xs
xsm
sm
md
lg

“หญิงเหล็กแห่งวงการนักอนุรักษ์” คว้ารางวัลแห่งความดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : โต๊ะน้ำหมึก

ประกาศและมอบกันไปแล้ว สำหรับรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ 8 โดยครั้งนี้ รตยา จันทรเทียร ในฐานะผู้อุทิศตนและทุ่มเทกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ดำเนินภารกิจสืบทอดเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียร ช่วยพลิกฟื้นผืนป่าและแหล่งธรรมชาติ ด้วยการอนุรักษ์ทุกวิถีทาง เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อมนุษย์และอนุชนรุ่นหลัง ภายใต้แนวคิด...ให้มนุษย์ได้เกื้อกูลธรรมชาติ เพื่อธรรมชาติคงอยู่และเกื้อกูลมนุษย์ เป็นผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2554 ไปครอง



ชีวิตและงานของ รตยา จันทรเทียร หรือที่บุคคลทั่วไปเรียกกันว่า 
“อาจารย์รตยา” ได้ชื่อว่าเป็น “หญิงแกร่ง” แห่งวงการอนุรักษ์ที่อุทิศตนทำงาน ทั้งเพื่อการพัฒนาในเรื่องที่อยู่อาศัยของคนในเมือง ในชนบท และใส่ใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมมากว่า 40 ปี
การเป็นข้าราชการหญิงคนแรก ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
 มีผลงานร่วมกับพนักงานทุกระดับในการพัฒนาเมืองใหญ่ จนถึงเคหะชุมชนขนาดเล็ก โดยเน้นผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง รวมถึงเคหะของข้าราชการ ทหาร
 ตำรวจ ตุลาการ และยังได้สร้างหมู่บ้านทดแทนบ้านที่ประสบอุทกภัยในชนบท นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง สำนักงานพัฒนาชุมชนเมืองและสถาบันพัฒนา
องค์กรชุมชน เพื่อชุมชนในเมืองและชนบทจะได้เข้มแข็ง รวมถึงงานด้านอนุรักษ์
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

รตยา คือหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ได้สร้างผลงานเด่นๆ มากมาย เช่น งานบูรณะหอไตร วัดระฆังโฆสิตาราม, งานริเริ่มสร้างสวนจตุจักร และงานอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ อีกทั้งระหว่างดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ.2530-2531ได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ เพื่อคัดค้านและยับยั้ง การสร้างเขื่อนน้ำโจนที่ทุ่งใหญ่นเรศวรจนเป็นผลสำเร็จ
หลังจากเหตุการณ์ที่ประเทศไทยสูญเสีย สืบ นาคะเสถียร นักวิชาการป่าไม้ผู้พิทักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า รตยา จึงเข้ารับหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ความเข้มแข็งของเธอ ทำให้ได้รับฉายาจากผู้ที่รู้จักและชื่นชมเธอว่าเป็น “หญิงเหล็กแห่งวงการนักอนุรักษ์” หรือ “นางสิงห์ผู้เฝ้าป่า” เธอทำงานให้องค์กรแห่งนี้สืบเนื่องมาจวบปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี ภายใต้แนวคิด “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้” พร้อมกันนี้ ยังชูประเด็นให้ผู้คนในสังคมพึงตระหนักร่วมกันว่า “ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ ไม่มีชีวิต”

รตยา ให้ความเห็นว่า “แท้ที่จริงเรื่องของคน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ยึดโยงมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ถ้าเรามุ่งหวังให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ เราต้องให้ความสำคัญเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากกว่าที่ผ่านมา ต้องตระหนักเสมอว่า ผืนป่าธรรมชาติ อันเป็นแหล่งผลิตน้ำชั่วชีวิตและช่วยชะลออุทกภัยได้ ทั้งนี้ ต้องมีองค์ประกอบที่เอื้อให้ผืนป่าสมบูรณ์ นั่นคือสัตว์ป่า ที่ต้องรักษาไว้ในผืนป่านั้นด้วย อยากให้ทุกคนระลึกเสมอว่า ทุกวันนี้ หากคนดำรงชีวิตอยู่ได้ ป่าก็ต้องอยู่ได้ สัตว์ป่าก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน”
จวบจนวันนี้ วัยของเธอเกือบ 80ปี แต่ยังคงขับรถจากบ้านพักย่านเอกมัย มาทำงานที่มูลนิธิสืบฯ ย่านคลองมหานาค เป็นประจำทุกวัน โดยไม่รับเงินเดือน ดำเนินชีวิตเรียบง่าย ถือหลักทำงานเพื่องาน ไม่สะสมทรัพย์สินใดๆ อาศัยเพียงเงินบำนาญข้าราชการ กับเงินที่ลูกหลานให้ไว้ได้ใช้สอย และยังคงเข้าออกสำรวจป่าเอาหยูกยาอาหารไปมอบให้ชุมชน เป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่อยู่เวรเฝ้าป่า และมีความสุขทุกครั้งเมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้อาบน้ำในลำธาร ได้ฟังเสียงนกร้อง ดังที่ครั้งหนึ่งเธอเคยบอกไว้ว่า “นี่แหละคือรางวัลที่ได้รับในวันนี้”

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น