xs
xsm
sm
md
lg

เมืองจันท์ อันซีน/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
อาคารเก่าในชุมชนริมน้ำจันทบูร
จันทบุรี เมืองนี้มี(แหล่งท่องเที่ยว)อันซีนไทยแลนด์หนึ่งเดียว คือ “โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล” ซึ่งผมคุยนักคุยหนากับ(น้อง)สาวที่พาไปว่า “โบสถ์แห่งนี้สุดยอดสวยที่สุดและใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เธอเห็นจะต้องตะลึง ตึง ตึง”

ครั้นพอไปถึงโบสถ์วัดแม่พระฯกลายเป็นผมต่างหากที่ตะลึง ตึง ตึง เพราะโบสถ์กำลังอยู่ในช่วงบูรณะปรับปรุง ราคาคุยก่อนหน้านี้เลยเสื่อมมนต์ขลังลงในพริบตา

นี่แหละหนาคิดจะพาสาวไปเที่ยวแต่ไม่หาข้อมูลให้ดี สุดท้ายเลยไม่มีดีให้โชว์ แต่ไม่เป็นไรติดเอาไว้คราวหน้า เพราะโบสถ์วัดแม่พระฯหลังนี้เขาจะปรับปรุงให้สวยงาม ยิ่งใหญ่ อลังการ กว่าเก่า แต่จะตระการตาแค่ไหน ผมไม่กล้าคุยกลัวพลาดอีก เอาเป็นว่าเอาไว้ให้โบสถ์เสร็จราวๆกลางเดือนสิงหานี้ใครสนใจก็ไปชมกันได้

ส่วนตอนนี้เมื่อไม่สามารถชมความงามของโบสถ์วัดแม่พระฯได้ ผมจึงชวนเธอบ่ายหน้าออกมาเดินชมบ้านเรือนริมน้ำในละแวกนั้นเพื่อไม่ให้มาแล้วเสียเที่ยว ปรากฏว่าโป๊ะเชะ เจอของดีเข้าให้แล้ว นั่นก็คือ ชุมชนเก่าคลาสสิคทรงเสน่ห์ระดับอันซีนฯ(ในความคิดของผม) ซึ่งแค่บริเวณใกล้ๆโบสถ์วัดแม่พระฯนี่ก็มีบ้านเก่าเรือนขนมปังขิงกับลวดลายฉลุไม้งามๆให้ชมกันอยู่หลายหลัง อ้อ!!!แต่บางบ้านหมาดุ(ชะมัด) ใครจะชะแวบไปด้อมๆถ่ายรูปคงต้องระวังกันหน่อย
อาคารเก่าในชุมชนริมน้ำจันทบูร 2
จากโบสถ์ผมขึ้นสะพานเดินข้ามแม่น้ำจันท์มายังฝั่งตรงข้าม สายตาเหลือบมองไปเบื้องหน้าเห็นป้าย...”ชุมชนริมน้ำจันทบูร” ย้อนวิถีจันท์ สร้างสรรค์วิถีไทย ชาวจันท์...จะช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งดีๆให้คนไทยทุกคนได้ปลื้มใจ...

ป้ายนี้ดูยังใหม่ สียังไม่ซีดจาง เดาว่าน่าจะขึ้นได้ไม่นาน แต่ป้ายใหม่ป้ายเก่าไม่สำคัญ ที่สำคัญคือข้อความในป้าย เพราะมันทำให้ผมสนใจอยากรู้ในความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้เสียแล้วสิ และช่างบังเอิญเหลือเกินที่เทพีแห่งโชค(ดี)อยู่กับเรา เมื่อระหว่างเดินถ่ายรูปผมได้พบกับคุณป้า“ประภาพรรณ ฉัตรมาลัย” ประธานชุมชนริมน้ำจันทบุรี นั่นจึงทำให้เรื่องราวเมื่อครั้งกระโน้นของชุมชนแห่งนี้พรั่งพรูออกมาจากการให้ข้อมูลและเอกสารของคุณป้า พอสรุปความคร่าวๆได้ว่า

ชุมชนริมน้ำแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ อายุอานามปาเข้าไป 300 กว่าปี นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช(กรุงศรีอยุธยา)ทรงย้ายเมืองจันทบูรจากบ้านหัววังมายังบ้านลุ่ม ชุมชนริมน้ำแห่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของบ้านลุ่ม มีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณฝั่งแม่น้ำจันทบุรีตั้งแต่ท่าสิงห์ ท่าหลวง(ตลาดเหนือ) ตลาดกลาง และตลาดใต้ โดยมีถนนสุขาภิบาลและแม่น้ำจันทบุรีเป็นทางสัญจรหลัก
ลายฉลุเรือนขนมปังขิง
ย่านนี้เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วเป็นย่านการพาณิชย์สำคัญ จึงมีชาวจีน ชาวญวน(เวียดนาม) อพยพเข้ามาทำการค้าขายอยู่มาก

ชาวจีนเป็นกลุ่มคนเดินเรือเพื่อการค้าขายและผู้หนีความยากลำบากจากจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ชาวจีนที่นี่นอกจากค้าขายแล้วยังประกอบอาชีพ รับจ้าง รับราชการ และทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน

ด้านชาวญวน เริ่มเข้ามาในสมัยพระเพทราชา(พ.ศ.2242) มีคริสตชนเข้ามาจำนวนหนึ่งประมาณ 130 คน ก่อนจะมาเพิ่มขยายในภายหลัง พวกเขามารวมกลุ่มกันอยู่ที่ริมแม่น้ำจันท์ฝั่งตะวันตกตอนล่าง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “บ้านญวน”

ทั้งชาวจีน ชาวญวน ต่างอพยพมาอยู่ร่วมกันกับคนไทยอย่างผสมกลมกลืน เกิดเป็นชุมชนที่มี 3 วัฒนธรรม คือไทย จีน ญวน ผสมผสานกันอยู่ทั่วไป ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ การแสดงงิ้วเป็นภาษาไทย และการแต่งกาย(ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว) ซึ่งตามถนนที่คึกคักไปด้วยบรรยากาศการค้าขายจะเห็น คนไทย จีน และญวน แต่งกายในชุดพื้นเมืองของตน
ตึกโบราณที่ยังมีลมหายใจ
ขณะที่ตามชานบ้านชาวญวนเกือบทุกบ้านก็จะมีหูกทอเสื่อกก ราวตากกกขึงไว้ เพราะคนญวนเชี่ยวชาญด้านการทอเสื่อกก เสื่อกกจึงเป็นสินค้าสำคัญของเมืองจันท์ในยุคนั้น ต่อมาในยุคพลอยเฟื่องฟู(ประมาณ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา)ชาวญวนหันหน้าไปหางานทำพลอยทิ้งการทอเสื่อไว้เป็นตำนานให้เล่าขาน

ด้านการศาสนา ชาวจีนได้สร้างศาลเจ้าขึ้นหลายแห่งในพื้นที่ชุมชนริมน้ำ อาทิ ศาลเจ้าตั้วเล่าเอี้ย ศาลเจ้าแม่กวนอิม ศาลเจ้าที่ตลาดล่าง ส่วนชาวญวนพวกที่เป็นคริสต์(คาทอลิก)ได้สร้างโบสถ์วัดแม่พระฯอันยิ่งใหญ่ส่วนงามขึ้น ชาวญวนพุทธได้สร้างวัดฮกซั่งยี่หรือวัดญวนหรือวัดเขตร์นาบุญญาราม(นามที่ ร.3 พระราชทาน) ซึ่งเป็นวัดสงฆ์อนัมนิกายขึ้น เช่นเดียวกับชาวไทยที่ได้ร่วมกันสร้างวัดโบสถ์และวัดจันทนารามขึ้นในชุมชนแห่งนี้
บ้านเรือนริมน้ำ
อนึ่งเมืองจันท์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบูรเป็นตัวประกันถึง 11 ปี ส่งผลให้งานสถาปัตยกรรมในชุมชนริมน้ำรับเอาอิทธิพลของตะวันตกเข้าไปด้วย เกิดเป็นชุมชนที่มีงานสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนแบบผสมผสานหลากหลายดูน่าสนใจไม่น้อย

ปัจจุบันยังหลงเหลืออาคารเก่าแก่ทรงคุณค่าอายุ 100 ปีขึ้นไปให้ชมกัน เช่น บ้านหลวงประกอบนิติสาร บ้านแบบจีนกับงานสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น บ้านขุนบุรพาภิผล(ร้านขนมไข่ป้าไต๊) บ้านตึกทรงยุโยปที่ยังทิ้งรอยความงามเก๋ๆไว้ให้ชมกัน บ้านหลวงราชไมตรี ตึกฝรั่งแบบปีนังและสิงคโปร์ บ้านไม้หลังคาปั้นหยา บ้านไม้ริมน้ำ เรือนขนมปังขิง เรือนและไม้ชั้นเดียวและสองชั้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งเมื่อมีวันรุ่งโรจน์ก็ย่อมโรยรา ชุมชนริมน้ำลดความคึกคักความสำคัญถดถอยไปด้วยเหตุปัจจัยหลักๆ 4 ประการ คือ

1.ลูกหลานคนรุ่นใหม่ย้ายไปอยู่ต่างถิ่น ทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่เฝ้าบ้าน ทำให้บ้านขาดการดูแลรักษาทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

2.การสร้างตลาดน้ำพุและตลาดซุ้ยขึ้นใหม่ ทำให้ร้านค้าส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่ที่ตลาดใหม่ พร้อมกับความเจริญขยายตัวห่างจากฝั่งริมน้ำเข้าไปในตัวเมือง

3.เกิดไฟไหม้ตอนกลางถนนสุขาภิบาลย่านการค้าสำคัญ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 33 ชาวบ้านแถบนี้จึงย้ายไปตั้งบ้านเรือนยังถิ่นอื่น ความซบเซาจึงตามมา

4.ธุรกิจพลอยเจริญรุ่งเรืองในช่วงราวปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป ชาวชุมชนส่วนหนึ่งเปลี่ยนจากการค้าไปทำธุรกิจพลอยและเจียระไนพลอยแทน จึงย้ายฐานการทำธุรกิจไปยังแถวตลาดพลอย
ตึกโบราณที่ยังมีลมหายใจ 2
ครับนั่นคือข้อมูลหลักๆของชุมชนริมน้ำจันทบูร ที่มีความเป็นมายาวนาน มีความหลากหลายในมิติชุมชน และมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวไม่น้อย ซึ่ง ณ วันนี้ บรรดาชาวบ้านหัวก้าวหน้าในชุมชนริมน้ำได้รวมตัวกัน(พยายาม)ฟื้นความหลังเมื่อครั้งเป็นย่านการค้าสำคัญอันรุ่งเรืองงดงามขึ้นมาใหม่ โดยใช้วิถีชีวิตนำการค้า ไม่ใช่การค้านำวิถีชีวิต เพื่อให้คนรุ่นหลัง(และรุ่นหน้า)รู้จักรากเหง้าของตัวเอง อีกทั้งยังเพื่อผลพลอยได้ทางการท่องเที่ยวที่จะตามมา

ในขั้นเริ่มต้นนี้พวกเขาได้ดำเนินการบางอย่างไปแล้ว อาทิ ขึ้นป้ายรณรงค์การอนุรักษ์รื้อฟื้นชุมชน การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านและทุกภาคส่วน การเก็บข้อมูลประวัติชุมชน การติดป้ายให้ข้อมูลกับบ้านเรือนหลังสำคัญๆ การเชิญชวนชาวบ้านส่งภาพเก่าๆมาร่วมจัดแสดง

ซึ่งเท่าที่ได้(แอบ)ฟังชาวบ้านระดับแกนนำบางคนคุยกัน เขาอยากให้ชุมชนริมน้ำจันทบูรเป็นชุมชนที่มีการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่มีแบบแผน ค่อยเป็นค่อยไปแต่มั่งคงยั่งยืน ไม่ใช่เป็นชุมชนท่องเที่ยวแบบฉาบฉวยตีหัวเข้าบ้าน เป็นถนนคนเดิน-ตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ เน้นขายของ เน้นหาเงิน โดยที่ชาวชุมชนไม่ได้รู้ในรากเหง้าและสิ่งสำคัญอันทรงคุณค่าของชุมชนตัวเอง

เรื่องนี้น่าติดตามยิ่งว่าในอนาคตชุมชนริมน้ำจันทบูรจะเป็นเช่นไร???

กำลังโหลดความคิดเห็น