ศาลพิพากษาจำคุก แพทย์ รพ.พระมงกุฎฯ เปิดคลินิกรักษาไฝและถุงใต้ตา โดยฉีดยาชา ก่อนผ่าตัด เป็นเหตุให้คนไข้เสียชีวิต เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 1 หมื่น โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลมีคำพิพากษาในคดีที่นางจิราภา นภีตะภัฎ เป็นโจทก์ฟ้อง พ.อ.นพ.ประสงค์ ล้อมทอง แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎ เป็นจำเลยฐานประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ประสงค์คลินิก เลขที่ 1781 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เขตห้วยขวาง กทม. เมื่อวันที่12 ก.ย.2551
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า นายจารุจินต์ นภีตะภัฎ อายุ 58 ปี สามีโจทก์ เป็นข้าราชการ ซี 9 ไปพบจำเลยที่คลินิก เพื่อผ่าตัดไฝและถุงไขมันบริเวณใต้เปลือกตาซ้าย เนื่องจากทำให้มองเห็นไม่ชัด ต่อมาจำเลยได้ให้การรักษา โดยฉีดยาชาบริเวณที่ผ่าตัดทำให้นายจารุจินต์มีอาการชัก หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โจทก์ให้จำเลยรับผิดชอบ แต่จำเลยอ้างว่าได้รักษาไปตามปกติ และผู้ตายเสียชีวิตเองไม่ได้เกิดจากการรักษา
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นแพทย์ มีหน้าที่ระมัดระวังในการรักษาพยาบาล กลับไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยประมาท พิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท ปัจจุบันจำเลยมีตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกฎเกล้า เป็นแพทย์มีหน้าที่การงานช่วยเหลือเอื้ออาทรผู้อื่นมาตลอด 30 ปี และไม่เคยกระทำผิดมาก่อน โทษจำคุกให้เป็นรอลงอาญา เป็นเวลา 2 ปี
นางจิราภาโจทก์เผยว่า ตนยื่นฟ้องร่วมกับพ่อและแม่ผู้ตาย จำเลยเป็นแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎ แต่ออกมาเปิดคลินิกเกี่ยวกับศัลยกรรม ข้างนอก สามีตนมีอาการมองไม่ชัด เพราะมีไฝ เลยไปหาหมอ เพื่อผ่าไฝ ซึ่งใครๆ ก็ไปผ่า ถ้าอายุ 50 ปี ส่วนใหญ่จะเป็น แต่ไม่เคยมีใครตายเพราะเรื่องแค่นี้ แต่จำเลยไม่ยอมรับว่าทำให้สามีตนตาย ซึ่งตนพอใจคำพิพากษาและไม่อุทธรณ์อีก เพราะตนต้องการให้เป็นที่ประจักษ์ว่าสามีตนตายเพราะการกระทำโดยประมาทของแพทย์ และตนได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท เป็นค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ โดยจะเอาผลคดีอาญาไปนำสืบในคดีแพ่งต่อไป
สำหรับประวัติ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ จากวิกีพีเดีย ระบุว่า เกิดเมื่อปี พ.ศ.2493 ที่ริมคลองบางซื่อ กรุงเทพฯ จบการศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จบปริญญาโทด้านกีฏวิทยา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีนิสัยชอบศึกษาสิ่งมีชีวิตต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก
ขณะศึกษาอยู่ปริญญาโทได้มาช่วยงานกับนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติไทย มีผลงานด้านการอนุกรมวิธานสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้ง พืช แมลง นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พร้อมทั้งงานวิจัยและเขียนหนังสือรวบรวมรายชื่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ จำนวนหนึ่งและได้ตั้งชื่อเป็นชื่อของตัวเอง
โดยตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งงานสุดท้ายที่ตั้งใจจะทำแต่ไม่สำเร็จ เพราะเสียชีวิตเสียก่อน คือการออกหนังสือรวบรวมรายชื่อนกทั้งหมดที่พบในประเทศไทย ชื่อ Birds of Thailand