เชียงราย – น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติที่ยาวอันดับ 10 ของโลก ยังไม่หยุดแห้งเหือด ล่าสุดเหลืออีกแค่ 37 ซม.ก็จะหลุดจากมาตรวัดกลางแล้ว ด้านเครือข่ายลุ่มน้ำฯจ่อยื่น”อภิสิทธิ์” ชง MRC-จีนแก้วิกฤตน้ำโขงแห้ง
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงตกอยู่ในสภาพเหือดแห้งลงอย่างมากในรอบชั่วอายุคนตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ได้สร้างปัญหาให้แก่ผู้คนตลอดแนวลุ่มน้ำทางตอนใต้ในทุกมิติ โดยภาคธุรกิจพบว่าเรือสินค้าในแม่น้ำโขง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือสัญชาติจีน แล่นไปมาระหว่างเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เข้ามายังชายแดนพม่า-สปป.ลาว จนมาถึงท่าเรือ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ ต้องหยุดไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับเรือท่องเที่ยวเกือบทุกประเภทที่ไม่กล้าแล่นออกจากฝั่ง เพราะเกรงจะเกยตื้น หรือใบพัดไปกระทบถูกตะกอนทรายหรือหินใต้น้ำจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ จึงเหลือเพียงเรือยนต์ช้าที่ให้บริการโดยสารคนลาวข้ามมายังฝั่งไทยคราวละ 1-2 คนเท่านั้น
“2-3 วันก่อนมีเรือสินค้าจีนออกจากเชียงแสน จะขึ้นไปเชียงรุ่ง หรือจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน แม้จะใช้เรืออีกลำบรรทุกรถแบ็กโฮ เพื่อขุดดอนทรายบริเวณหน้าโรงแรมโกลเด้นท์ไทรแองเกิ้ล พาราไดซ์รีสอร์ท แถบสามเหลี่ยมทองคำ ก็ยังไปไม่รอด จอดติดสันดอนทรายอยู่” ผู้ประกอบการเดินเรือไทย-จีน รายหนึ่งกล่าว
ขณะที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า ขณะนี้เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับลุ่มแม่น้ำโขง ได้รวบรวมปัญหา วิธีการป้องกันและแก้ไขวิกฤตแล้ว กำลังร่างหนังสือนำเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาผลักดันในทางปฏิบัติ ในฐานะไทยเป็นสมาชิกของคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ MRC (Mekong River Commission) ให้นำปัญหานี้มาประชุมหารือและชักจูงให้จีน ซึ่งไม่อยู่ใน MRC เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อประโยชน์ของทุกประเทศร่วมกันไม่ใช่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง
นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่าสิ่งที่เครือข่ายอยากเห็นจากรัฐบาลไทยและ MRC ทำ คือ การรวมพลังดึงประเทศจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ เพราะที่ผ่านมาประเทศจีนสร้างเขื่อนเอาไว้เหนือประเทศอื่นๆ มากถึง 4 เขื่อน คือ เขื่อนเสี่ยวหวาน ตั้งอยู่ตอนบนสุดของเขื่อนอื่นๆ ในแม่น้ำโขงสูง 300 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 4,200 เมกะวัตต์ ความจุอ่างน้ำกว่า 145,560 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม. ) เริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 ,เขื่อนมั่นวาน กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 1,500 เมกะวัตต์ ,เขื่อนต้าเฉาซาน ขนาด 1,350 เมกะวัตต์ และเขื่อนจิ่งหง ขนาด 1,500 เมกะวัตต์
เขาบอกว่า ที่น่าสงสัยคือ สมัยก่อนน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงเป็นธรรมชาติ ไม่แห้งมากเท่านี้ แต่หลังเปิดใช้เขื่อนราวปี 2538-2540 สภาพเริ่มเลวร้ายลง จนมาถึงการกักเก็บน้ำจากเขื่อนล่าสุดเมื่อปลายปี 2552 ปรากฏว่าต้นปี 2553 น้ำแห้งลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนกุมภาฯ ทั้งๆ ที่ตามปกติแม่น้ำโขงจะแห้งในช่วงเดือนเมษายน ทุกวันนี้องค์กรรัฐของเราบางฝ่ายก็ยังมาปกป้องอีกว่าแม่น้ำโขงแห้งครั้งนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากเขื่อนจีน
“คุณลองไปถามคนลุ่มแม่น้ำโขงทั้งที่เชียงราย อีสานหรือในลาว กัมพูชา เวียดนาม เขาดูบ้างสิว่า เขาเชื่อว่าที่แม่น้ำโขงแห้งนี้เกิดจากเขื่อนจีนหรือไม่” นายนิวัฒน์ กล่าว
ประเด็นสำคัญที่พวกเราต้องการที่สุดคือ อยากให้จีนเปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำ เพื่อการบริหารจัดการร่วมกับ MRC ทั้งในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง ซึ่งต้องการกักเก็บน้ำเอาไว้ ให้บอกมาว่าเมื่อสร้างเขื่อนเสร็จได้กักเก็บน้ำในฤดูต่างๆ เอาไว้เท่าไหร่ เพื่อคำนวณหาปริมาณน้ำที่เหลือ ซึ่งนั่นก็คือ น้ำที่ควรจะไหลลงสู่ประเทศใต้น้ำในช่วงฤดูแล้ง เพราะปัจจุบันไม่มีการปล่อยน้ำ แต่กักเก็บเอาไว้ทั้งหมด แล้วก็มีข่าวจากสื่อจีนว่าที่มณฑลหยุนหนัน ซึ่งเป็นสถานที่สร้างเขื่อนก็ประสบภัยแล้งเช่นกันจึงต้องกักเก็บน้ำ
“เราก็สงสัยว่าแล้วประเทศใต้น้ำก็เดือดร้อนเหมือนกัน พวกเขาไม่ใช่มนุษย์หรือ จึงไม่ได้รับการเอาใจใส่บ้าง”
ทั้งนี้หลังการยื่นหนังสือซึ่งคาดว่าจะดำเนินการในเร็วๆ นี้ เครือข่ายฯ คงจะรอฟังคำตอบ เพื่อจะได้ผลักดันกันต่อไปแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งก็ตาม
สำหรับผลการตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำโขง โดยอุทกวิทยา อ.เชียงแสน ระบุว่า ระดับน้ำในช่วงสัปดาห์นี้ วัดได้ต่ำสุดที่ อ.เชียงแสน อยู่ห่างจากระดับกลางที่ตั้งเอาไว้ 0.37 เมตร ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่วัดได้ลึกประมาณ 1.25 เมตรหรือลดลงเกือบ 1 เมตร จากระดับน้ำที่เหลือเพียงเล็กน้อยนี้ หากคงลดต่ำลงไปกว่ามาตรวัดอีก 37 ซม. ก็จะไม่สามารถตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากค่ากลางได้อีกเลย
ไทย-ลาวสำรวจระดับน้ำโขงพบต่ำสุดในรอบ 50 ปี
นายสังเวียน อังคุนันท์ พนักงานวัดระดับน้ำ ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับนายวิเชียร วงษ์สุวรรณ นักวิชาการสำรวจวัดระดับน้ำ กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ องค์การทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว และคณะ ได้ร่วมกันสำรวจวัดระดับน้ำโขง โดยนำเครื่องวัดปริมาณน้ำอัตโนมัติ หรือ ADCT และเครื่องวัดความเร็วกระแสน้ำ หรือเคอร์เร็นมิเตอร์ เป็นเครื่องมือสำหรับตรวจวัดระดับน้ำโขง ปริมาตรของน้ำ ความเร็วของกระแสน้ำที่ไหลในระยะเวลาที่กำหนด และเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจหาปริมาณตะกอนน้ำโขงที่ศูนย์อุทกวิทยา จ.ขอนแก่น โดยพบว่าร่องน้ำลึก ปริมาณน้ำโขงอยู่ที่ระดับ 4.60 เมตร แต่เป็นระดับที่สามารถเปลี่ยนได้ทุกสัปดาห์ เนื่องจากกระแสน้ำพัดพาทรายในแม่น้ำโขงเรื่อย ๆ และทำให้ร่องน้ำลึกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
สำหรับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทั้งหมดจะถูกส่งไปยังกรมทรัพยากรน้ำ และองค์การทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงพิจารณาจัดสรรวางแผนการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง และส่งต่อให้หน่วยงานข้างเคียงที่ประสงค์จะได้ข้อมูลปริมาณน้ำเพื่อใช้ในการบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
การวัดระดับน้ำโขงนี้เจ้าหน้าที่ของไทยและลาวจะร่วมกันออกตรวจวัดระดับเป็นรอบแผนปฏิบัติงาน 45-48 ครั้งต่อปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากและฤดูน้ำลดจะต้องเพิ่มความถี่ในการตรวจวัดระดับน้ำ ซึ่งไม่เฉพาะแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ทั้งแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขา ที่จะต้องสำรวจในลักษณะดังกล่าว
นายสังเวียน อังคุนันท์ พนักงานวัดระดับน้ำส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กล่าวว่า ปริมาณน้ำโขงในปีนี้ลดระดับลงเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งจากสถิติพบว่าช่วงเดือนเมษายน 2538 น้ำโขงมีปริมาณต่ำที่สุด 0.33 เมตร ส่วนปีนี้โอกาสที่น้ำโขงจะต่ำกว่า 0.33 เมตรมีสูง โดยขณะนี้ระดับน้ำโขงวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย วัดได้ 0.44 เมตร และคงที่ตลอดทั้งสัปดาห์ คาดว่ากลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนจะลดลงถึงจุดต่ำสุดและอาจต่ำสุดในรอบ 50 ปี