xs
xsm
sm
md
lg

“ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม” มากหลายวัฒนธรรม ผูกพันพุทธศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
"ลำพูน" จังหวัดเล็กๆอันสงบงามที่แม้จะถูกมองเป็นเมืองผ่านในสายตาของคนส่วนใหญ่ แต่จังหวัดเล็กๆแห่งนี้ กลับมีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแผ่นดินล้านนามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ครั้งอดีตในฐานะดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากว่า 600 ปี จึงทำให้ลำพูนมีศาสนสถาน วัดวาอารามจำนวนมาก รวมถึงมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่น่าสนใจ ชวนให้เดินทางมาศึกษาและเที่ยวชมกัน

โดยหนึ่งในสถานที่ที่น่าสนใจ ชวนให้เดินทางไปเที่ยวเพื่อรับรู้ได้ถึงเรื่องราวของวีถีชีวิตของผู้คนที่มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก นั่นก็คือที่ "ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม" ตั้งอยู่ที่ ต.นาทราย อ.ลี้
น้องแมงปอ ชาวปกาเกอะญอเป็นมัคคุเทศก์
ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม เป็นชุมชนที่มีชาวปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ โดยเมื่อปีพ.ศ. 2514 ชาวปกาเกอะญอได้อพยพมาจากแม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก พากันอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ใกล้วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จำนวน 13 ครอบครัว ซึ่งการอพยพในครั้งนี้ทุกคนมีความตั้งใจที่อยากจะมาอยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา(ครูบาวงศ์) เพื่อจะได้ทำบุญถือศีลปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ และหลังจากนั้นเป็นต้นมาชาวปกาเกอะญอก็ได้อพยพเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มาจากตาก เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

ถึงแม้ว่าหลวงปู่ครูบาวงศ์จะมรณภาพไปแล้ว แต่ว่าทุกวันนี้ชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้มทุกคนก็ยังนับถือและยึดถือปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามที่หลวงปู่ฯ สั่งสอนไว้เสมอ จึงทำให้ที่นี่ยังคงเป็นชุมชนแห่งพระพุทธศาสนาที่ถ้ามาเที่ยวแล้วได้จะได้ซึมซับความงดงามของวิถีชิวิตชาวปกาเกอะญอที่มีต่อพระพุทธศาสนาผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญๆ มากมายภายในชุมชน ซึ่งหากมาเที่ยวแล้วทางชุมชนพระบาทห้วยต้มก็จะมีมัคคุเทศก์น้อยเป็นผู้พาเที่ยวชุมชนได้เป็นอย่างดี
การแต่งกายของชาวปกาเกอะญอ
“น้องแมงปอ : จารวี คงคารื่นฤดี” ชาวปกาเกอะญอเป็นหนึ่งในมัคคุเทศก์น้อยที่จะคอยพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้มตามสถานที่ต่างๆ และพร้อมจะให้ข้อมูลได้อย่างดีเยี่ยม เธอได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชาวปกาเกอะญให้รู้ว่า ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้มมีชาวปกาเกอะญออยู่ 2 เผ่า คือ“ปกาเกอะญอโป”ที่ย้ายมาจากแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และ“ปกาเกอะญอสะกอ”ที่ย้ายมาจากตาก แต่ว่าที่ชุมชนนี้จะมีปกาเกอะญอโปมากกว่า

ชาวปกาเกอะญอที่นี่มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น อย่างเช่น การแต่งกายจะมีชุดพื้นบ้านปกาเกอะญอ เป็นชุดผ้าทอที่ทอด้วยกี่เอว และทอเป็นชุดยาวมีลวดลายที่สวยงามตามความถนัด แล้วตกแต่งด้วยพู่ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นชุดสำหรับคนที่แต่งงานแล้วก็จะใส่ชุดแบบเป็นเสื้อครึ่งท่อนแล้วมีผ้าถุง ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะใส่กางเกงและใส่เสื้อสีแดงครึ่งท่อน
มณฑปพระเจ้าเก้าตื้อ
"คนที่นี่ทั้งชุมชนส่วนใหญ่จะกินมังสวิรัติกัน เพราะว่าหลวงปู่บอกว่าถ้าเราเบียดเบียนสัตว์อีก สัตว์ก็จะมาเบียดเบียนเราอีก โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมาอีก ถ้าเรากินมังสวิรัติเราก็ไม่ได้เบียดเบียนใครก็เลยกินกันมาจนถึงทุกวันนี้ และประเพณีของทางหมู่บ้านก็มีหลายประเพณี แต่ประเพณีที่เด่นคือการเปลี่ยนผ้าครูบา เป็นงานใหญ่ทำที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ค. ของทุกปี แล้วก็มีพิธีทรงน้ำรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มทำในช่วงวันสงกรานต์" น้องแมงปอ พูดถึงวัฒนธรรมและประเพณีของชาวปกาเกอะญอให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ
พระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อจำลองประดิษฐานอยู่ในมณฑป
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่งที่ตั้งอยู่ภายในชุมชนพระบาทห้วยต้ม สถานที่แรกคือ “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สีเหลืองทองงามอร่ามตั้งโดดเด่นเห็นได้แต่ไกล และเป็นเจดีย์ที่ชาวปกาเกอะญอให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง

"พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยแห่งนี้ หลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างขึ้น เพราะว่าเมื่อก่อนที่ตรงนี้มีการขุดค้นพบมูลและเขาของพระโคอุศุภราชก็คือเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าซึ่งกลายสภาพเป็นหิน ท่านก็เลยอธิษฐานสร้างครอบมูลและเขาของพระโคไว้ และจำลองรูปแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองที่ประเทศพม่า" น้องแมงปอ อธิบาย
วิหารพระเมืองแก้วที่เก็บพระสรีระหลวงปู่ครูบาวงศ์
หากได้เข้ามายังพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยจะได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความศรัทธาของชาวปกาเกอะญอที่มีต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก พวกเขาจะถอดรองเท้าตั้งแต่หน้าประตูวัดแล้วเดินเท้าเปล่ามาถึงยังองค์เจดีย์ที่อยู่ด้านใน เพราะชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อว่าการที่เดินติดเอาทราย เอาอะไรจากวัดออกไปเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นบาป และพวกเขาก็จะมาทำบุญกันทุกวันพระ ตอนเช้ามีการใส่บาตร ตอนเย็นสวดมนต์ภาวนาและเวียนเทียน ถ้าเป็นวันธรรมดาตอนเช้าก็จะใส่บาตรและตอนเย็นก็สวดมนต์ภาวนา แต่ไม่มีการเวียนเทียน และนอกจากที่เจดีย์แล้วที่วัดก็ยังมีการใส่บาตรเวียนเทียน แล้วแต่ว่าใครใกล้ที่ไหนก็ไปที่นั่น

ที่มาของชื่อพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เป็นผู้ประทานนามให้ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2538 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2548 สร้างด้วยศิลาแรงทั้งองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 275 ล้านบาท มีพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่เป็นองค์ประธานอยู่ตรงกลาง มีความสูงจากพื้นถึงบัวยอดฉัตร 71 เมตร มีฐานกว้าง 1 ไร่ บนยอดฉัตรของเจดีย์ทำด้วยทองคำหนัก 25 กิโลกรัม เป็นพระเจดีย์ประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมีย และมีพระเจดีย์องค์เล็กอยู่เป็นบริวารล้อมรอบรวม 48 องค์ โดยแบ่งพระเจดีย์องค์เล็ก 10 องค์แรกเป็นเจดีย์ประจำปีเกิด 10 ปีนักษัตร พระเจดีย์องค์เล็ก 28 องค์ หมายถึงพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ที่ล่วงมาแล้ว และมีเจดีย์องค์เล็กที่เหลือ 10 องค์ หมายถึงพระพุทธเจ้า 10 องค์ ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต
รอยพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
ภายในเจดีย์นอกจากจะบรรจุเขาและมูลของพระโค ยังบรรจุพระพุทธรูปที่มีขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว จำนวน 84,000 องค์เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ และรอบในกำแพงบรรจุพระพุทธรูปประจำวันเกิดของแต่ละวัน รอบนอกกำแพงมีรูปปั้นเกจิอาจารย์ทั่วทุกสารทิศ และมีดอกบัว 16 ดอกที่แต่ละดอกบรรจุพระพุทธรูปจำนวน 49 องค์ ส่วนด้านนอกมีระฆังให้ตีซึ่งมีความเชื่อว่าถ้าไปตีแล้วมีเสียงไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถ้าเกิดมาชาติหนึ่งภพใดก็จะมีเสียงที่ไพเราะน่าหลงใหล

จากนั้นมาชมสถานที่อีกแห่งที่มีความสำคัญและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านปกาเกอะญอ นั่นคือ ใจบ้าน หรือสะดือเมือง หลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างขึ้นเพื่อ เป็นจุดศูนย์กลางเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนในชุมชนฯ ด้านในเป็นเจดีย์บรรจุก้อนหินที่ได้มาจากแม่น้ำสายหลักๆ มาบรรจุไว้ และจะมีการประกอบพิธีทำบุญสืบชะตาให้กับชุมชนฯ ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
ใจบ้านเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชุมชนพระพุทธบาทห้วยต้มก็คือ “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” วัดที่ใหญ่ที่สุดของอ.ลี้ และเป็นวัดประจำชุมชนของชาวปกาเกอะญอ ภายในวัดมีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง ภายในวัดมีศาสนสถานที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมณฑปพระเจ้าเก้าตื้อ ที่หลวงปู่ครูบาวงศ์สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีลักษณะเป็นโดมมีหลังคา ภายในปิดกระจกเงารอบ ประดิษฐานพระพุทธรูปทองเหลืองปางมารวิชัยจำลองมาจากเจ้าเก้าตื้อวัดสวนดอก จ.เชียงใหม่

มีวิหารครอบรอยพระพุทธบาทห้วยต้ม ที่ภายในบรรจุรอยพระพุทธบาท เมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา ณ ที่นี้หลวงปู่ครูบาวงศ์ได้สร้างรอยพระบาทจำลองครอบของจริงไว้ มีพระประธาน ภปร. ภายในวิหาร มีวิหารพระเมืองแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระสรีระของหลวงปู่ครูบาวงศ์และจะมีประเพณีแห่พระสรีระของหลวงปู่ฯ ทุกวันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี
การสาธิตการทอผ้า
อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ภายในมีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ และเครื่องอัฎฐบริขารทั้งหลาย มีมณฑปพระเขี้ยวแก้ว ภายในบรรจุพระธาตุเขี้ยวแก้ว พระแก้ว ตาและพระธาตุข้อพระหัตถ์ มีหอพระไตรปิฎกภายในบรรจุพระไตรปิฎกฉบับโบราณ มีพระอุโบสถงดงามศิลปะล้านนา และมีบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์

แต่ใช่ว่าสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนฯจะมีแต่ศาสนสถานเท่านั้น เพราะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอให้ได้ชมกันอีก อาทิ ศูนย์วิจัยหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นศูนย์รวมสินค้าของคนในชุมชน มีการสาธิตการทอผ้า เครื่องจักรสาน ผ้าทอมือ และเครื่องเงินจำหน่าย มีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และไปดูความเป็นอยู่ของชาวปกาเกอะญอที่บ้านโบราณกะเหรี่ยงน้ำบ่อน้อย

เรียกได้ว่าหากได้เดินทางมาเยือนยัง “ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม” แล้วจะได้ซาบซึ้งไปกับวีถีชีวิต และวัฒนธรรมอันหลากหลายของชาวปกาเกอะญอที่มีความผูกพันต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายกย่องเป็นอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น