เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ถึง 163 ชนิดในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แห่งดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดนั้นกลับตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเพราะสภาวะโลกร้อน ทั้งนี้เป็นการรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัตว์ใหม่ที่ค้นพบนี้ มีทั้งกบที่กินนกเป็นอาหาร นกที่เดินมากกว่าบิน และตุ๊กแกที่หน้าตาประหลาดคล้ายเอเลี่ยน ซึ่งสัตว์ลักษณะแปลกๆ เหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ในรายงาน "สัตว์ที่เผชิญกับการสูญพันธุ์" ของกลุ่มนักอนุรักษ์
รายงานฉบับนี้จะถูกนำไปเป็นประเด็นในการหารือระหว่างการประชุมของสหประชาชาติในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ สัปดาห์หน้า ก่อนที่จะนำไปสู่การประชุมสมัชชาสามัญที่กรุงโคเปนเฮเกน ในเดือนธ.ค. ต่อไป
"สัตว์บางสายพันธุ์สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แต่บางสายพันธุ์ไม่ ซึ่งจะทำให้สัตว์เหล่านั้นสูญพันธุ์ได้" นายสจ๊วต แชปแมน (Stuat Chapman) ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกสาขาลุ่มแม่น้ำโขง กล่าว
"สัตว์หายาก อยู่ในภาวะเสี่ยงต่ออันตราย และมีอยู่เฉพาะถิ่นเช่นพวกสัตว์ที่ค้นพบนี้สามารถสูญพันธุ์ได้ง่ายเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านั้นมีจำกัดมากยิ่งขึ้น" นายแชปแมน กล่าว
สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบในปี 2551 ประกอบด้วย พืช 100 ชนิด ปลา 28 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 18 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 14 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 ชนิด และนกอีก 1 ชนิด ซึ่งครอบคลุมอยู่ในบริเวณพื้นที่ของประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และมณฑลหยุนหนัน ของประเทศจีน
หนึ่งในสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบ คือ กบมีเขี้ยวกินนกเป็นอาหาร ที่ยังคงซุกซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนของไทย ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีจริงจากนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปศึกษาในพื้นที่ป่าเป็นเวลานานกว่า 40 ปี
งูพิษลายพาดกลอน ที่ค้นพบอย่างไม่ตั้งใจบนเกาะนอกชายฝั่งในทะเลอ่าวไทยของเวียดนาม ในสถานการณ์ที่ลูกชายของนักวิจัยเกือบจะถูกฉกเข้าที่แขน หลังจากที่ออกตามหาจิ้งเหลน
"ในคราวที่ออกสำรวจตอนนั้นเราจับได้ทั้งงูและตุ๊กแก ซึ่งตรวจสอบแล้วว่าเป็นชนิดใหม่ทั้งคู่" นายลี กริสเมอร์ (Lee Grismer) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลาเซียร่า แคลิฟอร์เนีย กล่าวในรายงาน
ตุ๊กแกลายเสือดาว ถูกพบบนเกาะอีกแห่งหนึ่งของเวียดนามเช่นกัน มีลักษณะของสีสันคลายเสือดาวและปนด้วยสีส้ม มีดวงตาเหมือนแมว และมีขายาวเก้งก้าง
นอกจากนั้นยังพบนกชนิดใหม่ที่อยู่กันเป็นฝูงเล็กๆ จะบินได้ต่อเมื่อตื่นตกใจและบินในระยะสั้นๆ เท่านั้น พบในบริเวณชายแดนจีนติดกับเวียดนาม
ในเดือน ธ.ค.2551 นักวิทยาศาสตร์ลาวกับนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียได้พบนกปรอดหัวเหน่งที่เสียงร้องของมันไพเราะยิ่ง และจับตัวเป็นๆ ได้เป็นครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่านับเป็นการพบครั้งสำคัญในรอบ 100 ปีทีเดียว หลังจากเคยเชื่อกันว่าสูญพันธุ์จากโลกนี้ไปแล้ว
นกปรอทหัวเหน่งมีลักษณะพิเศษหลายอย่างที่นกชนิดอื่นๆ ไม่มี อาศัยอยู่ในเขตภูเขาหินปูนในภาคกลางของลาว
ในเวียดนามช่วงหลายปีมานี้มีการค้นพบลิงหางยาวกับพวกค่างหน้าตาแปลกๆ อีกหลายสายพันธุ์ในเขตป่าภาคกลางกับภาคเหนือเวียดนาม มีการค้นพบนากหน้าขนขนาดใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยในระหว่างปี 2540-2550 นั้น มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่มากถึง 1,068 ชนิดด้วยกัน
แต่ในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมและสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากสภาวะโลกร้อนได้ทำให้ระดับน้ำทะเลและปริมาณของน้ำเค็มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระทบโดยตรงกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตหายากเหล่านี้
WWF ต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญของปัญหาการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหายากเหล่านี้โดยจะนำเข้าเป็นวาระหนึ่งในการประชุมของสหประชาชาติในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ระหว่างการประชุมในกรุงเทพฯ ในวันที่ 28 ก.ย. นี้
ในเดือน ธ.ค. ผู้นำจากทั่วโลกจะเข้าร่วมการประชุมใหญ่ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กเพื่อร่วมตกลงในการตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศปี 2555 หลังจากที่พิธีสารเกียวโตจะหมดวาระลง.