เมืองแฝด (town twining) หรือ เมืองพี่น้อง (sister cities) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองต่อเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นเมืองที่อยู่กันคนละประเทศ โดยจะมีความร่วมมือกันระหว่างเมืองหรือระหว่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ อาทิ การค้า การลงทุน ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเป็นต้น
สำหรับประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่เป็นเมืองแฝด เช่น กรุงเทพมหานคร ก็มีฐานะเป็นเมืองแฝดของหลายแห่ง ทั้งเมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เมืองฟุกุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น จ.เชียงใหม่ ก็มี เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เป็นเมืองแฝด และยังมีอีกหลายสิบเมืองของไทยที่มีการร่วมมือความสัมพันธ์ในรูปแบบของเมืองแฝดกับต่างประเทศ
แต่สำหรับที่จ.น่าน ซึ่งเดิมเคยมีฐานะเป็นเมืองแฝดกับหลวงพระบาง ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)นั้น ปัจจุบันดูจะล้ำหน้ากว่าเมืองแฝดอื่นๆ เพราะกำลังเดินหน้าเข้าสู่“เมือง 3 แฝด”ที่จะขอผนวกรวมเมืองเชียงรุ่ง(เชียงรุ่ง) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเข้ามา โดยมีน่านเป็นศูนย์กลาง
รู้เรื่องเมือง3แฝด
สำหรับแฝดแรกของเมือง3แฝดนี้ ขอเริ่มจากที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวพวกเราก่อนที่ "น่าน" เป็นแห่งแรก จ.น่าน ตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ประวัติศาสตร์เมืองน่านเริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ. 1825 ภายใต้การนำของพญาภูคา มีชื่อเรียกในพงศาวดารว่า นันทบุรี พื้นที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีประชากรหลายชาติพันธุ์ เป็นดินแดนของความหลากหลายอีกแห่งหนึ่งของประเทศ
เป็นจังหวัดในดินแดนล้านนาตะวันออกที่ยังรุ่มรวยทางด้านศิลปวัฒนธรรม มีสถานที่ท่องเที่ยวงดงามหลายแห่งโดยเฉพาะในตัวเมืองมีวัดที่มีชื่อเสียงอย่าง "วัดภูมินทร์" ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตเมือง (หัวแหวนเมืองน่าน)เป็นวัดที่มีภาพวาดฝาผนังอันงดงามเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างน่าน หนึ่งในความสัมพันธ์จากเชียงรุ่งสู่น่านที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันคือ "งาช้างดำ" ที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน เป็นบรรณาการที่ได้รับมาจากเมืองเชียงรุ่ง
จ.น่านมีชายแดนติดต่อกับประเทศ สปป.ลาว รวมเป็นระยะทาง 277 กม. และยังมีด่านสากล 1 แห่ง คือ ด่านบ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ การเดินทางผ่านด่านแห่งนี้ ไปถึงหลวงพระบาง ใช้ระยะเวลาเพียง152 กิโลเมตร สำหรับทางรถยนต์ ส่วนทางน้ำ 90 กิโลเมตร
ส่วนแฝดสอง อย่าง "หลวงพระบาง" หรือ เชียงทอง ตั้งอยู่ทางเหนือของสปป.ลาว อดีตเคยเป็นนครหลวงของอาณาจักรลานช้าง ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2538
หลวงพระบางมีทั้งวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย มีบ้านเรือนอันเป็นเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ ที่มีความผสมกลมกลืนระหว่างของเก่ากับของใหม่ ที่หล่อหลอมจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพระบาง
และแฝดสามคือ "เชียงรุ่ง"(เชียงรุ้ง) หรือ จิ่งหง ในภาษาจีน เมืองหลวงของสิบสองปันนา แต่เดิมที่ชื่อเต็มว่า อาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง ปัจจุบันเป็นเขตปกครองตนเองเมืองสำคัญในมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในประวัติศาสตร์ก็มีความหมายเป็นมาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ฉันท์บ้านพี่เมืองน้องกับ เชียงตุง เชียงใหม่ เชียงแสน และเชียงทอง( หลวงพระบาง ) มีการไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน และแลกเปลี่ยนสินค้ากันภาษาพูดและเขียนเดียวกัน เป็นที่รู้จักในนาม "เมือง 5เชียง"
จัดเป็นอาณาจักรที่เคยทรงอำนาจมากในเขตประเทศจีนตอนใต้ ทั้งยังขยายอิทธิพลไปตีเอาเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองเชียงตุง ของชาว ไทขึน หรือ ไทเขิน เมืองบางเมืองของอาณาจักรล้านช้าง เมืองแถง หรือ เมืองเดียนเบียนฟู ของชาวไทดำ เมืองเวียงคำแถนอาณาจักรภูแถนหลวง
ชื่อที่มาของเมืองเชียงรุ่ง มีตำนาน "พะเจ่าเหลบโหลก" อยู่ว่า เมื่อครั้งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงยังดินแดนริมฝั่งแม่น้ำของ(ภาษาลื้อเรียกน้ำของ ภาษาจีนเรียก หลานชาง คำว่าน้ำโขงจึงไม่มีในภาษาลื้อ) ของอาณาจักรชาวไทลื้อแห่งนี้ ก็เป็นเวลารุ่งอรุณของวันใหม่พอดี จึงเรียกแห่งนี้ว่า "เชียง" ที่แปลว่า "เมือง" และ "รุ่ง" ที่แปลว่า "รุ่งอรุณ" ว่า "เชียงรุ่ง" จึงแปลได้ว่าเมืองแห่งรุ่งอรุณอันสดใส
มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นของตนเอง ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมของพม่า ล้านนา สยาม ลาว และ เวียดนาม โดยแบ่งระบบการปกครองเป็น 12 พันนา 12000 พันนา หรือ 12 เขตการปกครอง โดยแต่ละเมือง จะมีเมืองเล็กๆหลายๆเมือง มารวมกันอยู่เมืองใหญ่ หรือ พันนา ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ การปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ เมืองเชียงรุ่ง
สาเหตุที่แบ่งเขตการปกครองเช่นนี้เพราะง่ายต่อการปกครองและการเก็บส่วยอากร เก็บเครื่องบรรณาการส่งไปยังเชียงรุ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงมีเขตแดนติดกับแขวงหลวงน้ำทาและแขวงพงสาลีของ สปป.ลาว
ความหมายเมือง 3 แฝด
ส่วนการเป็นเมืองแฝดจะมีความหมายสักเพียงใด ต่อผู้คนทั้ง 3 เมือง อ.สมเจตน์ วิมลเกษม ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่4 สาขาภาษาและวรรณกรรม โรงเรียนสตรีศรีน่าน ได้เล่าให้ฟังว่า ความเชื่อมโยงของเมืองทั้งสาม ตามประวัติศาสตร์น่าน เริ่มต้นที่ น่านเป็นแหล่งเกลือบกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ด้วยความที่เป็นเมืองค้าขายจึงต้องที่สายสัมผัสกับเมืองใหญ่ๆ น่านก็เลยใช้เกลือเป็นการเจรจาต่อรองทางการเมืองมาโดยตลอด
"ความสัมพันธ์ น่าน หลวงพระบาง เชียงรุ่งเกิดขึ้นเพราะเป็นเมืองที่การค้าร่วมกันและเป็นเมืองที่มีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกันในระดับราชวงศ์ อีกทั้งคนน่านบางส่วน ทก็มีกลุ่มที่อพยพมาจากสิบสองปันนาเชียงรุ่ง มาอาศัยอยู่ที่น่าน"อ.สมเจต์เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของความสัมพันธ์เมือง 3 แฝด
น่านในยุคสร้างเมืองสมัยพญาภูคา ตามพงศาวดารกล่าวว่า พญาภูคาได้ส่ง ท้าวนุ่น ขุนฟอง บุตรบุญธรรมทั้งสองคนไปสร้างเมือง เมืองหนึ่งคือวรนคร อ.ปัวปัจจุบัน อีกเมืองหนึ่งคือจันทบุรี หรือ หลวงพระบางปัจจุบัน เพราะหลวงพระบางสมัยนั้นถูกใช้เป็นสถานีค้ากับกลุ่มที่จะออกไปถึงเมืองที่อยู่ลึกเข้าไปได้ เป็นช่องทางหนึ่งที่จะระบายเกลือจากเมืองน่านได้
ทั้งสามเมืองไปมาหาสู่กันได้โดยอาศัยลำน้ำโขงเป็นตัวเชื่อม รวมทั้งอาศัยการนับถือพุทธศาสนา ความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน นอกจากการนับถือพุทธศาสนา สามเมืองนี้ก็นับถือผีแบบเดียวกัน ประเพณี อาหารการกิน การแต่งกาย การทอผ้า ตลอดจนการแข่งเรือก็เหมือนกัน การบอกโมงยาม การนับถือปี เดือน วัน เหมือนกันหมดทั้งสามเมือง
"ฉะนั้นการเป็นคู่แฝดไม่ได้หมายความว่าลักษณะของเมืองเหมือนกัน ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน แต่มันหมายถึง เมืองที่มีชาติพันธุ์เดียวกัน แทบเป็นเส้นสายการค้าเดียวกัน เพราะมีวัฒนธรรมร่วมกันอยู่ ฉะนั้นจากน่านไปหลวงพระบาง ออกจากด่านห้วยโก๋นก็ได้ เราจะเห็นว่าตลอดทางจะเห็นวัดวาอารามคล้ายคลึงกัน สำเนียงภาษาพูดก็อย่างเดียวกัน เราไปสิบสองปันนาการพูดไทยลื้อก็เหมือนกลุ่มลื้อใน บ้านหนองบัว อ.ปัว อ.ท่าวังผา" อ.สมเจตน์กล่าวถึงรูปแบบของเมืองแฝดสามให้ฟัง
ยุทธศาสตร์เมือง 3 แฝด
อ.สมเจตน์ยังได้เล่าถึงการที่ทางจ.น่าน เลือกที่จะใช้เรื่องของเมือง3แฝดเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในด้านการท่องเที่ยวเชื่อมสามเมืองนี้ โดยกล่าวว่า ขณะนี้ที่น่านวางยุทธศาสตร์แผนแรก คือ "น่านสู่มรดกโลก" เพราะต้องการกระตุ้นให้คนน่านมีจิตสำนึกและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของตนเองซึ่งมีอยู่แล้ว เป็นอัฒลักษณ์ของคนน่านเอง น่านยังเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต น่านกำลังพยายามเป็นเมืองตัวอย่างเรื่องการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของเรา ตอนนี้น่านมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและเชื่อว่าที่นี่เป็นลมหายใจสุดท้ายของล้านนาตะวันออก ที่ยังมีวิถีชีวิตเรียบง่าย
"ซึ่งในจุดนี้จะเห็นได้ว่า การเชื่อมสามเมืองเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการท่องเที่ยวหรือวัฒนธรรม ในความเป็นจริง น่านไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง"อ.สมเจตน์กล่าว
พร้อมทั้งยังมองว่า ในภาครวมต้องเป็นรัฐต่อรัฐ ความพยายามในเบื้องต้นคือสายสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น น่านจะต้องเชื่อมโยงให้ได้ เช่น เชิญเขาว่าแข่งเรือ เป็นการแข่งเรือนานาชาติ แต่ก็ติดที่ว่าจะเอางบประมาณที่ไหน ภาครัฐจะต้องช่วยอย่างไรในการที่ขาดตัวเชื่อมระหว่างท้องถิ่นสู่รัฐ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
"อย่างไรก็ตามน่านต้องรักษาความเป็นเมืองวัฒนธรรมเอาไว้ก่อน ในที่สุดสิ่งที่เชื่อมโยงกันได้ดีก็คือการแข่งเรือ สิบสองปันนาพายเรือเหมือนเมืองน่านพาย หลวงพระบางพายเหมือนเมืองน่านพาย มันคือเผ่าพันธ์ประเพณีวัฒนธรรมลุ่มน้ำเดียวกัน ถ้าตรงนี้เราทำสำเร็จมันก็จะเชื่อมเมือง3แฝดเข้าด้วยกัน ผมมองว่าการจะเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่าเอาเรื่องการค้าเข้าไปพูดให้เอามิติทางวัฒนธรรมเข้าไปพูด เดี๋ยวเรื่องอื่นจะตามมาเอง"อ.สมเจตน์วิเคราะห์
ผนึกกำลัง 3 เมืองได้ท่องเที่ยวรุ่ง
เมื่อเรามองถึงประสิทธิภาพเรื่องเมือง3 แฝดนั้น จะเห็นว่าปัจจุบันการสัญจรระหว่างสามเมืองที่ความเชื่อมโยงถึงกันอยู่ จากน่านสามารถเดินทางสู่หลวงพระบางและมุ่งหน้าสู่เชียงรุ่งได้ปัจจุบันจีนสร้างถนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว คือถนนสาย R3A เป็นเส้นทางหมายเลย 3 ที่เชื่อมอาเซียนเข้าด้วยกันมีรถวิ่งจากหลวงพระบางถึงคุนหมิง ซึ่งหากทางน่านใช้เรื่องเมือง 3 แฝด ให้เกิดผลได้นั้น แน่นอนว่าผลดีด้านการท่องเที่ยวระหว่างเมือง 3 แฝดที่มีวิถีวัฒนธรรมเดียวกันนี้ จะต้องตกอยู่กับคนน่าน
"คนน่านจะได้รับประโยชน์ถึงรากหญ้า ไม่ได้หมายความว่าน่านจะนำการท่องเที่ยวมาเป็นธงนำ ถ้าคิดถึงมูลค่ามากกว่าคุณค่าแล้วก็อาจจะล่มสลายไปเมืองแหล่งท่องเที่ยวอื่น ถ้ายุทธศาสตร์เรื่องเมือง 3 แฝดที่มีถูกนำไปใช้อย่างถูกทางอานิสงส์ก็อยู่คนน่านนี่เอง"อ.สมเจตน์กล่าวทิ้งท้าย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สำหรับ "เมืองเชียงรุ่ง" มีอีกชื่อหนึ่งที่นิยมอย่างแพร่หลายคือ"เมืองเชียงรุ้ง" แต่ในที่นี่ อ.สมเจตน์ได้วิเคราะห์ให้ฟังว่า ภาษาไทลื้อไม่มีคำว่า "รุ้ง" การเรียกชื่อเมืองเชียงรุ้ง นั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะภาษาไทลื้อ ออกเสียงว่า เจงฮุ่ง เดิม อาจออกเสียงว่า เจียงฮุ่ง แต่ปัจจุบันอาจได้รับอิทธิพลจากการออกเสียงในภาษาจีนกลาง เมื่อเทียบกับภาษาเขียนแล้วเชียงรุ่งในอักษรลื้อ ใช้ตัว ร แต่อ่านออกเสียงตัว ฮ ซึ่งการเรียกชื่อเมืองเชียงรุ่งในศัพท์ภาษาไทยนั้นจะถูกต้องกว่า