xs
xsm
sm
md
lg

“ป่าชายเลน”เกราะกันภัยธรรมชาติ ช่วยลดทอนอำนาจสึนามิ/ ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
ป่าชายเลน เกราะธรรมชาติช่วยป้องกันภัยสึนามิ
ผมขอร่วมไว้อาลัยและแสดงความเสียใจต่อผู้จากไปและผู้สูญเสียในญี่ปุ่น จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิ ที่มหันตภัยธรรมชาติครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบตามมาอย่างรุนแรง

การเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงถี่ๆกันในโลกใบนี้ เป็นดังสัญญาณเตือนให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับโลกของเราใบนี้

นอกจากนี้ประเทศต่างๆจำเป็นต้องตระเตรียมให้พร้อมต่อการรับมือกับภัยพิบัติจากธรรมชาติ ที่พักหลังเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดตามมาหลังแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงนั้น นอกจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันหรือช่วยผ่อนหนักเป็นเบาแล้ว “ธรรมชาติ”เองก็ได้สร้างเครื่องป้องกันขึ้นมาเพื่อรับมือกับ“ธรรมชาติ”ด้วยเหมือนกัน

โดย“ป่าชายเลน” ถือเป็นหนึ่งในเกราะธรรมชาติอันสำคัญ ที่นอกจากจะช่วยลดทอนอำนาจทำลายล้างอันร้ายกาจของสึนามิให้อ่อนกำลังลงแล้ว ยังช่วยป้องกันชายฝั่ง ชุมชน และมนุษย์ที่อยู่ในละแวกนั้น ให้ได้รับความสูญเสียน้อยลงหรืออาจจะไม่ได้รับความสูญเสียเลย

ป่าชายเลน เป็นป่าลักษณะพิเศษ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อน ตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณปากแม่น้ำ อ่าว ทะเลสาบ และเกาะ บริเวณที่น้ำท่วมถึง ในประเทศไทยสามารถพบป่าชายเลนได้ในพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลาง

สังคมพืชในป่าชายเลนเป็นพืชประเภทไม้ผลัดใบ ขึ้นคั่นกลางระหว่างระบบนิเวศบนบกและทะเล ในบริเวณที่น้ำทะเลลงต่ำสุดและขึ้นสูงสุดที่มีดินเป็นเลนตม พันธุ์ไม้ในป่าชายเลนมีลักษณะคล้ายพืชทนแล้ง เพราะต้นไม้ที่ขึ้นริมทะเลจำเป็นต้องเผชิญกับน้ำที่มีความเค็มสูง อีกทั้งยังต้องรับแดดจัด โดนลมแรง ทำให้ต้นไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการคายน้ำสูงกว่าต้นไม้ทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ธรรมชาติจึงสรรค์สร้างให้พืชพันธุ์ในป่าชายเลนมีระบบรากต่างจากพันธุ์ไม้ในป่าบกทั่วไป คือมีทั้งระบบรากอากาศและรากค้ำยันคอยช่วยรากที่อยู่ใต้ดินอีกแรงหนึ่ง โดยพืชพันธุ์ไม้ป่าชายเลนมากมายหลากหลายชนิดที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน มีทั้งไม้ยืนต้น พืชอิงอาศัย เถาวัลย์ สาหร่าย โดยมีพันธุ์ไม้เด่นๆ ได้แก่ โกงกาง แสม โปรง ลำพูน ลำแพน ตะบูน ตะบัน เป็นต้น
โกงกางพันธุ์ไม้สำคัญแห่งผืนป่าชายเลน
ในขณะที่เหล่าสรรพสัตว์ในผืนป่าชายเลนนั้นก็มีมากมายทั้งสัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก สัตว์ปีก และแมลงมากมาย รวมถึงสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษ อย่าง ปลาตีน ปูก้ามดาบ ที่พบเฉพาะในบริเวณผืนป่าชายเลน

ด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศ ทำให้ป่าชายเลนจัดเป็น 1 ใน 3 ของระบบนิเวศชายฝั่งที่ทรงคุณค่าที่สุดในโลกซึ่งมีคุณประโยชน์มากหลาย อาทิ เป็นแหล่งออกซิเจนผืนใหญ่ ปอดสำคัญของคนและสัตว์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และนกนานาพันธุ์ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในระยะตัวอ่อน เป็นแหล่งอาหารของทั้งคนและสัตว์ เป็นแหล่งทำมาหากินของมนุษย์ ไม้จากป่าโกงกางสามารถนำมาทำฟืน ถ่าน เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน ทำยา ทำอาหารได้

ป่าชายเลนยังมีประโยชน์ช่วยกรองของเสีย ขยะและสิ่งปฏิกูล ไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ช่วยเพิ่มพื้นที่ชายฝั่ง เป็นเขตแนวหน้าช่วยลดความรุนแรงของคลื่นลม ช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง

นอกจากนี้ป่าชายเลนยังเป็นเกราะธรรมชาติช่วยป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคลื่นยักษ์สึนามิได้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่าง การเกิดเหตุการณ์สึนามิพัดถาโถมถล่มพื้นที่ 6 ในจังหวัดอันดามันในเมืองไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

ผลปรากฏว่าชุมชน สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ทรัพยากรป่าชายเลนกลับได้รับความสูญเสียเพียงน้อยนิดไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นเพราะธรรมชาติได้สรรค์สร้างให้ป่าชายเลนมีพันธุ์ไม้ที่มีระบบรากอันเข้มแข็ง โดยเฉพาะกับต้นโกงกาง ซึ่งมีรากเป็นเครือข่ายอันแข็งแรงแน่นหนา เป็นดังตัวค้ำยันชั้นดี ที่ช่วยลดแรงกระแทกอันถาโถมของคลื่นยักษ์ได้เป็นอย่างดี
ปูก้ามดาบชีวิตน้อยๆที่มีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในผืนป่าชายเลน
ไม่เพียงเท่านั้น จากการสำรวจหลังการเกิดสึนามิในเมืองไทยพบว่า พื้นที่ที่มีป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ถูกคลื่นยักษ์ทำลาย ได้รับความเสียหายกินความลึกจากชายฝั่งเข้าไปไม่เกิน 40 เมตร ผิดกับบริเวณชายหาดทั่วไปที่ไม่มีป่าชายเลน ซึ่งนอกจากจะได้รับความเสียหายเป็นปริมาณมากแล้ว ยังกินลึกจากชายฝั่งเข้าไปหลายร้อยเมตร นั่นจึงทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หลังป่าชายเลนได้รับผลกระทบจากสึนามิเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ป่าชายเลนยังมีความสำคัญทางอ้อมอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นห้องเรียนธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่เปิดให้ผู้สนใจได้เข้าไปท่องเที่ยวเรียนรู้อยู่มิรู้เบื่อ
เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนไว้ไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้
อย่างไรก็ตามแม้ป่าชายเลนจะมีคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากมาย เป็นดังเกราะธรรมชาติที่ช่วยป้องกันภัยสึนามิ แต่ปัจจุบันแนวเกราะธรรมชาติที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ กลับถูกทำลายโดยน้ำมือมนุษย์อย่างน่าเป็นห่วง สำหรับในเมืองไทยจากเดิมที่เคยมีป่าชายเลนราว 2.3 ล้านไร่ในพ.ศ.2504 ปัจจุบันถูกทำลายลงไปมากเหลือเพียงประมาณ 1 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องช่วยกันปกป้องอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนเอาไว้ให้คงอยู่คู่โลกตลอดไป

…………………………

“ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกางเป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ได้ค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือกรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทานและกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ๆเหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2534
กำลังโหลดความคิดเห็น