ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ลูกจระเข้พันธุ์สยามจำนวน 10 ตัว จากทั้งหมด 13 ตัวที่เกิดในป่าสงวน จ.เกาะกง กัมพูชา กำลังโตวันโตคืน ในภาพที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ในสัปดาห์นี้ ทั้งหมดเกิดในธรรมชาติ ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า
เจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าเปิดเผยก่อนหน้านี้ ว่า ทั้งหมดกำลังถูกกักบริเวณไว้ในอาณาเขตที่พบและฟักออกมาเป็นตัว ภายใต้การดูแลของแม่จระเข้ ทั้งหมดจะถูกปล่อยออกสู่ธรรมชาติเมื่อเติบโตและสามารถช่วยตัวเองให้พ้นจากนักล่าได้
เจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์จระเข้ในกัมพูชา (Cambodian Crocodile Conservation Programme) ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การพืชและสัตว์ระหว่างประเทศหรือ Fauna & Flora International ได้ร่วมกับ Community Crocodile Wardens เข้าไปสำรวจพื้นที่ในเขตหุบเขาอาแร็ง (Areng) เทือกเขาพนมกระวัญ (Phnom Kravanh) และพบไข่จระเข้จำนวน 22 ฟองในปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
เป็นที่ทราบกันดีว่าที่นั่นเป็นแหล่งอาศัยใหญ่ที่สุดของจระเข้พันธุ์สยาม (Crocodylus siamensis) และ วันที่ 3 มิ.ย.ไข่จำนวน 13 ฟอง ฟักเป็นตัวอ่อนออกมา
ทั้งสองหน่วยงานเข้าไปในหุบเขาอาแร็ง เพื่อตรวจดูเขตวางไข่ของจระเข้ เนื่องจากเกรงจะถูกน้ำท่วม หรือถูกสัตว์ชนิดอื่นรังควาน ที่นั่นอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 400 กม.
เจ้าหน้าที่ได้ตัดสินใจเคลื่อนย้ายไข่จำนวน 15 ฟอง ไปยังรังแห่งใหม่ที่จัดทำขึ้นให้พ้นจากน้ำท่วม โดยมีเจ้าหน้าที่ของ CCW จากหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงไปเฝ้าระแวดระวังตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นทีมงานยังติดตั้งกล้องถ่ายภาพอัตโนมัติไว้ที่รัง
.
.
FFI เชื่อว่า จระเข้สยาม ซึ่งเพียงไม่ถึงครึ่งศตวรรษก่อนหน้านี้ พบเห็นได้ทั่วไปในลำน้ำลำธาร หนองบึงและแหล่งชื้นแฉะที่มีน้ำซับ ทั่วแผ่นดินใหญ่เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การสำรวจเมื่อปี 2543 พบว่ามีเหลืออยู่ธรรมชารติเพียงประมาณ 250 ตัว เท่านั้น
จระเข้มีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลธรรมชาติในหนองบึงและลำน้ำ ธรรมชาติสร้างจระเข้ขึ้นมาให้เป็นผู้ควบคุม ปลาใหญ่ซึ่งเป็นนักล่า จระเข้สยามไม่ใช่จระเข้พันธุ์กินคน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดนี้เหยื่อตัวเล็กกว่านั้นมาก นอกจากปลาแล้วก็เป็นพวกงู และหนูตัวโตๆ ทั้งหลาย
ป่าในเขตเขากระวัญของกัมพูชาเป็นแหล่งอาศัยใหญ่สุดท้ายของจระเข้พันธุ์นี้ สงครามได้ทำให้พวกมันรอดพ้นจากนักล่า แต่ในยามสันติจระเข้สยามถูกคุกคามอีกครั้งหนึ่ง ทั้งจากการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าเพื่อเอาหนังกับเนื้อส่งขาย ขณะที่การขยายพันธุ์ล่าช้ามาก
ตามข้อมูลของ FFI จระเข้สยามใช้เวลาถึง 15 ปี ในการพัฒนาไปสู่วัยเจริญพันธุ์ การช่วยเหลือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และการอนุรักษ์ในกัมพูชาดำเนินมาตั้งแต่ปี 2544
.