xs
xsm
sm
md
lg

‘ตั๋วหนังแพง’ บริการทางเลือกที่นักดูหนังต้องทำใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
หากบอกราคาตั๋วภาพยนตร์นั้น แปรผันเร็วราวกับราคาน้ำมันก็ไม่ปาน คงจะเป็นคำพูดที่ไม่เกินจากความจริงไปเลย เพราะตลอดช่วงระยะเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ ดูเหมือนค่าใช้จ่ายในการดูภาพยนตร์จะทะยานขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง เอาง่ายๆ จากเดิมที่เพียงแค่กำแบงก์ร้อยเพียงใบเดียวก็ดูได้แล้ว ตอนนี้กลับกลายเป็น มี 200 บาท ก็อาจจะไม่พอกับการดูหนังสักเรื่องเสียแล้ว

โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์ที่เรียกว่า ‘มัลติเพล็กซ์’ ที่มีอยู่ 2 สังกัดใหญ่ๆ อย่าง เมเจอร์ และเอสเอฟ ซึ่งมักจะกระจายตัวอยู่ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งนอกจากราคาจะแพงกว่าโรงภาพยนตร์ปกติแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องอีกต่างหาก ซึ่งแน่นอนข้ออ้างที่ถูกนำมาใช้นั้น ก็หนีไม่พ้นต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง

จากการร้องเรียนของผู้ชมภาพยนตร์ว่า โรงภาพยนตร์มีการปรับเพิ่มราคาตั๋วเข้าชมภาพยนตร์สูงขึ้นถึง 240 บาทต่อที่นั่ง ซึ่งสูงเกินราคาที่เหมาะสม แถมยังไม่มีการปิดป้ายแสดงราคาให้ทราบอีกด้วย ทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาแพงหูฉี่

นอกจากนี้ยังฉายโฆษณาหนังตัวอย่างนานนับชั่วโมง แม้กรมการค้าภายในจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ แต่ทั้งนี้แล้วโรงภาพยนตร์ก็ไม่ได้อยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เพราะถือเป็น ‘บริการทางเลือก’ แต่ก็สามารถใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เอาผิดกรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจนได้ ส่วนการกำหนดราคาบัตรชมภาพยนตร์ อาหาร และเครื่องดื่มที่สูงเกินความเหมาะสมนั้น ทางกรมการค้าภายในจะเชิญผู้ประกอบการหารือกันต่อไป

จากช่องว่างของมาตรการกำกับดูแลดังกล่าว ทำให้ผู้หลงใหลในการดูหนังหรือคอหนังทั้งหลายบ่นพรึมต่อการปรับขึ้นราคาตั๋วและบริการต่างๆ จึงเกิดคำถามตามมามากมายว่า วันนี้เจ้าของโรงภาพยนตร์เอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไปหรือเปล่า แล้วตรงนี้ควรมีกลไกการกำกับดูแลจากภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขหรือไม่? อย่างไร?!?

จากอดีตสู่ปัจจุบันของโรงภาพยนตร์
หากพูดไปแล้วโรงภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ร่วมกับวิถีชีวิตระหว่างความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเก่าสู่สิ่งใหม่ ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังผู้คร่ำหวอดบนวิถีหนามเตยมาอย่างยาวนาน กล่าวถึงวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในอดีตว่าการชมภาพยนตร์สมัยก่อนนั้น แฝงความมุ่งมั่นของผู้ชม

“ถ้าย้อนไปสมัยก่อน ราวปี 2520 โรงหนังจะเป็นแบบสแตนด์อะโลน หรือเป็นโรงเดี่ยว ฉายเรื่องเดียวโรงเดียว การไปดูหนังมันก็คือ การที่คนตั้งใจจะไปดูจริง มันไม่เหมือนสมัยนี้ซึ่งอยากดูหนังก็เดินไปที่โรง เลือกเวลา เลือกเรื่องได้ แต่สมัยก่อนมันเป็นการมุ่งหน้าที่จะไปดูหนังอย่างจริงจัง มันก็อาจจะมีความมุ่งมั่นสูง แล้วก็เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจริงๆ”

เมื่อก่อนเคยมีวัฒนธรรมของคนดูหนังที่ผู้บริโภคไม่ต้องมีฐานะหรือการเงินดีมากมาย ความรู้สึกของคนดูหนังก็คือความบันเทิงที่จ่ายได้ แต่ว่าปัจจุบันนี้ การไปดูหนังตามโรงภาพยนตร์ชั้นนำกลับมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และก็มีส่วนต่างหรือรายจ่ายอย่างอื่นที่บวกเพิ่มขึ้นมา

“ความรู้สึกของผมตอนนั้น มันก็มีระดับราคาให้เลือกพอสมควร คือตั้งแต่ระดับที่พอจะซื้อได้สำหรับคนไม่มีรายได้ อย่างผมตอนที่ยังเป็นนักศึกษา ราคา 10-15 บาท และก็แพงสุด 30-35 บาท ถามว่าตอนนั้นแพงไหมถ้าเทียบกับเวลาหรือความสนุกบอกได้เลยว่า มันเป็นเรื่องของความบันเทิงราคาถูก หนังมันเป็นความบันเทิงของคนทุกระดับ คนที่มีรายได้ปานกลางหรือยากจนก็สามารถใช้บริการได้ ฉะนั้นราคาก็ไม่แพง”

ยุคสมัยเปลี่ยน-ราคาเปลี่ยน
เมื่อยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลง สินค้าต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย เช่นเดียวกับค่าตั๋วหนัง ภัสสรภพ ชินตระกูล ประชาสัมพันธ์ บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยหลักในการปรับขึ้นราคาตั๋วหนังในโรงภาพยนตร์นั้น เนื่องจากผู้ให้บริการต้องการให้มีการพัฒนาระบบของการฉายภาพยนตร์ให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับการฉายภาพยนตร์ในต่างประเทศ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ เพราะในบางประเทศนั้น แม้ว่าคุณภาพของโรงภาพยนตร์จะไม่ได้มาตรฐาน แต่ราคาตั๋วชมภาพยนตร์กลับมีราคาสูงกว่าโรงภาพยนตร์ในบ้านเราที่ได้มาตรฐาน

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาตั๋วหนังในโรงภาพยนตร์มีราคาค่อนข้างสูง เกิดจากภาระค่าใช้จ่ายการให้บริการของโรงภาพยนตร์ เช่น การจ้างพนักงาน และค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เป็นส่วนที่ทำให้มีการปรับขึ้นราคาของตั๋วหนัง ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของผู้ให้บริการ”

แต่ทว่าเมื่อมาพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่โรงภาพยนตร์กระทำนั้น กลับชวนน่าสงสัยว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ เอาง่ายๆ ดูตั้งแต่ราคาตั๋วในแต่ละวันยังไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น โรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ ที่มีการระบุว่า หากมาดูในวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ ซึ่งเป็นช่วงที่หนังเข้ามาใหม่ ราคาจะอยู่ที่ 140-170 บาท แต่ถ้าเป็นวันจันทร์-อังคาร ราคาจะลดลงเหลือ 120-150 บาท และยิ่งถ้าเป็นวันพุธด้วยแล้วราคาจะเหลือเพียง 80-110 บาท พูดง่ายๆ ราคากลับลดลงครึ่งต่อครึ่งนั่นเอง

นี่ยังไม่รวมไปถึงโปรโมชันต่างๆ ที่บรรดาเจ้าของโรงหนังต่างงัดออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหนังแถมหนัง หรือการฉีกคูปองไปแสดงจะได้ลดราคามากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือการไปร่วมกับบริษัทห้างร้านต่างๆ เพื่อแถมตั๋วหนังฟรีแบบไม่อั้น สิ่งเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่น่าสงสัยไม่น้อยว่า เมื่อเจ้าของโรงสามารถลดราคาได้มากถึงขนาดนี้ ก็แสดงว่าไม่ได้มีปัญหาในเรื่องต้นทุนอย่างที่กล่าวอ้างใช่หรือไม่ และนี่จะเป็นเรื่องสมควรหรือเปล่าที่ราคาตั๋วภาพยนตร์จะขึ้นเอาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

โรงภาพยนตร์ร่วมกันผูกขาด
หากพูดถึงการให้บริการของโรงภาพยนตร์แล้ว ในวันนี้มีการพัฒนาแข่งขันกันในด้านความทันสมัยและเทคโนโลยีต่างๆ แต่หากมองในมุมกลับกันก็จะเห็นว่า ด้านราคาของบัตรหนัง และอาหารหรือเครื่องดื่มแล้วมีราคาที่ไม่ต่างกันมากนัก นี่คือข้อที่น่าสนใจว่าทำไมผู้บริโภคไม่มีทางเลือกด้านนี้มากนัก

สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ให้เห็นว่า เพราะตั๋วหนังไม่มีการควบคุมราคา ซึ่งมันไม่ใช่สินค้าควบคุม ฉะนั้นการที่ผู้ประกอบการกำหนดราคาเท่าไหร่ก็ได้มันขึ้นอยู่กับโรงภาพยนตร์เอง ถ้าขายแพงมากมันก็ไม่มีคนไปดูในโรงภาพยนตร์ และขณะนี้ทางโรงภาพยนตร์เองก็มีการกำหนดราคาที่ใกล้เคียงกันและร่วมกันผูกขาด

“ผู้บริโภคจึงไม่มีทางเลือกเลยว่า จะดูโรงไหนราคาถูกกว่ากัน เพราะส่วนใหญ่มันไม่มีการแข่งขันกันด้วยราคา แต่ว่าไปแล้วราคาที่ซื้ออยู่ตอนนี้ ก็มองว่าแพงอยู่ แต่อย่างไรแล้วมันก็ไม่ใช่สินค้าจำเป็น”

ทางเลือกของคอหนัง
เงินสามารถซื้อความสุขความบันเทิงได้ แต่หากต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่ากำลังที่จะหามาได้ หรือสูงพอๆ กับค่าอาหารที่ต้องกินต้องใช้ไปในแต่ละวันแล้วละก็ ความต้องการในการแสวงหาความบันเทิงในการดูหนังก็ตกเป็นรอง หรืออาจถือเป็นความต้องการที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับผู้มีเงินอย่างจำกัด คีรีบูน วงษ์ชื่น เป็นนักดูหนังตัวยงคนหนึ่ง มองว่า ทุกวันนี้ราคาค่าใช้จ่ายในการไปดูหนังแต่ละครั้งนั้นแพงเกินไปแล้ว

“ทุกวันนี้ตั๋วหนังนั้นแพงเกินไปนะ แต่ในบางครั้งถ้าหนังที่เราอยากดูมันเข้าอยู่ที่โรงนั้นโรงเดียว เราก็จำเป็นต้องไปดู คือที่ผ่านมาดูหนังเฉลี่ยแล้วเดือนละประมาณ 3 - 4 เรื่อง แต่มีน้อยครั้งมากที่ไปดูตามโรงมัลติเพล็กซ์ใหญ่ๆ สาเหตุก็เพราะค่าตั๋วนี่แหละ

“แต่ปกติจะดูหนังที่ลิโด้ หรือสกาลา เพราะปัจจัยแรกก็คือค่าตั๋วที่ยังอยู่ที่ 100 บาทอยู่ อีกอย่างก็คือ หนังที่เราอยากดูก็มักจะมาฉายที่โรงเครือนี้ด้วย มันเป็นแนวที่ถูกจริตเรา แต่บางครั้งหนังฟอร์มใหญ่ๆ ก็มีเข้าที่นี่เหมือนกันแต่ถ้าหนังที่เราอยากดูไปเข้าที่อื่น ก็อย่างที่บอก เราต้องยอมจ่ายแพงมากขึ้น”

ซึ่งคีรีบูนในฐานะของผู้บริโภคคนหนึ่งให้ความเห็นว่า ราคาตั๋วอย่างแพงที่สุดไม่ควรจะเกิน 150 บาทสำหรับโรงหนังที่หรูหรา ส่วนพวกขนมที่ขายหน้าโรงนั้นก็ไม่ควรที่จะมีราคาแพงเกินไปนัก รวมทั้งอาหาร เครื่องดื่ม อย่างข้าวโพดคั่วบางครั้งราคารวมกันแพงกว่าค่าตั๋วหนังอีก ส่วนอีกประเด็นที่รู้สึกว่าโดนเอาเปรียบอย่างแรง ก็คือเรื่องโฆษณาในโรงหนัง ถ้าเป็นโฆษณาที่เป็นหนังตัวอย่างก็ยังพอไหว แต่นี่มันมีโฆษณาอย่างอื่นที่ไม่อยากดูแทรกมาด้วย อันที่จริงมันเป็นสิทธิของผู้ชมที่จะไม่ดูก็ได้ เพราะเสียเงินเข้าไปดูหนัง ไม่ได้เสียเงินแพงๆ เข้าไปดูโฆษณา
..........

แม้วันนี้จะยังไม่มีหน่วยงานไหนมาช่วยกำกับดูแลอย่างจริงจัง ในด้านราคาบัตรเข้าชมภาพยนตร์ อาหารและเครื่องดื่มในโรงภาพยนตร์ให้มีมาตรฐานที่ถือว่าไม่เอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป ซึ่งด้วยความคาดหวังของคอหนังทั้งหลายวันนี้ ก็ยังต้องการความเป็นธรรมและยุติธรรมในการใช้จ่ายที่คุ้มค่าคุ้มราคาในการซื้อหาความสุขความบันเทิงให้ชีวิต

หากหน่วยงานยังอ้างว่าเป็นบริการทางเลือกไม่สามารถควบคุมได้และปล่อยให้มีการผูกขาดจากโรงภาพยนตร์ อีกไม่นานบริการโรงภาพยนตร์ก็เหมือนเป็นสินค้าที่บริการเฉพาะกลุ่มคนรวยเท่านั้น และทำให้ไกลเกินเอื้อมในการเข้าชมของประชาชนคนทั่วไป...
>>>>>>>>>>
 
 
 
 
 
 
 

……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK





กำลังโหลดความคิดเห็น