xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นนิคมฯลำพูนหยุดลงทุน วิตกหนักขึ้นค่าแรง 300 จ่อย้ายฐานผลิตหากมีผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่- คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา จัดเวทีเสวนา ทิศทางการจัดการแรงงานในภาคเหนือกับนโยบายแรงงานและการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” รมว.แรงงาน ประกาศเดินหน้าเต็มที่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตามที่หาเสียง แต่จะทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนให้เป็นที่พอใจทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง ด้านประธานหอการค้าเชียงใหม่ ชี้ ขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ฝืนหลักกลไกตลาดส่งผลกระทบหนัก ระบุ นักลงทุนต่างชาติหวั่นวิตก จนหยุดการลงทุน พร้อมเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่ค่าจ้างต่ำทันที ขณะเดียวกัน พบผู้ประกอบการบางรายเริ่มวางแผนลดการจ้างงานแล้วหากต้องขึ้นค่าจ้างแรงงาน

วันนี้ (9 ก.ย.) คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา และสำนักงานแรงงานจังหวัดลำพูน ร่วมกันจัดการเสวนาเรื่อง “ทิศทางการจัดการแรงงานในภาคเหนือกับนโยบายแรงงานและการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” โดยมี พลเอก ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานเปิดการเสวนา และมี นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมชี้แจงนำเสนอนโยบายด้านแรงงานให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้กว่า 100 คน ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่

ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การจัดการเสวนาในครั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานปัจจุบันที่นิยมแรงงานไร้ฝีมือของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ และผู้ประกอบการ SMEs สาขาอื่นในภาคเหนือ รวมทั้งเสนอแนวทางการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน เป็นการเตรียมความพร้อมรับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นกรณีศึกษาปัญหาแรงงานขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรม และเพื่อศึกษาการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคเหนือ

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างแน่นอน เพราะเป็นนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในช่วงการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการดำเนินการตามนโยบายนี้คงจะต้องดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้น โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายแรงงานและผู้ประกอบการ ซึ่งการดำเนินนโยบายนี้นอกจากแรงงานจะได้ประโยชน์แล้ว ยังจะต้องทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์อย่างสมเหตุสมผลด้วยเช่นกัน เช่น อาจจะต้องมีการกำหนดสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดให้ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้จะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปก่อนที่จะดำเนินการ แต่ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40%พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศไปก่อน เริ่มตั้งแต่ ม.ค.55 เป็นต้นไป ซึ่งเห็นว่าน่าจะมีความเหมาะสมดีแล้ว

ด้าน นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า ไม่ต่อต้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ อย่างไรก็ตามเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ จะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมาก เพราะเป็นการดำเนินการที่ฝืนหลักกลไกตลาด โดยมองว่าการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะใช้กลไกไตรภาคีที่มีอยู่แล้วในแต่ละจังหวัดให้เป็นผู้พิจารณากำหนดตามความเหมาะสมสำหรับในแต่ละจังหวัดมากกว่าที่จะใช้กฎหมายมาเป็นตัวกำหนด

นอกจากนี้ ระบุว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในภาคเหนือเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ต้องการใช้แรงงานที่มีทักษะฝีมือสูงอยู่แล้ว แต่ต้องการใช้แรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นค่าจ้างแรงงานจะส่งผลกระทบอย่างหนักทันทีต่ออุตสาหกรรมที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเวลานี้พบว่ากลุ่มนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ต่างพากันหยุดการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์และการดำเนินนโยบายในเรื่องของการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งหากมีกำหนดบังคับให้ต้องเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน เชื่อว่า กลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศคงจะย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศไทยไปลงทุนในประเทศอื่นที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าอย่างแน่นอน

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกอย่างหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวที่ค่าจ้างต่ำกว่า และมีความขยันมากกว่า ซึ่งมองว่าในช่วง 3-5 ปีนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันระบุว่าการจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% พร้อมกันทั่วประเทศที่จะมีการนำมาใช้ตั้งแต่ ม.ค.55 เป็นต้นไป เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความหวั่นวิตกเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จนหลายรายเริ่มคิดถึงการต้องปรับลดการจ้างงานลงแล้วเพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุน

ดังนั้น จึงไม่อยากให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการในการขึ้นค่าจ้างมากจนเกินไป แต่น่าจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการมากกว่า เพราะหากผู้ประกอบการแข่งขันได้ดีมีรายได้เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น