เชียงคาน(อ.เชียงคาน) เมืองเล็กๆ ริมฝั่งโขง ใน จ.เลย ถูกมองว่าเป็นสถานที่ต่อไปที่จะถูกกระแสการไหล่บ่าของนักท่องเที่ยวเข้ามาจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวลือชื่อ(มาก) อีกแห่งของไทย ด้วยความที่มีองค์ประกอบทางด้านการท่องเที่ยวครบครัน ทั้งเสน่ห์ทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ขับเคลื่อนอย่างเนิบนาบ สวนกระแสคนเมืองใหญ่ ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวผู้แสวงหาคนสงบนิยมเดินทางไปสัมผัสเชียงคานกันมากขึ้น
แต่...ด้วยบทเรียนอันเจ็บปวด ที่เกิดจากความบอบช้ำทางการท่องเที่ยวในหลายแห่งของไทย หลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้เวลานี้คนเชียงคานเริ่มกลัวเสียแล้วว่า การรุกคืบทางการท่องเที่ยว กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีทุกอย่างที่เคยมี และพรากเมืองที่พวกเขารักให้เปลี่ยนแปลงไป
เมืองเล็ก คนล้น
ผอ.อรุณศรี ศรีเมฆานนท์ ศาสตรานิติ ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงเชียงคานว่า ตอนนี้กำลังเนื้อหอม ข้อดี คือ ชุมชนคนเชียงคานยังถือว่าเข้มแข็งมาก จึงมักมีคนพูดถึงเชียงคานว่า เหมือนปายเมื่อหลายๆปีก่อน
“แรกๆ พวกเขาก็อยากจะเป็นปาย 2 ทางเราก็บอกว่าจะไปเป็นปายสองทำไม ในเมื่อเชียงคานก็มีความเป็นตัวเองอยู่แล้ว ชื่อของเชียงคานก็มีเสน่ห์ดึงดูด มีความเป็นธรรมชาติสูง วิวริมแม่น้ำโขงก็สงบเงียบ แผนผังเมืองดีมาก มีทางเดินเลาะเลียบริมแม่น้ำ ซึ่งคนเดินได้วิ่งออกกำลังกายได้ขี่จักรยานได้ มีบ้านเก่าที่เปิดบ้านหาแม่น้ำ”
ผอ.อรุณศรี เล่าถึงเชียงคานยุคเริ่มต้นการท่องเที่ยวที่แสดงความโดดเด่นออกสู่สายตาสาธารณชนหลายด้าน จนได้รับรางวัลการอนุรักษ์จากหลายสถาบัน เช่น รางวัลการอนุรักษ์บ้านเก่า รางวัลการอนุรักษ์สายใย จุดนี้จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่สร้างความมั่นใจแก่คนเชียงคานว่าการที่เขาดูแลเป็นอยู่แบบนี้คือสิ่งที่ดี
แต่เมื่อการไหล่บ่าอย่างล้นทะลักของนักท่องเที่ยวเข้ามายังเมืองเล็กๆ จนเกินขีดการรองรับของเมือง จะเกิดอะไรขึ้น ในจุดนี้ ผอ.อรุณศรีมองว่า ต้องมีการทำความเข้าใจกับคนเชียงคานก่อนว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะพวกเขาจะสูญเสียอะไร นักท่องเที่ยวเข้ามาน้อย เขาอยู่ได้ไหม
"บางทีรู้ว่ามีข้อเสีย แต่เอาเถอะ...คำว่า เอาเถอะ...กับการท่องเที่ยวมันพังหมดแหละ ต้องรู้วิธีการจัดการกับข้อเสียว่าจะจัดการยังไง คนเชียงคานเท่านั้นที่จะตอบได้ว่าอยากอยู่แบบไหน ในอนาคตอันใกล้นี้ เชียงคานจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องกำหนด ขีดความสามารถในการรับนักท่องเที่ยว ถ้าต้องการนอนเขตบ้านเก่าริมน้ำ ต้องจองล่วงหน้า ถือเป็นการจำกัดนักท่องเที่ยวไปในตัว"ผอ.อรุณศรีกล่าว
ทางด้าน อ.ณัฎฎพล ตันมิ่ง นักวิชาการท้องถิ่นเมืองเชียงคาน กล่าวถึงเชียงคาน ในยุคการท่องเที่ยวจู่โจมว่า เชียงคานไม่เคยมีรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง แม้จะมีองค์ประกอบของการท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพในระดับหนึ่งแต่ก็ยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม แต่ในระยะแรกเริ่มเช่นนี้ ก็ดูเหมือนว่าจะสร้างปัญหาหนักใจให้คนเชียงคานไม่น้อย เมื่อนักท่องเที่ยวไหลมาจากทั่วทุกสารทิศจนล้นเมือง
"เรามีแนวคิดอยากดันเชียงคาน ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของประเทศ หวังไกลถึงการเสนอเป็นมรดกโลก แต่ก่อนอื่นต้องไม่มีมลพิษทางสังคม" อ.ณัฎฎพล กล่าวถึงอนาคตเชียงคาน
อ.ณัฎฎพลยังกล่าวต่อไปอีกว่า เชียงคานตกอยู่ในบ่วงการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง คือ ช่วงปลายปี 2551 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจนเต็มเมืองไปหมด
"คนเชียงคานเรียกช่วงนั้นว่า เชียงคานแตก ไม่แพ้เมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน" อ.ณัฎฎพลกล่าว
เชียงคานแตก เพราะคนล้นจนไม่มีที่พัก ต้องนอนบ้านชาวบ้าน วัด อ.ณัฎฎพลคาดการไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ปลายปีนี้ก็คงจะคล้ายปีที่แล้ว หรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
ความรักที่ทำร้าย
ด้านความคิดเห็นของ กมล คงปิ่น นายกเทศมนตรีเชียงคานผู้ที่เรียกได้ว่ามีหน้าทีดูแลความเป็นไปของเชียงคานโดยตรงกล่าวว่า เดิมทีไม่ได้มีแนวคิดจะทำเขตเทศบาลเชียงคานให้เป็นเมืองที่รองรับนักท่องเที่ยว แต่มุ่งเน้นทำวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเชียงคานให้คงอยู่ จึงมีการประชาสัมพันธ์เชียงคานสู่คนภายนอกมากขึ้น
“เราประชาสัมพันธ์เชียงคานแค่เกือบปี เร็วมากที่คนเข้ามา คงเพราะคนเชียงคานมีเอกลักษณ์ทั้งภาษาพูด วัฒนธรรมคล้ายหลวงพระบาง ไม่มีโจร ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ธรรมชาติ ความงามในความเงียบไม่มีความเร่งรีบ และทาง ททท.รับเชียงคานเป็นต้นแบบทางวัฒนธรรมหนึ่งเดียวของอีสานทำให้เชียงคานมีจุดขายหลากหลาย"นายกเทศมนตรีกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เชียงคานกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม นายกเทศมนตรีเองก็มีสิ่งที่กังวลไม่แพ้คนอื่นๆ เมื่อคิดถึงอนาคตของเชียงคาน เขาเล่าว่า สิ่งที่กลัวคือ นักท่องเที่ยวจะมากินเหล้า สูบบุหรี่ ทิ้งขว้างตามถนนหนทาง เพราะภาพนี้มันไม่เคยปรากฏ มันไม่ใช่เชียงคาน ได้แต่กระตุ้นชุมชน เรื่องสำนึกรักบ้านเกิดให้เขาเท่านั้น เดือนธันวาคมนี้จะมีการจัดงานครบ 100 ปีเชียงคานด้วย คาดว่าคนคงล้นเมืองแน่
อีกหนึ่งคนที่แสดงความเป็นห่วงเชียงคาน คือ ธนภูมิ อโศกตระกูล หรือไทเชียงคาน ชาวเชียงคานผู้มองเมืองนี้ด้วยความเป็นห่วงมาโดยตลอด กล่าวว่า เชียงคานมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมานานแล้ว แต่ช่วงหลังเมืองปายล้น คนก็เริ่มแสวงหา ที่ที่มีบรรยากาศใกล้เคียงทดแทน แล้วมีคนไปเจอเชียงคาน เริ่มเขียนลงอินเตอร์เน็ตเลยกลายเป็นกระแส
“เริ่มมีคนให้ฉายาว่าปาย 2, ลิตเติลหลวงพระบาง ซึ่งมันไม่ดีเลย อย่างปายถามว่าตอนนี้อะไรคือจิตวิญญาณของปายไม่มีใครตอบได้ เพราะกลายเป็นที่เก๋เป็นร้านที่ไปโพสท่าถ่ายรูปซึ่งผมไม่เข้าใจ มันขัดกับวิถีชีวิตความเป็นจริงของมนุษย์ที่ต้องดำรงอยู่ และตอนนี้ที่เชียงคานก็เริ่มจะมีร้านแบบนี้แล้วมันไม่เข้าพวก” ธนภูมิกล่าวแสดงความเห็น
เขายังกล่าวต่อไปว่า ไปเมืองไหนก็ควรกินอยู่อย่างเมืองนั้น การท่องเที่ยวคือการเปลี่ยนบริบท อย่าถามหาอะไรที่มันเกินกว่าเมืองจะมีให้ ส่วนปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวของเชียงคานโตขึ้นก็คงเป็นเพราะว่า คนในเมืองใหญ่ อยากจะหลบหนีความวุ่นวายจากสังคมเมืองที่มันเร่งรีบ แห้งแล้งน้ำใจ
เชียงคานมีกลุ่มเฝ้าระวังต่อเรื่องท่องเที่ยว เป็นคนเชียงคานกลุ่มเล็กๆ ทั้งที่อาศัยอยู่ในเชียงคาน และทำงานอยู่ต่างถิ่น พูดคุยปรึกษา แสดงความเห็นกันในเว็บไซต์www.chiangkhan.com และก็พยายามที่จะกระจายความคิดในการอนุรักษ์เชียงคานไว้ไปในสื่อต่างๆ และทำความเข้าใจกับคนเชียงคานในท้องถิ่นถึงเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เชียงคานเปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก
คนเชียงคานเป็นคนเรียบๆ ง่ายๆ ใจดี และส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่า ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงคานมากมายก็เพราะว่า เชียงคานเป็นอย่างนี้ คือ เล็ก เงียบ สงบ และ อบอุ่น คนเชียงคานจึงยินดีต้อนรับนักเดินทางแปลกหน้าด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดีเป็นไปโดยธรรมชาติ
นักทำไร่เลื่อนลอย
อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีความเห็นตรงกัน คือ เรื่องความเป็นห่วงในการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างถิ่น ซึ่ง อ.ณัฎฎพล กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เป็นห่วงเรื่องผู้ประกอบการต่างถิ่น จะมาทำลายเชียงคาน เชียงคานขายความเก่าแก่แต่ผู้ประกอบการใหม่จะเข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เอาสีเทา ม่วง แสด แดง มาใส่ในบ้านเก่า
“ไม่อยากให้เมืองเชียงคานเป็นปายหรือพัทยา แต่งนิดหน่อยได้พองามอย่าเปรอะไป เราคาดการณ์กันว่าผู้ประกอบการต่างถิ่นจะมีเพิ่มมากขึ้น เชียงคานเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อใช้เงิน ไม่ใช่มาหาเงิน ไม่ใช่ที่กอบโกยอะไรออกไป” อ.ณัฎฎพลกล่าวเตือนผู้ที่คิดจะเข้ามาลงทุนในเชียงคาน
เช่นเดียวกับ นายกเทศมนตรีกมลที่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ว่า เรื่องของกลุ่มผู้กระกอบต่างถิ่น เป็นสิ่งที่เขากลัวที่สุด คนที่นี่ยังปิดตัวเอง ยังไม่กระเสือกกระสนที่จะทำธุรกิจ (ท่องเที่ยว) กัน แต่การมาของผู้ประกอบการต่างถิ่น กำลังทำให้ที่นี้เปลี่ยน
“ที่ไหนสวยเขาก็เสพ หมดความสาวเขาก็ย้ายหนี สิ่งที่เหลือไว้ให้เรา ก็มีเพียงขยะการท่องเที่ยว” นายกเทศมนตรีกล่าวอย่างเจ็บปวด เมื่อคิดถึงการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างถิ่น
ด้าน ผอ.อรุณศรี กล่าวว่า เรื่องผู้ประกอบการต่างถิ่น เป็นตัวหักเหประการหนึ่ง ต้องระมัดระวังว่าการท่องเที่ยว จะเป็นการนำรายได้ออกจากท้องถิ่น อันนี้แหละหลายคนฟังแล้วไม่เข้าใจ ว่าการท่องเที่ยวจะเอาเงินออกนอกท้องถิ่นได้อย่างไร มันเป็นการลงทุนแล้วก็เอาเงินกลับออกไป เป็นปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วง
“บางรายไม่ใช่คนเชียงคาน เขาก็จะมาเปิดร้านแค่วันเสาร์-อาทิตย์แล้วก็ไป เชียงคานจะเป็นยังไงเขาก็ไม่สนใจจุดนี้ คนเชียงคานต้องระมัดระวังและต้องรู้เท่าทัน” ผอ.อรุณศรีกล่าวแนะ
สำหรับคนเชียงคานเรื่องนี้ ต่างกลัวกันอยู่ว่าจะมีคนที่อื่นมาเช่าห้องแพงๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นคนอื่นไปหมด เข้ามาทำงานไม่กี่วันแล้วทิ้งเชียงคานให้ร้าง แต่อย่างไรก็ตาม จะแนะนำอะไรเราก็ต้องเผื่อทางออกด้านเศรษฐกิจไว้ด้วย ต้องให้พวกเขาอยู่ได้ด้วยเช่นกัน
ส่วนทางด้านคนเชียงคานอย่าง ธนภูมิ คนที่เติบโตมากับเชียงคาน เขากล่าวว่าไม่ชอบเป็นอย่างยิ่ง พร้อมแนะให้คนเชียงคานลุกขึ้นมาทำธุรกิจเอง เพื่อคานอำนาจกับผู้ประกอบการต่างถิ่น
“พวกนี้เป็นนักทำไร่เลื่อนลอย คือ ชำเราปายเสร็จแล้ว หนำใจแล้วก็มีที่เชียงคานต่อ จะมีพวกกรุงเทพฯที่ชอบเชียงคาน มาในนามของความรัก ชอบรักอยากอยู่ มาเช่าบ้านขายของกันทำร้านเก๋ๆแบบเมืองปาย ปรากฏว่าเขาก็จะอยู่แค่วันศุกร์-อาทิตย์เย็นๆ ก็กลับไปกรุงเทพฯ กัน ไปใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนปกติ” ธนภูมิเล่าให้ฟังอย่างดุเดือด
เขายังเล่าถึงประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากกรณีการต่อต้านผู้ประกอบการต่างถิ่นว่า ถูกตอบโต้จากอีกฝ่ายที่แย้งมาว่า ใครบางคนก็จมอยู่กับความน้ำเน่าเหมือนละครโทรทัศน์ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เขาเลยตอบกลับไปว่า ถ้าจะเปลี่ยนก็ขอเปลี่ยนด้วยน้ำมือของตัวเอง ไม่ขอเปลี่ยนด้วยน้ำมือของคนต่างถิ่น
ถึงแม้จะมีการเฝ้าระวังกันเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ในฐานะคนเชียงคาน ก็อดไม่ได้ที่จะหวาดหวั่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
“บอกตรงๆ ว่ากลัว เพราะกระแสมาแรงเหลือเกิน เราพยายามทำเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้านได้สักเท่าไหร่ ไม่ใช่ต้านนักท่องเที่ยว แต่ขอไว้สำหรับนักธุรกิจที่จะมาสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับเมืองเชียงคาน แม้ร้านเล็กร้านน้อยก็เถิดมันคือการทำลายกลิ่น ทำลายจิตวิญญาณความเป็นเชียงคานไปทีละนิดๆ กลัวว่าสักวันความเป็นเชียงคานจะถูกกลืนหายไปกับร้านสารพัดร้านของคนต่างถิ่น ไม่อยากเห็นเชียงคานในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นเชียงคานที่เต็มไปด้วยบาดแผล เต็มไปด้วยซากของความรุ่งเรืองในยุคหนึ่งที่เชียงคานโดนกระทำชำเราจากนักท่องเที่ยวและทุนจากต่างถิ่น” ธนภูมิกล่าวทิ้งท้ายด้วยความอึดอัดใจต่อภาพของเชียงคานทุกวันนี้
สำหรับเชียงคานในวันนี้ จึงถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ เพราะสุ่มเสี่ยงเหลือเกินต่อการถูกทำร้ายจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่รุกเร้ารุนแรง ชนิดที่แม้แต่คนเชียงคานเองก็ไม่ทันตั้งตัว