xs
xsm
sm
md
lg

“พระธาตุแช่แห้ง” กับปริศนาธรรมที่แฝงเร้น /ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
พระธาตุแช่แห้ง(ภาพก่อนการบูรณะครั้งล่าสุด)
ผมไม่ใช่คนเกิดปีเถาะ แต่เวลาไปแอ่วเมืองน่าน มักจะไม่พลาดการไปไหว้“พระธาตุแช่แห้ง”ด้วยประการทั้งปวง

พระธาตุแช่แห้ง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน ตามคติความเชื่อเรื่องการไหว้ประประจำปีเกิดของชาวล้านนา พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีเถาะ(ปีกระต่าย)

เดิมใครที่เกิดปีเถาะหากได้เดินทางไป“ชุธาตุ” หรือนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ชาวล้านนาเชื่อว่าจะได้อานิสสงส์ผลบุญอย่างยิ่ง แต่มาในยุคนี้ พ.ศ.นี้ มีเรื่องของการท่องเที่ยว การตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเกิดมี(การสร้าง)ความเชื่อใหม่ขึ้นมาว่า ในปีใดๆ(ชวด ฉลู ขาล เถาะ...ไปจนถึง ปีกุน) หากใครได้เดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีนั้นๆ ก็จะได้รับอานิสสงส์ผลบุญสูงล้ำไม่แพ้กัน นั่นจึงทำให้ปีนี้มีคนส่วนหนึ่งเดินทางไปไหว้พระธาตุแช่แห้งกันตามเหตุผลข้างต้น

สำหรับผมไม่ได้เลือกไหว้พระธาตุแช่แห้ง(หรือพระธาตุเจดีย์ทั่วๆไป)ตามปี หากแต่ไหว้ตามจิตศรัทธา มีโอกาสไปเยือนเมืองน่านคราใดก็แวะไปไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมไม่ลืมที่จะเดินดูงานพุทธศิลป์ต่างๆภายในวัดพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเดิมนั้นก็เดินดูไปตามความรู้สึกชื่นชอบส่วนตัว สิ่งไหนดูสวยงามประณีตก็จะพินิจเพ่งเล็งหามุมถ่ายรูปกันนานหน่อย

กระทั่งได้มีโอกาสได้พบกับ อ.สมเจตน์ วิมลเกษม ครูภูมิปัญญาไทย โรงเรียนสตรีศรีน่าน ผู้รอบรู้แห่งเมืองน่าน ที่มาอธิบายปริศนาธรรมต่างๆที่แฝงเร้นอยู่ในวัดแห่งนี้ มันถือเป็นมุมมองใหม่ที่เปิดโลกทัศน์ให้เราได้รู้จักกับพระธาตุแช่แห้งในมิติธรรมที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
พระวิหารหลวงกับองค์พระธาตุแช่แห้ง(ภาพก่อนการบูรณะครั้งล่าสุด)
พระธาตุแช่แห้ง ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์มาถึงภูเพียงแช่แห้ง และพบกับพระอมละราชและพระมเหสีที่มาสรงน้ำที่เดียวกับพระองค์สรงน้ำอยู่ พระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงขอพระเกศาธาตุบรรจุในกระบอกไม้ซาง มอบให้พระอินทร์นำไปเก็บในอุโมงค์พร้อมผ้าทอง โดยพระอินทร์ได้ก่อพระเจดีย์สูง 7 ศอกไว้ด้านบน

ต่อมาราวปีพ.ศ. 1896 สมัยพระยากานเมือง(พระยาการเมือง : เจ้าผู้ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ. 1869-1902)) ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย(ปัจจุบันคือวัดป่าม่วง) พระยาลือไทยจึงมอบพระธาตุ 7 พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ 20 องค์ ให้พระยากานเมือง ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง และพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ทำอุโมงค์ประดิษฐานพระบรมธาตุใหม่ และก่อพระเจดีย์เป็น “พระธาตุแช่แห้ง” คู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้

พระธาตุแช่แห้ง ประดิษฐาน ในวัดพระธาตุแช่แห้ง บนบริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม หลังย้ายศูนย์กลางมาจากเมืองปัว

ลักษณะสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุแช่แห้ง(ที่ปัจจุบันอยู่ในการบูรณะซ่อมแซม) สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากพระธาตุหริภุญไชย(ลำพูน) เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส
สูง 55.5 เมตร กว้างด้านละ 22.5 เมตร บุด้วยทองจังโก(ทองเหลืองที่ตีเป็นแผ่นบางๆ) มีรูปทรงเพรียวสมส่วน
บรรยากาศในวัดพระธาตุแช่แห้ง(ภาพก่อนการบูรณะครั้งล่าสุด)
สำหรับชื่อของพระธาตุแช่แห้ง แรกๆที่ฟังผมก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอ อ.สมเจตน์ ให้ข้อฉุกคิด ว่า“แช่” ทำไมถึง“แห้ง” ทำไมจึงไม่“เปียก”

เรื่องนี้มีการตีความจากผู้รู้ว่า นี่คือปริศนาธรรมแฝงแห่งองค์พระธาตุจากการตั้งชื่อของคนโบราณ เพื่อเป็นหลักธรรมคำสอนและเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้เข้าถึงหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อสันนิษฐานของที่มาของคำว่าแช่แห้ง ที่ตอนหลังได้รับความสนใจ จนปรากฏเป็นข้อความในเอกสารนำเที่ยวของ ททท.

“แช่” กับ “แห้ง” เป็นสภาวะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

จากการตีความทางธรรม คำว่า“แช่” เป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาวะของมนุษย์ว่า เมื่อเกิดมายังเป็นผู้ที่เปียกไปด้วยกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง ดังนั้นผู้ใดสามารถละซึ่งกิเลสได้ ก็จะเจ้าสู่หลักสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา

ส่วนคำว่า “แห้ง” ในทางธรรมในที่นี่หมายถึง การแสดงให้เห็นถึงสภาวะของการสลัดหลุดซึ่งกิเลสทั้งปวง คือการไม่ทำบาป ทำความดีให้ถึงพร้อม

ดังนั้นแช่แห้งจึงหมายถึงการที่มนุษย์ที่เกิดมามีความเปียกจากกิเลสติดตัว ได้พยายามทำตัวให้แห้งจากกิเลส สลัดแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง เพื่อเข้าสู่หนทางการหลุดพ้น

นอกจากนี้ยังตีความได้อีกว่า “แช่” ที่ทำให้เปียกจากกิเลสเป็นดังต้นเหตุแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้นควรดับทุกข์เพื่อให้ตนเอง“แห้ง”จากกิเลส ซึ่งตรงกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องของ อริสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันเป็นหนทางแห่งนิพพาน

อย่างไรก็ดีเรื่องของนิพพาน อาจจะดูสูงเกินไปสำหรับมนุษย์ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในทะเลกิเลส จึงอาจเป็นไปได้ว่าคนโบราณนั้นมีกุศโลบายในการตั้งชื่อพระธาตุแช่แห้ง เพื่อเป็นเครื่องกระตุกฉุกคิด ว่า เมื่อผู้ใดไปไหว้พระธาตุแช่แห้งแล้ว ควรตั้งมั่นมุ่งทำความดี ละเว้นความชั่ว เพื่อให้ตัวเองแห้งจากอบายมุข สิ่งไม่ดีทั้งหลาย

ส่วนใครจะทำได้มาก น้อย หรือทำไม่ได้เลย มีแต่เจ้าตัวเท่านั้นที่รู้ดี
*****************************************

พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด กิ่ง อ.ภูเพียง จากตัวเมืองน่านข้ามสะพานแม่น้ำน้ำ ไปตามถนนสายน่าน-แม่จริม (ทางหลวงหมายเลข 1168 ประมาณ 3 กม.) ทุกๆปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 6 ทางเหนือ ซึ่งจะอยู่ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมของทุกปี ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับพระธาตุแช่แห้งเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบพื้นที่แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1118,0-5452-1127

ในวัดพระธาตุแช่แห้ง นอกจากองค์พระธาตุแช่แห้งแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลากหลาย อาทิ พระเจ้าทันใจ พระวิหารหลวง พระเจ้าล้านทอง พระพุทธไสยยาสน์ พระธาตุตะโก้ง บันไดนาค อัฏฐพญานาคราช กับปริศนาธรรมที่แอบแฝงอยู่ในความงดงาม ซึ่งผมจะมาว่าในรายละเอียดของเรื่องนี้กันอีกทีในตอนหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น