ASTVผู้จัดการออนไลน์—นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียงงงันกับสัตว์ตระกูลกบ ที่เพิ่งพบใหม่เอี่ยมและพบเพียงแหล่งเดียวในภาคใต้เวียดนาม อีกทั้งเริ่มไม่แน่ใจว่าจะจัดเข้ากลุ่มครึ่งบกครึ่งน้ำได้หรือไม่ กว่าจะจับตัวเป็นๆ ไปศึกษาทำความรู้จักได้ ก็ใช้เวลานานนับปี เนื่องจากมันเป็นกบที่ "บินได้"
นักวิทยาศาสตร์ขนานนามของสัตว์ชนิดใหม่นี้ว่า "ปาดแดร็กคิวล่า" ตามชื่อของท่านเค้าน์ผีดิบดูดเลือดในตำนานแห่งแคว้นทรานซิลวาเนีย
เจ้าปาดผิดิบตัวนี้จะกางเท้าที่มีพังผืดพับเก็บซ้อนๆ กันออกเป็นแผ่น ทำหน้าที่เสมือน "ปีก" ทำให้มันบินร่อนจากยอดสูงของต้นไม้ จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้พวกมันรอดพ้นจากนักล่าในธรรมชาติ ทางภาคพื้นดิน ขณะเดียวกันก็หลบหลีกพวกนักล่าทางอากาศได้อย่างว่องไว
แต่นอกเหนือไปจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพากันงุนงง หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre) รายงาน
ฉายา "แดร็กคิวล่า" ตั้งขึ้นตามลักษณะของลูกอ๊อดหรือตัวอ่อนของมันที่มีลักษณะประหลาดไม่แพ้พ่อแม่ คือ มี "เขี้ยว" สีดำงอกออกมาจากสองมุมปาก ซึ่ง ดร.โจดี โรว์ลีย์ (Jodi Rowley) นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ออสเตรีย ผู้ค้นพบกล่าวว่า เป็นครั้งแรกในโลกที่พบลูกอ๊อดมีเขี้ยว
"เป็นที่แน่นอนว่า เรายังไม่รู้อะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับพวกนี้ เราใช้เวลาเยอะมากในการศึกษาหาต้นตอว่า เหตุไฉนและมีความจำเป็นอะไรมากมาย เจ้าตัวเล็กจึงต้องมีเขี้ยว" ดร.โรว์ลีย์กล่าว ทั้งตั้งข้อสังเกตว่ามันอาจจะเกี่ยวกับอาหารที่กิน แต่ก็ยังไม่ทราบอยู่ดีว่า ปาดพันธุ์ประหลาดนี้กินอะไรบ้าง
หลายคนอาจจะคิดว่า ปาดแดร็กคิวล่าก็คงเหมือนๆ ปาดทั่วไปที่พบตามหนองบึง หรือที่ชื้นแฉต่างๆ หรือ ตามสุมทุมพุ่มไม้เตี้ยๆ หรือบางทีก็ไปเกาะตามฝาบ้านเรือนของผู้คนเพื่อรอดักแมลงเป็นอาหาร แต่สำหรับพวกนี้..เปล่าเลย..
นักวิทยาศาสตร์กับทีมงานพบปาดแดร็กคิวล่า บนต้นไม้ใหญ่ ตัวผู้กับตัวเมียจะผสมพันธุ์กันในโพรงไม้เล็กๆ ตามกิ่งหรือลำต้นที่มีน้ำขัง ตัวเมียวางไข่ในนั้น และ ลูกอ่อนจะเติบโตในนั้นเพื่อดำเนินวัฏจักรแห่งชีวิตต่อไป โดยยังไม่ทราบว่ามันกินอะไรกัน
แต่บางทีเขี้ยวของเจ้าตัวเล็ก "อาจจะเกี่ยวกับสิ่งที่พวกมันกินบนนั้นก็ได้" ดร.โรว์ลีย์กล่าว
ยังไม่ทราบเช่นกันว่า เพราะเหตุใดปาดพวกนี้จึงขึ้นไปอาศัยอยู่ตามกิ่งสูงของต้นไม้หรือมีวิวัฒนาการมาอย่างไร บรรพบุรุษของพวกนี้ อพยพจากหนองบึงขึ้นไปปักหลักบนต้นไม้ใหญ่ตั้งแต่เมื่อไร และ ด้วยเหตุใด
อนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเป็นแหล่งทีมีความสมบูรณ์ทางชีวะนานาพันธุ์ไม่แพ้ภูมิภาคอื่นใดในโลก ก่อนสิ้นปี 2533 กองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลกหรือ WWF ได้ประกาศการค้นพบประชากรใหม่ๆ อีกหลายชนิดซึ่งรวมทั้งงูที่ไม่มีเขี้ยว กับเขียดที่เสียงร้องเหมือนจิ้งหรีด ที่พบในภาคเหนือเวียดนาม
ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการค้นพบนกปรอดหัวโล้นที่ร้องเพลงไพเราะเกี้ยวสาวในเขตภูเขาหินปูนภาคกลางของลาว แต่ทำไมต้องหัวโล้น? ยังไม่มีคำตอบเช่นกัน.