...จากไม้เป๋นเหล้ม ตัดผ่าแหลมเหลา มีดขูดเบาๆ เป๋นเส้นเป็นสร้อย เอาสีมาย้อมเอาของมัดห้อย ใส่พุ่ยเป๋นพวง หยาดย้อย...
“กะโลง”ท่อนแรกของชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งเล่าถึงกระบวนการทำต้นสลากย้อม ที่พวกเขาบรรจงสรรสร้างขึ้นมาอย่างตั้งอกตั้งใจ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย ในงานประเพณี“สลากภัต สลากย้อม” อันเก่าแก่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูน ที่ปีนี้เริ่มต้นจัดขึ้นในวันที่ 11-12 ก.ย. ที่ผ่านมา
สลากภัต
ประเพณี“สลากภัต” เป็นการถวายทานโดยไม่เจาะจงผู้รับ เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลและยังปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
กำเนิดของประเพณีสลากภัตมีตำนานเล่าขานว่า
...ในสมัยพุทธกาลมีนางยักษิณีตนหนึ่ง มีนิสัยชอบเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ แต่ครั้นหลังจากได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยักษ์ตนนี้บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงเปลี่ยนนิสัยมาเป็นยักษ์ผู้โอบอ้อมอารีคอยช่วยเอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น เป็นที่ซาบซึ้งใจแก่ผู้คนทั่วไป พวกเขาจึงนำสิ่งของมาแบ่งปันให้กับนางยักษ์ตนนี้อย่างมากมาย จนนางยักษ์ต้องนำสิ่งของเหล่านั้นมาถวายให้แก่พระภิกษุ-สามเณรอีกทีหนึ่ง ด้วยการทำเป็นสลากให้จับ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เนื่องจากข้าวของที่นางยักษ์ได้มาที่มูลค่าสูง-ต่ำ แตกต่างหลากหลายกันออกไป...จนกลายเป็นความเชื่อที่ทำเกิดประเพณีสลากภัตในกาลต่อมา
ประเพณีสลากภัต หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” หรือมีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันไป อาทิ กิ๋นก๋วยสลาก กิ๋นสลาก ตานสลาก ตานข้าวสลาก ประเพณีนี้นิยมปฏิบัติกันในช่วงเดือน 12 เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมตามเดือนสากลของทุกปี
โดย 1 วัน ก่อนงานพิธีสลากภัตจะเป็น“วันดา” หรือ “วันสุกดิบ” ชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวของต่างๆทั้งของกินของใช้มาสำหรับจัดใส่ในก๋วยสลาก
ครั้นพอถึงวันงานสลากภัต จะมีการนำ“ก๋วย” ที่หมายถึง “ตะกร้า” หรือ “ชะลอม” ใส่ข้าวของต่างๆมาทำทานถวาย ร่วมด้วย สลากอื่นๆ เช่น สลากวัว สลากควาย สลากเทวดา รวมไปถึง “สลากโชค” ที่เป็นการนำเงินและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ เช่น เสื้อผ้า หมอน เสื่อ บุหรี่ เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้งต่างๆ ฯลฯ มาผูกมัดติดกับต้นสลากขนาดย่อมที่มีการตกแต่งอย่างสวยงาม สูงราว 5-6 เมตร
นอกจากก๋วยและสลากต่างๆแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในประเพณีนี้ก็คือ “เส้นสลาก”จะต้องมีการเขียนเส้นสลากอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หรือถวายแก่เทวดา เทวบุตร เจ้ากรรมนายเวร สรรพสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งในอดีตจะเขียนลงบนใบลาน ส่วนปัจจุบันจะเขียนลงในกระดาษที่มีทั้งนำมาเอง หรือกระดาษที่ทางวัดจัดไว้ให้ โดยบางคนจะมีการห่อด้วยม้วนใบตองอีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะนำไปถวายรวมกันในวิหารหน้าพระประธานที่รวมแล้วมีมากมายนับหมื่นๆเส้น
เส้นสลากเหล่านี้จะถูกนำมาจัดสรรปันส่วนกันในหมู่พระภิกษุ-สามเณรมากกว่า 2,000 รูป ที่นิมนต์มาจากวัดต่างๆทั่วทั้งจังหวัดลำพูนกว่า 450 วัด จากนั้นพอใกล้จะถึงเวลาเพลจะมีการเปิดอ่านเส้นสลาก แล้วพระ-เณรจะเรียกขานชื่อเดินหาเจ้าของเพื่อให้ศีลให้พร ถือเป็นอันเสร็จพิธี
สลากย้อม
สำหรับที่จังหวัดลำพูนงานสลากภัตประจำจังหวัดของที่นี่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ได้มีการนำประเพณี“สลากย้อม”ที่เริ่มสูญหายมาผนวกรวม เป็นประเพณี“สลากภัตและสลากย้อม”ที่ดำเนินการจัดควบคู่กันไป
ประเพณีนี้นอกจากเป็นการถวายทานตามคติความเชื่อของงานสลากภัตแล้ว ยังเป็นการรวมต้นสลากย้อมจากหลากหลายชุมชนมาถวายและจัดงานที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูนก่อนเป็นลำดับแรกของทุกๆปี(นับตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา) หลังจากนั้นจึงจะมีการจัดงานของสลากวัดอื่นๆเรื่อยไปตามการตกลงกันในแต่ละปีว่าวัดใดจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 (เดือนเกี๋ยงเหนือ แรม 14 ค่ำ หรือ เดือนเกี๋ยงดับ)
สลากย้อม เป็นประเพณีที่มีพื้นเพมาจาก“ชาวยอง”(กลุ่มชาติพันธุ์ลื้อจากสิบสองปันนา ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่เมืองยองในพม่า และย้ายมาตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดลำพูนอีกทีหนึ่งเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันมีชาวยองอาศัยอยู่ในลำพูนกว่า 80%)
เดิมสลากย้อมเป็นการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว บางพื้นที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องมีอายุ 20 ปีเท่านั้น ขณะที่บางพื้นที่ไม่จำเป็น ขอให้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับอายุ 20 ปี (บวกลบ 2-3 ปี) แต่สิ่งที่เชื่อเหมือนกันก็คือ ต้องเป็นหญิงสาวที่ไม่แต่งงาน โดยเชื่อว่าการถวายสลากย้อมของหญิงสาวจะได้รับอานิสงส์ผลบุญอย่างสูงยิ่งเทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย
สลากย้อมมีของถวายทานสำคัญอยู่ที่ต้นสลากย้อมซึ่งทำเป็นต้นสูงใหญ่ เกิน 8 เมตรขึ้นไป ต้นสลากย้อม มีองค์ประกอบหลักๆ คือ
-“ก้างสลาก” หรือลำต้น ซึ่งเดิมทำจากไม้ไผ่สีสุกลำต้นใหญ่ เหยียดตรง สูงยาว ส่วนปัจจุบันอาจมีปรับเปลี่ยนมาทำด้วยเสาเหล็กหรือท่อพีวีซีแทน ลำต้นสลากย้อมจะหุ้มด้วยฟางอีกที เพื่อใช้สำหรับปักไม้แขวนของถวายทาน และวัสดุสำหรับการตกแต่งเพื่อความสวยงาม
-“ก้างฐาน” เป็นส่วนฐาน เดิมเป็นฐานโครงสร้างไม้ไผ่ มีการเจาะเข้าสลักปิดบังด้วยผ้าสี ปัจจุบันหันมาเป็นฐานโครงสร้างเหล็กหรือฐานไม้จริง กรุไม้อัด เพื่อความแข็งแรงและมีการประกับตกแต่งฐานอย่างสวยงาม
-“ไม้เฮียว”(ไม้เฮวหรือไม้เรียว) เป็นไม้ไผ่เหลาจนเล็กเรียวปักไปบนก้างสลาก มีไว้สำหรับแขวนเครื่องถวายทานต่างๆ ที่ปลายยอดไม้เฮียวขูดเป็นเส้นฝอยทำคล้ายดอกไม้ และนิยมย้อมสีตรงส่วนเส้นดอกฝอยนี้เพื่อความสวยงาม ทำให้หลายๆคนเชื่อว่าชื่อ“สลากย้อม”น่าจะมาจาก กระบวนในส่วนนี้นี่เอง
-“จ้อง”หรือร่ม ทำประดับตรงส่วนยอด โดยจะมีการทำ “ขะจา” ที่ดั้งเดิมเป็นเหรียญถักขอบด้วยเข้าเปลือกห้อยประดับไว้ ส่วนปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนวัสดุไปตามยุคสมัย
นอกจากส่วนประกอบหลักแล้ว ต้นสลากย้อมในปัจจุบันยังมีกระดาษแก้วหลากสีสันเป็นสิ่งประดับตกแต่งสำคัญ และมีของถวายทานสารพัดสารพัน รวมไปถึงทุกต้นจะต้องมี “กำฮ่ำ” หรือ “กะโลง”(ครรโลง) ประจำต้นสลากของตน
กะโลง เป็นโคลงกลอนของชาวล้านนา เดิมเขียนเล่าประวัติของหญิงสาวเจ้าของต้นสลาก และรายละเอียดกระบวนการทำสลากย้อม ปัจจุบันมีการเพิ่มเติมในส่วนการเขียนเพื่ออุทิศให้ผู้ล่วงลับ เขียนคติธรรมคำสอน รวมถึงมีบทตลกขบขันสอดแทรกเข้าไปสร้างสีสัน ยามที่นำกะโลงไปขับประกวดประชันกัน
ความที่ต้นสลากย้อมมีความสูงใหญ่ มากไปด้วยข้าวของถวายทานและสิ่งของตกแต่ง ในอดีตหญิงสาวผู้เป็นเจ้าของต้นสลากจำเป็นต้องเก็บหอมรอมริบทรัพย์จำนวนหนึ่งมาทำ และ ต้องใช้เวลาทำนานร่วม 3-4 เดือน โดยในส่วนที่เป็นแรงงานหนักอย่างงานตัดไม้ ทำโครงสร้าง ปีนขึ้นไปทำยอด ก็จะได้ชายหนุ่มในชุมชนมาช่วย ซึ่งเดิมบ้านไหนมีฐานะดีก็มีเกณฑ์คนมาช่วยได้เยอะ หรือไม่บ้านไหนที่หญิงสาวเจ้าของต้นสลากเป็นคนสวย คนน่ารัก ก็จะมีชายหนุ่มมาช่วยทำต้นสลากเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เป็นที่เข้าตาของสาวเจ้าของต้นสลาก
ดังนั้นการทำสลากย้อมของหญิงสาวในสมัยโบราณ จึงเป็นกุศโลบายให้หญิงสาว รู้จักมัธยัสถ์ เก็บหอมรอมริบ รู้จักทำงานการฝีมือ เย็บปักถักร้อย รวมไปถึงการเป็นแม่บ้านแม่ศรีเรือนที่ดี
สำหรับการทำต้นสลากย้อม จากเดิมที่เป็นการทำเฉพาะส่วนบุคคลสำหรับหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แต่ว่าต่อมาในภายหลัง(ถึงปัจจุบัน) การทำสลากย้อมได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำสำหรับชุมชน หรือสำหรับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เพื่อถวายอุทิศให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ หรือทำเพื่อถวายให้กับตัวเองในภพหน้า อีกทั้งยังเป็นการทำทานเพื่อถวายให้กับคนยากคนจนอีกด้วย แต่ก็ยังมีบ้างที่นานๆทีจะมีหญิงสาวบางคนมาทำต้นสลากย้อมถวายตามคติความเชื่อแบบดั้งเดิม
ทั้งนี้นอกจากการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว สิ่งดีๆที่ชาวบ้านและชุมชนจะได้รับจากการทำสลากย้อมนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ได้แก่ความกตัญญูต่อการทำบุญให้กับผู้ล่วงลับ การสืบสานงานศิลปวัฒนธรรม การได้เรียนรู้สานต่อภูมิปัญญาระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า และที่สำคัญก็คือการสร้างสัมพันธ์ความสามัคคีของชาวชุมชน
อย่างไรก็ดีในความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้วิถีของต้นสลากย้อมจำนวนมากในปัจจุบันมีการเปลี่ยนไปตาม ยิ่งมีการประกวดประชันต้นสลากเพิ่มเข้ามาในภายหลัง ก็ยิ่งทำให้ต้นสลากย้อมดูมีความหลากหลาย มีสีสันมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งต้นสลากที่สวยงามดูดีอุดมไปด้วยภูมิปัญญา และต้นสลากที่ดูขัดตากับข้าวของเครื่องประดับที่จับมายัดใส่กันแบบมากเกินไปจนเกินงาม
เรื่องนี้ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่และผู้หลักผู้ใหญ่ รวมไปถึงผู้เห็นในคุณค่าของประเพณีอันดีงามในจังหวัดลำพูนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ประเพณีสลากย้อมต่อๆไปอาจจะเปลี่ยนเพี้ยนไปกลายเป็นการจัดงานเพื่อเน้นเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว หรือเพื่อการประกวดแข่งขันที่มุ่งเน้นเรื่องความสูงใหญ่ที่สุด ความแปลกประหลาด โดยหลงลืมละเลยแก่นธรรมดั้งเดิมของประเพณีอันดีงามนี้ไป