นอกจากการออกมาป่วนบ้านป่วนเมืองของม็อบเสื้อแดงจะทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวไทยสะดุดแล้ว “ภัยแล้ง”นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระเทือนต่อการท่องเที่ยวไทยเช่นเดียวกัน
จากกรณีที่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เริ่มเข้าประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้มากกว่าทุกปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไปในหลายๆด้าน ไม่เว้นแม้แต่ด้านการท่องเที่ยวเอง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้เช่นกัน
ที่เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันในวงกว้าง คือ แถบจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง แม่น้ำใหญ่ที่หล่อเลี้ยงหลายประเทศ ที่มีระดับน้ำลดฮวบลง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี
ร้อนแล้ง แหล่งท่องเที่ยวดัง ยอดวูบ
เมื่อทั้งร้อนและแล้งแบบนี้ จึงทำให้ในหลายๆพื้นที่ ห่างหายจากนักท่องเที่ยวที่เคยมาเยือนไปโดยปริยาย พิทักษ์ไชย สิงห์บุญ ประธานกลุ่มเชียงคานฮักเมือง กล่าวถึงผลพวงของแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องประสบปัญหาจากภาวะความแห้งแล้งในเขตอ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาแรง ว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในเขต อ.เชียงคานแห้งมาก ถึงขั้นเห็นโขดหินโผล่กลางแม่น้ำโขง จัดได้ว่าแห้งมากกว่าทุกปี
“คนเชียงคานที่มีบ้านอยู่ติดแม่น้ำโขง เขาเห็นได้ชัดเลยว่าปีนี้น้ำลดลงกว่าทุกปี จะดีกว่าตรงจ.หนองคาย อยู่บ้าง ที่ยังไม่ถึงขั้นเห็นตอหม้อสะพาน และเพราะสถานการณ์ภัยแล้งที่ยังไม่หยุด ทำให้ตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเชียงคานลดลง ปกติช่วงวันหยุดคนเยอะ100% เต็ม แต่ตอนนี้ลดลงไปครึ่งหนึ่ง”ประธานกลุ่มเชียงคานฮักเมืองเล่า
พิทักษ์ไชย ยังเล่าต่ออีกว่า ขณะนี้เพราะผลกระทบจากความแห้งแล้ง ผู้ประกอบการก็มีการแย่งลูกค้ากันเอง เพราะผู้ประกอบในเชียงคาน บางรายก็ไปกู้หนี้ยืนสินมาเพื่อบริหารงาน เมื่อไม่มีลูกค้าก็เกรงว่าจะอยู่กันไม่ได้ จึงต้องทำทุกวิถีทางให้ได้ลูกค้าในช่วงแล้งนี้
“ปกติบ้านเก่าบริเวณถนนชายโขง มีเอกลักษณ์ที่น่าอยู่ คือ ความเย็นสบายทำให้ผู้มาเยือนดูวิวแม่น้ำโขงแล้วเพลิน แต่ตอนนี้อากาศเริ่มเปลี่ยนร้อนจัดขึ้น ทีนี้เกสเฮ้าส์หรือห้องพักของผู้ประกอบการที่ติดพัดลมก็จะเสียเปรียบ เพราะนักท่องเที่ยวนิยมเลือกพักในห้องแอร์มากกว่า มันกระทบไปถึงเรื่องไฟฟ้าที่เมื่อใช้มากเกิน เทศบาลก็เตรียมไฟให้ไม่พอ กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหา”พิทักษ์ไชยกล่าว
ในส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะความแห้งแล้งของลำน้ำโขง มาจากผลพ่วงจากการที่จีนปิดเขื่อนเก็บกักน้ำโขงไว้ใช้นั้น พิทักษ์ไชยยังมองในทางที่ดีว่า เป็นเพราะเรื่องที่ฝนมันไม่ตก ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตะวันออกเฉียงเหนือไม่เต็มที่ก็ทำให้น้ำไม่พอ หรือ อาจจะเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอาจจะแกนโลกเอียงทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ ตรงเหนือจีนไม่ละลายตรงตามเวลา
“ ถึงจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวบ้าง แต่พอน้ำลงคนเชียงคาน โดยเฉพาะชาวประมง กลับหาปลาได้ดี เพราะน้ำแคบลง แค่เหวี่ยงแหก็ได้ปลาแล้ว แต่สำหรับชาวสวนเขาคงเห็นตรงข้ามกับชาวประมง เพราะคนที่ทำสวนผักริมแม่น้ำเขาต้องเดินไกลขึ้นเอหาน้ำมารดผัก”
เชื่อ...ผลพ่วงจากเขื่อนจีน
ส่วนทางด้านของ มิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กลุ่มคนเล็กๆในอ.เชียงแสน ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ อนุรักษ์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนเชียงแสน เป็นอีกคนหนึ่งที่ใส่ใจต่อภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะปัญหาจากภาวะน้ำโขงลดระดับ
ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสนกล่าวว่า ตอนนี้ถือว่าวิกฤติสุด เรายังไม่เคยเจอน้ำโขงลดลงในระดับนี้มาก่อน เราเคยเจอครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2540 ตอนที่จีนปิดเขื่อนครั้งแรก ก็เริ่มปรากฏระดับน้ำแห้งลง แต่ในปีนี้ก็คือระดับมันต่ำกว่าในระดับปี2540
“ที่มันเปลี่ยนแปลงไปที่เราเห็นชัดที่สุด คือ การท่องเที่ยวเพราะว่าเชียงแสน ถูกผลักดันให้เป็นเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่มีความผูกพันกับแม่น้ำโขงโดยประวัติศาสตร์มายาวนาน แล้วทีนี้ระดับน้ำโขงที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเราจะมีเรือรับ- ส่งผู้โดยสาร แต่พื้นที่ชายฝั่งตอนนี้มันเป็นสันดอนทรายยาวออกไปเลยกึ่งกลางแม่น้ำโขงเดิม เพราะฉะนั้นมันมีแต่ทราย ทำให้ในเรื่องของจุดที่นำชมนักท่องเที่ยวมันก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตร ที่เวลาเราพานักท่องเที่ยวไป ก็มีการชมในเรื่องของวิถีชีวิตริมฝั่งตรงนี้มันก็หายไป”มิติ กล่าว
ดังนั้นเรือที่สามารถวิ่งในแม่น้ำโขงของ อ.เชียงแสนได้ในขณะนี้ จึงเป็นเรือท่องเที่ยวสั้นเท่านั้นส่วนเรือท่องเที่ยวระยะยาว ตอนนี้ “งด” ในส่วนของเจ้าหน้าที่ทำงานตามท่าเรือขนส่งสินค้า ก็ต้องหยุดงานไปโดยปริยายเช่นกัน ตอนนี้ประชากรส่วนหนึ่งก็ว่างงาน เรื่องของงานขนถ่ายสินค้า พวกแรงงานท่าเรือ ตอนนี้ไม่มีเลย
“บางคนอาจจะมองว่าน้ำโขงลดลงแก่งหินโผล่เป็นเรื่องที่ดี จะได้มีคนมาเที่ยวชมแก่งหินและสันดอนทรายที่มองแล้วเหมือนทะเลทราย เวลาเราอยู่บนฝั่งดูจะสวย แต่เรือเขาจะไม่กล้าวิ่ง เพราะวิ่งไปก็ติดหิน ติดทราย สันดอนทรายที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่า ทรายเมื่อถูกแดดมันก็ร้อนแล้วมันก็หอบเอาไอร้อนมาด้วย ปกติมันก็อยู่ใกล้ๆฝั่งทราย มันก็เย็นมีความเย็นสบาย แต่ตอนนี้มันไปไกลมากประมาณสามกิโลเมตรจากฝั่งลดไปดูก็ร้อนไม่มีใครสนใจเที่ยวชมหรอก แล้วช่วงนี้ยังเพิ่มเรื่องปัญหาหมอกควันที่ยังไม่เบาบางเพิ่มมาอีก คนเลยไม่มีใจมาเที่ยว”มิติ กล่าวถึงผลกระทบจากความแห้งแล้งให้ฟัง
และถึงแม้ว่าเมื่อวันที่11 มีนาคม ที่ผ่านมา นายเฉิน เต่อ ไห่ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองและข่าวสาร สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย จะได้ออกมาแถลงปฏเสธแล้วว่าทางการจีนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องระดับน้ำโขงลดลง อันเนื่องมาจากเขื่อนในจีนทั้ง 3แห่ง คือ ม่านวาง ต้าเฉาชานและจิงหง ก็ตาม โดยเฉพาะเขื่อน “จิงหง” ที่อยู่เหนือเขต อ.เชียงแสน เพียง200กิโลเมตรเท่านั้น
ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน ก็ยังมองว่า สำหรับคนเชียงแสน ที่อยู่กับแม่น้ำโขงมาตลอด เขาจะเห็นระดับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ระบุได้เลยว่าสาเหตุหลักมาจากเขื่อน เพราะว่าในช่วงเวลาเพียงวันเดียวน้ำขึ้น 30 เซนติเมตร แล้วก็ลงไป 40 เซนติเมตร ในช่วงเวลาข้ามวันข้ามคืน มันไม่ใช่เหตุการณ์ปกติโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แล้วปริมาณน้ำจากจีนที่เข้าสู่เชียงแสน เป็นแม่น้ำโขงที่มาจากจีนประมาณ 80-90% ที่ได้รับน้ำจากจีนโดยตรง เพราะว่าช่วงนี้มีแม่น้ำที่จะไหลเข้ามาสมทบกับแม่น้ำโขงน้อยมาก ไม่เหมือนกับไปทางลาว ที่มีน้ำหลายสายเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยงแม่น้ำโขง
“ก่อนหน้านี้มีช่วงที่จีนเขายอมปล่อยน้ำ เพราะว่าเรือสินค้าส่วนหนึ่งที่จะขึ้นไปส่งสินค้าที่จีนจอดรออยู่ ไม่สามารถที่จะขึ้นไปได้ เขาก็มีความพยายามที่จะเอาสินค้าขึ้นไปให้ถึงประเทศเขา เพราะเรือเขามาจอดรอร่วมเดือน ค่าใช้จ่ายในส่วนของเรือก็บานปลาย”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน ตั้งข้อสังเกต
ในวิกฤตยังมีโอกาส
และถึงแม้ว่าภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในหลายๆแห่ง แต่ก็ยังมีบางแห่งที่สามารถ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ดังที่ “พระธาตุหล้าหนอง” หรือ “พระธาตุกลางน้ำ” ใน อ.เมือง จ.หนองคาย
ซึ่งตามหนังสืออุรังคธาตุ หรือ ตำนานพระธาตุพนม ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุหล้าหนองว่า พระธาตุองค์นี้ สร้างโดยพระอรหันต์ 5 องค์ ประกอบด้วย พระมหารัตนเถระ พระจุลรัตนเถระ พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ พระจุลสุวรรณปราสาทเถระ และพระสังฆวิชัยเถระ ที่ล้วนเป็นศิษย์พระพุทธรักขิต พระธรรมรักขิต พระสังฆรักขิต พระอรหันต์ทั้ง 3 องค์
พระธาตุองค์นี้มีขนาดใกล้เคียงกับองค์เจดีย์พระธาตุพนม อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งบริเวณวัดธาตุแห่งนี้มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ และตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง พอถึงฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงที่ไหลเชี่ยวกรากจะกัดเซาะตลิ่งบริเวณวัดธาตุจนพังทลายหายไป
ตามประชุมพงศาวดาร ภาค 70 ได้บันทึกไว้ว่า น้ำโขงกัดเซาะตลิ่งพังเข้าไปจนถึงองค์พระธาตุหล้าหนอง และพระธาตุได้พังลงในแม่น้ำโขง เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 เวลาใกล้ค่ำ ร.ศ.66 จ.ศ.1209 พ.ศ.2309
ปัจจุบันจมอยู่กลางแม่น้ำโขง องค์พระธาตุจมอยู่กลางแม่น้ำโขงห่างจากฝั่งไทย 180 เมตร องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน ล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉาก โดยด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน องค์พระธาตุมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นชั้นฐานเขียง 2 ชั้น ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จต่อขึ้นมาอีก 4 ชั้น จึงเป็นเรือนธาตุ ต่อด้วยบัวลูกแก้วอีก 2 ชั้น ความสูงของเจดีย์เฉพาะส่วนที่สัมผัสได้ 12.20 เมตร ความกว้างของฐานองค์พระธาตุชั้นล่างสุด 15.80 เมตร
ในปีนี้เพราะภาวะแห้งแล้ง ทำให้องค์พระธาตุที่จมน้ำ โผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เห็นมากกว่าทุกปี จึงมีนักท่องเที่ยวและผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในองค์พระธาตุ ว่าจ้างเรือจากริมฝั่งโขง ให้พาไปไหว้พระธาตุกลางน้ำแห่งนี้สร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้านละแวกนั้นจำนวนไม่น้อย
แต่หากขจัดทุกข์จากปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลานั้น บรรดานักท่องเที่ยวคนจะมีใจเที่ยวกันได้อย่างสุขกาย สบายใจมากกว่านี้