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9เพื่อที่จะใช้ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา

และด้วยความที่เพิ่งเคยเข้ามาในกรมอู่ทหารเรือเป็นครั้งแรก ฉันจึงเพิ่งรู้ว่าภายในกรมอู่ทหารเรือก็มีวัดตั้งอยู่ด้วย คือ “วัดวงศมูลวรวิหาร” วัดที่สร้างขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยกรมขุนธิเบศร์บวร พระโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 2 สร้างขึ้นในพื้นที่ซึ่งเป็นพระนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
 อุโบสถวัดวงศมูล ในกรมอู่ทหารเรือ
วัดวงศมูลฯ นี้ดูภายนอกก็เหมือนวัดปกติทั่วไป ตัวโบสถ์ทอดตัวทางยาวตามแนวตะวันออก-ตะวันตก แต่เมื่อเข้าไปภายในแล้วพระประธานกลับหันหน้ามาทางทิศเหนือ หรือทางขวางของอุโบสถ แทนที่จะหันไปทางทิศตะวันออกตามปกติและตามความยาวของโบสถ์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก เมื่อกรมขุนธิเบศร์บวรทรงสร้างวัดนั้น พระอุโบสถหันไปทางพระตำหนักที่ประทับทำให้ไม่สบายพระองค์และประชวรอยู่เนืองๆ จะเป็นการแก้เคล็ดหรือมีผู้ทูลทักท้วงจึงทำให้ต้องย้ายพระประธานในพระอุโบสถและถือว่าพระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศเหนืออย่างที่เห็น

พระประธานในอุโบสถวัดวงศมูลฯ นามว่า “พระพุทธวงศมูลมิ่งมงคล” ส่วนบริเวณด้านข้างพระประธานทั้งสองด้านงามแปลกตาด้วยซุ้มสไตล์โกธิคแบบตะวันตก แต่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์และปางห้ามญาติ ปัจจุบันวัดวงศมูลฯ คงเหลือถาวรวัตถุคืออุโบสถหลังนี้เพียงหลังเดียว และไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
กรมอู่ทหารเรือกำลังซ่อมแซมเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
ได้พักเหนื่อยให้คลายความเมื่อยล้าขาสั่นกันในกรมอู่ทหารเรืออยู่พักใหญ่ ฉันก็เดินทางต่อแบบชิลล์ๆ ไปยัง “วัดอรุณราชวราราม” ที่ อยู่ติดๆ กัน วัดแห่งนี้คงไม่ต้องบรรยายถึงความงดงาม เพราะหลายๆ คนคงซาบซึ้งกันดีแล้ว มาฟังถึงความเกี่ยวข้องของวัดอรุณฯ และสมเด็จพระเจ้าตากสินกันดีกว่า

วัดอรุณฯ แต่เดิมชื่อวัดมะกอกนอก เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามายังกรุงธนบุรี พระองค์ได้ล่องเรือมาจนมาถึงวัดนี้เมื่อตอนรุ่งสางพอดี และได้เสด็จขึ้นไปนมัสการพระมหาธาตุบนพระปรางค์ และเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็นวัดแจ้ง ตามเวลาที่พระองค์เสด็จมาถึง
พระปรางค์วัดอรุณฯ ความงดงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสร้างพระราชวังขึ้น วัดแจ้งก็ตั้งอยู่ในเขตวังพอดี พระองค์จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์และมิให้มีพระสงฆ์จำพรรษาเพราะถือเป็นวัดในวัง ต่อมาหลังจากรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน วัดแจ้งได้รับการบูรณะอีกหลายครั้ง และได้เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวัดอรุณราชวราราม

คราวนี้ปั่นเข้าไปในเขตทหารเรืออีกครั้ง ที่ “กองบัญชาการกองทัพเรือ” เพื่อมากราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระบรมราชานุสาวรีย์นี้หันพระพักตร์ไปทางกรุงศรีอยุธยา มือซ้ายถือพระแสงดาบ ส่วนมือขวาชี้ลงพื้นดิน มีความหมายว่า ท่านจะตั้งมั่นสู้ศึกอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ไม่ไปไหน
วิหารเกลือ ในวัดโมลีโลกยาราม
บริเวณใกล้กันเป็นที่ตั้งของ "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" ซึ่งเป็นป้อมสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อป้อมวิไชยเยนทร์ ป้อมนี้มีอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นป้อมปราการทางน้ำป้องกันข้าศึกทางทะเล ในอดีตมีโซ่ขึงข้ามแม่น้ำเพื่อเป็นด่านควบคุมเรือที่จะเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ต่อมาป้อมที่ตั้งอยู่ฝั่งกรุงเทพฯ ทรุดโทรมมากจนต้องรื้อทิ้ง เหลือเพียงป้อมฝั่งธนบุรีที่ทรุดโทรมมากเช่นกัน ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินจึงบูรณะป้อมวิไชยเยนทร์ขึ้นใหม่และพระราชทานนามใหม่ว่า ป้อมวิไชยประสิทธิ์
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน วัดหงส์รัตนาราม
มุ่งหน้าปั่นจักรยานกันต่อไปยัง “วัดโมลีโลกยาราม” หรือวัดท้ายตลาด ซึ่งเป็นวัดในเขตพระราชฐานของพระราชวังเดิม ในสมัยกรุงธนบุรีไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “วิหารฉางเกลือ” คือเป็นที่เก็บเกลือในสมัยกรุงธนบุรี ในสมัยก่อนนั้นเกลือถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการเก็บเสบียงอาหารโดยไม่มีตู้เย็นนั้นจะต้องใช้เกลือช่วยถนอมอาหาร กล่าวกันว่า หากจะโจมตีบ้านเมือง จะต้องทำลายฉางเกลือ คลังเสบียง และคลังแสงให้ได้

มาปิดท้ายเส้นทางขี่จักรยานกันที่ “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ที่วัดหงส์รัตนาราม เชื่อกันว่าเมื่อคราวเคลื่อนย้ายพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน โลหิตของพระองค์ได้ตกลงพื้นในบริเวณนี้ ประชาชนจึงได้สร้างศาลไว้สักการะบูชาต่อมา
ปั่นจักรยานชมกรุง ตามรอยพระเจ้าตากสิน
เป็นอันจบเส้นทางปั่นจักรยานในฝั่งธนบุรีแต่เพียงเท่านี้ ทริปนี้นอกจากจะได้ความปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อต้นขาเพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกายแล้ว ฉันก็ยังได้ความประทับใจและได้รู้เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของเราอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น