หากจะกล่าวถึงเมืองในแถบล้านนาของไทย โดยเฉพาะเมืองลำพูนนั้น นับว่าเป็นเมืองที่มีผู้คนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก ไตหรือไท อย่างไตโยน ไตลื้อ ไตเขิน ไตใหญ่ (เงี้ยว) มอญ (เม็ง) ลัวะ ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) พม่า (ม่าน) เป็นต้น แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในเมืองลำพูน คือประมาณร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด นั่นก็คือ คนยอง หรือ ไตยอง
คนยองคือใคร มาจากไหน
ชาวยองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อหรือไทลื้อกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานอยู่ ณ เมืองยอง เป็นเมืองที่มีชื่อเดียวกับแม่น้ำคือแม่น้ำยอง อยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง ในอดีตเมืองยองมีชื่อว่า มหิยังคนะ (ทว่าคนเมืองยองเองที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่เรียกเมืองว่า เจงจ้าง - เมืองเชียงช้าง) และเรียกตัวเองว่าชาวไตเมืองยอง
เมืองยอง สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19 โดยชาวพื้นเมือง ต่อมามีผู้คนอพยพจากเมืองเชียงรุ้งเข้าไปสร้างบ้านแปงเมือง โดยมีเจ้าเมืองซึ่งเป็นชนชาวพื้นเมืองเชื้อสายไทลื้อปกครองบ้านเมืองสืบต่อกันมา บางช่วงเวลาเมืองยองก็เป็นเมืองร้างอันเนื่องมาจากศึกสงคราม และในปัจจุบัน เมืองยองมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของรัฐฉานในประเทศพม่า
ในปี พ.ศ.2348 ภายหลังจากที่พระเจ้ากาวิละได้ปลดแอกจากพม่า (ล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าระหว่าง พ.ศ.2101-2347) และสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ขึ้นมาอีกครั้งแล้ว ก็มีความคิดที่จะกอบกู้เมืองลำพูนด้วยเช่นกัน ด้วยทรงเห็นว่าในอดีตเคยเป็นราชธานีหริภุญไชยอันรุ่งเรืองมาก่อนเมืองอื่น
พระเจ้ากาวิละได้อพยพชาวไตจากเมืองยองมาราวหมื่นคนเศษ ส่วนใหญ่แล้วเป็นชนชั้นสูงระดับเจ้านาย ขุนนาง ผู้นำชุมชน ช่างฝีมือ อพยพจากเมืองยองลุ่มน้ำโขงสู่ลุ่มน้ำปิง จากปี พ.ศ.2348 ถึงเมืองลำพูนราวเดือนเมษายน พ.ศ.2349 นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเรียกยุคนั้นว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” (ซ้า แปลว่า ตะกร้า) ได้มีการทำพิธียกเมืองเวียงยอง ซึ่งตั้งอยู่ ณ ฟากตะวันออกของแม่น้ำกวง (แม่น้ำปิงเก่า) ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญไชยให้แก่ผู้มาใหม่
สำหรับศูนย์กลางของชาวยองยุคเริ่มแรกอยู่ที่วัดหัวขัว วัดต้นแก้ว วัดแม่สารป่าขาม แม่สารบ้านตอง ต่อมาค่อยๆ กระจายไปสู่ป่าซาง แม่ทา บ้านโฮ่ง เวียงหนองล่อง และลี้ ที่ป่าซางมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดอินทขิล วัดป่าซางงาม วัดฉางข้าวน้อยเหนือ และวัดพระพุทธบาทตากผ้า ชาวยองได้นำวัฒนธรรมประเพณีของตนจากสิบสองปันนามาใช้ในวิถีชีวิต ทั้งด้านเครื่องแต่งกาย ภาษา ดนตรี การฟ้อนรำ อาหาร ฯลฯ
เจ้านายชาวยองได้สร้างวัดหัวขัวเพื่อเป็นศูนย์รวมชาวยองทั้งด้านการศึกษา และศรัทธา โดยได้อัญเชิญ เทวบุตรหลวงหรือเตวบุตรโหลง (คล้ายเทพอารักษ์หรือเสื้อบ้าน) แต่เดิมสถิตอยู่ที่ฐานพระธาตุจอมยอง วัดหัวข่วงราชฐาน เมืองยองประเทศพม่า มาไว้ที่วัดแห่งนี้เพื่อคอยติดตามคุ้มครองชาวยองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
เทวบุตรหลวงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไร้รูปเคารพซึ่งชาวบ้านได้ทำหอเทวบุตรไว้เป็นตัวแทน แต่ด้วยความเชื่อสมัยใหม่ทำให้ชาวยองกลุ่มหนึ่งในจังหวัดลำพูนมีความพยายามที่จะสร้างรูปลักษณะให้กับเทวบุตรหลวง เพื่อเป็นดังรูปเคารพ(คล้ายจตุคามรามเทพ)และเป็นดังสิ่งสมมติเพื่อใช้สำหรับสักการะบูชาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวยอง ซึ่งความคิดนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ปัจจุบันจึงอยู่ในระหว่างดำเนินระดมความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อหาบทสรุปเป็นลำดับต่อไป
นอกจากศาลเทวบุตรหลวงแล้ว ศูนย์รวมจิตใจของชาวยองในอำเภอป่าซางอีกแห่งคือ ที่วัดฉางข้าวน้อยเหนือ เพราะเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุซึ่งจำลองรูปแบบมาจากเจดีย์พระมหาธาตุจอมยอง วัดหัวข่วงราชฐาน และมีจารึกไม้สัก ซึ่งกล่าวถึงการร่วมทำบุญอุทิศถวายวัตถุสิ่งของของกลุ่มชาวยองแก่พระสงฆ์และวัดอีกด้วย
อัตลักษณ์ชาวยอง
ชาวยองเมืองลำพูน ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองชาวสยาม (ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5) การปรับตัวของชาวยองในแผ่นดินสยาม ในด้านสังคมและวัฒนธรรม กลุ่มชาวยองยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้อย่างยาวนาน อาทิ บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ภาษาพูด "ภาษายอง" ซึ่งเป็นภาษาพูดที่สามารถสื่อสารกันอย่างเข้าใจระหว่างชาวยองสิบสองปันนากับชาวยองลำพูน รวมทั้งการโฮมกลองหลวง การอุทิศบูชาพระธาตุ และประเพณีสลากสลากย้อม ล้วนคืออัตลักษณ์พิเศษของคนยอง
ชาวยองจัดว่าเป็นช่างฝีมือที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไม้แกะสลักอย่างดียิ่ง จากรูปแบบเฮือนบ่าเก่าชาวยองที่ยังหลงเหลือในลำพูน อายุราว 80-100 ปี กว่าร้อยหลัง แสดงให้เห็นฝีมือทางช่างที่ดีเยี่ยม เอกลักษณ์บ้านยองคือ จะนิยมสร้างบ้านไม้ ใต้ถุนโล่ง หลังคาจะไม่มีกาแล แต่จะมีรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ชาวยองเคารพนับถือประดับอยู่แทน สำหรับบ้านยองที่ถือว่าขึ้นชื่อและคลาสสิคที่สุดในลำพูนก็คือ "บ้านมะกอก" หรือ "บ้านยองโบราณ" ของคุณป้าบัวลา ใจจิตร แห่ง อ.ป่าซาง ที่ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของอำเภอแห่งนี้
ด้านพุทธสถาปัตยกรรม แบ่งออกเป็นเจดีย์ นิยมก่อสร้างเจดีย์ทั้งแบบทรงปราสาท และทรงระฆัง ที่สืบทอดมาจากยุคล้านนา บางชิ้นมีการผสมผสานสกุลช่างล้านนาเข้ากับเจดีย์ทรงมอญ-พม่า อาทิ เจดีย์วัดพระคงฤษี เจดีย์วัดมหาวัน เจดีย์วักศรีเมืองยู้ เป็นต้น วิหาร ส่วนใหญ่ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จด้านหน้า 1-3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ ใช้กระเบื้องดินขอปลายตัดมุงหลังคา หอไตรหรือหอธรรม มีทั้งก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ตั้งอยู่กลางสระน้ำและแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ หอไตรหลังงาม อาทิ หอไตรสันกำแพง หอไตรวัดหมูเปิ้ง เป็นต้น
เยี่ยมเยือนถิ่นชาวยองลำพูน
ชุมชนบ้านเวียงยอง เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไตลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง และยังคงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของผู้คนที่นี่ก็มีความสำคัญไม่น้อย ยิ่งโดยเฉพาะในท่ามกลางสังคมเมืองที่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านเวียงยองยังคงอนุรักษ์รักษาศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาวเมืองยองเอาไว้
เห็นได้จากเมืองเข้าไปในวัดต้นแก้ว จะมีกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองของผู้สูงอายุ ซึ่งได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 โดยคนทอผ้าเป็นช่างทออยู่เคยทอผ้าอยู่คุ้มเจ้าหลวงลำพูน นอกจากนั้นผู้สูงอายุบางคนยังเคยทำงานอยู่ในโรงทอผ้าของแม่คำแว่น ไชยถวิล ซึ่งเป็นโรงทอผ้าเก่าแก่ที่สุดของเมืองลำพูน ปัจจุบันทางกลุ่มทอผ้าผู้สูงอายุวัดต้นแก้วได้มีการทอผ้ายกเชิง ผ้าไหมแกมฝ้ายลายดอกพิกุล หรือดอกแก้วอันเป็นที่มาของชื่อวัดคือ วัดต้นแก้ว ซึ่งถือเป็นลายผ้าเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำพูน
นอกจากนั้นในบริเวณวัดยังมีการจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง ก่อตั้งโดยพระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้วเมื่อปี พ.ศ.2530 พระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่า เริ่มต้น ซึ่งได้มีการเก็บสะสมของโบราณของชาวยอง จำพวกเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ คุตีข้าว ล้อเกวียน เมื่อมีสิ่งของมากขึ้นก็จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ เล็ก ๆ ภายในวัด และเมื่อญาติโยมเดินทางมาทำบุญที่วัดเห็นเข้าบางคนก็นำสิ่งของเก่า ๆ มาบริจาคมากขึ้นเรื่อย ๆ
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยองวัดต้นแก้ว แต่เดิมนั้นใช้พื้นที่ของกุฏิเก่าทำเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมของเก่าโบราณหายาก ทั้งภาพโบราณเมืองลำพูน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน พระเครื่อง พัดยศ รวมไปถึงผ้าทอโบราณ จนกระทั่งปี พ.ศ.2545 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยองขึ้นในบริเวณวัดต้นแก้ว เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ จึงได้ย้ายข้าวของเครื่องใช้มาไว้ในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ปัจจุบัน
ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยองวัดต้นแก้ว เก็บรวบรวมของโบราณหาชมยากกว่า 1,000 ชิ้น เช่น หีบพระธรรม พระเครื่องเก่าแก่ของลำพูน ถ้วยชาม วิทยุโทรทัศน์เก่า ภาพโบราณ เอกสารหนังสือเก่า รวมถึงผ้าทอโบราณของชาวเวียงยอง ที่ขึ้นชื่อได้แก่ ผ้าซิ่นอายุ 106 ปี ของเจ้าแม่ฟองคำ ณ ลำพูน และผ้าซิ่นของแม่บัวเขียว นับได้ว่าเป็นสถานที่ที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของอดีตกาลแห่งชาติพันธุ์ชาวยองที่ถือว่าทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง