xs
xsm
sm
md
lg

ล่องแก่งแหล่งเหนือ ผจญภัยเร้าใจกลางสายน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เร้าใจในสายน้ำปาย จ.แม่ฮ่องสอน
เมื่อเข้าหน้าฝน ฤดูกาลของการผจญภัยล่องแก่งก็กลับมาอีกครั้ง ลำน้ำหลายสายในเมืองไทยต่างก็กลับมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คึกคักอีกครั้งเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของภาคเหนือที่มีแหล่งล่องแก่งให้เลือกไปหลายแห่ง

ทั้งนี้เมื่อหลายปีที่ผ่านมาทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้ชูกิจกรรม“ล่องแก่งแหล่งเหนือ”ขึ้น เป็นหนึ่งในกิจกรรมท่องเที่ยวช่วงฤดูฝนที่น่าสนใจ ซึ่งวันนี้กิจกรรมล่องแก่งแหล่งเหนือในช่วงหน้าฝนยังคงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

และนี่ก็คือสถานที่ล่องแก่งเด่นๆในภาคเหนือ ซึ่งจะมีที่ไหนบ้าง ขอเชิญทัศนากันได้

เรามาเริ่มความสนุกสนานกันที่ ลำน้ำแม่แตง จ.เชียงใหม่ จุดกำเนิดของลำน้ำแม่แตงมาจากภูเขาสูงบริเวณชายแดนไทย-พม่า ไหลผ่าน อ.เชียงดาว แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่ อ.แม่แตง มีความยาวของสายน้ำประมาณ 135 กิโลเมตร โดยสามารถแบ่งลำน้ำออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกจากบ้านเมืองคองถึงบ้านป่าข้าวหลาม ช่วงที่สองจากบ้านป่าข้าวหลามถึงบ้านสบก๋าย ช่วงสุดท้ายจากบ้านสบก๋ายถึงบ้านเมืองกื้ด ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับความนิยมในการล่องแก่งมากที่สุด
ผจญแก่งใหญ่ในลำน้ำว้า จ.น่าน
การล่องแก่งจากบ้านสบก๋ายไปจนถึงบ้านเมืองกื้ด มีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร โดยจะใช้เวลาในการล่องประมาณ สองชั่วโมงถึงสองชั่วโมงครึ่ง ระดับความยากของสายน้ำตั้งแต่ระดับ 2 ถึง ระดับ 5 โดยจะมีแก่งใหญ่ๆ อยู่ประมาณ 5-6 แก่ง และยังมีแก่งเล็กแก่งน้อยอยู่ตลอดเส้นทาง

ลำน้ำปาย จ.แม่ฮ่องสอน มีต้นกำเนิดมากจากเทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาแดนลาว ไหลผ่าน อ.ปาย อ.ปางมะผ้า และ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ก่อนที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำสาละวิน การล่องแก่งในลำน้ำปายจะมีระยะทางรวมประมาณ 50 กิโลเมตร โดยมีระดับความยากอยู่ที่ ระดับ 1-ระดับ 4 แต่ถ้ามาในช่วงของฤดูฝนที่มีน้ำมาก อาจจะมีความยากถึงระดับ 5

ระหว่างทางล่องแก่งตั้งแต่ อ.ปาย ไปจนถึง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จะได้ผ่านสองฟากฝั่งลำน้ำที่เต็มไปด้วยป่าเขียวชอุ่ม มีแก่งเป็นระลอกคลื่นให้ตื่นเต้นเป็นระยะ นอกจากนั้น ในระหว่างเส้นทางก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทำอีกด้วย อาทิ เล่นน้ำตกซู่ซ่า ซึ่งเป็นน้ำตกเล็กๆ ที่ไหลลงมาจากหน้าผาริมตลิ่ง แช่ตัวในบ่อโคลน หรือเข้าไปผจญภัยในถ้ำ
ฝ่าสายน้ำเชี่ยวกรากที่ลำน้ำว้า
ลำน้ำว้า จ.น่าน ต้นกำเนิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ ในเขต อ.บ่อเกลือ จ.น่าน แล้วไหลลัดเลาะป่าเขาลงมายัง อ.สันติสุข อ.แม่จริม ลงบรรจบกับแม่น้ำน่านในเขต อ.เวียงสา รวมระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร ในช่วงของลำน้ำว้า จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ ลำน้ำว้าตอนต้น เริ่มจากบ้านสปันมาจนถึงบ้านสบมาง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน

ช่วงที่สอง เป็นลำน้ำว้าตอนกลาง ตั้งแต่บ้านสบมาง ในเขต อ.บ่อเกลือ มาจนถึงบ้านน้ำว้า ในเขต อ.แม่จริม ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่ลำน้ำว้าจะไหลผ่านป่าเขาพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่จริม ความยากของแก่งมีตั้งแต่ระดับ 1-5 ถือว่าลำน้ำว้าตอนกลางเป็นพื้นที่ที่ท้าทายความสามารถของนักล่องแก่ง เพราะต้องอาศัยทั้งความรู้และประสบการณ์ต่างๆ

ส่วนในช่วงสุดท้ายของลำน้ำว้า คือ ลำน้ำว้าตอนปลาย จากอุทยานแห่งชาติแม่จริม ไปจนถึงบ้านหาดไร่ เป็นช่วงที่แก่งไม่มีความอันตราย สามารถล่องแก่งได้ง่ายๆ สบายๆ
ล่องลำน้ำเข็ก จ.พิษณุโลก
ลำน้ำเข็ก จ.พิษณุโลก กำเนิดมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในเขต อ.เขาค้อ ไหลผ่านอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จากนั้นไหลผ่าน อ.วังทอง จึงถูกเปลี่ยนเป็นชื่อแม่น้ำวังทอง แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำน่านที่ อ.บางกระทุ่ม

ลำน้ำเข็กสามารถใช้เรือยางมาล่องแก่งได้อย่างสนุกสนานตลอดเส้นทาง ตั้งแต่บ้านปากยาง ใน อ.วังทอง ไปจนกระทั่งถึงน้ำตกแก่งซอง รวมระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ระหว่างเส้นทางในลำน้ำเข็กจะมีแก่งต่างๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ไล่ระดับความยากตั้งแต่ระดับ 1-5

ในส่วนของการเดินทางมาล่องแก่งที่ลำน้ำเข็กแห่งนี้ก็มีความสะดวกสบาย เนื่องจากลำน้ำจะอยู่ใกล้ถนน เมื่อลงจากรถก็สามารถมาขึ้นแพยางได้เลย หรือเมื่อล่องแก่งเสร็จแล้ว ก็สามารถขึ้นจากแพยางแล้วมาขึ้นรถต่อได้ทันที ไม่ต้องเดินทางบุกป่าฝ่าดงเข้าไปเหมือนลำน้ำอื่นๆ
ล่องแก่งแม่วงก์ อีกหนึ่งความสนุกในผืนป่าตะวันตก
7 แก่ง แห่งผืนป่าตะวันตก จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพชร และ จ.ตาก ซึ่งประกอบไปด้วย

แก่งเกาะร้อย ในอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร ที่เกิดจากคลองสวนหมาก ลักษณะเป็นลำธารสลับด้วยแก่งหินและหาดทรายขาวสะอาด อยู่ท่ามกลางทิวทัศน์ที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีระดับความยากในการล่องอยู่ที่ระดับ 2-3

แก่งแม่วงก์ ภายในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร ตามเส้นทางของลำน้ำที่คดโค้งสวยงาม ล่องมาจนถึงแก่งลานนกยูง บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ ทว.4 (แม่เรวา) ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ระดับความยากอยู่ที่ระดับ 1-3

แก่งลำน้ำแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีต้นกำเนิดจากลำห้วยหลายสายจากเทือกเขา ผ่านบ้านแม่ละเมา อ.แม่สอด ไหลไปรวมกับลำห้วยแม่กาษา แล้วบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด โดยจะมีการแบ่งลำน้ำแม่ละเมาออกเป็นสามส่วนคือ ลำน้ำแม่ละเมาตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง มีระดับความยากอยู่ที่ระดับ 2-4

แก่งอุ้มผางคี บ้านอุ้มผางคี อ.อุ้มผาง จ.ตาก บริเวณต้นน้ำของลำน้ำอุ้มผาง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำแม่กลอง มีความยากอยู่ที่ระดับ 3-5 นอกจากจะต้องใช้ความชำนาญในการพายเรือแล้ว ก็ยังต้องบุกป่าฝ่าดง ปีนป่ายภูเขาเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดที่จะลงล่องแก่งอีกด้วย
ล่องแก่งจับสายรุ้งที่ อุ้มผาง จ.ตาก
แก่งต้นน้ำแม่กลอง อุ้มผาง-ทีลอจ่อ-ทีลอซู จ.ตาก บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ซึ่งเป็นเส้นทางในการเข้าสู่น้ำตกทีลอซูในฤดูฝน ระดับความยากอยู่ที่ระดับ 2-3 จุดสิ้นสุดอยู่ที่หน่วยพิทักษ์ป่าผาเลือด ซึ่งหากจะเข้าสู่น้ำตกทีลอซู จะต้องเดินเท้าหรือขึ้นรถไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร

แก่งต้นน้ำแม่กลอง อุ้มผาง-ทีลอเร จ.ตาก ในช่วงแม่น้ำแม่กลองช่วงล่าง เริ่มจากบ้านปะละทะ ไปจนถึงน้ำตกทีลอเร จากนั้นสายน้ำจะไหลผ่านป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จนกลายเป็นแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลองในที่สุด จากจุดเริ่มต้นน้ำสายน้ำยังราบเรียบ แล้วค่อยๆ เพิ่มความแรงขึ้น ซึ่งความยากอยู่ในระดับ 3-4

แก่งลำน้ำแม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ - อ.สามเงา จ.ตาก เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง ซึ่งจะไหลไปรวมกับแม่น้ำปิงบริเวณเขื่อนภูมิพล การล่องแก่งนั้นจะเริ่มที่บริเวณบ้านห้วยน้ำขาว อ.อมก๋อย ผ่านผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น มีระดับความยากอยู่ที่ระดับ 2-3

นอกจากการล่องแก่งในเขตภาคเหนือแล้ว ที่ภาคอื่นๆ ก็ยังมีลำน้ำที่เหมาะสำหรับการล่องแก่งอีกหลากหลายแห่ง อาทิ ล่องแก่งซองกาเรีย จ.กาญจนบุรี ล่องแก่งหินเพิง จ.ปราจีนบุรี ล่องแก่งโป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ล่องแก่งพะโต๊ะ จ.ชุมพร ล่องแก่งคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

สำกรับการเตรียมตัวเดินทางไปล่องแก่งนั้น นอกจากจะต้องเตรียมจิตใจแล้ว การเตรียมร่างกายและอุปกรณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรฝึกซ้อมร่างกายให้แข็งแรง มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับลำน้ำที่จะทำการล่องแก่ง และศึกษาวิธีการล่องแก่งอย่างปลอดภัย ที่สำคัญ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้บังคับหัวเรือและท้ายเรือ รวมถึงเจ้าหน้าที่ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้ที่ร่วมล่องแก่งด้วยกัน
***********************************************************

การล่องแก่ง ผจญสายน้ำนั้น ในสากลได้มีการแบ่งระดับความยาก-ง่ายของสายน้ำ ออกเป็น 6 ระดับด้วยกัน เรียงจากง่ายที่สุดไปจนถึงยากที่สุด ได้แก่

ระดับ 1 เป็นระดับที่ง่ายที่สุด เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มล่องแก่งเป็นครั้งแรก จะสามารถพายเรือได้กลางสายน้ำที่ไหลเอื่อยๆ

ระดับ 2 สายน้ำในระดับนี้จะเริ่มแรงขึ้น ผู้ที่จะล่องแก่งควรมีทักษะในการพายเรือพอสมควร

ระดับ 3 สายน้ำมีความแรงในระดับปานกลาง ต้องเริ่มมีเทคนิคในการพายและเรียนรู้ลักษณะของสายน้ำ มีเกาะแก่งให้รู้สึกตื่นเต้นเป็นระยะ

ระดับ 4 ใช้เทคนิคในการพายเพิ่มมากขึ้น ต้องมีความระมัดระวังในการล่องแก่ง

ระดับ 5 อยู่ในระดับที่ยากมาก เพราะสายน้ำไหลเชี่ยวมาก นอกจากจะต้องมีเทคนิคและใช้ประสบการณ์ในการพายอย่างสูงแล้ว ก็ต้องมีความระมัดระวังในการล่องแก่งเป็นพิเศษอีกด้วย

ระดับ 6 อยู่ในระดับที่อันตราย ไม่เหมาะสำหรับการล่องแก่ง เพราะแก่งจะมีลักษณะเป็นน้ำตก
กำลังโหลดความคิดเห็น