xs
xsm
sm
md
lg

เสริมมงคลชีวิตไหว้ “พระธาตุแช่แห้ง” พระธาตุประจำปีเถาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระธาตุแช่แห้ง พระธาตุประจำปีคนเกิดปีเถาะ
ปีใหม่ปีนี้เป็น “ปีเถาะ” (ปีกระต่าย)

ตามความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุพระจำปีเกิดของชาวล้านนา เชื่อว่าคนเกิดปีเถาะมีพระธาตุประจำปีเกิด คือ “พระธาตุแช่แห้ง” ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน ซึ่งผู้ที่เกิดปีเถาะ อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตควรหาโอกาสไปกราบนมัสการพระธาตุแช่แห้งสักครั้ง เพื่อเป็นการเสริมบุญบารมีให้เกิดความเป็นสิริมงคลในชีวิต

ความเป็นมาของพระธาตุแช่แห้ง

“พระธาตุแช่แห้ง” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน ตามตำนานของพระธาตุองค์นี้กล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์มาถึงภูเพียงแช่แห้ง และพบกับพระอมละราชและพระมเหสีที่มาสรงน้ำที่เดียวกับพระองค์สรงน้ำอยู่ พระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงขอพระเกศาธาตุบรรจุในกระบอกไม้ซาง มอบให้พระอินทร์นำไปเก็บในอุโมงค์พร้อมผ้าทอง โดยพระอินทร์ได้ก่อพระเจดีย์สูง 7 ศอกไว้ด้านบน
พระวิหารหลวง
ต่อมาราวปีพ.ศ. 1896 สมัยพระยากานเมือง ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย พระยาลือไทยจึงมอบพระธาตุ 7พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ 20 องค์ ให้พระยากานเมือง ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง และพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ทำอุโมงค์ประดิษฐานพระบรมธาตุใหม่ และก่อพระเจดีย์เป็น “พระธาตุแช่แห้ง” คู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนมากราบสักการะกัน

ปริศนาธรรมคำว่า “แช่แห้ง”

หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมจึงชื่อว่า “พระธาตุแช่แห้ง” เพราะหากคิดตามความเป็นจริงคำว่าแช่ก็ควรจะต้องเปียก แต่แล้วทำไมจึงแห้ง ในเรื่องนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับหลักธรรม โดยอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ครูภูมิปัญญาไทย โรงเรียนสตรีศรีน่าน ได้อธิบายให้ฟังว่า คำว่า “แช่แห้ง” เป็นคำที่นักปราชญ์ยกย่องให้เป็นมงคลนามยิ่ง เป็นประหนึ่งกุญแจที่จะไขปริศนาธรรมทั้งมวลจนดิ่งลึกเข้าสู่แดน สุญญตา คือความว่างจากตัวตน อันเป็นสุดยอดของอมฤตธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า “แช่แห้ง” จึงมีความหมายโดยนัยว่า ยอดคนหรือมหาบุรุษเท่านั้นที่จะทำตัวให้แห้งอยู่ในสภาวะแห่งความเปียกปอนของอวิชชา ความมืดบอด แห่งสรรพกิเลศตัณหาต่างๆ ที่มากมายยิ่งกว่าสายน้ำและมหาสมุทรทั้งหลายในโลกรวมกัน มนุษย์จะสามารถมีความสุขท่ามกลางทะเลแห่งความทุกข์ยากอันหมายถึงมหาวัฏฏสงสารได้อย่างไร
อ.สมเจตน์ วิมลเกษม
อีกทั้งยังแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมแห่งคำว่า “แช่แห้ง” จึงยุติอยู่ที่ “อริยสัจ 4 ประการ” เพราะคำว่า แช่ หมายถึง การเปียกปอน การดิ่งจมลงในทะเลแห่ง วัฎฎสงสาร หมายถึงต้นเหตุแห่งทุกข์ มี 2 ประการคือ ทุกข์ และสมุหทัย คำว่า แห้ง หมายถึงการหยุดนิ่งและสิ้นสุดแห่งอาสวกิเลศทั้งปวง มี 2 ประการคือ นิโรธหรือนิพพาน และ อริยมรรค อันมีองค์ 8 ประการ คือเส้นทางที่พระตถาคต ชี้นำให้พุทธศาสนิกทั้งมวล เดินตามรอยแห่งพุทธองค์ จึงสรุปได้ในที่สุดว่า คำว่า “แช่แห้ง” จึงหมายถึง “การดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง”

อ. สมเจตน์ ได้บอกอีกว่า เหตุผลที่พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ ก็คือเป็นการกำหนดขึ้นมาของพระภิกษุล้านนา เพื่อเป็นกุศโลบาย ให้คนเกิดศรัทธามุ่งมั่นทำความดีและสอนให้มีความพยายาม มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ว่าในชีวิตหนึ่งขอได้ไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิด จะได้บุญ ตายไปก็ไม่ไปตกในอบายภูมิทั้งสี่
ภายในพระวิหารหลวงมีพระเจ้าล้านทองเป็นพระประธาน
“พระธาตุแช่แห้ง ถือว่าเป็นปูชนียสถานที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดน่านและจังหวัดใกล้เคียง มีลักษณะของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุเจดีย์ วิหารหลวง วิหารพระนอน และบันไดนาค ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งแสดงให้เห็นถึงแบบอย่างทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแบบหนึ่งที่ผสมผสานคติความเชื่อทางพุทธปรัชญาไว้อย่างกลมกลืน เช่น หลังคาพระวิหาร

“ส่วนตรงหน้าบันวิหารช่างปั้นปูนเป็นหางของพระยานาคเกี่ยวกระหวัดกันขึ้นไป 3 ชั้น อย่างงดงามลงตัว เป็นสัญลักษณ์แทนองค์ 3 ในพระพุทธศาสนา เช่น กฎไตรลักษณ์ คือ เกิด ตั้งอยู่และดับไป หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่สุดขององค์ 3 ก็คือคำสอนที่ว่า ละเว้นความชั่ว ทำความดีทุกเมื่อ ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่หาได้ยากในปัจจุบัน ดังนั้นโบราณสถานแห่งนี้ จึงมีความสำคัญทั้งในด้านแบบแผนทางศิลปกรรม หลักฐานทางโบราณคดี และความเคารพนับถือของประชาชน ในท้องถิ่นและใกล้เคียง” อ.สมเจตน์ วิมลเกษม กล่าว
ปูนปั้นลายนาคเกี่ยวกระหวัดกัน 8 หัวที่หน้าบันประตูวิหารหลวง
พระธาตุแช่แห้งงดงามด้วยสถาปัตกรรม

เมื่อเข้ามาภายในวัดพระธาตุแช่แห้ง จะได้เห็นองค์พระธาตุแช่แห้งสีเหลืองทองงามอร่ามโดดเด่นเห็นแต่ไกล พระธาตุแช่แห้งนี้มีอายุราว 600 ปีเศษ องค์พระธาตุมีความสูงถึง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร มีสีเหลืองอร่ามเนื่องจากบุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลือง ผสมทองแดง) มีลักษณะเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานทำเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ

ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้า กระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็กบัลลังก์ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ฐานหน้ากระดานกลมเป็นกระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งคล้ายกลีบบัวหรือลายใบไม้ และมีเจดีย์ขนาดเล็ก 4 องค์อยู่ที่ฐาน และยังมีที่มุมอีก 4 องค์ ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกกว่าพระธาตุเจดีย์องค์อื่น ๆ ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระดูกข้อมือซ้าย บรรจุรวมกับพระเกศา
วิหารพระพุทธไสยาสน์
ในวัดพระธาตุแช่แห้งนอกจากจะมีพระธาตุแช่แห้งที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงามให้สักการะแล้ว ภายในวัดยังสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น บันไดนาค ปั้นเป็นพญานาค 2 ตัวคู่กันทอดตัวยาวขนาบข้างไปตามทางขึ้นสู่องค์พระธาตุ เหตุที่เป็นนาคก็เพราะว่าตามคติความเชื่อของคนล้านนา พญานาคจะปกปักรักษาพระพุทธศาสนาถึง 5,000 พระวัสสา และเป็นเสมือนสพานเชื่อโยงให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายสามารถข้ามทะเลแห่งสังสารวัฏไปยังฝากฝั่งมหาเนรพานได้

มีพระวิหารหลวง ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุ เป็นวิหารขนาดใหญ่ 6 ห้อง ห้องกลางมีขนาด 3 ห้อง และต่อชั้นลดออกไป ทางด้านหน้า 2 ห้องและด้านหลัง 1 ห้อง ด้านหน้าพระวิหารมีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัวที่งดงามยิ่ง ซึ่งสิงห์ที่อยู่หน้าประตูทางเข้าพระวิหารนี้มาจากชาดกเรื่องสิงห์คายนาง เป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่นิยมมากเรื่องหนึ่งของล้านนา มีความหมายสื่อถึงสัญลักษณ์หรือตัวแทนของพระศรีอริยเมตตรัย หรือตัวแทนฝ่ายอำนาจหรือชนชั้นผู้ปกครอง และการปั้นสิงห์ไว้หน้าวัดก็มีอีกความหมายหนึ่งคือ จะได้เกิดในยุคพระศรีอริยเมตตรัย และที่หน้าบันประตูของพระวิหารหลวงยังมีรูปปูนปั้นลายนาคเกี่ยวกระหวัดกัน 8 หัว อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะเมืองน่าน และยังสื่อความเชิงพระพุทธปรัชญาขั้นสูง นาค 8 หัว แทนอริยมรรค 8 หมายถึงศาสนาแห่งสมณโคดมจะคงมั่นยืนยงแผ่ขยายไปทั่วเมืองนันทบุรีศรีนครน่าน
พระพุทธไสยาสน์ลงรักปิดทองงดงาม
แล้วภายในพระวิหารหลวงมีพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ มีพระอุ่นเมือง ปางสมาธิ เป็นศิลปะสกุลช่างน่านที่งดงาม มีพระเจ้าล้านทอง ปางมารศรีวิชัยศิลปะล้านนา ประทับนั่งบนฐานชุกชีสร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทองสูง 8 ศอก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2065 เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาช้านานที่สวยงามอีกองค์หนึ่งของจ.น่าน และยังมีพระพุทธรูปประทับยืน ประดิษฐานในวิหารหลวงจำนวน 2 องค์ ( ในอดีตสร้างด้วยไม้ ขนาดสูง 2.55 ม. ) ปัจจุบันองค์จริงมอบให้พิพิธภัณฑ์ จ.น่าน อีกองค์ถูกโจรกรรมและยังไม่ได้กลับคืน องค์ปัจจุบันจำลองจากองค์จริงทำพิธีหล่อเททองเมื่อปี พ.ศ. 2550

ส่วนด้านนอกกำแพงแก้วขององค์พระธาตุมี วิหารพระพุทธไสยาสน์ ด้านในมีพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) องค์ใหญ่เป็นพระประธานประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ยาว 14 ม. สูง 2 ม. และยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างด้วยอิฐถือปูน หน้าตัก 70 ซม. สูง 100 ซม. สร้างในสมัยพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม (พ.ศ.2129) ให้ได้กราบไหว้ขอพรกันแบบอิ่มเอิบใจ
ปูนปั้นรูปสิงห์หน้าประตูทางเข้าพระวิหารหลวง
“ภายในบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้งแห่งนี้มีพื้นที่กว้างขวาง โบราณสถานแห่งนี้มีความสง่างามน่าเลื่อมใสศรัทธา ประกอบกับมีสวนรุกขชาติขนาบอยู่ทั้งด้านข้าง และด้านหลังมีความร่มรื่น และก่อให้เกิดความสบายใจโปร่งใจ สร้างความรู้สึกสงบและเยือกเย็นให้แก่ผู้มาเยือนทุกรูปทุกนามไม่เลือกชั้นวรรณะและชาติภาษา และเป็นประจำทุกๆปีจะมีงานประเพณีนมัสการพระธาตุในวันเพ็ญเดือน 6 เหนือ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4) ให้ทุกคนได้มาร่วมสักการะองค์พระธาตุแช่แห้ง” อ. สมเจตน์ กล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“วัดพระธาตุแช่แห้ง” ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน โทร.สอบถามเพิ่มเติมได้ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง โทร. 0-5475-1846
กำลังโหลดความคิดเห็น