xs
xsm
sm
md
lg

อินเดีย ณ ที่ฟ้าจรดทราย “จัยซัลเมียร์” นครสีทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : มะเมี้ยะ
 “จัยซัลเมียร์” นครสีทอง
มีคำกล่าวว่าถ้ามาอินเดียฝั่งทิศตะวันตกแล้วไม่ได้มาที่นครสีทอง “จัยซัลเมียร์” ก็เสมือนว่ายังมาไม่ถึงแคว้นราชาสถานของอินเดียโดยสมบูรณ์

“จัยซัลเมียร์” (Jaisalmer) ได้รับสมญานามว่าเป็น นครสีทอง ตั้งอยู่ห่างจากกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย 921 กิโลเมตร เนื่องจากอาคารบ้านเรือนสร้างด้วยหินทรายสีเหลืองนวล อยู่บนที่ราบสูงทะเลทรายธาร์ (Thar Desert) อันยิ่งใหญ่ของอินเดีย เป็นเมืองชายแดนติดพรมแดนปากีสถาน
ขี่อูฐท่องทะเลทรายธาร์
ช่วงเวลาที่สวยงามที่สุดของเมืองนี้ว่ากันว่า ต้องเป็นช่วงยามเย็นที่ทั้งเมืองถูกทาบทาด้วยแสงอาทิตย์ เมืองทั้งเมืองประดุจถูกอาบด้วยสีทองก็ไม่ปาน จัยซัลเมียร์ เป็นเมืองที่ค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับคนอยากเที่ยวแน่ๆ จัยซัลเมียร์ ก่อร่างสร้างอาณาจักร โดย ราว จัยซาล (Rao Jaisal) เมื่อปีค.ศ.1156

ความเชื่อหนึ่งที่คนจัยซัลเมียร์เชื่อถือเกี่ยวกับมหาราชาของพวกเขา คือ ราชบุตรแห่งจัยซัลเมียร์ สืบเชื้อสายมาจากพระกฤษณะ

หากสงสัยว่าดินแดนที่อยู่กลางทะเลทรายแห่งนี้จากฐานะมาจากอะไร จะเฉลยให้ฟังว่าที่นี่ในอดีตเป็นเมืองการค้าที่สำคัญระหว่างประเทศทางตะวันตกแถบอาหรับ เช่นเปอร์เซีย ตุรกี จนถึงยุคที่อังกฤษล่าอาณานิคม และเปลี่ยนเมืองท่าเป็นแถบท่าเรือชายทะเล เมืองนี้จึงค่อยๆ ซบเซาไป แต่เมืองนี้ก็สร้างตัวมาได้พอสมควร จากการเก็บภาษีค่าผ่านทางจากกองคาราวานสินค้า ผ้าไหม และเครื่องเทศ
Jaisalmer Fort ป้อมโบราณอันยิ่งใหญ่
มาจัยซัลเมียร์ แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการเที่ยว “Jaisalmer Fort” หรือ ป้อมแห่งจัลซัลเมียร์ ที่ซึ่งเราจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของจัยซัลเมียร์อย่างชัดเจน เพียงแค่ข้างนอกเราก็จะได้เห็นความอลังการ ภายในป้อม มิอาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงป้อม เพราะภายในช่างดูยิ่งใหญ่เหมือนเมืองๆหนึ่งก็ไม่ปาน

ที่นี่เป็นศูนย์รวมนักท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจัยซัลเมียร์ ป้อมนี้ เป็นสัญลักษณ์ของเมืองสีทองแห่งนี้ บรรยากาศพลุกพล่านเต็มไปด้วยผู้คน และรถรามีกระทั่ง วัว ควาย เดินขวักไขว่อย่างเป็นปกติสะท้อนในเห็นอย่างหนึ่งว่า ที่นี่ไม่มีความแตกแยกของทุกชีวิต ไม่ว่าใครก็สามารถอยู่ที่จัยซัลเมียร์ได้
สถาปัตยกรรมของวัดเชนอันอ่อนช้อย
ป้อมของ จัยซัลเมียร์สร้างความแตกต่างให้จัยซัลเมียร์ได้อย่างเด่นชัดกว่า ป้อมที่ จัยปูร์ และที่ จ๊อดห์ปูร์ เพราะป้อมปราการโบราณแห่งนี้เป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต ผู้คนตั้งบ้านเรือนอาศัยกันอยู่จนปัจจุบัน ภายในป้อมนอกจากจะมีสิงสาราสัตว์แต่ผู้คนดังที่กล่าวมาแล้ว ที่นี่ยังมี วัดของศาสนาเชน (Jain Temple) สร้างอยู่ภายในอีกด้วย วัดเชนที่ตั้งอยู่ภายในป้อมมีความอ่อนช้อยงดงามแปลกตาลวดลายละเอียดอ่อนสวยทุกมุมมอง

ภายในป้อมยังมีพระราชวังของมหาราชาสร้างอยู่อีกด้วย แต่ว่าในปัจจุบันมหาราชาไม่ได้พักอยู่ที่นี่แล้ว จะยังคงเสด็จมาเมื่อมีงานเฉลิมฉลองเท่านั้น
ล่องเรืองที่ทะเลสาบ Gadsisar lake
ภายในพระราชวังมีการแบ่งเป็นชั้นนอกเรียกว่า Diwan-i-khas และส่วนในเรียกว่า Diwan-i-am เช่นเดียวกับพระราชวังในเมืองอื่นเช่น จัยปูร์ หรือ จ๊อดห์ปูร์ ความยิ่งใหญ่ของป้อมแห่งนี้ เดินทั้งวันยังไม่ทั่วด้วยซ้ำ ยิ่งใครที่รักการถ่ายรูปแล้วล่ะก็รับรองได้ว่าจะต้องรั่วชัตเตอร์แบบไม่ยั้งเลยทีเดียว

จากป้อมโบราณที่มีชีวิตต้องแวะมาพักผ่อนกันริมทะเลสาบ “Gadsisar lake” เป็นทะเลสาบซึ่งชาวจัยซัลเมียร์ใช้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ที่นี่คุณสามารถให้อาหารปลา ก่อนนั่งมองสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย ที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบและโดมที่ตั้งอยู่ในทะเลสาบ จะนั่งเรือชมทะเลสาบที่นี่เขาก็มีเรือไว้บริการ
หนึ่งใน Haveli อันละเอียดงดงาม
อีกหนึ่งสิ่งเมื่อมาเยือนจัยซัลเมียร์แล้วพลาดไม่ได้เลย คือ การมาชม “Haveli” ซึ่งเป็นปราสาทหินทราย เป็นคฤหาสน์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือบรรดาคหบดี ที่มีการแกะสลักตัวอาคารบ้านเรือนอย่างสวยงามอ่อนช้อย แทบทั้งหลัง บางหลังมีคนอาศัยอยู่จริงๆแต่ก็เปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมบ้านของพวกเขาได้ แต่ละหลังใหญ่โตยิ่งนัก แต่บางหลังปล่อยทิ้งร้างไว้เหลือเพียงแค่ให้นักท่องเที่ยวได้ชมศิลปะสถาปัตยกรรมอินเดียโบราณเท่านั้น ว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยรุ่งเรืองเพียงไร
อูฐที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวในทะเลทรายธาร์
จัยซัลเมียร์ ถึงแม้เป็นเมืองท่ามกลางทะเลทราย มีแต่ความแห้งแล้ง แต่อย่างหนึ่งที่ควรรู้ไว้เมื่อว่าเยือนเมืองนี้ว่า ที่นี่ บ้านเมืองมีซอกซอยเล็กน้อยเต็มไปหมด และที่สำคัญเดินที่นี่อาจจะเหนื่อยเร็วเป็นพิเศษ เพราะว่าที่ตั้งของเมืองอยู่บนเขา ฉะนั้นการเดินที่เมืองนี้จึงเท่ากับว่าเรากำลังเดินเล่นอยู่บนเขานั่นเอง
วิถีชาวทะเลทรายธาร์
จัยซัลเมียร์ ขึ้นชื่อเรื่อง Camel safari คือการขี่อูฐและการไปนอนกลางทะเลทรายดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกที่ “Sam Sand Dunes” ทะเลทรายอันร้อนระอุแต่หนาวลม การขี่อูฐที่นี่นอกเหนือจากทะเลทรายที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตาแล้ว เรายังจะได้พบประสบการณ์แปลกใหม่ได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับทะเลทรายตลอดจนสัตว์ทะเลทรายอีกด้วย
ที่จัยซัลเมียร์วัวกับคนอยู่บนถนนเดียวกัน
คู่รักที่ยังหาที่ฮันนีมูนไม่ได้ ฉันแนะนำให้ลองมาที่นี่ เพราะบรรยากาศการชมพระอาทิตย์ตกกลางทะเลทรายใช่ว่าจะหาดูกันได้ง่ายๆ เป็นความโรแมนติกอีกรูปแบบหนึ่งทีเดียว ที่ทะเลทรายแห่งนี้นกจากจากการขี่อูฐแล้ว เขายังมีบริการค้างคืนให้ตั้งแค้มป์ปิ้งกันกลางทะเลทรายอีกด้วย ของที่ระลึกสินค้าพื้นเมืองของชาวทะเลทรายธาร์ก็มีให้เลือกซื้อเลือกหากันมากมายแต่อาจต้องปวดใจกับราคาของฝากกันสักนิดเพราะราคาค่อนข้างสูงอยู่ทีเดียว

ความยิ่งใหญ่ของทะเลทรายสีทองอย่างธาร์ ผสานกับความงดงามบ้านเมืองสีทอง ฉันคิดว่าเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ใครหลายๆคน เตรียมเก็บกระเป๋าไปเป็นสาวอินเดียกลางทะเลทรายที่ “จัยซัลเมียร์”
ตุ๊กตาของที่ระลึกจากจัยซัลเมียร์
*****************************************

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สู่สนามบินอินธิราคานธี ในกรุงนิวเดลี ( New Delhi ) ใช้เวลาบินราว 4 ชั่วโมง แล้วจึงเดินทางสู่จัยซัลเมียร์ ด้วยรถไฟหรือเครื่องบินภายในประเทศ สกุลเงินที่ใช้คือ รูปี :1รูปี=1บาทไทย โดยประมาณ
กำลังโหลดความคิดเห็น