xs
xsm
sm
md
lg

ซุ่มปากรู ดู“ปูแปลก-หายาก” เสน่ห์ที่ต้องลุ้นและรอคอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปูราชินี
“ปู” เป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่มีกระดองแข็ง เป็นสัตว์เท้าปล้องที่เดินตรงๆไม่เป็น ปู เป็นสัตว์ที่ไม่มีเลือด แต่นำมาปรุงเป็นอาหารจานเด็ดได้หลากหลาย

ในเมืองไทยมีปูอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน บางชนิดเป็นปูที่มีความแปลก หายาก บางชนิดมีเพียงหนึ่งเดียวในโลกในเมืองไทย ซึ่งบรรดาปูแปลก ปูหายาก เหล่านี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของการท่องเที่ยวในบ้านเรา ที่บางพื้นที่จัดเป็ฯแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้นักท่องเที่ยวไปซุ่มรอดูปูพร้อมเรียนรู้ธรรมชาติควบคู่กันไป แบบไม่ไปทำลายวงจรชีวิตปกติของมัน

สำหรับปูแปลก ปูหายาก ที่น่าสนใจและเป็นหนึ่งในจุดดึงทางการท่องเที่ยว มีปูชนิดใดบ้าง ขอเชิญทัศนากันได้
ปูพระพี่นาง
เริ่มกันด้วย “ปูราชินี” ปูชนิดนี้เป็นปูน้ำจืดประเภทปูป่าที่มีสีสันสวยงาม เป็นปูเฉพาะถิ่นที่พบในตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ปูชนิดนี้จะชอบอาศัยอยู่ตามริมลำห้วยและในพื้นที่พุ (พื้นที่ชุ่มน้ำที่เกิดจากน้ำใต้ดินผุดขึ้นมา) โดยบริเวณที่พบมากที่สุดคือพุปูราชินี

ปูราชินีเป็นปูที่มีสีสันสวยงาม โดยในตัวจะมีสี 3 สี ด้วยกัน ปากและขาเป็นสีแดงส้ม ก้ามเป็นสีขาว และกระดองเป็นสีน้ำเงินอมม่วง บริเวณขอบกระดองจะเป็นสีขาว ครบสามสีแดง ขาว น้ำเงิน คล้ายธงชาติไทย ชาวบ้านมักเรียกปูชนิดนี้ว่า “ปูสามสี”

เนื่องจากเป็นปูหายากและมีการสำรวจพบอย่างเป็นทางการที่ตำบลห้วยเขย่งเพียงที่เดียวในประเทศไทย ปูชนิดนี้จึงได้รับการตั้งชื่อว่า “ปูราชินี” เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ ในปี 2535 จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากในสภาพธรรมชาติ และเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านห้วยเขย่ง ถ้าใครอยากชมควรมาในฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ปูราชินีจะออกมาเริงร่ากัน
ปูเจ้าฟ้า(ภาพจากเว็บไซต์ อบจ.ระนอง)
ในเมืองกาญจน์กาญจน์ยังเป็นบ้านของปูน้ำจืดหายากอีกหนึ่งชนิด คือ “ปูพระพี่นาง” ซึ่งพบที่บริเวณฝั่งลำห้วย ตำบลท่าแฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี และได้รับประทานอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ให้ใช้ชื่อว่า ปูพระพี่นาง เมื่อปี 2542

ปูพระพี่นางหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปูป่า” นั้น มีสีแดงสดใส กระดองมีสีแดงเลือดนก ขอบกระดอง ขอบเบ้าตา และปากเป็นสีแดงส้ม ขาเดินทั้ง 4 คู่ เป็นสีแดงเลือดนก ยกเว้นตรงปลายประมาณ 1 ใน 3 ของก้ามหนีบทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาว

เหตุที่พบปูหายากในเมืองกาญจน์ถึงสองชนิดนั้นเนื่องจากว่าส่วนหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรีเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์และเป็นที่อยู่อาศัยของทั้งพืชและสัตว์หลากหลายชนิด จึงไม่แปลกที่จะมีสัตว์แปลกๆ หลายชนิดที่ไม่เคยเห็นในพื้นที่อื่นๆ

ขณะที่ทางภาคใต้ที่จังหวัดระนอง ก็มี “ปูเจ้าฟ้า” หรือปูสิรินธร หรือชาวบ้านเรียกว่า “ปูน้ำตก” ก็มีความแปลกและสวยงามไม่แพ้ปูไหนๆ โดยกระดองและก้ามทั้งสองข้างเป็นสีขาว ขาเดินทั้งสี่คู่ เบ้าตาและบริเวณปากเป็นสีม่วงดำ ดูไปดูมามีสีคล้ายหมีแพนด้าเหมือนกัน จึงได้ชื่อสามัญว่า Panda Crab
ปูทูลกระหม่อม
ปูเจ้าฟ้าถูกพบเป็นครั้งแรกที่บริเวณลำธารน้ำตกหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ในปี 2529 เมื่อนำมาตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฎในที่ใดมาก่อน จึงจัดว่าเป็นปูน้ำตกชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก จึงได้มีการขอพระราชทานกราบบังคมทูลอัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปูชนิดใหม่นี้ว่า “ปูเจ้าฟ้า”

ปูชนิดนี้นับเป็นสัตว์ป่าสงวนในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2535ปัจจุบันนอกจากจะพบปูเจ้าฟ้าที่น้ำตกหงาวแล้ว ยังพบที่น้ำตกห้วยยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขาพะเนินทุ่ง แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี น้ำตกบนเขา อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีอีกด้วย

มากันที่ภาคอีสาน ในจังหวัดมหาสารคาม มี “ปูทูลกระหม่อม” เป็นปูหายาก พบเพียงแห่งเดียวในโลกที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เมื่อปี 2536
ปูเจ็ดสี หรือปูคีรีขันธ์
เดิมชาวบ้านเรียกปูชนิดนี้ว่า “ปูแป้ง” กระดองมีสีม่วงเปลือกมังคุด ขอบเบ้าตา ขอบกระดอง ขาเดินทั้ง 4 คู่ และก้ามหนีบทั้ง 2 ข้างมีสีเหลืองส้ม ปลายขาข้อสุดท้ายและปลายก้ามหนีบมีสีขาวงาช้าง และในปี 2536 นั้นเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ จึงได้มีการกราบทูลขอพระราชทานพระอนุญาต อัญเชิญพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อของปูน้ำจืดชนิดนี้ว่า “ปูทูลกระหม่อม” และยังจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 14 ของประเทศอีกด้วย

แต่ปูที่สีสันสดใสที่สุดคงต้องยกตำแหน่งให้กับ “ปูเจ็ดสี” ที่พบในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2539 จากการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกจึงได้ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า "ปูคีรีขันธ์"

ปูเจ็ดสี ปูคีรีขันธ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปูหิน” นี้เป็นปูน้ำจืดกลุ่มปูน้ำตก หรือปูภูเขา อาศัยอยู่ใต้ก้อนหินริมลำห้วยบนภูเขาสูงซึ่งเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้น กระดองมีสีน้ำตาลเข้ม ขอบตาและขอบกระดองด้านบน เป็นเส้นสีขาวเหลืองเห็นได้ชัดเจน ก้ามมีขนาดใหญ่สีขาวเหลือง ข้อต่อของก้ามด้านในและโคนขาเป็นสีส้ม ขาเป็นสีน้ำตาลม่วงสลับกับสีส้มบริเวณข้อต่อของขา สวยงามมาก ส่วนด้านท้องเป็นสีขาวเหลือง
ปูไก่ ส่งเสียงเหมือนลูกเจี๊ยบ
ปูคีรีขันธ์พบมากในเขตพื้นที่ป่าดิบชื้น เขตที่ดินสงวนไว้ใช้ในราชการทหาร ค่ายธนะรัชต์ ที่ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเฉพาะตามแนวลำห้วยสาขาของแม่น้ำปราณบุรีที่ไหลมาจากเทือกเขาตะนาวศรีบริเวณชายแดนไทย-พม่า

จากปูบนบกตามป่าเขา ข้ามทะเลไปที่หมู่เกาะสิมิลัน ไปรู้จักกับปูแปลกในระดับอันซีนไทยแลนด์กับ “ปูไก่” กันบ้าง

ปูไก่จัดเป็นปูขน (land crab) ชนิดหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่มีขนาดกระดองกว้าง 15-20 ซ.ม. ส่วนตัวเมียที่โตเต็มที่มีขนาด 10-12 ซ.ม. กระดองเป็นรูปไข่ ด้านหน้าโค้งมน ส่วนมากสีของกระดองตอนกลางมีสีม่วงเข้มหรือสีน้ำเงินอมม่วง ขอบกระดองทั้งสองข้างสีน้ำตาลปนเหลืองจนถึงสีขาวครีม ก้ามสีม่วงหรือสีน้ำตาลปนเหลือง ขาตอนโคนสีส้มและตอนปลายสีคล้ำ พบในแถบจังหวัดชายทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เช่น จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง รวมถึงเกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา

ปูไก่แม้จะดูเหมือนปูทั่วไป แต่มันมีลักษณะพิเศษคือเสียงร้องของมันฟังคล้ายเสียงของลูกไก่ โดยเสียงนี้เกิดจากการพ่นอากาศออกผ่านรูเปิดของช่องเหงือกในขณะที่หายใจ เมื่ออากาศผ่านรูขนาดเล็กจึงเกิดเสียงแหลมคล้ายเสียงลูกไก่ จนกลายเป็นของแปลกที่หลายๆ คนอยากมาฟังปูร้องเหมือนไก่ด้วยตัวเอง
ปูมะพร้าว
สำหรับปูแปลกตัวสุดท้าย แปลกด้วยหน้าตาและอาหารการกินของมัน นั่นก็คือ “ปูมะพร้าว” ซึ่งเป็นปูที่วิวัฒนาการมาจากปูเสฉวน และเป็นสัตว์ขาปล้องขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน หน้าตาคล้ายแมงมุมผสมปู มีรายงานว่ามีการพบปูมะพร้าวที่หนักถึง 17 กิโลกรัม และมีความยาวของลำตัว 1 เมตร มีความสามารถหลายอย่าง เช่น ปีนต้นไม้สูงๆ อย่างต้นมะพร้าว รวมถึงมีก้ามที่ทรงพลังขนาดสามารถเจาะลูกมะพร้าวเอาเนื้อมากินได้

ปูมะพร้าวพบได้ที่หมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียและหมู่เกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งสีสันของปูมะพร้าวก็จะต่างกันไปตามแต่ละเกาะ ตั้งแต่สีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม ไปจนถึงสีน้ำตาล และสำหรับในประเทศไทยจนถึงปี 2542 มีหลักฐานการพบปูมะพร้าวเพียง 3 ครั้ง เท่านั้น

แต่ล่าสุดในปี 2542 ประเทศไทยได้นำปูมะพร้าวจำนวน 23 ตัว จากเกาะแอสซัมชัน ประเทศเซเชลส์ กลับมาเลี้ยงไว้ที่สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาวิจัยเรื่องปูมะพร้าวในประเทศไทยต่อไป

และนี่ก็คือปูแปลกและหายากของประเทศไทยซึ่งมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ ส่วน “ปูแดง-ยิ่งลักษณ์” ปูร่างทรงที่อาศัยบารมีพี่ชายขึ้นเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเมืองไทยนั้น จะมีความเป็นผู้นำมีฝีมือในการบริหารชาติบ้านเมือง หรือจะเป็นเพียงหุ่นเชิด หรืออาจจะเป็นปูตกรูเพราะถูกกกต.สอย

งานนี้คงต้องติดตามดูกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น