xs
xsm
sm
md
lg

คารวะปู่ย่าในนิทรรศการสะท้อนวิทย์จากภูมิปัญญาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทอด้วยไหมไทยสีต่างๆ และผ่านการย้อมโดยใช้โทนสีธรรมชาติ
ปรับโฉม “นิทรรศการเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย” ต้อนรับครบรอบ 11 ปี ของการเปิดให้บริการ “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” พบการสาธิตประดิษฐ์ กังหันใบลาน ว่าวไทย ของเล่นภูมิปัญญาไทยตลอดทั้งปี พร้อมเนื้อหาสาระเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทยที่เข้มข้น ทั้งเทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผา โลหะกรรม อีกทั้งโชว์เทคโนโลยีการย้อมสีผ้าจากต้นคราม ผลงานการจัดแสดงชิ้นใหม่ด้วย

ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)  กล่าวว่า ในวันที่ 8 มิ.ย. 54 นี้จะครบรอบ 11 ปี ของการเปิดให้บริการของ “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” ทางอพวช.จึงได้พัฒนาเนื้อหาสาระการจัดแสดง “นิทรรศการเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย”  ที่ได้สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่การพัฒนาประดิษฐ์คิดค้น ตลอดจนการสืบทอดเทคโนโลยีภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยที่มีมาอย่างยาวนานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ดร.พิชัย กล่าวว่า การปรับปรุงนั้นมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ปรับปรุงให้มีเนื้อหาที่เข้มข้น เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เข้าชมมากขึ้น 2.ปรับปรุงชิ้นงานที่ชำรุดให้ทันสมัยมากขึ้น พร้อมเพิ่มชิ้นงานใหม่เข้ามา อาทิ เทคโนโลยีการย้อมสีผ้าจากต้นคราม ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่นิยมใช้สีย้อมผ้าที่ทำมาจากธรรมชาติ เป็นต้น และ 3.การพัฒนากิจกรรมขึ้นมาใหม่ โดยมีการสอนผู้เข้าชมได้เข้ามาร่วมประดิษฐ์ของเล่นไทย อาทิ กังหันใบลาน ว่าวไทย ป๋องแป๋ง จักจั่นเสียงใส ทักทอผ้าไทย เป็นต้น โดยกิจกรรมนั้นจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตลอดทั้งปี

“ผู้เข้าชมนั้นจะได้เรียนรู้ถึงเทคนิควิธีการและกระบวนการสร้างสรรค์งานเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทยพื้นบ้านชนิดต่างๆ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และเผยแพร่ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นหัวใจของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ที่ทำให้นิทรรศการไม่ตาย ทำให้ผู้เข้าชมเกิดปฏิสัมพันธ์กับการชมนิทรรศการได้อีกด้วย” ดร.พิชัยกล่าว

พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เดินสำรวจภายในนิทรรศการ พบว่านิทรรศการได้แบ่งออกเป็น 7 โซนหลัก ได้แก่ โซนเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีราถ ที่ประกอบไปด้วยตู้แสดงผลงานศิลปาชีพอันหลากหลาย ผ้าทอมือพระบรมสาทิศลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ และผ้าทอมือศิลปาชีพ เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังมีในส่วนของเทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผา ที่ได้บอกเล่าถึงกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การเลือกดิน การปั้นขึ้นรูป และการนำเข้าเตาเผา ถัดมาในส่วนเทคโนโลยีโลหะกรรม โซนนี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนรูปโลหะให้เป็นเครื่องประดับ โดยใช้หลักการนำความร้อนเพื่อเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลว ทั้งนี้ยังมีการอธิบายขั้นตอน การตีมีด ภูมิปัญญาของคนไทยในอดีตที่สืบทอดมาจนปัจจุบันด้วย

นอกจากนั้น ยังมีเทคโนโลยีการแกะสลัก เทคโนโลยีเครื่องจักสาน เทคโนโลยีสิ่งทอ และส่วนของวิถีชีวิตไทยในหน้าน้ำและหน้าแล้งด้วย

ดร.พิชัย กล่าวเสริมอีกว่า วิถีชีวิตของคนไทยในอดีตที่พัฒนามานั้นได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปใช้ด้วยกันทั้งสิ้น อย่างเช่น เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ซึ่งกว่าจะเป็นเครื่องมือขึ้นมาได้นั้น ต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การสังเกต การศึกษาทางธรรมชาติ ทดลองผิด ทดลองถูก จนสามารถพัฒนาเครื่องมือจับสัตว์น้ำได้เหมาะสมในที่สุด เป็นต้น

“เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากให้ทุกคนละเลยรากฐานหรือภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ไป ทางอพวช. จึงได้พยายามรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ไว้ เพื่อไม่ให้สูญหาย และเพื่อให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญจนสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาภูมิปัญญาให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น” ดร.พิชัย กล่าว

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากนิทรรศการในครั้งนี้นั้น ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัด วท.กล่าวระหว่างการเป็นประธานในพิธีเปิด “นิทรรศการเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย” ในวันที่ 1 มิ.ย.54 ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เทคโนธานีคลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ว่า นิทรรศการชุดนี้ถือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ ด้านเทคโนโลยีภูมิปัญญาในเชิงลึก ทั้งยังทำให้ผู้เข้าชมเกิดการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และพร้อมนำองค์ความรู้ กระบวนการต่างๆ ไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนา การประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม “นิทรรศการเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย” ณ ชั้น 6 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช. เทคโนธานีคลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ได้ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0-2577-9999 ต่อ 1829,1830 หรือ www.nsm.or.th
การจัดสาธิตการประดิษฐ์ กังหันใบลาน ของเล่นภูมิปัญญาไทย หนึ่งในกิจกรรมจาก “นิทรรศการเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย”
ภาพแสดงภูมิปัญญาของไทยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการแกะสลัก
แบบจำลองเรือนไทย สถาปัตยกรรมสะเทินน้ำสะเทินบก
ส่วนหนึ่งจากโซนเทคโนโลยีเครื่องจักสาน
แป้นหมุน อุปกรณ์เพื่อการขึ้นรูปเครื่องปั้นดินเผา
อุปกรณ์จับปลาเทคโนโลยีภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย  ได้แก่ ลอบนอน ข้องเป็ดหรืออีเป็ด ลอบยืน เป็นต้น
อุปกรณ์จับปลาเทคโนโลยีภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย  ได้แก่ ลอบนอน ข้องเป็ดหรืออีเป็ด ลอบยืน เป็นต้น
เครี่องจักสานไม่ไผ่ลายขิด ซึ่งไผ่เป็นหญ้าขนาดใหญ่ที่สุด ลำต้นประกอบด้วยเซลลูโลสและเฮมิลูโลสประสานกันจำนวนมาก ทำให้มีความเหนียวแน่นและแข็งแรง
เทคโนโลยีการย้อมสีผ้าจากต้นคราม แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่นิยมใช้สีย้อมผ้าที่ทำมาจากธรรมชาติ
เตาตะกรับ หรือ เตาประกรับ เป็นเตาพื้นบ้าน แต่มีชานเตาแบบอั้งโล่เพื่อวางภาชนะผลิตภัณฑ์ อุณหภูมิที่ใช้เผา 1,100-1,200 องศาเซลเซียส
ดร.พิชัย สนแจ้ง  ผอ.อพวช.
ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัด วท. เป็นประธานในพิธีเปิด “นิทรรศการเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย”  ในวันที่ 1 มิ.ย.54 ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์  เทคโนธานีคลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น