xs
xsm
sm
md
lg

‘The E.N.D.’ ดนตรีแห่งโลกปาร์ตี้ ของ Black Eyed Peas/พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในโลกแห่งดนตรีฮิพฮอพที่มีรากฐานมาจากแร๊พได้มีพัฒนาการก้าวไกลมากตั้งแต่ก่อกำเนิดมา รากฐานของดนตรีนี้มาจากการพ่นพล่ามพร่ำบ่นในเชิงของกวีที่พุ่งตรงออกมาจากใจ มีความคมคายคล้องจองสอดรับของถ้อยคำและภาษาที่มีจังหวะอยู่ในตัวของมันเอง

แน่นอนความจับใจอยู่ที่อารมณ์อันพลุ่งพล่านจากกระแสความรู้สึก ด้วยความดิบสดและบางทีถึงขั้นหยาบกระด้างเถื่อนถ่อยผ่านภาษาออกมา

ปัจจุบัน แร๊พได้ถูกกลืนกลายจนสถาปนาเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของคนแอฟริกัน-อเมริกันผิวดำ ผ่านฮิพฮอพ ซึ่งไม่ใช่แค่ดนตรีแต่เป็นวิถีชีวิตของผู้คนไปเรียบร้อยแล้ว

5 ปัจจัยหรือองค์ประกอบของฮิพฮอพก็คือ เอ็มซีหรือคนด้นสดแร๊พ, บีบอย กลุ่มนักเต้นแนวเบรกแด๊นซ์, ดีเจ. คนสร้างสรรค์กรูฟดนตรีของฮิพฮอพ, การฟฟิตี ศิลปะแบบจรยุทธ์ที่สดดิบท่ามกลางที่สาธารณะ และบีทบ็อกซ์ การสร้างเสียงดนตรีด้วยปาก

ทุกวันนี้ฮิพฮอพกลายเป็นแฟชั่นและวัฒนธรรมความบันเทิงยอดนิยมที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ดนตรีที่ใช้เต้นรำและสร้างความย้วยย้ายยามค่ำคืน เทรนด์หลักก็ย่อมเป็นฮิพฮอพอย่างงหลีกเลี่ยงไปไม่ได้

การก้าวขึ้นมาของวงแบล็ค อายด์ พีส์ (Black Eyed Peas) ซึ่งสามารถสร้างเพลงฮิตเกาะกระแสไปทั่วโลก และคนไทยรู้จักกันดีผ่านบทเพลง ‘My Hump’ รวมถึงการมาแสดงคอนเสิร์ตในเมืองไทย แสดงให้เห็นถึงการเป็นวงฮิพฮอพระดับโลกของพวกเขาได้เป็นอย่างดี

เฟอร์กี้ นักร้องสาวผิวขาวผมบลอนด์, วิว. ไอ. แอม. แร๊พเปอร์แอฟริกัน-อเมริกันเชื้อสายจาไมก้า, แอพล์. เด. แอพ แร๊พเปอร์ฟิลิปิโน-อเมริกัน และ ตาบู แร๊พเปอร์เชื้อสายเม็กซิกัน-อินเดียนแดง คือส่วนผสมที่ลงตัวของ แบล็ค อายด์ พีส์ ซึ่งทั้งหมดสามารถร้องและเต้น รวมทั้งประสานเสียงอย่างเป็นเอกลักษณ์ของฮิพฮอพที่สามารถเต้นรำได้อย่างนำสมัย

ว่าไปแล้ว ยุคแห่งการสร้างสรรค์งานของพวกเขาเริ่มต้นด้วยยุคแรกเป็นการแสวงหาตัวตนจากกระแสฮิพฮอพที่ระบาดและแพร่หลายขึ้นมาเป็นดนตรีกระแสหลัก แต่ดนตรีและการแร๊พของพวกเขายังไม่โดดเด่นถูกใจคนฟังในวงกว้าง ซึ่งปรากฏอยู่ในงาน 2 อัลบั้มแรก พอเข้ามาถึงยุคที่ 2 อันรุ่งโรจน์คือ งานชุดที่ 3-4 ซึ่งได้นักร้องหญิง เฟอร์กี้เข้าเติมเต็มถมช่องว่างที่ขาดหายไปอย่างสมบูรณ์ พวกเขาก็นำดนตรีฮิพฮอพที่มาส่วนผสมของดนตรีพ็อพแด๊นซ์อย่างลงตัวเข้าสู่กระแสหลักและขึ้นเป็นวงอันดับต้นๆ ในสายฮิพฮอพที่คนรู้จักไปทั้งโลก

แม้ในอเมริกาเอง พวกเขาก็เด่นดังอย่างมากสามารถแหวกกระแสของฮิพฮอพหัวก้าวหน้ายืนเคียงข้างอย่างสง่าผ่าเผย

มาถึงอัลบั้มล่าสุด ซึ่งถือเป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 5 ของแบล็ค อายด์ พีส์ ซึ่งมีชื่อว่า ‘The E.N.D.’ โดยมาจากคำย่อของ The Energy Never Dies ได้สะท้อนถึงความพยายามก้าวข้ามพ้นขอบข่ายดนตรีเดิมๆ และกับดักความสำเร็จของอัลบั้มชุดก่อนหน้านี้ไปให้ได้

เป็นการเชื่อมฮิพ-ฮอพและแด๊นซ์นำสมัยอย่างสวยงาม

แบล็ค อายด์ พีส์ ได้คลี่คลายเข้าสู่ดนตรีฮิพฮอพที่นำมาผสมผสานกับดนตรีอิเล็คทรอพ็อพและแด๊นซ์-พ็อพ อย่างชาญฉลาด แน่นอนพวกเขาเข้าใจแล้วว่า กลุ่มคนฟังที่ชมชอบดนตรีในแนวแบล็ค อายด์ พีส์ คือ กลุ่มชอบความบันเทิงสนุกสนานและเต้นรำท่ามกลางแสงสียามราตรี เป็นวิถีชีวิตของแฟชั่นฮิพฮอพที่พ่วงติดกับการโยกย้ายย้วยเยิบอย่างเต็มที่

เพราะฉะนั้นดนตรีทั้งหมดในอัลบั้มที่นำเสนอบทเพลงออกมา จึงมีเอกภาพเดียวกันเรียงร้อยสีสันดนตรีฮิพฮอพให้มีอารมณ์ความรู้สึกของสีสันดนตรีอิเล็คทรอนิคส์ที่สร้างเสียงสังเคราะห์ในแบบเพลงแด๊นซ์ได้อย่างลงตัว และมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเองที่ไม่มีใครเหมือน ได้ดุลยภาพอย่างพอดี

เสียงร้องที่ร้องสลับท่อนและมีการประสานเสียงของทั้ง 4 คน มีความลงตัวเป็นอย่างมาก สอดผสานได้อย่างกลืนกลายและกลมกล่อม

การแร๊พด้วยลีลาที่แตกต่างในสไตล์ของเหล่าแร๊พเปอร์แต่ละคนที่เดินคู่ไปกับดนตรีที่มีการจัดวางหยิบเอาบีท กรู๊ฟ ริธึ่ม รวมถึงเมโลดี้ต่างๆ มาเขย่ารวมอย่างน่าสนใจ ไม่รกเรื้อรุงรังจนเกินไป มีไทม์มิ่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะลักษณะเด่นในเสียงร้องของเฟอร์กี้ ซึ่งเป็นนักร้องหญิงคนเดียวของวง เธอรอบจัดในการดีไซน์เสียง ทั้งในแบบการร้องด้วยจังหวะจะโคนแบบฮิพฮอพ หรือร็อคที่กรีดเสียงสูงยาว และแด๊นซ์ที่ชึกชักออดอ้อน รวมถึงบัลลาดที่ใส่มาในแต่ละท่อนที่จงใจสะกดคนฟัง ทำให้มีสีสันให้ความไม่เฝือหรือซ้ำซากเป็นอย่างสูง

แม้อัลบั้มชุดนี้จะมีทิศทางในการเขียนคำร้องและสร้างเพลงที่เรียกว่า มีเนื้อร้องแบบฮุควนสลับไปมาด้วยคำติดหูแบบสั้นๆ แต่ก็เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวในแนวทางของแบล็ค อายด์ พีส์ ที่เล่นเอากับประสาทสัมผัสของคนฟังขาเต้นรำได้ชะงัด

หากลองนึกภาพเมื่อบทเพลงของพวกเขาขึ้นมาแล้วบรรดานักเต้นต่างร้องตะโกนตามท่อนร้องสั้นๆ กระหึ่มสะท้านฮอลล์หรือผับและคลับต่างๆ ก็ยิ่งสร้างอารมณ์ร่วมและความเร้าใจได้ชะงัด เพิ่มดีกรีความสนุกอีกเท่าตัว เพราะหากเทียบกับบทเพลงของดนตรีเต้นรำแบบสายตรงอย่างอิเล็กทรอนิก้า ซึ่งจะขาดสีสันในส่วนนี้ไปอยู่พอสมควร

วิลล์. ไอ. แอม. ในฐานะมันสมองของวงได้นำวงแบล็ค อายส์ พีส์ มาสู่มิติของดนตรีเพื่อความมันในงานปาร์ตี้สุดสวิงริงโก โดยยังยึดหลักและหัวใจของฮิพฮอพไว้อย่างไม่สูญหายไปไหน

อัลบั้มชุดนี้เป็นเพียงย่างก้าวสำคัญที่จะรอดูว่า พวกเขาจะพาดนตรีฮิพฮอพ-อิเล็กทรอพ็อพ-แด๊นซ์ไปสู่ความใหม่สดของแนวดนตรีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้หรือไม่ เพราะงานชุดนี้เป็นเพียงการผสมผสานที่ลงตัวของการหยิบเอาวัตถุดิบในธาตุดนตรีมาผสมให้เป็นตัวของตัวเอง ภายใต้ความสนุกสนานและขยับโยกย้าย แต่ยังอิงพิงหลังสไตล์ดนตรีของบรรดาแร๊พเปอร์ผู้มาก่อนที่เคยสร้างสรรค์ดนตรีแนวอิเล็คทรอ-ฮอพ ให้สู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง และต้องรอว่าจะสร้างอะไรเพิ่มเติมในชุดต่อๆ ไปด้วยไอเดียที่บรรเจิด

กำลังโหลดความคิดเห็น