xs
xsm
sm
md
lg

ดำดิ่งอารยธรรมใต้สมุทร คืนชีพดินแดนโบราณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครั้งหนึ่งในอดีตกาล ผืนดิน “แอตแลนติส” เป็นต้นกำเนิดแห่งอารยธรรมอันแสดงถึงความเจริญงอกงามของอารยชนชาวโลก...

ครั้งนั้นเกิดกลียุคเทพเจ้าสาปแช่งมนุษย์ให้ถูกกลืนหายไปพร้อมกับแผ่นดินคนบาป สาบสูญ ไร้ร่องรอย เหลือเพียงอักขระปราชญ์แห่ง “เพลโต” ผู้ซึ่งกล่าวอ้างถึง “แอตแลนติส” ว่าสวยงามดั่งภาพฝัน...

แอตแลนติสจะเป็นนิทานเพ้อฝันของผู้เฒ่าเพลโตปราชญ์ชาวกรีกโบราณ หรือเรื่องจริงใต้ท้องทะเลคงต้องรอให้ความเจริญทางวิทยาศาสตร์เป็นผู้เฉลย แต่ที่แน่ๆ เรื่องราวอารยธรรมใต้ผืนน้ำนั้นไม่ได้มีแอต แ ลนติสเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

M feature ฉบับนี้จะพาคุณดำดิ่งไปสำรวจเรื่องราวหลากหลายอารยธรรมใต้น้ำ แล้วคุณจะทึ่งในความคิด แห่งอารยชนรุ่นก่อน ลึกลับ ชวนติดตาม ไม่แพ้เรื่องราวของ “แอตแลนติส” แน่นอน

เฮราคลีออน (Heracleion) อารยแห่งดินแดนฟาโรห์

บันทึกสมัยโบราณได้เล่าเรื่องราวของเฮราคลีออนถึงความยิ่งใหญ่ของวิหารและงานเทศกาลอันอลังการที่ดึงดูดใจผู้คนจากเมือง “อเล็กซานเดรีย” ได้เป็นอย่างดี เรื่องราวของมันจึงเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์และโบราณคดีที่ต้องการค้นพบความยิ่งใหญ่ที่ว่า แต่เมื่อค้นหาไม่พบบนผืนดิน จึงต้องมองไปยังผืนน้ำแทน “ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” คือเป้าหมายของทีมสำรวจ

การค้นหาเริ่มต้นที่ “อ่าวอาบูเกียร์” ใกล้กับเมืองอเล็กซานเดรียในปัจจุบัน ใช้เวลากว่า 6 ปี ในที่สุดความลับอันถูกซ่อนไว้หลายร้อยปีของเฮราคลีออน (Heracleion) ดินแดนซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการท่าเรือและพิธีบูชาเทพเจ้าก็ถูกไขออก

ลึกลงไปใต้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ปกคลุมพื้นที่กว่า 500 ตารางกิโลเมตร ทีมสำรวจพบกำแพงยาว 500 ฟุต ในบริเวณเดียวกันมีสฟิงซ์แกรนิตสีแดง สฟิงซ์แกรนิตสีดำ รูปปั้นขนาดยักษ์ สูง 19 ฟุต ประกอบด้วยรูปปั้นราชินี รูปปั้นกษัตริย์ทัลเลอร์เมย์ บรรพบุรุษของคลีโอพัตรา และรูปปั้นเทพเจ้าฮาร์ปี้ ตัวแทนความบริบูรณ์และความมั่งคั่ง เรียงรายไปตามทางเข้าวิหาร ซึ่งแน่ชัดว่าเหล่านี้เป็นสถานที่สำคัญของราชวงศ์ทัลเลเมอิกแห่งอียิปต์มาก่อน

ทีมสำรวจได้พบกับแผ่นหินสลักอักษรฮีโรกริฟฟิก แนวดิ่ง 14 แถวในสภาพสมบูรณ์ กล่าวว่านี่คือวิหารของอามุน แห่งเกอเร็บ หรือที่ชาวกรีกเรียกว่า นครแห่งเฮราคลีออน และเรื่องราวของเมืองรอบวิหาร ซึ่งบ่งชี้ว่านี่คือเฮราคลีออน สร้างความตื่นเต้นแก่ทีมสำรวจเป็นอย่างยิ่ง

พวกเขาพบซากเรือโบราณนับสิบ บริเวณรอบฐานของวิหารพบกองไม้ที่จมอยู่จำนวนมาก รวมทั้งพบกระดูกคนติดอยู่ใต้ซากตึกในวิหาร อันชี้ให้เห็นถึงหายนะครั้งใหญ่ หลักฐานหลายอย่างบ่งบอกว่าได้เกิดภัยธรรมชาติขึ้น เช่น การพบทอง เครื่องประดับ เหรียญ แผ่นทอง กระจายอยู่ในบริเวณวิหาร เพราะหากไม่ใช่ภัยธรรมชาติของพวกนี้คงถูกคนเก็บไปหมด เหล่านี้สามารถอธิบายถึงจุดจบแห่งมหานครยิ่งใหญ่ที่หายสาบสูญและพังทลายลงได้หมดข้อสงสัย

อนุสาวรีย์โยนากุนิ (The Yonaguni Factor) อารยแห่งแดนอาทิตย์อุทัย

ฤดูใบไม้ผลิของ ปีค.ศ. 1985 “คิฮาชิโระ อาระทาเกะ” ครูสอนประดาน้ำเจ้าของกิจการโรงแรม บริเวณโยนากุนิ แหล่งประดาน้ำสำหรับนักท่องเที่ยว ได้ออกดำน้ำสำรวจชายฝั่งในวันที่ลมสงบเงียบเพื่อหาแหล่งประดาน้ำใหม่ต้อนรับลูกค้า

เรือของอาระทาเกะเดินทางออกมาทางตอนใต้ของชายฝั่ง และเมื่อถึงจุดที่ต้องการ เขาก็กระโจนลงไปอย่างไม่รอช้า นักประดาน้ำหนุ่มก็ต้องอ้าปากค้างกับสิ่งที่เขาได้พบ โบราณสถานขนาดมหึมาที่ยังไม่มีใครค้นพบอยู่ตรงหน้าเขา
และแถมยังอยู่ใกล้กับชายฝั่งชนิดใกล้กันเพียงฝ่ามือคั่นเลยทีเดียว

สิ่งที่อาระทาเกะค้นพบมีลักษณะคล้ายกับวิหาร ความยาวมากกว่า 300 สูง 75 กว้าง 100 ฟุต
หลังจากว่ายน้ำวนเวียนสำรวจอยู่ครู่ใหญ่ อาระทาเกะก็ยิ่งทึ่งในโบราณสถานใต้น้ำแห่งนี้หนักเข้าไปอีก มันมีเหลี่ยมที่เที่ยงตรงสมบูรณ์ การตัดเส้นและยังมีบริเวณคล้ายกับระเบียงวิหาร

ไม่นานเรื่องราวของโยนากุนิก็ระบาดไปทั่วโลก นักโบราณคดีแห่กันมาดำผุดดำว่าย เพื่อหาข้อสรุปของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหลายๆ ทฤษฎี นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปตรงกันด้านหนึ่งคืออายุของ “อนุสาวรีย์โยนากุนิ” นี้น่าจะอยู่ในช่วงไอซ์เอจหรือตอนปลายยุคน้ำแข็ง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นอายุของโยนากุนิจะเท่ากับหมื่นสองพันกว่าปี แต่อารยธรรมของมนุษย์เท่าที่มีการศึกษาค้นคว้ากันมาอย่างยาวนาน พบว่าเริ่มต้นเมื่อ 6,000 กว่าปีก่อน ซึ่งเท่ากับว่าโยนากุนิเป็นอารยธรรมที่มีมาก่อนอารยธรรมมนุษย์อย่างนั้นหรือ?

ด้วยความใหญ่โตเกินกำลังมนุษย์ยิ่งเป็นยุคโลว์เทคจะสร้างได้ นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงเสนอว่าจริงๆ แล้วมันน่าจะเกิดจากการรังสรรค์ของธรรมชาติเป็นเวลานานจึงให้เหลี่ยมมุมชัดเจน เช่น การเกิดอัญมณีในชั้นหิน แล้วรูปทรงดันมาคล้ายโบราณสถานเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในทีมงานสำรวจ “มาซากิ คิมูระ” (Masaaki Kimura) แห่งมหาวิทยาลัยริวกิวได้ลงความเห็นว่า โบราณสถานเหล่านี้เป็นพีระมิดซึ่งเกิดจากมนุษย์มากกว่า เขาเชื่อมโยงลักษณะของโบราณสถานเข้ากับบรรดาปราสาทหิน และสุสานโบราณบนหมู่เกาะน้อยใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง และชี้ว่ามันเป็นสถาปัตยกรรมที่ใกล้เคียงกันมาก

แม้คิมูระจะลงความเห็นว่าเป็น “พีระมิด” อารยธรรมมนุษย์ แต่นักวิทยาศาสตร์ นักโบราณคดีหัวเก่ากลุ่มอื่นในญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับเขาอย่างสิ้นเชิง เพราะมันไปค้านกับวิชาโบราณคดีที่ว่าพีระมิดเก่าที่สุดจะต้องอยู่ในอียิปต์เท่านั้น

ทวีปมู (Mu) อารยอันตรธานแห่งแปซิฟิก

จาก “จารึกนาอะคัล”อายุกว่า 15,000 ปี ที่ค้นพบในอินเดีย ด้วยอักขระและสัญลักษณ์นากา (Naga) นักโบราณคดีถอดรหัสได้ความว่า "เขียนขึ้นที่แผ่นดินมู”

นักเดินทาง“ออกัสตัส เลอ พองกิออง” ได้เขียนเรื่องราวของทวีปมูเป็นคนแรกเมื่อศตวรรษที่ 19 แต่คนที่ทำให้ทวีปมูมีชื่อเสียงคือ “เจมส์ เชิร์ชวาร์ด” เขียนเรื่องราวทวีปมูในทศวรรษ 1930 จากการเดินทางสำรวจไปทั่วโลก และศึกษาค้นคว้าจากแผ่นจารึกนาอะคัลในอินเดีย ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าทวีปมูมีอยู่จริง ก่อนจะเล่าผ่านหนังสือหลายๆ เล่ม เช่น The Children of Mu, The Lost Continent Mu, The Sacred Symbols of Mu ฯลฯ

ความเก่าแก่ของทวีปมูยังเป็นที่ถกเถียงกัน บางแห่งอ้างว่าอาณาจักรมูมีมานานกว่า 78,000 ปีแล้ว ขณะที่บางตำราเชื่อว่าแค่ 26,000 ปีก่อน แต่ล่มสลายลงจากภัยพิบัติขั้วโลกพลิกเมื่อ 24,000 ปีที่ผ่านมา

ว่ากันว่าทวีปมูมีอาณาเขตแผ่ขยายตั้งแต่ตอนเหนือของฮาวาย ลงมาทางตอนใต้ถึงหมู่เกาะอีสเตอร์และฟิจิ มีระยะทางกว่า 4,800 กิโลเมตร ทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกกว่า 8,000 กิโลเมตร มีประชากรประมาณ 64 ล้านคน เป็นประเทศในเขตร้อน มีที่ราบกว้างใหญ่ หุบเขาปกคลุมด้วยหญ้าและทุ่งสำหรับเพาะปลูก มีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรอยู่อย่างมีความสุข แต่ต้องมาประสบภัยพิบัติ ทำให้พื้นที่บางส่วนจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่บางพื้นที่ยังเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่เหนือผืนน้ำ เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย

สันนิษฐานว่าปัจจุบันคือหมู่เกาะทะเลใต้ เช่น หมู่เกาะอีสเตอร์ อยู่ห่างชายฝั่งอเมริกาใต้ประมาณ 2,260 กิโลเมตร มีการค้นพบรูปปั้น “หินสลักโมอัย” เชื่อว่าเป็นรูปปั้นตัวแทนบุคคลสำคัญของประชากรในทวีปมู หมู่เกาะคุก เกาะตองกา ตาบู ซึ่งเป็นเกาะหินปะการังในหมู่เกาะตองกา แต่มีการค้นพบอนุสาวรีย์หินขนาดใหญ่ ที่มีการสร้างในลักษณะซุ้มประตู ทั้งๆ ที่บนเกาะไม่มีหินอยู่เลย เกาะปานาเป พบซากปรักหักพังของวิหาร บนกำแพงมีร่องรอยรูปสลักสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ

บางคำถามเรื่องราวของโลกใบนี้ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แม้วิทยาศาสตร์จะก้าวหน้าเพียงไรก็ตาม อารยธรรมหลายอย่างยังสะท้อนถึงความเจริญที่มองดูแล้วคนยุคปัจจุบันได้แต่ยืนอึ้งว่าทำได้อย่างไร

เรื่องราวของทวีปมูเองก็ยังคงไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดกล้ายืนยันถึงการมีอยู่ ภายใต้หลักฐานที่ไม่สามารถอธิบายได้รอบด้าน บ้างก็ว่าทวีปมูกับแอตแลนติสคือแห่งเดียวกัน แต่ที่แน่ๆ คงพิสูจน์ไม่ได้รวดเร็วและด่วนสรุปเหมือน ”กูเกิลเสิร์ช” อย่างแน่นอน

*********
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ANCIENT - WISDOM. CO. UK

ศิลปะชาวมายัน อารยชนที่ถูกสันนิษฐานว่าเคยครอบครองดินแดนแห่งมู
เศษซากแห่งมหานครเฮราคลีออน
รูปสลัก โมอัย อนุสรณ์สถาน แห่งทวีปมู
ร่องรอยแห่งชาวมายันในวิหาร Uxmal
อนุสาวรีย์โยนากุนิ
วิหาร Uxmal ในเม็กซิโก
กำลังโหลดความคิดเห็น