xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรศิลปินเพื่อชีวิต 2552 ศิลปะ ดนตรี บทกวี และประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากกระแสของวงการเพลงเพื่อชีวิตเมืองไทยแผ่วเบามาได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ด้วยเหตุที่บริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เกิดขึ้นด้วยการต่อสู้กับเผด็จการอำนาจรัฐของขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนที่ถูกตีกรอบสิทธิของการรับรู้เมื่อครั้งเดือนตุลาฯ ซึ่งได้ก่อเกิดกลุ่มปัญญาชนที่ขับเคลื่อนพลังทางวรรณกรรม บทกวี และบทเพลงเพื่อชีวิต กลายเป็นผลึกพลังศิลปะอันบริสุทธิ์แห่งยุคสมัย

กาลล่วงเลยต่อมา บทเพลงเพื่อพาณิชย์ได้เบียดแทรกมากับคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตาตื่นใจพร้อมเทคโนโลยี มาในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ที่กว้างขวางออกไปจนหลงลืมอุดมการณ์การต่อสู้และตำนานของวีรชน... แต่นั่นยังไม่นานพอที่กระบวนการพาณิชย์ศิลป์จะฮุบกลืนพลังศิลปะอันบริสุทธิ์ลงได้ เพราะได้เกิดการต่อสู้ของกลุ่มปัญญาชนรอบใหม่ ในบริบทของสังคมยุคใหม่ ภายใต้ชื่อ 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' อันเป็นศูนย์รวมของกลุ่มนักศิลปะ และนักดนตรี ที่ผนึกกำลังเปล่งประกายขึ้นมาอีกครั้ง กระทั่งไม่กี่วันจากนั้นก็เริ่มออกจากเส้นชัยที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทิวแถวยาวเหยียดทั่วท้องถนนราชดำเนินในวันนั้น เป็นการหวนคืนสู่บ้านเก่าของบทเพลงแห่งการต่อสู้อีกครั้ง เป็นการต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งปัญญาขึ้นมาใหม่อีกคำรบหนึ่ง

พลันที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช จะยื่นญัตติเข้าสภาฯ โหวตเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองทะลุไส้ทะลุพุงรู้ไต๋ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีวาระเพียงเพื่อปกป้องทรัพย์สินของนายใหญ่ซึ่งตอนนั้นบงการเกมอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เวลาไม่นานนักหลังจากสิ้นเสียงนกหวีดของแกนนำพันธมิตรฯ มวลชนพันธมิตรฯ จากทุกหัวระแหงก็ได้เคลื่อนทัพเดินเท้าสำแดงพลังทางศีลธรรม ตั้งเวทีตระหง่านอยู่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ พร้อมมีการจัดปราศรัยสลับกับการขับเคลื่อนพลังทางศิลปะด้านดนตรี บทกวี เพื่ออธิบายสาเหตุที่นายสมัครจะแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีนัยอะไรซ่อนเร้นอยู่

ความจริงแล้วทุกครั้งที่มีการต่อสู้ของภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด เช่นกรณี 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กระทั่งล่าสุดเมื่อปี 49 ที่ขับไล่รัฐบาลทักษิณ ศิลปินเหล่านี้ก็จะมีบทบาทในการขับเคลื่อน ผสมโรงทุกครั้งคราว
มาครั้งนี้ขุนพลเพลงเพื่อชีวิต ที่ในวงการเชิดชูว่าเป็นอาจารย์ใหญ่อย่าง สุรชัย จันทิมาธร เป็นหัวหอกทะลวงฟัน ผู้ถือคบไฟให้ทางเหล่าขุนพลเพื่อชีวิต นอกจากนั้นก็มีรุ่นใหญ่อย่างน้าหว่อง - มงคล อุทก, น้าซู - ระพินทร์ พุทธชาติ, เศก ศักดิ์สิทธิ์, แฮมเมอร์, แสง ธรรมดา, วสันต์ สิทธิเขตต์, จุ๋ม ด่านเกวียน, ยุทธ - ด้ามขวาน ตลอดจนดารานักร้องอย่างตั้ว - ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, สุชาติ ชวางกูร, สุกัญญา มิเกล, จอย - ศิริลักษณ์ ผ่องโชค, อ๊อด คีรีบูน

ศิลปินรุ่นกลางอย่างวงอัสดง, โพล์คเหน่อ, กากบาท, บิณทบาต, หยดน้ำ, น้ำค้าง และวงน้องใหม่อย่างวง แหลม ผู้จัดกวน และอีกหลายต่อหลายวง รวมแล้วกว่าร้อยวงดนตรี ที่ใช้บทกวี เสียงเพลงเป็นอาวุธร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ที่เรียกว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อสู้กับอำนาจรัฐ ความไม่เป็นธรรม การฉ้อฉลของผู้ถืออำนาจ เป็นการต่อสู้ที่ยาวนานเป็นประวัติการณ์ถึง 193 วัน และเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองไทยเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน

ศิลปินกลุ่มดังกล่าวเคียงบ่าเคียงไหล่และเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเคียงข้างประชาชน เผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ ทั้งอาวุธสงคราม M-79 และอาวุธที่สามารถปลิดชีพพวกเขาได้ทุกเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งประทัดยักษ์ ทำเอาอกสั่นขวัญผวา ไม่ต่างอะไรจากการสู้รบแบบสงคราม จะต่างก็ตรงที่ในสมรภูมิรบกันจริงๆ นั้นต่างฝ่ายต่างมีอาวุธ แต่ทว่าศิลปินและประชาชนเหล่านี้สู้ภัยกันอย่างสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ รอให้ฝ่ายรัฐเล่นใต้ดินนำอาวุธสงครามมาถล่มไม่เว้นแต่ละวัน หากจะบอกว่ามาเสี่ยงตายในสนามรบยามสงครามก็คงจะไม่ใช่วลีที่กล่าวเกินไปนัก

กระทั่งเมื่อการต่อสู้ของภาคประชาชนสิ้นสุดลง เวทีอันศักดิ์สิทธิ์ของศิลปินก็ถูกพับเก็บไปพร้อมมวลชน คงเหลือไว้แต่ภาพความทรงจำทางประวัติศาสตร์อันแสนงดงามจารึกไว้บนแผ่นดินไทย และในใจของพวกเขาทุกคน

ศิลปินกว่า 100 วงต่างแยกย้ายกันกลับไปประกอบอาชีพตามที่ตนเองถนัด ศิลปินสายใต้วางกีตาร์ ถือมีดไปกรีดยาง ทำไร่กาแฟ ศิลปินที่เดินทางมาจากอีสานกลับไปขายลาบก้อย หลายรายกลับไปเล่นตามผับบาร์ ส่วนผลกระทบนั้นมีมากโข หลังขึ้นเวทีพันธมิตร ทั้งข่มขู่เอาชีวิต ทั้งตัดช่องทางทำมาหากิน อย่างศิลปินบางรายที่เล่นตามผับ เจ้าของกิจการก็เลิกจ้างเอาดื้อๆ เหตุว่าจะเป็นตัวล่อเป้าของกิจการ จำเป็นต้องยกเลิกสัญญาจ้างไปก็หลายราย

ศิลปิน นักกวีอาวุโสหลายท่านแนะนำว่า การต่อสู้อันเกรียงไกรของเขาเหล่านั้นควรจะได้รับการจดจำในฐานะผู้เสียสละความสุขส่วนตัว หน้าที่การงาน แม้กระทั่งชีวิต อย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดตั้งองค์กรของศิลปินเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อน ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ใช้ความสามมารถของศิลปินแต่ละท่านให้ได้ทำในสิ่งที่ตนเองถนัด

การรวมตัวของเหล่าศิลปินจึงเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม 2551 ที่บ้านเจ้าพระยา ศิลปินทั่วแค้วนแดนดินได้ตบเท้ามาจากทั่วสารทิศเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับกลุ่มศิลปินว่าควรจับกลุ่มกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

โดยมีศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง สุเทพ และแดง วงโฮป, ซูซู, เศก ศักดิ์สิทธิ์, ตั้ว - ศรัณยู วงศ์กระจ่าง ส่วนศิลปินอีกหลายคนที่ติดภารกิจไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ใหญ่ หงา - คาราวาน, น้าหว่อง - มงคล อุทก, แฮมเมอร์ หรือดารานักร้องอย่างสุชาติ ชวางกูร, จอย - ศิริลักษณ์ ผ่องโชค ผู้ประสานงานเครือข่ายศิลปินก็ได้ส่งข่าวให้ทราบ ตลอดจนศิลปินรุ่นกลาง รุ่นเล็ก ก็ได้แห่แหนกันมาอย่างเนืองแน่น

อย่างไรก็ดี พัฒนาการของมนุษย์ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณนั้น ศักยภาพของคนมีความถนัดแตกต่างกันไป แต่เมื่อมีคนที่ถนัดเหมือนกัน ทำสิ่งเดียวกันมาอยู่รวมกันเป็นคนหมู่มาก ย่อมจะเกิดปัญหาในภายภาคหน้า เพื่อนศิลปินน้อยใหญ่จึงคิดว่าน่าจะจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน อีกทั้งเพื่อปกป้องคนดี คนเก่ง คนมีฝีมือ คนมีอุดมการณ์ ให้อยู่ในอาชีพอยู่ในองค์กรอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ขณะเดียวกัน ต้องกำจัดคนไม่ดีออกจากอาชีพ ออกจากองค์กร เพราะนั่นเท่ากับว่าอาจจะเป็นบุคคลที่ถ่วงความเจริญ หรือทำให้เสียภาพลักษณ์ขององค์กรได้ องค์กรจะเป็นตัวกลั่นกรองแยกแยะเพชรหินดินทราย ก้อนกรวด ให้ชัดเจน เมื่อมีการขับเคลื่อนไม่ว่าจะในกรณีใด องค์กรนี้ก็จะแข็งแกร่งเป็นขบวนทัพที่เกรียงไกร

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมักมองข้ามก็คือ อาชีพนักดนตรี กวี ศิลปิน ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพเหมือนผู้ประกอบวิชาชีพอื่น มักถูกเลิกจ้างและตกงานอยู่เป็นวงจรชีวิต แต่ทว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้มอบความสุขใจ มอบความบันเทิงให้แก่ผู้คนเสมอมา พวกเขาสัญญาว่าจะรับใช้ประชาชนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อมอบความสุขให้ผู้คนตลอดไป...

และนี่คือมุมมองและทัศนะของศิลปินแถวหน้า ต่อกรณี "องค์กรศิลปิน"

สุรชัย จันทิมาธร
"เราต้องเปิดกว้างเพื่อจะได้ทำงานสร้างสรรค์ผลงานให้กว้างขึ้น จุดหลักเพื่อเป็นตัวสะท้อนในการต่อสู้ร่วมกับประชาชน พอเรามองอะไรที่กว้างขึ้น การทำงานก็จะอิสระ สบายขึ้น และอีกอย่างต้องหาแกนในที่เป็นเนื้อแท้ และเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม ดูแล้วไม่เน้นหนัก ยุ่งกับการเมืองมากเกินไป โดยพื้นฐานเราก็ใช้ศิลปะ กวี เสียงเพลงเป็นอาวุธอยู่แล้ว อย่าให้มันหนักเกินไป

"สำหรับบทเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบัน คงจะหาทางทำงาน รับใช้สังคมเพื่อดำรงอยู่ ปัจจุบันกระแสเพลงเพื่อชีวิต จางหายไป อย่างศิลปินหลายคนในวงการก็โตกันแล้ว แต่การทำงานก็ยังไม่คลี่คลาย เป็นความสับสนทางความคิด มองกันว่าทำแล้วฮือฮาหรือไม่ฮือฮา ทุกวันนี้เนื้อที่ทางการตลาด หรือผู้เสพโดนเบียด ค่ายเทปใหญ่ๆ มีโอกาสมากกว่า ก็กระจายเพลงได้ครอบคลุมมากกว่า แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เพลงเพื่อชีวิตยังมีกลิ่นอายอยู่ไม่มีวันเสื่อมคลาย ไม่ควรจะมองข้าม รากเหง้าที่เป็นแก่นสารเพลงเพื่อชีวิตยังคงอยู่ ยังพูดถึงการกำเนิด ธรรมชาติ วัฒนธรรม เรื่องคน เรื่องควาย หมูหมากาไก่ ตลอดจนการต่อสู้ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นรากฐาน เหมือนโครงสร้างของสังคมไทย รากหญ้าก็คือรากเหง้าของสังคมไทย สังคมเกษตรกรอยู่ดี เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เป็นเรื่องธุรกิจ นายทุนผลักดัน ทำให้ทิศทางแปรเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง"

แฮมเมอร์
"ต้องการสานต่อด้านวัฒนธรรม ดนตรี และกวี องค์กร หรือมูลนิธิ มีความจำเป็นมาก เพราะจะเป็นการรวมศูนย์ ของเหล่าศิลปิน ถ้าไม่เช่นนั้นศิลปินก็จะไม่มีเอกภาพ การขับเคลื่อนก็ไม่เป็นริ้วขบวน ทำให้ดูไม่ดี ไม่สง่างาม เท่าที่ผ่านมา หมายถึงการต่อสู้ร้อยกว่าวันนั้น ศิลปินเอง ไม่มีการจัดตั้งกลุ่ม หรือองค์กรอะไรทั้งสิ้น ต่างคนก็ต่างมาร่วม ไร้รูปแบบ จึงไม่มีระเบียบ ถ้าหากจัดตั้งขึ้นมาได้ ก็จะเป็นการสานต่อวัฒนธรรมด้านเพลงต่อจากรุ่นพี่ เพราะต้นไม้ใหญ่สักวันหนึ่งต้องเหี่ยวเฉาโรยรา มิฉะนั้น ศิลปินตัวเล็กตัวน้อยต้องรับช่วงต่อไป

"คือถ้าให้แสดงทัศนะส่วนตัวก็น่าจะเป็นรูปแบบมูลนิธิมากกว่า และจะต้องมีการรวมศูนย์เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต้องหล่อหลอมจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียวถึงจะทรงพลัง ศิลปินไม่ใช่จะทำเพลงอย่างเดียว ต้องดูองค์รวมเรื่องวัฒนธรรมทั้งหมดด้วย ศิลปินต้องหมั่นค้นคว้าหาความรู้ จะได้กระจายความรู้สู่สาธารณชน เพราะคนเขาจะฟังศิลปินพูด ค่อนข้างที่จะโน้มเอียงสิ่งที่ศิลปินนำเสนอ และต้องปลูกจิตสำนึกให้คนไทย รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

"ส่วนหัวเรือใหญ่งานนี้ต้องยกให้น้าหงา เป็นผู้อาวุโส เป็นผู้เฒ่าแห่งวงการ ส่วนความเห็นเรื่องบทเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันเป็นไงบ้าง เราว่ามันเละเทะมาก คนเข้าใจผิดกันหมด ผู้เสพสับสน แยกไม่ออกว่าอันไหนลูกทุ่ง อันไหนเพื่อชีวิต ต้องมองไปที่ค่ายเทป หรือคนในวงการเดียวกัน เมื่อมุ่งแต่หาประโยชน์ก็จะเอาอะไรก็ได้มาผสมปนเปเพื่อหวังผลทางการตลาด ภาษาที่ใช้ยังเป็นแบบเก่าๆ ไม่บ่งบอกถึงยุคปัจจุบัน รวมทั้งการแต่งกายก็ยังเหมือนเดิม ความจริงไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ มันอยู่ที่เนื้อหาสารมากกว่า
"ในฐานะที่อยู่ในวงการมากว่า 30 ปี แฮมเมอร์ก็อยากให้กำลังใจสำหรับนักสร้างสรรค์ ที่มีความอดทน อยากจะให้ช่วยกันปลูกจิตสำนึกของบ้านเกิด ให้คนไทยสำนึกในบุญคุณแผ่นดิน ศิลปินต้องสนใจการเมืองชนิดเข้าเส้นเลือด เพื่อให้ตกผลึก กลั่นกรองมาเป็นบทเพลง ถึงตอนนั้นงานเพลงก็จะมีคุณภาพ ไม่ตีหัวเข้าบ้าน เพียงใช้วลีไม่กี่คำมาร้องวนไปวนมา ถึงเวลาแล้วที่ศิลปินเราทุกคนต้องช่วยกันรังสรรค์ ให้วงการดนตรี ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี หมดยุคที่ค่ายเทปต้องมายัดเยียด หรือตีกรอบให้ศิลปินคิดอยู่แต่บริเวณกรอบเล็กๆ แล้ว"

เศก ศักดิ์สิทธิ์
"การจัดตั้งเครือข่ายศิลปินก็เพื่อเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนทางการเมือง ทางสังคม เหมือนการร่วมกันทำงานศิลปะสักชิ้นร่วมกัน ทุกคนจะต่างคนต่างทำไม่ได้ เพราะเป็นงานชิ้นเดียวกัน เฟรมเดียวกัน ไม่งั้นงานก็เละเทะ องค์กรจะเป็นศูนย์รวมในการรองรับตรงนี้ ช่วยเหลือเพื่อนศิลปินด้วยกัน ส่วนจะเป็นองค์กร หรือมูลนิธิ ผมว่าอยู่ที่เนื้อหา บุคลากร คนทำงาน แต่โดยส่วนตัวของมันต้องมีความอิสระบ้าง เวลาทำกิจกรรม หรือการเคลื่อนไหวจะได้คล่องตัวมากกว่า ในส่วนของกิจกรรมถ้าเป็นเรื่องการเมืองอย่างเดียวคงแคบไป อะไรก็ได้ที่ทำให้สังคมมันดี เรื่องสังคม เรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ทั้งนั้น เพราะการเมืองดี สังคมก็ดี การเมืองแย่ทุกอย่างก็เลวร้าย

"ส่วนเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบัน ในสภาพด้านกว้างไม่รู้ว่าเราขลุกกับพันธมิตรฯ มากไปหรือเปล่า เพราะเนื้อหามันเข้มข้น ส่วนข้างนอกไม่มีประเด็นที่แหลมคม ยังคงเป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ แค่สนองตัณหาทางการตลาด ไปดูถูกหรือตีกรอบคนฟังว่าเขาต้องการแบบนี้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผลักดันไปในทิศทางที่ดี ทุกวันนี้เปิดกว้าง ศิลปินไม่จำเป็นต้องหล่อหรือสวยงามเสมอไป อยู่ที่ความสามารถมากกว่า ก็อยากจะฝากถึงเพื่อนๆ ศิลปินหรือรุ่นน้องๆ เนื้อหาสาระของเพลงก็จะสะท้อนมุมมองของศิลปินคนนั้นๆ นักปกครองที่ดีก็ต้องยกย่องเขา แต่ถ้าเป็นคนไม่ดีก็ต้องนำมาเปิดโปง อย่างนักการเมืองที่โกงชาติ บ้านเมืองก็ต้องช่วยกันแต่งเพลงฉีกหน้ากาก กระชากความชั่วร้าย ประจานให้สังคมรับทราบ ส่วนเนื้อหาที่ส่งผลให้สังคมเสื่อมเสียก็ควรจะเพลาๆ ลงบ้าง สิ่งไม่ดีต้องล้างให้สะอาด เพื่อความผาสุกของสังคม"

วสันต์ สิทธิเขตต์
"เห็นศิลปินเคยร่วมกันต่อสู้มาครั้งหนึ่งแล้ว ก็ไม่อยากกระจายหายกันไปพร้อมกับการพับเวทีของประชาชน อยากให้มารวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงาน และเตรียมตัวพร้อมที่จะเคลื่อนไหวในครั้งต่อไป เพราะเราคาดหวัง หรือตั้งความหวังกับนักการเมืองไม่ได้เลย การรวมตัวกันไว้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด จากประสบการณ์ผมเคยจัดตั้งมาหลายองค์กรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหพันธ์ศิลปิน ตอนปี 35 ขับไล่สุจินดา (คราประยูร) เครือข่ายศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม ต่อต้านโรงไฟฟ้า ต่อต้านการสร้างเขื่อน รวมทั้งพรรคศิลปิน นี่ก็เพิ่งโดนฟ้อง และไปปั๊มรอยนิ้วมือรับข้อกล่าวหามาหมาดๆ

"เมื่อเวทีพับไปแล้ว เหล่าศิลปินต้องกลับไปที่จุดเดิมที่เคยอยู่ เพื่อตั้งสติ ใช้ประสบการณ์ เขียนเพลง สร้างงานศิลปะให้มีคุณภาพมากขึ้น หากมีเวทีสัญจรตามต่างจังหวัดก็แบ่งทัพแบ่งวงกระจายกันออกไป ไม่ควรแห่กันไปเป็นโขยง เพราะเกรงใจเจ้าภาพ ไหนจะต้องดูแลสารพัด การเคลื่อนที่แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ส่วนเรื่องการผลิต CD รวบรวมงานเพลง ก็อาจจะคัดเลือกเพลงแต่ละวงมารวมอัลบั้ม แล้วจัดจำหน่ายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนหนึ่งก็ช่วยเหลือเอเอสทีวี ส่วนหนึ่งก็ช่วยเหลือเพื่อนๆ ศิลปินด้วยกัน
"ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า จะตั้งหน้าตั้งตาหาเงินจนร่ำรวยมหาศาล ดูเม็ดเงินแล้วก็คงไมกี่ตังค์ คงไม่ร่ำรวยอะไรมากมาย กิจกรรมเครือข่ายศิลปิน อันดับแรกจะจัดคอนเสิร์ตเพื่อช่วยเหลือครอบครัววีรชน และผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ เราต้องให้ความสำคัญและเยียวยาบุคคลเหล่านี้ เพราะมันเป็นความสูญเสียและความเจ็บปวด ต้องเยียวยาทั้งเรื่องเงิน และด้านกำลังใจ ส่วนกิจกรรมอย่างอื่นค่อยว่ากัน

"ส่วนความเห็นเรื่องบทเพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันนี้ ผมมองว่าเพลงเพื่อชีวิตไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน เพียงแต่เพลงที่มีเนื้อหามอมเมาประชาชน เรื่องผัวๆ เมียๆ ครอบงำผู้บริโภคอยู่ มีเนื้อที่มีช่องทางมากกว่า ก็มีการกระจายในเนื้อที่กว้างกว่า เป็นเรื่องธรรมดา ส่วนบทเพลงหลังการต่อสู้ของภาคประชาชน จะต้องมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งกินใจ มองอะไรที่กว้างขึ้น ไม่ระบุเจาะจงโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ควรจะเปิดโปงความชั่วร้ายของนักการเมืองที่โกงชาติ โกงภาษีของประชาชน"

*******************************

เรื่อง : ธีระพงษ์ศักดิ์ สังฆะทิพย์
ภาพ : สัจจา จอมบุญ











กำลังโหลดความคิดเห็น