ลำพูน - พาณิชย์ 17 จังหวัดภาคเหนือ ปฏิวัติวงการผ้าทอมือ รุกตลาดแฟชั่นโลกครั้งใหญ่ ปลุกกระแสฟื้นความเป็นธรรมชาติและขายเรื่องราวผ่านผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ที่มีอัตลักษณ์ความหลากหลายของภาคเหนือกำหนดแนวโน้มตลาดด้วยการกระตุ้นผู้ประกอบการและผู้บริโภคหันมาผลิตและใช้เสื้อผ้าแนว Organic ใน Theme “Function to Emotion” และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นที่นิยมขึ้นมาในอนาคตและจะกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นฟื้นตัว
นายเมธี บัวพึ่ง พาณิชย์จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สำนักงานพาณิชย์ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ดำเนินโครงการสร้างเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาด อัตลักษณ์ภูมิปัญญาผ้าทอมือไทย และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอันเป็นโครงการภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในช่วงเดือนกันยายน 2554
พบว่า ประเด็นสำคัญและกลยุทธ์ที่จะต้องนำไปใช้ คือ จะต้องเร่งการปลุกกระแสให้ผ้าทอมือของภาคเหนือสู่ตลาดแฟชั่นของโลก และปรับพฤติกรรมการสวมใส่เสื้อผ้าให้ได้ โดยต้องเป็นผู้นำแนวโน้ม (Trend Setter) โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการใช้และผลิตเสื้อผ้าแนว Organic พร้อมกับมีเรื่องราวผนวกเข้าด้วยกัน ในTheme “Function toEmotion” ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นกระแสที่เป็นที่นิยมขึ้นมาในอนาคต เพราะจะเน้นเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยอันจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ฟื้นตัวและหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ พร้อมกัน
ทั้งนี้ กิจกรรมที่ทางสำนักงานพาณิชย์ได้ดำเนินงานมา ที่สำคัญยังได้เป็นการสร้างกระแสด้านผ้าทอขึ้นมา ได้แก่ การเสวนาเรื่อง “เส้นทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน และอนาคตผ้าทอมือและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของภาคเหนือ” การแสดงแฟชั่นโชว์ชุด “อัตลักษณ์อาภรณ์ 17 นคร อุดรแดนไทย” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในเชิงการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ว่าในยุคปัจจุบันผ้าไทยมีพัฒนาการสามารถปรับเข้ากับกระแสแฟชั่นโลกโดยเฉพาะที่ผลิตจากผ้าทอมือไทยสามารถที่จะนำมาผสมผสานกับเนื้อผ้าสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะการให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคตลาดบริโภคที่เป็นธรรมชาติ ในยุค Eco-Generation
พาณิชย์จังหวัดลำพูน กล่าวต่อว่า ผ้าทอมือของจังหวัดภาคเหนือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์การทอเฉพาะตัวที่ถ่ายทอดผ่านประเพณีวัฒนธรรมของกลุ่มอารยธรรมต่างๆ หลากหลาย ทั้งทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หล่อหลอมถักทอออกมาเป็นผืนผ้าที่มีความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าฝ้ายทอมือป่าซาง ผ้าไหมเชียงใหม่ ผ้าฝ้ายตีนจกแม่แจ่มเชียใหม่ ผ้าม่อฮ่อมเมืองแพร่ผ้าฝ้ายลายน้ำไหลเมืองน่าน และยังมีผ้าของจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือ ที่มีเอกลักษณ์/อัตลักษณ์เฉพาะตัว ที่มีความสวยงาม
“ส่วนสำคัญในการดำเนินโครงการต่อไป คือ การมองถึงวิธีการส่งเสริมและสนับสนุนภาคการผลิต พร้อมกับกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องให้เกิด Demand และ Supply ที่สอดคล้องกัน เนื่องจากงานผ้าทอมือเป็นงานฝีมือที่ไม่สามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรมหรือเน้นปริมาณมากได้
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หยุดเฉพาะการแต่งกาย สำนักงานพาณิชย์ 17 จังหวัด ก็มองว่า การเร่งฟื้นฟูการใช้ผ้าทอมือและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ให้กลับมาได้รับความนิยมและแพร่หลายเพิ่มขึ้น จะทำให้เพิ่มสัดส่วนในการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่เกิดจากการผลิต/ประดิษฐ์ในประเทศให้มากขึ้นและลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกได้
นายเมธี กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งที่เป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งรณรงค์ ฟื้นฟูการใช้ผ้าทอมือและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องให้กลับมาได้รับความนิยมและแพร่หลายเพิ่มขึ้น ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนในการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่เกิดจากการผลิต/ประดิษฐ์ในประเทศให้มากขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลายทั้งด้านรูปแบบ การใช้เพื่อมุ่งเน้นไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้โดยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจะเป็นการสร้างจุดขาย และสนับสนุนภาคเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวภาคการค้าได้ด้วย