xs
xsm
sm
md
lg

เยือนย่ำย่านเก่า เล่าตำนาน "สามเสน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
บรรยากาศชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาย่านสามเสน
ผืนแผ่นดินไทยของเราโดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่อาศัยของคนหลายชาติพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยพึ่งใบบุญพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยทั้งจีน มอญ แขก เขมร ญวน โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯให้ชาวญวนที่ติดตามกองทัพไทยเข้ามาเมื่อครั้งที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชา สิงห์ สิงหเสนี ยกกองทัพไปทำสงครามเมื่อปี พ.ศ.2376 มาอยู่อาศัยในผืนแผ่นดินไทย

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งบ้านเรือนเป็น "ชุมชนญวน สามเสน" อยู่บริเวณวัดส้มเกลี้ยง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร(บริเวณสะพานกรุงธน)เหนือบ้านเขมร เพราะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเช่นเดียวกับชาวเขมร ที่เข้ามาอยู่อาศัยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โบสถ์วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์
พระองค์ทรงใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินสวนแปลงใหญ่ใกล้เคียงกันพระราชทานให้เป็นที่อยู่อาศัยอีกทั้งยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโบสถ์ขึ้นในปี พ.ศ.2378 ด้วยไม้ไผ่ ใช้ชื่อว่า "วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์" ต่อมาในปี พ.ศ.2380 เกิดพายุใหญ่พัดวัดพังเสียหาย จึงได้มีการสร้างวัดใหม่เป็นไม้ และได้นำพระรูปแม่พระและรูปนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ จากมะนิลามาตั้งในวัดหลังที่สองนี้

ต่อมาคริสตังที่สามเสนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยคับแคบลง จึงได้มีการสร้างวัดใหม่ด้วยอิฐมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 10 ปี เมื่อแล้วเสร็จได้ทำพิธีเสกอย่างสง่าในวันฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ในปีพ.ศ.2410
โบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ ชุมชนชาวคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ
ใกล้ๆกับวัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์เป็นสถานที่ตั้งของโบสถ์เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งก็คือ "โบสถ์คอนเซ็ปชัญ" ซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่สมัยอยุธยา โดยพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้าแผ่นดินในขณะนั้น เพื่อขอพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดและโรงพยาบาล สมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) และได้สร้างวัดในศาสนาคริสต์ขึ้น โดยตั้งชื่อว่า "วัดคอนเซ็ปชัญ" ซึ่งบริเวณนี้ก็ถือเป็นชุมชนชาวคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ อีกด้วย
สถาปัตยกรรมวิคตอเรียน สมัยร .5 ปัจจุบันคือสำนักงานตรวจบัญชีกองทหารบก
จากวัดคอนเซ็ปชัญ ฉันเดินไปทางสะพานกรุงธน ก่อนถึงทางขึ้นสะพาน ด้านขวามือมีอาคารสีเหลืองที่ได้รับการบูรณะอย่างดี สวยงาม แต่ยังคงลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเก่าเอาไว้ ปัจจุบันนั้นคือ "สำนักงานตรวจบัญชีกองทหารบก" ซึ่งอาคารโบราณแห่งนี้แต่เดิมเป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแก่ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) เมื่อ พ.ศ.2448

อาคารหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยวิคตอเรียน ต่อมาได้ตกทอดเป็นมรดกในสกุลไกรฤกษ์และทายาทได้ขายให้เอกชน จนในที่สุดตกเป็นของรัฐบาล นอกจากนี้อาคารหลังนี้ยังเป็นอาคารอนุรักษ์ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 อีกด้วย
บ้านเก่าของพระสรรพการหิรัญกิจ ภายในรพ.วชิระ
นอกจากนี้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านนี้ล้วนแล้วแต่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านเจ้านายขุนนางในยุครัชกาลที่ 5 - 6 ซึ่งในปัจจุบันก็ยังปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่หลายแห่ง อีกแห่งหนึ่งได้แก่ "บ้านของพระสรรพการหิรัญกิจ" ที่สร้างขึ้นในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อที่จะเปิดให้เป็นสวนสาธารณะ ในปีพ.ศ.2451 แต่เปิดได้เพียง 2- 3 ปีก็ปิดตัวลง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าวัดวาอารามในพระนครมีมากแล้ว จึงควรสร้างสาธารณะประโยชน์อื่นบ้าง จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินพร้อมคฤหาสน์ของพระสรรพการหิรัญกิจ เพื่อสร้างเป็นสถานพยาบาล เมื่อดัดแปลงอาคารเดิมให้เป็นสถานพยาบาลแล้ว พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า "วชิระพยาบาล" และพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย
พระพุทธรูป 3 องค์ 10 ปางบนฐานเดียวกันที่วัดราชผาติการาม
ตามประสาคนไทยใจพุทธเมื่อได้มาเดินเที่ยวชมย่านสามเสนแห่งนี้แล้วก็ขาดไม่ได้ที่จะต้องเข้าวัดวาอารามกราบไหว้บูชาพระให้สบายอกสบายใจได้บุญกันไป ซึ่งในย่านสามเสนนี้ก็มีวัดพุทธอยู่หลายวัดที่เดียว วัดแห่งแรกที่ฉันจะไปได้แก่ "วัดส้มเกลี้ยง" หรือ "วัดราชผาติการาม" อยู่บริเวณเชิงสะพานกรุงธนนี้เอง

วัดราชผาติการาม เป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 3 พระองค์ได้พระราชทานที่ดินใกล้ๆกับวัดแห่งนี้ให้กับชาวญวน แต่ขณะนั้นที่วัดไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ชาวญวนที่มาสร้างชุมชนจึงได้รื้ออิฐของวัดส้มเกลี้ยงมาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงทรงให้สร้างวัดส้มเกลี้ยงขึ้นมาใหม่ และทรงพระราชทานนามว่า "วัดราชผาติการาม" พระอุโบสถเป็นรูปทรงศิลปะแบบจีนผสมญวน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันปั้นปูนประดับกระเบื้องถ้วยชามแบบจีน ภายในพระอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อสุกเป็นพระประธาน ตามประวัติเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ พร้อมๆ กับพระเสริม ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดปทุมวนาราม และพระไส ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดหนองคาย จึงมักเรียกหลวงพ่อสุกว่าพระเชียงแสนเวียงจันท์

ด้านหลังของพระอุโบสถมีพระพุทธจริยปางต่างๆ 10 ปาง เป็นพระพุทธรูป 3 องค์ 3 สมัย 4 อิริยาบถ 10 ปาง ในฐานเดียวกันคือ ประทับยืนสมัยสุโขทัย 5 ปาง ได้แก่ ปางประทับรอยพระพุทธบาท, ปางรำพึง, ปางห้ามญาติ, ปางถวายเนตร และปางอุ้มบาตร องค์ประทับนั่งสมัยเชียงแสน 3 ปางได้แก่ ปางนาคปรก, ปางสมาธิ และปางปาลิไลยก์ และปางไสยาสน์สมัยอู่ทอง 2 ปาง คือ ปางไสยาสน์ และปางพระเกศธาตุ
หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ประดิษฐานหลังโบสถ์วัดประสาทบุญญาวาส
ไหว้พระพุทธรูป 10 ปางที่วัดราชผาติการามแล้ว ฉันเดินต่อไปไม่ไกลยัง "วัดคลองสามเสน" ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดขวิด อาจเนื่องมาจากบริเวณนี้มีต้นมะขวิดจำนวนมาก ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อวัดให้เป็นทางการจึงได้ชื่อว่า "วัดประสาทบุญญาวาส"

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2376 แต่เมื่อประมาณ พ.ศ.2478 ก็ได้ถูกไฟไหม้เสียหายเหลือเพียงศาลาการเปรียญไม้สัก ซึ่งบริเวณหน้าจั่วมีสัญลักษณ์รัชกาลที่ 3 แม้ปัจจุบันจะไม่เปิดใช้แล้วแต่ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานของชาติ

เมื่อเข้าไปในวัดฉันเจอกับรูปปั้นหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ สีทองสวยงาม เนื่องจากเมื่อครั้งที่หลวงปู่ทวดเดินทางไปเล่าเรียนวิชาความรู้ที่พระนครศรีอยุธยา ท่านได้มาแวะพักปักกลดที่บริเวณนี้ ซึ่งสมัยนั้นที่แห่งนี้น่าจะเป็นสำนักสงฆ์มาก่อน โดยที่วัดแห่งนี้ก็มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับตำนานหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดด้วยเช่นกัน
พระประธานและภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดโบสถ์สามเสน
นอกจากนี้ ด้านในหน้าพระวิหารก็มีรูปปั้นหลวงปู่ทวดให้ฉันสักการบูชาอีก 3 องค์ด้วยกัน องค์กลางเป็นหลวงปู่ทวดพิมพ์ธุดงค์ สีดำองค์ใหญ่ ขนาด 2.99 เมตร ส่วนองค์เล็กด้านข้างทั้งสองข้างเป็นองค์หลวงปู่ทวดพิมพ์สมาธิ ใครที่เคารพศรัทธาท่านไม่ต้องไปไกลถึงภาคใต้ก็สามารถมากราบไหว้ท่านได้ที่วัดประสาทบุญญาวาสแห่งนี้

อีกหนึ่งวัดที่อยู่ไม่ไกลก็คือ "วัดโบสถ์สามเสน" ซึ่งก็เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาเช่นกัน สิ่งที่โดดเด่นก็คือ โบสถ์อันเก่าแก่ ศิลปะสมัยอยุธยา ฐานโค้งสำเภา เมื่อเข้าไปภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลาย ผนังด้านหน้าเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถ เขียนภาพมารผจญ ผนังด้านข้างเป็นภาพเทพชุมนุม ส่วนผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก สวยงามมาก
โบสถ์เก่าแก่ภายในวัดโบสถ์สามเสน ศิลปะสมัยอยุธยา ฐานโค้งสำเภา
แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง ที่ในปัจจุบันภาพเขียนเหล่านั้นอยู่ในสภาพชำรุดเลือนรางไปมาก แม้โบสถ์หลังนี้จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติโดยกรมศิลปากรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 แต่จนบัดนี้ภาพเขียนเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในสภาพทรุดโทรมเป็นอย่างมากยังไม่ได้รับการซ่อมแซมบุรณะแต่อย่างใด

จากวัดโบสถ์สามเสน ฉันเดินต่อไปยังสถานที่สุดท้ายที่หากมาเที่ยวย่านนี้แล้วต้องไม่พลาดแวะเวียนไปกราบไหว้ นั้นก็คือ "หลวงพ่อสามเสน" อันเปรียบเสมือนพระพุทธรูปประจำย่านสามเสนแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลสามเสน พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระปางห้ามสมุทร สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แกะจากแก่นโพธิ์
 หลวงพ่อสามเสนประดิษฐานหน้าสน.สามเสน
มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อพ.ศ.2506 ชาวบ้านเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจึงได้ระดมผู้คนกว่าสามสิบคนช่วยกันแต่ก็ไม่สามารถนำขึ้นจากน้ำได้ เมื่อทำพิธีบวงสรวงจึงสามารถยกพระขึ้นจากน้ำได้ สภาพองค์พระเมื่อขึ้นจากน้ำชำรุดมาก ชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธาจึงช่วยกันบูรณะซ่อมแซมองค์พระให้สมบูรณ์ และผู้คนทั่วไปจึงขนานนามกันว่า "หลวงพ่อสามเสน"

ซึ่งเรื่องราวก็คล้ายคลึงกับตำนานของย่านนี้ที่เล่ากันมาว่า ในสมัยก่อนมีพระพุทธรูป3 องค์ลอยน้ำมา เมื่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ลอยมาถึงตำบลหนึ่งก็แสดงองค์ ให้เห็น ประชาชนเกิดความศรัทธาจึงอาราธนาพระพุทธรูปทั้งสามขึ้นจากน้ำ ด้วยการพร้อมใจกันฉุดแต่ฉุดเท่าไรก็ไม่ขึ้น จนต้องเกณฑ์จำนวนคนมาช่วยกันฉุดถึงสามแสนคน พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ก็ไม่ยอมขึ้นจากน้ำ ประชากรหมดหวังที่จะนำพระพุทธรูปทั้งสามขึ้นจากน้ำ จึงปล่อยให้ลอยน้ำต่อไปอีก เหตุการณ์นั้นจึงเป็นที่มาของชื่อตำบล "สามแสน" ต่อมามีการเรียกเพี้ยนจนกลายเป็น "สามเสน" เช่นปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น