xs
xsm
sm
md
lg

หนีตามกาลิเลโอ : จีทีเอชไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา

ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิดที่รุ่นน้องในออฟฟิศบนถนนพระอาทิตย์บางคนบ่นๆ ทำนองว่า ค่ายหนังอย่างจีทีเอชนั้นทำเป็นแต่หนัง Feel Good เพราะหนังมักจะหาจุดลงเอยแบบแฮปปี้อยู่เรื่อยไป ทั้งๆ ที่ว่ากันตามจริง ชีวิตมันไม่ได้แฮปปี้เอ็นดิ้งแบบนั้นเสมอไปซะเมื่อไหร่


ผมพยักหน้าหงึกหงัก ทำท่าเห็นด้วย พร้อมทั้งแอบคิดอยู่ในใจว่า ไม่ใช่แค่นั้นหรอกครับน้อง ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของจีทีเอช เพราะจริงๆ แล้ว สิ่งที่เป็นจุดขายของหนังค่ายนี้อีกอย่าง ก็คือ ความช่างขยันสรรหานางเอกหน้าตาอาโนเนะมาเล่นกับความหวั่นไหวในหัวใจของชายหนุ่มได้เสมอๆ นั่นแหละท่าน (อิอิ)

ครับ ที่ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นเปิด ก็เพราะเห็นว่า คำพูดของน้องคนดังกล่าวนั้นมี “นัยยะ” สำคัญซ่อนอยู่อย่างยากจะมองข้ามได้ เพราะถ้าคนร้อยคนรู้สึกแบบนั้น ผมว่าจีทีเอชก็มีความชอบธรรมเต็มที่ที่จะคิดว่านั่นคือความสำเร็จของตัวเอง เพราะนับตั้งแต่ก่อร่างสร้างตัวมาจนถึงทุกวันนี้ จีทีเอชยังคงยืนหยัดมั่นคงอยู่กับหนังแนวทางนี้มาโดยตลอดจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอุดมการณ์ประจำค่ายไปแล้ว นั่นก็คือ การทำหนัง Feel Good ที่มอบความรู้สึกดีๆ ให้กับคนดู (แม้ว่าหนังกำลังบอกเล่าเรื่องราวที่น่าเจ็บปวดอยู่ก็ตามที)

มันคงเหมือนกับตอนที่เวลาเรานึกถึงชื่อของเจอร์รี่ บรั๊คไฮเมอร์ แล้วหนังแบบหนึ่งซึ่งทุนสร้างสูงๆ เน้นเทคนิคเยอะๆ เช่น Armageddon, Pirates of the Caribbean หรือ Pearl Harbor ฯลฯ จะผุดขึ้นมาในหัว หรือพอได้ยินชื่อไมเคิล เบย์ ก็จะมีภาพของฉากทำลายล้างผลาญป็อพอัพขึ้นมาในความคิด แน่นอน นี่คือแบรนด์ และนี่คือโลโก้ ที่ตีตราประทับเป็นรอยจำอยู่ในสมองของลูกค้าคนดูหนังเรียบร้อยแล้ว

และไม่มากไม่มาย เมื่อใครสักคนพูดถึงจีทีเอช ผมคิดว่า ก็คงไม่มีใครทะลึ่งนึกไปถึงหนังตลกประเภท “ตีหัวเข้าบ้าน” หรือหนังอาร์ตเหนือชั้นที่ดูกันเฉพาะกลุ่ม เพราะตำแหน่งที่จีทีเอชจัดวางตัวเองไว้ก็คือ การทำหนัง Feel Good อย่างที่น้องคนนั้นว่า และแน่นอนที่สุด หนังเรื่องใหม่ของค่ายนี้ อย่าง “หนีตามกาลิเลโอ” ก็ไม่พ้นไปจากนั้น...

หลังจาก “แฟนฉัน” ที่เป็นงานรวมมิตร และหลังจาก Seasons Change ที่เป็นงานโชว์เดี่ยว “ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร” หนึ่งในหกผู้กำกับแฟนฉัน กลับมาอีกครั้งกับหนังชื่อแปลกๆ อย่าง “หนีตามกาลิเลโอ” ที่เล่าถึงช่วงหนึ่งในชีวิตของสองสาว “เชอร์รี่” (ต่าย-ชุติมา ทีปะนาถ) กับ “นุ่น” (เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ) ซึ่งต่างก็กำลังเจ็บปวดกับบางอย่างในชีวิต และสิ่งที่พวกเธอคิดก็คงไม่ต่างไปจากมนุษย์เจ็บปวดคนอื่นๆ ที่ไม่เลือกการ “ยืนอยู่กับที่” แต่ขอหลีกลี้ไปให้ไกล เท่าไหร่ได้ก็ยิ่งดี ดังนั้น ทั้งเชอร์รี่และนุ่นจึงปล่อยวาง “ชีวิตเปื้อนฝุ่น” ไว้เบื้องหลัง ออกเดินทางไปเมืองนอกด้วยหวังว่ามันจะเป็นช่วงเวลาแห่งการหยุดพักหัวใจ และได้ใช้ชีวิตไปด้วยในตัว

อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดไม่ได้ถือสังกัดแค่สัญชาติไทย เพราะไม่ว่าที่ไหนๆ ในโลก ก็มีความเจ็บปวดเหมือนๆ กัน ทริปของสองสาวที่คิดว่าจะหลบหนีความปวดร้าวจึงเป็นเรื่องซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะทันทีที่ชีวิตของพวกเธอ Landing (ลงจอด) บนผืนดินในต่างแดน ปัญหาใหม่ๆ และความทุกข์ใจแบบใหม่ๆ ก็เริ่มส่งเสียง Welcome ทีละอย่างสองอย่าง...

เหมือนกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่อได้ดูหนังอย่าง Y Tu Mama Tambien ผมคิดว่า ผลงานของต้น-นิธิวัฒน์ชิ้นนี้ เป็นได้ทั้ง Road Movie และ Coming of Age ไปด้วยในขณะเดียวกัน เพราะนอกจาก “หนีตามกาลิเลโอ” จะเล่นกับการเดินทางตลอดทั้งเรื่องซึ่งเป็นกฎของ Road Movie แล้ว บทสรุปของหนังก็ยังแตะประเด็นการเปลี่ยนผ่านและเติบโตทางความคิดความอ่านขึ้นอีกขั้นของตัวละครสองสาวนั้นตามรูปแบบของหนัง Coming of Age ด้วยเช่นกัน

นอกจากความน่ารักน่าชัง ผมว่าทั้งเชอร์รี่และนุ่นดูเหมือนจะมีคาแรกเตอร์บางอย่างที่คล้ายคลึงกันมากๆ นั่นก็คือเรื่องของความคิดความอ่าน ซึ่งถ้ามองแบบใจกว้าง ผมว่าหนังก็พยายามอยู่ไม่น้อยที่จะใช้สอยตัวละครสองตัวนี้เป็นช่องทางสื่อสะท้อนตัวตนของผู้คนร่วมสมัยส่วนหนึ่งซึ่งมักจะมีความคิดแบบ Self-Center คือสถาปนาตัวเองเป็นศูนย์กลางความผิดความถูกของทุกๆ สิ่ง เพราะไม่ว่าจะเป็นเชอร์รี่หรือนุ่น หนังเล่าให้เราเห็นอย่างเด่นชัดว่าพวกเธอคือ Self-Center ตัวยง เพราะในขณะที่เชอร์รี่ยืนกระต่ายขาเดียวว่าการปลอมลายเซ็นอาจารย์ไม่ผิด ฝ่ายนุ่นเองก็ไม่เคยเปิดใจยอมรับเลยว่า ตัวเองนั้นมีส่วนอย่างไรบ้างในการทำให้ความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มไปไม่ถึงดวงดาว

ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าเป็นความฉลาดแกมโกงเล็กๆ (บวกกับวิธีคิดแบบการตลาด) ของหนังที่เลือกใช้คำว่า กาลิเลโอ มาใช้เป็นชื่อเรื่อง แทนที่จะใช้คำว่า “โคเปอร์นิคัส” ที่เป็นคนต้นคิดว่า “โลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เพราะถึงแม้กาลิเลโอจะเป็นเพียงผู้ยืนยันสนับสนุนความคิดดังกล่าว แต่ถ้ามองในแง่ของความป็อป กาลิเลโอย่อมมีโอกาสที่จะ “ขายได้” มากกว่า “โคเปอร์นิคัส” (คิดง่ายๆ ครับ ถ้าหนังตั้งชื่อ “หนีตามโคเปอร์นิคัส” มันจะเป็นอย่างไร?)

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะเป็นต้นกำเนิดของถ้อยคำดังกล่าว ผมคิดว่า ทั้งเชอร์รี่และนุ่นก็ค่อยๆ ได้เรียนรู้ว่า พวกเธอก็เหมือนโลกอีกใบซึ่งไม่ได้เป็นศูนย์กลางของอะไรทั้งสิ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ พูดกันอย่างตรงไปตรงมาเลย ผมติดใจเล็กน้อยก็ตรงที่...ถึงที่สุดแล้ว ขณะที่นุ่นดูจะเข้าอกเข้าใจในเรื่องนี้ดีขึ้น แต่ในส่วนของเชอร์รี่ หนังไม่ได้เคลียร์คัทชัดเจนว่า นอกจากการฟูมฟายขอโทษขอโพยว่าตนเองคือต้นเหตุให้เพื่อนต้องกลับบ้าน ตกลงแล้ว เธอเลิกเชื่อหรือยังว่าการปลอมลายเซ็นอาจารย์นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะทั้งๆ ที่เธอก็เอ่ยปากสั่งสอนเพื่อนเรื่องการยอมรับผิด แต่พอถึงคราวของตัวเอง เธอกลับดูเหมือนจะยืนยันอยู่นั่นแหละว่า พฤติกรรมที่ทำให้เธอได้เกรด F นั้นไม่ใช่เรื่องผิด

เข้าใจนะครับว่า หนังอาจจะต้องการเทียบเคียงบุคลิกของเชอร์รี่เข้ากับกาลิเลโอที่ “ยอมตายได้” ให้กับความเชื่อของตัวเอง แต่ก็อย่าลืมว่า ทฤษฎีที่กาลิเลโอยืนยันนั้น ไม่ว่าผ่านไปกี่ปี มันก็เป็นความจริง แต่การปลอมลายเซ็นอาจารย์ของเชอร์รี่ ดูยังไงก็ไม่มีทางเปลี่ยนผิดให้เป็นถูกได้

แน่นอนล่ะ ในขณะที่เราหวังว่า เด็กวัยรุ่นนักศึกษาที่มีความคิดแบบเชอร์รี่ควรจะมีน้อยๆ เข้าไว้ หรือไม่ควรมีเลยได้ยิ่งดี ผมคิดถึงสิ่งที่กาลิเลโอและโคเปอร์นิคัสไม่ได้พูดไว้ก็คือว่า คงไม่ใช่แค่โลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งเท่านั้นหรอก แต่โลกยังต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับดวงดาวดวงอื่นๆ อีกมากมายหลายดวง ซึ่งก็เหมือนกับนุ่นและเชอร์รี่ที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อีกมายมายหลายคน

ดังนั้น ไม่ว่าหนังจะพาเราเดินทางไกลไปถึงไหนต่อไหน แต่สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้พูดได้ชัดถ้อยชัดคำที่สุด ไม่ใช่การท่องเที่ยว ไม่ใช่การเดินทาง ไม่ใช่หอเอนปิซ่า และไม่ใช่สโตนเฮ้นจ์ หากแต่เป็นเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติ

ความสัมพันธ์ที่ว่านั้น นอกเหนือไปจากน้ำหนักของความเป็นเพื่อนซึ่งหนังจัดวางไว้เป็นประเด็นหลักและเรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นระหว่างทางระหว่างนุ่นกับตั้ม รวมไปจนถึงความสัมพันธ์กับผู้คนในต่างแดน ผมคิดว่า ความสัมพันธ์แบบหนึ่งซึ่งผลงานชิ้นนี้ทำได้ดีมากๆ ก็คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะระหว่างพ่อกับเชอร์รี่ ผมชอบบทของคุณวงศกร รัศมิทัต (ต้น แม็คอินทอช) ที่หนังวางน้ำหนักได้ค่อนข้างพอเหมาะพอดี และเชื่อว่า คนดูทุกๆ คนก็คงรู้สึกดีที่ได้เห็นพ่ออย่างเขาที่แม้จะไม่เก่งในเรื่องการแสดงออก (Expression) แต่ใครล่ะจะกล้าปฏิเสธว่าในใจของเขา ไร้ความเจ็บปวดหรือความรักความห่วง...

สองสาว “ต่าย” กับ “เต้ย” ไม่มีอะไรให้ต้องผิดหวังในเรื่องการแสดง ส่วนหนุ่มเรย์ แม็คโดนัล ที่มาในบทของ “ตั้ม” ก็ดูเป็นธรรมชาติ ถึงแม้บทบาทของเขาจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันนักกับแกนหลักของเรื่อง แต่บทพูดที่หนังจัดให้เขาพูดที่สะท้อน “วิธีคิด” และ “วิธีการใช้ชีวิต” แบบหนุ่มสาวรักเสรี ก็ดูเท่-มีเสน่ห์ที่น่าจดจำไปอีกแบบ

มองในภาพรวม หนีตามกาลิเลโอเป็นหนังที่เดินเรื่องด้วยจังหวะเรียบๆ เรื่อยๆ ค่อยๆ เก็บรายละเอียดไปทีละเล็กละน้อย ซึ่งถ้าเทียบกับงานชิ้นก่อนหน้าของต้น-นิธิวัฒน์ Seasons Change ดูจะแพรวพราวมากกว่าในแง่อารมณ์และสีสันของเรื่อง ขณะเดียวกัน “หนีตามกาลิเลโอ” ก็มีรายละเอียดบางอย่างที่ยังดูคลุมเครือและสร้างความน่าสงสัยให้กับตัวเอง เช่น เพราะอะไร นุ่นถึงตามตั้ม (เรย์) ไปง่ายจัง เพียงเพราะเหตุผลว่าเขาพูดไทย หรือคืนนั้นที่นุ่นโกรธเพื่อนแล้วผลุนผันออกไปนอกบ้าน นุ่นไปทำอะไรอยู่ที่ไหน หรือเพราะอะไร เชอร์รี่ถึงได้กราดเกรี้ยวกับครูบาอาจารย์ขนาดนั้น ฯลฯ

แต่เอาเถอะ ไม่ว่าจะยังไง ถ้าเราเชื่อว่า สองสาวอย่างเชอร์รี่กับนุ่นไม่ได้เป็นศูนย์กลางชี้วัดความผิดความถูกของทุกๆ สิ่ง เพราะว่ากันตามจริง พวกเธอก็มีทั้งส่วนที่ควรปรับและส่วนที่น่ารัก (ไม่ใช่เฉพาะหน้าตา แต่รวมถึงนิสัยใจคอ) หนังเรื่องนี้ก็คงเป็นเช่นนั้น

คือมันอาจจะมีบางสิ่งที่ตกหล่น และบางอย่างที่ขาดหาย ซึ่งก็คงไม่ต่างไปจากหนังจีทีเอชหลายต่อหลายเรื่องที่ถ้าเอามานั่งเช็ครายละเอียดกันจริงๆ จังๆ ก็ไม่มีทางที่จะสมบูรณ์แบบหรือถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ยังเป็นหนังที่ทำให้เราคนดูรู้สึกดีได้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่หรือ?

และที่สำคัญเลยก็คือ มันไม่ทำให้เรารู้สึกเสียดายเวลาและเงินทองที่เสียไป จริงไหม?
กำลังโหลดความคิดเห็น